กลุ่มอุตสาหกรรมในประเทศเริ่มขยับเดินเครื่องภาคการผลิต
สะท้อนผ่านตัวเลขดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารและยารักษาโรค
ที่เป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญอย่างยิ่งภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ที่หลายประเทศกำลังเผชิญสถานการณ์ที่รุนแรงจากการระบาดในระลอก
2 และ 3
สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) รายงานดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในเดือนกันยายน 2563 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 3.25 โดยขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตเดือนกันยายนขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนอยู่ที่ระดับ 63.07 จากเดิมที่ระดับ 60.86 ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 3 ปี 2563 อยู่ที่ระดับ 91.22 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 2 ที่ร้อยละ 13.73
ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme
ตัวเลข MPI สะท้อนให้เห็นว่าภาคอุตสาหกรรมได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
จนใกล้กับระดับในช่วงก่อนหน้าสถานการณ์ไวรัสโควิด 19
โดยเฉพาะการขยายตัวเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคและบริโภค เช่น
อุตสาหกรรมอาหาร (ไม่รวมน้ำตาล) หลายตัวยังคงขยายตัวดี เช่นเดียวกันกับอุตสาหกรรมยารักษาโรคที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 ติดต่อกัน ซึ่งเป็นผลจากการที่ประเทศไทยสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ค่อนข้างดี
อย่างไรก็ตาม ในต่างประเทศยังคงน่ากังวลอันเนื่องจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด
19 รอบที่สองโดยเฉพาะในโซนยุโรป ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องหันมาให้ความสำคัญกับการบริโภคภายในประเทศมากขึ้น
โดยภาครัฐเตรียมดำเนินนโยบายกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศผ่านหลายโครงการ
ขณะเดียวกันมีนโยบายออกวีซ่าชนิดพิเศษให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติเพื่อกระตุ้นภาคการท่องเที่ยว
ถือเป็นการใช้โอกาสจากการที่ประเทศไทยมีจุดเด่นทั้งทางด้านสาธารณสุขและโครงสร้างพื้นฐานในเขตเศรษฐกิจพิเศษ
ดึงดูดให้เกิดการลงทุนในภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย
(S-Curve) ให้เดินหน้าอย่างต่อเนื่อง
สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น
ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมอุปโภคบริโภคเป็นหลัก อาทิ อุตสาหกรรมอาหาร (ไม่รวมน้ำตาล)
ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.40 อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.50 ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมหลักๆ
ได้เริ่มฟื้นกลับมาโดยเพิ่มกำลังการผลิตอีกครั้ง เช่น
อุตสาหกรรมรถยนต์ได้เพิ่มกำลังการผลิตในเดือนกันยายนมาอยู่ที่ระดับ 76.98 จากระดับ 59.81 ในเดือนก่อนหน้า
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมหลักที่ยังคงขยายตัวดีในเดือนกันยายน
ได้แก่
เภสัชภัณฑ์
เคมีภัณฑ์ที่ใช้รักษาโรค ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 30.20 เนื่องจากในปีก่อนได้มีการหยุดผลิตเพื่อย้ายโรงงาน
ประกอบกับได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากตลาดในประเทศและต่างประเทศ
เครื่องใช้ในครัวเรือน ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 34.07 จากผลิตภัณฑ์ตู้เย็นและเครื่องซักผ้า
โดยตู้เย็นมีความต้องการเพิ่มขึ้นทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ
ประกอบกับได้มีผู้ประกอบการย้ายฐานการผลิตมาจากประเทศจีนตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2563 ในขณะที่เครื่องซักผ้าได้มีการเปิดช่องทางการตลาดใหม่
ทำให้มีคำสั่งซื้อจากตลาดในประเทศเพิ่มขึ้น รวมถึงการส่งออกเพิ่มขึ้นไปยังประเทศมาเลเซียและญี่ปุ่น
แปรรูปและถนอมผลไม้และผัก ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 27.03 จากผลิตภัณฑ์สับปะรดกระป๋อง ผลไม้กระป๋อง
และข้าวโพดหวานเป็นหลัก เนื่องจากปีนี้มีการปลูกสับปะรดในหลายพื้นที่ ทำให้ยังมีผลผลิตในการเก็บเกี่ยวนอกฤดูกาล
รวมถึงการขยายพื้นที่เพาะปลูกของข้าวโพดของเกษตรกร
เฟอร์นิเจอร์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 13.13 จากผลิตภัณฑ์เครื่องเรือนทำด้วยไม้และที่นอน
เนื่องจากผู้ผลิตได้เร่งผลิตให้ทันส่งมอบตามคำสั่งซื้อจากสหรัฐฯ และญี่ปุ่น
ที่มีความต้องการเพิ่มขึ้นจากการกักตัวอยู่บ้านในช่วงการระบาดไวรัสโควิด 19 ในขณะที่สินค้าที่นอนได้มีการเพิ่มช่องทางจำหน่ายออนไลน์
อาหารสัตว์สำเร็จรูป ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 6.18 จากผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงสำเร็จรูปและอาหารปลา เนื่องจากความต้องการมีการเติบโตขึ้นต่อเนื่องในตลาดต่างประเทศ ประกอบกับในปีก่อนเกิดภาวะภัยแล้งทำให้มีการเลี้ยงปลาน้อยกว่าในปีนี้