ในชีวิตประจำวันของคนทำงานยุคนี้
มีไม่น้อยที่ต้องใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับคอมพิวเตอร์
หลังจากหมดวันไปกับคีบอร์ดและเม้าส์ ก็หันไปคว้าสมาร์ทโฟน
ปัดเขี่ยหน้าจอพิมพ์ข้อความระหว่างเดินทางกลับบ้าน และใช้งานจนนาทีสุดท้ายก่อนจะหลับไป
ท่วงท่าการใช้งานอุปกรณ์ไอทีเหล่านี้อย่างต่อเนื่องเกือบตลอดทั้งวัน
กล่าวได้ว่าเป็นหายนะภัยสุขภาพของมนุษย์ยุคนี้เลยก็ว่าได้
จุดที่ต้องระมัดระวัง และมักจะสร้างปัญหาให้กับคนที่ใช้งานคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์สื่อสารชนิดต่างๆ เป็นประจำอย่างต่อเนื่อง มีดังนี้
ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme
ต้นคอ
บ่า ไหล่ กระดูกสันหลัง
ในเวลาที่ใช้งานสมาร์ทโฟนหรือแท็บเลต
หากไม่ระวังท่วงท่าให้ดี เรามักปล่อยตัวเองให้อยู่ในอิริยาบถที่ไม่เหมาะสม นั่นคือโน้มศีรษะมาด้านหน้า
ก้มคอ ห่อไหล่ และงอหลัง ซึ่งทางการแพทย์เรียกว่าอาการหลังห่อคอตก (Text Neck) ศีรษะคนเราน้ำหนักเฉลี่ยประมาณ
5 กิโลกรัม ขณะใช้อุปกรณ์สื่อสารแบบพกพา ถ้าเราก้มศีรษะไปข้างหน้า 30 องศา
แรงดันที่คอจะเพิ่มขึ้นเป็น 18.1 กิโลกรัม และถ้าก้ม 60 องศา แรงดันที่คอก็จะเพิ่มขึ้นเป็น
27.2 กิโลกรัม กล้ามเนื้อคอจะเกร็งตัว ถ้าอยู่ในท่านี้เป็นเวลานานจะทำให้เกิดอาการปวดเมื่อยบริเวณต้นคอและสะบักทั้งสองข้าง
หากมีอาการปวดต้นคออย่างรุนแรงอาจเกิดจากหมอนรองกระดูกต้นคอเคลื่อนมากดทับเส้นประสาท
ทำให้เกิดอาการบวมและอักเสบของเส้นประสาท นอกจากนี้หมอนรองกระดูกที่เคลื่อนออกมาจะมีสารที่ทำให้เกิดอาการอักเสบโดยตรงต่อเส้นประสาท
ทำให้เกิดอาการปวดคอร้าวลงแขน
หรือแขนข้างที่เส้นประสาทไปกดทับอาจมีอาการชาและอ่อนแรง
การใช้อุปกรณ์ไอทียิ่งมีขนาดเล็กเท่าไร
ก็ยิ่งทำให้เราต้องอยู่ในท่วงท่าที่ไม่เหมาะสมมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้อิริยาบถที่เหมาะสมเป็นไปตามธรรมชาติ คือศีรษะตรง
กระดูกสันหลังอยู่ในแนวตรง ไหล่ผึ่งผาย ดังนั้นในการใช้อุปกรณ์มือถือหรือแท็บเลต
การก้มหน้าให้น้อยที่สุด ระดับที่แนะนำคือไม่เกิน 15 องศา โดยการยกอุปกรณ์พกพาให้สูงขึ้นอยู่ในระดับสายตา
เช่นเดียวกับการใช้คอมพิวเตอร์ที่ต้องจัดระดับโต๊ะและเก้าอี้ให้เราสามารถนั่งใช้งานในท่วงท่าที่สมดุล
มีงานวิจัยที่พบว่า ท่วงท่ายังส่งผลต่อภาวะอารมณ์และความรู้สึกนึกคิดของเราอีกด้วย มีการทดลองให้คนที่นั่งก้มหน้า หลังงอ ห่อไหล่ ตอบคำถามในลักษณะคล้ายการสัมภาษณ์งาน เปรียบเทียบกับคนที่นั่งหน้าตรง มองตรง หลังตรง พบว่ากลุ่มหลังสามารถตอบคำถามได้อย่างเชื่อมั่น และมีอารมณ์ที่แจ่มใสมากกว่าคนกลุ่มแรก
พึงระวังการใช้โน๊ตบุ๊กซึ่งมีขนาดเล็กกว่าคอมพิวเตอร์บุคคล
คีบอร์ดแคบ และหน้าจอมอนิเตอร์อยู่ติดกับคีบอร์ด ซึ่งจะเป็นการบังคับให้เราต้องนั่งทำงานในอิริยาบถที่ไม่เหมาะสมมากที่สุด
การใช้งานโน๊ตบุ๊กจึงควรเป็นการใช้เพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆ เช่น
เมื่อต้องพกพาออกนอกสถานที่เท่านั้น แต่หากนั่งทำงานต่อเนื่องเป็นชั่วโมง
ควรใช้คอมพิวเตอร์บุคคลจะดีกว่า
ข้อมือ
นิ้วมือ
อีกส่วนที่ต้องระวังขณะใช้สมาร์ทโฟนคือข้อมือและนิ้วมือ
เนื่องจากในการใช้อุปกรณ์ขนาดเล็ก เราต้องงอและเกร็งนิ้วนานๆ ซ้ำๆ อย่างต่อเนื่อง อาจก่อให้เกิดโรคปลอกหุ้มเส้นเอ็นข้อมืออักเสบ
ทำให้มีอาการบวมอักเสบและเจ็บปวดได้
ทางที่ดีในการใช้สมาร์ทโฟน
แทนที่จะถือสองมือแล้วพิมพ์ด้วยนิ้วโป้ง ถ้าเป็นไปได้ควรวางสมาร์ทโฟนบนโต๊ะ
แล้วใช้นิ้วมือทั้งสองข้างในการพิมพ์ข้อความ หรือหากวางไม่ได้
ให้ใช้วิธีถือด้วยมือข้างหนึ่งแล้วใช้นิ้วชี้อีกมือหนึ่งในการพิมพ์ข้อความ หรือถ้าจะให้ดีใช้การพูดข้อความเสียงเพื่อสื่อสารแทนการพิมพ์ข้อความ
ขณะพักให้ยืดเหยียดนิ้วและแขนให้สุด สลับกับการกำมือแน่นๆ ช้าๆ สลับคลาย
หรือนวดคลายกล้ามเนื้อและเอ็นด้วยตัวเอง
ในการใช้งานคอมพิวเตอร์ ความสูงของคีบอร์ดและเม้าส์ควรพอดีกับมือเมื่องอข้อศอก 90 องศา หรือสูงกว่าเล็กน้อย ขณะพิมพ์ไม่ควรวางมือบนแป้นพิมพ์หรือขอบโต๊ะ แต่ให้ข้อมืออยู่ในแนวตรง ไม่ว่าในการพิมพ์หรือจับเม้าส์ ข้อมือต้องไม่เอียงออกด้านข้างหรือเอียงเข้าด้านใน ซึ่งอาจทำให้เอ็นข้อมืออักเสบได้