การออกกฎหมายใหม่ในยุคการปฏิรูปประเทศเมียนมาที่กลิ่นอายประชาธิปไตยกำลังเบ่งบานนั้นไม่ใช่เรื่องแปลก
เนื่องจากกฎหมายฉบับเก่าล้าหลังไม่ทันยุคทันสมัย
ดังนั้นกลุ่มนักลงทุนต่างชาติรวมถึงไทยเองต้องติดตามตลอดเวลา
โดยเฉพาะกฎหมายด้านการค้าและการลงทุนที่กลุ่มนักลงทุนต้องศึกษาลึกซึ้งเป็นพิเศษ
โดยนับตั้งแต่วันที่ 9 พ.ค. 2561
ทางการเมียนมาได้ออกกฎหมายเกี่ยวข้องกับการลงทุนจากต่างประเทศ
หรือที่เรียกว่าการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment) ซึ่งเมียนมาให้สิทธิแก่คนต่างชาติ
ในการได้สิทธิถือครองหุ้นของบริษัทที่ลงทุนในประเทศเมียนมากยิ่งขึ้น
บางธุรกิจในอดีตไม่เคยได้รับสิทธิมาก่อน
แต่ยุคนี้ทางการเมียนมาผ่อนปร่นต่างชาติสามารถได้สิทธินั้น
ล่าสุดคณะกรรมการกลางเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคของเมียนมา
ได้ออกประกาศเกี่ยวกับการติดฉลากสินค้า จำนวน 2 ฉบับ คือ
1.ประกาศว่าด้วยการกำหนดสินค้าที่ต้องติดฉลากและคำแนะนำในการใช้สินค้าเป็นภาษาเมียนมา
2.ประกาศว่าด้วยการกำหนดแนวทางและขั้นตอนการดำเนินการเกี่ยวกับการติดฉลากสินค้าภาษาเมียนมา
ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลค์ Facebook bangkokbanksme
ประเภทสินค้าที่ต้องติดฉลากเป็นภาษาเมียนมา
8 กลุ่มสินค้า ได้แก่
1.อาหารและเครื่องดื่ม
2.เครื่องใช้ในครัวเรือน
3.สินค้าสำหรับเด็ก
4.เครื่องมือเทคโนโลยีและการสื่อสาร
5.ยาและอาหารเสริม
6.สารเคมี เครื่องสำอาง และอุปกรณ์อาบน้ำ
7.เครื่องมือทางการเกษตร และ
8.อุปกรณ์ออกกำลังกาย
ภายใต้ประกาศดังกล่าว
กำหนดให้แสดงเนื้อหาสำคัญ ได้แก่ คำแนะนำสำหรับการใช้งาน วิธีการเก็บรักษา
คำเตือนและข้อควรระวัง และผลข้างเคียงจากการใช้ (ถ้ามี) โดยสินค้าบางประเภทอาจไม่จำเป็นต้องระบุรายละเอียดสินค้าให้ครบทั้ง
4 ข้อ และมีข้อกำหนดในการปฏิบัติที่แตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับประเภทของสินค้า
ปริมาณ และขนาดของสินค้า
ซึ่งกฎหมายฉบับดังกล่าวทางการเมียนมาเตรียมประกาศบังคับใช้ทันที
ก่อนหน้านี้ นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์
อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศไทยได้เปิดโต๊ะเจรจาต่อรองกับรัฐบาลเมียนมาขอให้ขยายเวลาไปสักระยะหนึ่งเพื่อให้ผู้ประกอบการไทยมีเวลาปรับตัว
ทำให้รัฐบาลเมียนมาได้ผ่อนปรน และได้ขยายระยะเวลาบังคับใช้ออกไปอีก 1 ปี คือจะเริ่มมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่
15 มี.ค.2563 จากเดิมมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 เม.ย.2562
ซึ่งระยะเวลาดังกล่าวทำให้ผู้ประกอบการไทยสามารถเตรียมตัวครอบคลุมทุกด้าน
ตลอดทั้งหารือผู้นำเข้าเมียนมา รวมทั้งหน่วยงานที่กำกับดูแลสินค้าแต่ละชนิด
เพื่อจะได้ดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมายของเมียนมา
เนื่องจากสินค้าบางชนิดอาจใช้การติดสติกเกอร์แทนการพิมพ์ฉลากใหม่ได้ เช่น
สินค้าอาหารและเครื่องดื่ม
ดังนั้นผู้ประกอบการต้องรีบสอบถามหน่วยงานอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข, สินค้าปุ๋ย/ยาปราบศัตรูพืช หารือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพราะบรรจุภัณฑ์ปุ๋ยจะต้องเป็นการสกรีนฉลากภาษาเมียนมาลงบนถุงปุ๋ย เป็นต้น
นายอัครเดช ตาสะหลี นักธุรกิจในพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา ด้าน อ.แม่สอด จ.ตาก ระบุว่า เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งเพราะจะส่งผลดีต่อภาคการส่งออกของไทยเนื่องจากผู้บริโภคชาวเมียนมาจะได้รับรู้ว่าสินค้าที่ซื้อมาสามารถนำไปใช้อย่างไรได้บ้าง
แต่หากติดฉลากภาษาไทย หรือ ภาษาอังกฤษ ผู้บริโภคชาวเมียนมาส่วนใหญ่จะอ่านไม่ออก
แต่รู้ว่าเป็นสินค้าจากฝั่งไทยจึงเกิดความเชื่อมั่นว่าสินค้าที่ผลิตจากไทยมีความเชื่อถือสูงและได้มาตรฐานสากล
“ข้อดีที่สินค้าไทยติดฉลากเป็นภาษาเมียนมาทำให้เกิดความเชื่อถือสูงในกลุ่มผู้บริโภคที่ซื้อไปใช้แล้วเกิดความมั่นใจ
ใช้แล้วปลอดภัย ผลตามมาคือยอดขายสินค้าส่งออกเพิ่มขึ้นและเติบโตตามไปด้วย ที่สำคัญสินค้าที่นำเข้าต้องผ่านการรับรองจากคณะกรรมการกลางเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคของเมียนมาซึ่งคล้ายกับคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)ของไทย
หากผู้ประกอบการไทยปั๊มฉลากเป็นภาษีเมียนมายิ่งจะทำให้ส่งออกไทยเป็นไปในทิศทางที่ดีเพราะผู้บริโภคจะเชื่อมั่นในสินค้าไทยมากยิ่งขึ้น” นายอัครเดช
กล่าว
เน้นย้ำผู้ประกอบการส่งออกสินค้าไปเมียนมารีบเปลี่ยน รีบหาแนวทางแก้ไขไว้ตั้งแต่ตอนนี้ ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมีโทษจำคุกสูงสุด 3 ปี หรือปรับเป็นเงินสูงถึง 5 ล้านจัต หรือทั้งจำทั้งปรับ