เมื่อเอ่ยถึงเมนูอาหารที่มีชื่อว่า “ข้าวหมก”
เชื่อว่ามีผู้คนจำนวนไม่น้อยต้องคิดถึงเมนูอาหารชั้นนำของชาวมุสลิม ที่มีกลิ่นเครื่องเทศฉุนนำคลุกเคล้ามากับข้าวสีเหลืองรับประทานเคียง
“เนื้อไก่ เนื้อวัว หรือเนื้อแพะ” เสริฟ์พร้อมน้ำซุปและน้ำจิ้มซีฟู้ดอย่างแน่นอน
เพราะเป็นเมนูอาหารที่อยู่คู่กับวัฒนธรรมของชาวมุสลิมมาช้านาน และจัดเป็นเมนูที่ถูกนำมาใช้ในงานบุญประเพณีสำคัญ
เช่น งานแต่ง งานครบรอบวันตาย ทำสุนัต ขึ้นบ้านใหม่ และงานอื่นๆ ในศาสนาอิสลามเป็นอันดับแรก
จนกลายเป็นความคุ้นเคยและไม่ค่อยมีให้เห็นว่าจะมีข้าวหมกที่รับประทานแกล้มกับเนื้อสัตว์หรือท็อปปิ้งชนิดอื่นนอกเหนือไปจากรายการเนื้อสัตว์ดังกล่าวมา
แต่ “ข้าวหมกไก่คุณวุฒิ” คือ ความกล้าคิดต่างอย่างสร้างสรรค์ กับการนำข้าวหมกมาปรับปรุงแต่งให้ดูทันสมัย เข้ากับไทยสไตล์ ที่ชาวไทยพุทธหรือฝรั่งต่างชาติสามารถรับประทานได้ง่าย ด้วยการลดกลิ่นเครื่องเทศให้อยู่ในระดับที่คนทั่วไปทานได้ โดยไม่มีความรู้สึกว่าแตกต่างจากต้นตำหรับของชาวมุสลิม และหลีกหนีความซ้ำซากจำเจในแบบเดิม
ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme
ศราวุฒิ นิรมล เจ้าของร้าน กล่าวว่า เริ่มต้นธุรกิจช่วงโควิด 19 พอดี เพราะงานประจำที่ทำอยู่ด้านการเป็นที่ปรึกษาออกแบบโครงสร้างและการตกแต่งภายในนั้นต้องหยุดชะงักไป
ก็เลยมองหาช่องทางหารายได้เพิ่ม จนได้มาเป็นข้าวหมก เนื่องจากเป็นคนที่ชอบทำอาหารรับประทานเองอยู่แล้ว
และเรื่องข้าวหมกนี่ได้มีการไปเรียนรู้มาจากเพื่อนชาวมุสลิมที่เขาทำข้าวหมกขายมานานหลายปีแล้ว
พอคิดว่าจะเริ่มธุรกิจอะไรที่จะมาประครองตัวเองในช่วงเศรษฐกิจแบบนี้
ก็นึกถึงข้าวหมกเพราะเป็นสิ่งที่ชอบ
โดยปรับสูตรใหม่ให้โดนใจผู้ริโภคทั่วไปและเริ่มศึกษาลงลึกมากขึ้น
จนเห็นถึงความแตกต่างของการเลือกใช้วัตถุดิบ เช่น เครื่องเทศ สมุนไพร ข้าวมะลิแบรนด์ต่างๆ
กรรมวิธีการหุง การเก็บรักษา การผ่อนเบาไฟในขณะหุงข้าว
ซึ่งกว่าจะได้สูตรที่นิ่งคงที่ ก็เรียนรู้ ทดลองทำ ชิม กันอยู่ระยะหนึ่ง เพราะปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อรสชาติและเนื้อสัมผัสของข้าวที่หุงเสร็จแล้ว
คือข้าวที่นำมาใช้ แรกเริ่มจะนำข้าวหอมมะลิแบรนด์ที่มีขายในท้องตลาดมาทดลองหุง
ก็ได้ผลลัพธ์แตกต่างกันไปและยังไม่ถูกใจ จึงมาลงตัวกลายเป็น “ข้าวหมกไก่คุณวุฒิ”
ในปัจจุบัน
การเดินธุรกิจขายอาหารบนตลาดออนไลน์
ศราวุฒิ กล่าวอีกว่า ช่วงที่ปิดล็อกดาวน์โควิด
ได้เริ่มเตรียมการปรับห้องเคาน์เตอร์บาร์ที่เคยเป็นบาร์น้ำ รับ-จ่ายเงิน
