3 พลังขับเคลื่อน ‘เกียวโต’ สู่การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม
หลายท่านทราบดีว่า ญี่ปุ่นได้เปลี่ยนประเทศสู่ประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม
แต่ทราบหรือไม่ว่าภายใต้ความสำเร็จดังกล่าว ถูกบ่มเพาะและส่งต่อกันหลายชั่วอายุคน
ยกตัวอย่างอาทิ ในนครเกียวโตซึ่งเคยเป็นเมืองหลวงของญี่ปุ่นกว่า 1,000 ปี ซึ่งไม่เพียงเป็นเมืองวัฒนธรรมและศักยภาพด้านการท่องเที่ยว
แต่ยังมีศักยภาพในเชิงนวัตกรรมและเทคโนโลยีว่าเป็นจังหวัดที่มีบริษัทที่ดำเนินธุรกิจยาวนานเกิน
100 ปี ตั้งอยู่จำนวนมากถึง 1,403 บริษัท
และยังเป็นที่ตั้งของบริษัทระดับโลกหลายแห่ง เช่น Kyocera,
Shimadzu, Nintendo เป็นต้น
โดยบริษัทชั้นนำเหล่านี้
มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของนครเกียวโตมาอย่างยาวนาน
และต่างก็มีจุดเริ่มต้นจากการเป็นบริษัท “Venture” ซึ่งเป็นศัพท์ภาษาอังกฤษที่ญี่ปุ่นประดิษฐ์ขึ้น (Wasei-eigo
– Japanese-made English) มีความหมายคล้ายกับสตาร์ทอัพ หมายถึง
“บริษัทที่เริ่มต้นทำธุรกิจใหม่ที่มีเทคโนโลยี นวัตกรรม แนวคิดใหม่ เป็นบริษัทที่อยู่ระหว่างการเติบโตและมีแนวโน้มเติบโตอย่างรวดเร็วในอนาคต และยังหมายถึงบริษัทที่ได้รับการสนับสนุนจากธุรกิจเงินร่วมลงทุน (venture capital) อีกด้วย”
ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme
ภาครัฐ ภาคเอกชน
และสถาบันการศึกษาของนครเกียวโตตระหนักถึงความสำคัญของบริษัท Venture ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี
จึงได้ร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดเพื่อให้นครเกียวโตเป็น “เมืองแห่ง Venture” โดยสนับสนุนคนรุ่นใหม่ที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และมีเป้าหมายที่จะก่อตั้งธุรกิจหรือบริษัท
Venture การดำเนินการของภาคส่วนต่างๆ มีดังนี้
ภาครัฐ :
นครเกียวโตมีสำนักงานส่งเสริมนวัตกรรมบริษัทท้องถิ่นนครเกียวโต
ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักด้านการส่งเสริมการก่อตั้งบริษัท Venture และการสร้างธุรกิจจากภูมิปัญญาและความรู้ต่างๆ
นอกจากนี้นครเกียวโตยังมีพื้นที่สำหรับคนรุ่นใหม่ใช้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น
วางแผนและปรึกษาหารือเกี่ยวกับการสร้างธุรกิจ เช่น Kyoto Open Innovation
Cafe (KOIN) ซึ่งเป็นพื้นที่เปิดให้คนรุ่นใหม่ที่ต้องการเริ่มต้นหรือขยายธุรกิจ
ได้พบปะแลกเปลี่ยนเพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่
เป็นศูนย์รวมของความรู้และเทคโนโลยีโดยไม่จำกัดสาขาและยุคสมัย มีเจ้าหน้าที่ของ KOIN
ให้คำปรึกษาแนะนำ
ภาคเอกชน : นครเกียวโตมี
Kyoto Research Park (KRP) ก่อตั้งโดยบริษัท Osaka
Gas เมื่อปี 2530 KRP เป็นแหล่งบ่มเพาะธุรกิจที่ดีเป็นอันดับต้นๆ
ของประเทศญี่ปุ่น นอกจากบริการให้เช่ายืมพื้นที่สำนักงานแล้ว
ยังให้การสนับสนุนเฉพาะทางเรื่องการสร้างตลาดใหม่
การสร้างแพลตฟอร์มเพื่อสร้างธุรกิจใหม่โดยการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในสาขาที่มีศักยภาพระหว่างภาครัฐ
ภาคอุตสาหกรรม และสถาบันศึกษา เช่น เทคโนโลยีสารสนเทศ อิเล็กทรอนิกส์ พลังงาน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู ซึ่งศาสตราจารย์ Shinya Yamanaka แห่งมหาวิทยาลัยเกียวโตเคยได้รับรางวัลโนเบลจากงานวิจัยในด้านดังกล่าว
นอกจากนี้ บริษัท Darma Tech Labs เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของภาคเอกชน ที่มีส่วนส่งเสริมการสร้างบริษัท
Venture Mr. Narimasa Makino ประธานของบริษัทฯ
ต้องการให้นครเกียวโตมีบริษัท Venture เพิ่มขึ้น
จึงเปิดให้ใช้พื้นที่สำหรับสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ (Monozukuri) โดยให้เช่าอุปกรณ์ เช่น เครื่อง Laser Cutter หรือ 3D
printer ในราคาย่อมเยา ในช่วงการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 มีผู้มาใช้บริการที่บริษัทฯ เพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจ เช่น
มือจับเพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสราวจับรถไฟโดยตรง
กรอบรูปดิจิทัลที่ให้บรรยากาศเสมือนมองทิวทัศน์นอกหน้าต่าง
ช่วยผ่อนคลายให้ผู้ที่ต้องทำงานที่บ้านในช่วงการแพร่ระบาด และตัวจับสัญญาณ (sensor)