ใต้สระว่ายน้ำของทางบ้านเป็นห้องครัว ซึ่งในตอนนั้นเห็นว่ากระแสคนสั่งอาหารเดลิเวอรี่มาแรง
และหลายแพลตฟอร์มเปิดให้ร้านค้าเข้าถึงได้ แม้จะไม่มีหน้าร้านนั่งทานก็สามารถเข้าร่วมเป็นหนึ่งในร้านอาหารของแพลตฟอร์มสั่งอาหารออนไลน์ได้
ผมก็เริ่มทำรูป ทำเมนู ลงแอพพลิเคชั่นออนไลน์เดลิเวอรี่ก่อนเลย
“ปรากฏว่ามียอดเข้ามาในวันแรกเป็นเงินประมาณ
800 บาท จึงมีกำลังใจเพราะทำขายวันแรกก็เห็นเงินแล้ว”
จากนั้นผมก็เริ่มปรับแต่งร้านจนมีที่นั่ง
2-3 โต๊ะเพื่อรองรับลูกค้า จึงได้ฐานลูกค้าทั้งแบบออฟไลน์เพิ่มเติมจากออนไลน์ที่มียอดสั่งซื้อเข้ามาเรื่อยๆ
พร้อมกับรีวิวและคำชมจากลูกค้าที่เคยได้ชิมข้าวหมก ก็จะกลับมาซื้อและบอกต่อๆ กันไป
ทำให้เริ่มกลายเป็นที่รู้จักของผู้คน การทำธุรกิจข้าวหมกในครั้งนี้ผมจะมุ่งไปที่ตลาดออนไลน์
และมีแผนที่จะปรับสู่ออนไลน์เต็มรูปแบบผ่านการขับเคลื่อนเพจ ที่เน้นการทำรูปสวยงาม
มีการสร้าง Storytelling, มีเฟซบุ๊ก
และทำ SEO บนเว็บไซต์ไปพร้อมกับการเปิดตัวให้คนรู้จักในแบบออฟไลน์มากขึ้น
จากผลการเปิดร้านที่ผ่านมาได้ 6 เดือน
แบบเน้นขายออนไลน์ ทำให้มั่นใจว่าจะไปต่อได้กับธุรกิจนี้ได้ และมีออกท็อปปิ้งมาให้เลือกอีกหลากหลาย
รวมไปถึงจะทำเป็นข้าวหมกพร้อมรับประทาน เพื่อให้ลูกค้านำไปปรับรับประทานเป็นกับข้าวที่ตัวเองชอบ
เช่น ผัดกะเพรา แกงเขียวหวาน
จากยอดขายที่เพิ่มขึ้นทุกวัน โดยเฉลี่ยสามารถขายข้าวหมกได้ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 30,000-50,000 บาท ผ่านการขายออนไลน์บนแพลตฟอร์มและหน้าร้าน ทำให้เรามีรายได้ระหว่างที่ทำงานประจำ (เป็นธุรกิจตัวเอง) ไม่สามารถทำเงินให้ได้ ก็ยังสามารถมีรายได้ไปต่อได้
“ผมมองว่าการทำธุรกิจในยุคนี้ ตลาดออนไลน์เป็นสิ่งจำเป็นสำคัญที่คนทำธุรกิจควรเข้าไปศึกษา
แม้จะไม่มีความรู้ไม่มีความถนัดก็สามารถเข้าไปเรียกหาคนมาช่วยงานเราได้
โดยผมจะหาจ้างคนทำงานในแอปพลิเคชัน Fast work เข้ามาช่วยทั้งทำอาร์ต เขียนคอนเทนท์ สร้างสตอรี
ซึ่งเป็นต้นทุนการใช้จ่ายที่ไม่มาก
แต่สามารถเรียกใช้คนมาช่วยงานได้ตรงใจแก้ไขได้ตรงจุด โดยไม่ต้องจ้างประจำ
และทำให้การทำงานของผมขับเคลื่อนไปได้ โดยไม่ต้องมากังวลเรื่องคนงาน เพราะในแอปฯ นี้มีคนเก่งหลายแขนงมาให้เลือกสรรอยู่แล้ว
ผมก็มุ่งเน้นเรื่องการคุมคุณภาพ ทำการตลาด บริหารกิจการไปอย่างเดียว” ศราวุฒิ
กล่าวทิ้งท้าย
ที่มา : บทสัมภาษณ์คุณสราวุฒิ นิรมล “ข้าวหมกไก่คุณวุฒิ https://www.facebook.com/kaomokkaikhunwut”