สำหรับฝังไว้ที่รองเท้าเพื่อวัดระยะห่างสำหรับหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดในโรงงานหรือระหว่างการวิ่งออกกำลังกาย
สถาบันการศึกษา : นครเกียวโตมีสถาบันอุดมศึกษาและนักศึกษาจำนวนมาก
ที่มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมให้นครเกียวโตเป็นเมืองแห่งบริษัท Venture ด้วยการนำผลงานวิจัยทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมในสาขาที่มีศักยภาพ
ไปต่อยอดให้กลายเป็นธุรกิจเชิงพาณิชย์ ดังนั้นมหาวิทยาลัยที่มีบทบาทนำในด้านนี้
คือมหาวิทยาลัยเกียวโต (Kyoto University) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก
มีผลงานทางวิชาการที่โดดเด่นจำนวนมาก
โดยเฉพาะงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก
เห็นได้จากศิษย์เก่าและผู้เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยฯ ได้รับรางวัลโนเบลมากถึง 10
คน ซึ่งปัจจุบันมีบริษัท Venture ที่เกิดจากการต่อยอดผลงานวิจัยมหาวิทยาลัยเกียวโตจำนวน
191 บริษัท มากเป็นอันดับสองรองจากมหาวิทยาลัยโตเกียว (268 บริษัท) เช่น บริษัท Delta-Fly
Pharma ผู้พัฒนายาต้านมะเร็งโดยใช้ Module Technology ซึ่งนำสารประกอบ (Module) แต่ละชนิดในตัวยามาผสมเป็นตัวยาชนิดใหม่
ช่วยประหยัดเวลาในการวิจัยพัฒนายาและทำให้ได้ยาชนิดใหม่ที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัย
และบริษัท REPROCELL บริษัทชั้นนำของประเทศด้านการวิจัยเซลล์ตั้งต้น
(stem cell) และเป็นบริษัทแรกของญี่ปุ่นที่สร้างเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ
เซลล์ตับ และเซลล์ประสาทเพื่อใช้ในการวิจัยทางการแพทย์ เป็นต้น
การส่งเสริมบริษัท Venture ของมหาวิทยาลัยเกียวโตดำเนินการผ่าน 3 กลไกหลัก
ได้แก่
ธุรกิจเงินร่วมลงทุน เช่น บริษัท Kyoto University Innovation Capital (Kyoto-ICAP) ที่เน้นลงทุนในบริษัทนอกตลาดหุ้น
ที่มีแผนขยายธุรกิจและนำผลงานวิจัยและเทคโนโลยีระดับสูงของมหาวิทยาลัยฯ
ไปพัฒนาเป็นธุรกิจเชิงพาณิชย์ และบริษัท Miyako Capital ซึ่งตั้งสำนักงานอยู่ภายในมหาวิทยาลัยฯ
ทำให้เข้าถึงทรัพย์สินทางปัญญาและทรัพยากรบุคคลของมหาวิทยาลัยฯ เช่น
ความร่วมมือจากอาจารย์ในการทำแบบสำรวจด้านเทคโนโลยี
การขอรับคำปรึกษาและคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญต่างๆ
Innovation Hub Kyoto ภายใต้การบริหารจัดการของ
Kyoto University Medical Science and Business Liaison Organization
(KUMBL) มีภารกิจหลัก ประกอบด้วยการนำผลวิจัยของมหาวิทยาลัยฯ
ไปต่อยอดเพื่อคืนประโยชน์สู่สังคม การช่วยจัดตั้งและสนับสนุนบริษัท Venture
ของมหาวิทยาลัยฯ การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยให้นักวิจัยและบริษัทต่างๆ
สามารถพัฒนางานวิจัยพื้นฐานไปสู่การสร้างธุรกิจเชิงพาณิชย์ได้อย่างราบรื่น
รวมทั้งการสร้างความร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญในบริษัทต่างๆ รูปแบบการสนับสนุนของ Innovation
Hub Kyoto มีการจัดพื้นที่และอุปกรณ์ในการทดลองผลิตภัณฑ์
การจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนและโครงการต่างๆ
ชมรมสนับสนุนสตาร์ทอัพของนักศึกษามหาวิทยาลัยฯ
ตั้งขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน 2563 และได้จัด online idea
contest มีผู้เข้าร่วม 260 คน จาก 40 ประเทศ
ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันเป็นเวลา 3 วัน
โดยให้นำเสนอแนวคิดที่จะสร้างสรรค์สังคมให้ดีขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19
ทั้งนี้ตัวอย่างข้างต้นสะท้อนถึงการมีเป้าหมายที่เป็นเอกภาพของภาครัฐ
ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา ในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของนครเกียวโต
ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยอาจจะสามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับหน่วยงานของนครเกียวโต
เกี่ยวกับรูปแบบการดำเนินนโยบายส่งเสริมบริษัท Venture
เพื่อนำมาปรับใช้กับนโยบายการส่งเสริมสตาร์ทอัพของประเทศไทยได้
แหล่งอ้างอิง : ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์ กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
กระทรวงการต่างประเทศ
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครโอซากา