6 วิธีปรับตัวแล้วไปต่อ ในวันที่ถูกปลดออกจากงานแบบฟ้าแลบ
การประกาศเลิกจ้างแรงงานยังคงมีมาต่อเนื่องตั้งแต่ปี
2562 ล่าสุดบริษัททุนยักษ์ข้ามชาติหลายประเทศ มีการสั่งปลดคนทำงานออกแบบฟ้าแลบสามพันคน
จากจำนวนพนักงานที่มีในสังกัดกว่า 25,000 คน ทุกประเทศทั่วโลก ชนิดที่ไม่มีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
ซึ่งทุนใหญ่ขนาดนี้เลือกจะปลดคนทำงานออก เพราะต้องการประครองธุรกิจตัวเองให้ผ่านพ้นวิกฤติเศรษฐกิจที่มีต้นตอจากสงครามการค้าจีนและสหรัฐฯ
กลายเป็นฉากเปิดศึกการค้าในสังเวียนโลกของ 2 ประเทศมหาอำนาจทางการค้า ที่นำพาความวุ่นวายและก่อให้เกิดความเสียหายในเศรษฐกิจมวลรวมของโลก ผสมกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในปัจจุบัน และสถานการณ์ค่าเงินบาทไทยที่ผ่านมา เศรษฐกิจประเทศไทยจึงไม่สดใส โรงงานหลายแห่งได้รับผลกระทบจนต้องลอยแพคนงาน และมีผู้เชี่ยวชาญออกมาชี้ว่ายังมีปัจจัยเสี่ยงและสถานการณ์ยังคงน่าเป็นห่วงอยู่มาก อาจมีการลอยแพคนงานเกิดขึ้นตามมาอีกเป็นระลอกคลื่น
ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme
จะปรับตัวรับความเสี่ยงถูกเลิกจ้างฟ้าแลบยังไงให้ไปรอด
ด้วยเศรษฐกิจผันผวนจนยากจะรับมือ
การเลือกเลิกจ้างแบบสายฟ้าแลบจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ผู้ประกอบการเลือกใช้ในการรับมือกับเศรษฐกิจในขณะนี้
ซึ่งแน่นอนว่าจะมีการจ่ายค่าตกใจตามกฎหมายแรงงานเป็นก้อนงามๆ
มากพอให้พนักงานที่ถูกปลดนำไปใช้ตั้งตัวได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งจริงๆ แล้วหลายคนที่โดนเลิกจ้างไม่มีใครตั้งตัวได้
ด้วยชีวิตนั้นมีภาระที่ต้องแบกรับอยู่ในระยะยาว เช่นว่า หากมีภาระหนี้สินผ่อนบ้าน
ผ่อนรถ ผ่อนบัตรต่างๆ รวมไปถึงค่าใช้จ่ายในการส่งเสียบุตร และการใช้ชีวิตอยู่
ย่อมนำมาสู่ความเครียด จนยากจะตั้งหลักได้ในช่วงแรก ซึ่งนี่จะเป็นคำแนะนำให้ปรับตัว
แล้วไปต่อในวันที่ถูกปลดออกจากงานแบบฟ้าแลบ ได้อย่างรอดปลอดภัย
1. เรียกสติมาอยู่กับตัวตั้งหลักสร้างกำลังใจ
ไม่มีใครไม่เสียใจหรือเสียศูนย์หากต้องเจอกับสถานการณ์ถูกเลิกจ้าง
ยิ่งเป็นการบอกเลิกจ้างในช่วงที่มีภาระค่าใช้จ่ายมากมายรออยู่ หรือมีอายุมากแล้วยิ่งเป็นเรื่องหน้ากังวล
สิ่งแรกที่ต้องทำคือ “เรียกสติ สร้างกำลังใจให้กับตัวเอง พร้อมยอมรับความจริงว่า
ความแน่นอนคือความไม่แน่นอนของชีวิต บนโลกนี้ไม่มีอะไรเป็นสิ่งตายตัวแน่แท้
เพื่อลดการยึดติดและกล้าก้าวไปต่อ มองว่าการถูกเลิกจ้างนั้นดีกว่าการเดินออกจากงานมาเอง
เพราะยังมีเงินขวัญถุงมาให้ใช้เป็นทุนตั้งต้นชีวิตใหม่ ซึ่งการเดินออกจากงานมาเองของบางคนก็อาจไม่ได้มาพร้อมกับการวางแผนทางการเงินที่ดีหรือมีทุนตั้งต้นเหมือนคนที่ถูกเลิกจ้างเสมอไป”
เพื่อสร้างกำลังใจ ให้เดินต่อไปได้แบบไม่เซ
2. ไปที่สำนักงานจัดหางานเขตเพื่อขึ้นทะเบียนว่างงานรับเงินชดเชย
ภายใน 30 วันที่ว่างงาน โดยไม่ต้องรอหนังสือรับรองการออกจากงาน เพื่อเป็นการแสดงสิทธิ์เบื้องต้นในกรณีถูกเลิกจ้าง
จะได้รับเงินทดแทนระหว่างการว่างงานปีละไม่เกิน 180 วัน ในอัตราร้อยละ 50
ของค่าจ้างเฉลี่ยล่าสุด โดยคำนวณจากฐานเงินสมทบขั้นต่ำเดือนละ 1,650 บาท
และฐานเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท ตัวอย่างเช่น ผู้ประกันตนมีเงินเดือนเฉลี่ย
10,000 บาท จะได้รับเดือนละ 5,000 บาท
3. สำรวจภาระหนี้สินของตัวเอง หนี้สินเป็นภาระหนักอกที่ต้องมาวางแผนให้กับชีวิต ดังนั้นจึงควรทำการแยกย่อยชนิดหนี้สินเพื่อแบ่งจัดการเป็นประเภท
ดังนี้
v หนี้สินประเภทบ้าน ที่ดิน อสังหาริมทรัพย์ เป็นสิ่งที่เจรจาประนอมหนี้กับธนาคารต้นสังกัดที่กู้เงินมาซื้อได้ง่ายสุด
เพราะมีระยะเวลาในการผ่อนชำระนาน เป็นหนี้สินที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ดังนั้นขอให้เดินหน้าเข้าปรึกษาธนาคารที่เป็นเจ้าหนี้ เพื่อเจรจาขอประนอมหนี้
ซึ่งมีแนวทางให้เลือก 3 วิธี คือ
1. การปรับลดจำนวนเงินที่ต้องผ่อนในแต่ละเดือน
2.
การขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้
3. ถ้าคิดแล้วว่ายื้อไว้ไม่ไหว
ให้ใช้วิธีคือการขายทรัพย์สินโอนหนี้คืนธนาคาร
v หนี้สินกู้ซื้อรถยนต์ เป็นสิ่งที่เจรจาประนอมหนี้กับผู้ปล่อยเงินกู้ได้ยากกว่าหนี้สินประเภทบ้าน
และหากปล่อยยึดไปก็ใช่ว่าเรื่องจะจบ
เพราะยังคงมีมูลค่าความเสียหายที่ไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายเมื่อเขายึดรถไปขายทอดแล้วเกิดขึ้น
ดังนั้นหากผ่อนต่อไปไม่ไหว การนำเข้าไปรีไฟแนนซ์หรือขายทอดตลาดต่อ ก็เป็นทางออกที่จำเป็นต้องทำในการตัดอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต
v หนี้สินบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคลหรือเงินกู้นอกระบบ เป็นสิ่งที่น่าวิตกเป็นอย่างยิ่งเพราะมีอัตราดอกเบี้ยสูง
ดังนั้นไม่ควรเลี่ยงทิ้งไว้หากไม่สามารถผ่อนชำระได้
เพราะจะมีค่าใช้จ่ายทั้งดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียมหรือค่าติดตามทวงถาม
จนถึงขั้นฟ้องร้องขึ้นโรงขึ้นศาลตามมาอีกมากมาย หากมีภาระหนี้ดังกล่าวขอให้เดินหน้าเข้าหาสถาบันการเงินเจ้าหนี้เพื่อทำการปรับโครงสร้างหนี้
หาแนวทางการชำระหนี้ร่วมกัน และลด
ละเลิกพฤติกรรมที่จะนำมาสู่การเป็นหนี้เหล่านี้ลง ก็จะช่วยให้ผ่านวิกฤติปัญหานี้ไปได้
เพราะคงไม่มีใครล้มแล้วไม่ลุกขึ้น
4. สำรวจการเงินของตัวเอง ไม่ว่าจะอยู่ในสภาวะเป็นหนี้หรือไม่เป็นหนี้ การมีเงินเก็บ หรือมีเงินสดในมือนั้นถือเป็นต้นทุนที่จะทำให้ไปต่อ
หากเป็นหนี้ ควรแบ่งเงินออกเป็น 3 ส่วน
v ส่วนแรกให้แบ่งไว้เพื่อการผ่อนชำระหนี้ ระหว่างหาช่องทางให้ชีวิตใหม่
อาจประเมินไว้ที่ 3-6 เดือน
v ส่วนที่สองเก็บไว้เป็นค่าครองชีพในช่วงที่ไม่เกิดรายได้
และปรับการใช้ชีวิตให้อยู่ในโหมดประหยัดที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้
v ส่วนที่สามเก็บไว้ต่อยอดทำทุน
ในกรณีที่ไม่สามารถหางานประจำทำได้ต่อไป ซึ่งเงินส่วนนี้อาจนำมาใช้ลงทุนในแฟรนด์ไชส์เล็กๆ เริ่มต้นธุรกิจให้ตัวเองได้ต่อไป
5. ตัดสิ่งที่เป็นค่าใช้จ่ายไม่จำเป็นออกจากชีวิต
ในสถานการณ์เช่นนี้ยังไม่รู้ว่าอนาคตทางการเงินของตัวเองจะเป็นอย่างไร
ดังนั้นอะไรที่ประหยัดได้ควรประหยัด ลดค่าสมาชิกต่างๆ ค่าเครื่องสำอาง
เปลี่ยนแพ็คเกจโทรศัพท์เป็นแบบเติมเงินหรือถูกลง
หากค่าใช้จ่ายในการเรียนของลูกนั้นสูงจากที่เดิม
ก็โยกย้ายเปลี่ยนที่เรียนไปสู่โรงเรียนที่เหมาะสม แล้วเน้นที่การใส่ใจให้ความสำคัญ
สอน การเรียน การบ้านลูกแทน และตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไปให้ได้มากที่สุด
พร้อมกับปรับขนาดการใช้ชีวิตให้เล็กลง
เพื่อประครองชีวิตให้ผ่านพ้นไปได้ยาวนานที่สุดเท่าที่เงินเก็บจะมี
หรือจนกว่าจะหาลู่ทางการทำเงินได้ใหม่
6. หาลู่ทางการทำงาน ทำเงิน ไม่เลือกมากไม่ยากจน เมื่อจัดสรรชีวิตทุกอย่างได้ลงตัว ให้เตรียมตัวเองให้พร้อมลงสนามการแข่งขันในการหางานทำให้ดี เพราะสถานการณ์แบบนี้การแข่งขันดุเดือดทะลุปรอทแน่นอน แต่ถ้าไม่อยากกลับไปสู่ความเสี่ยงบนความมั่นคงของนายจ้างอีก ให้ลองมองหาลู่ทางทำธุรกิจสร้างเงินให้ตนเอง หากพอมีเงินเริ่มต้นทุน จงเริ่มต้นทำในสิ่งที่ชอบ รอบครอบในการทำการตลาด และเข้าหาแหล่งเงินทุนใหม่ เช่น สถาบันทางการเงินที่พร้อมจะช่วยพยุงและสร้าง SMEs ให้อยู่คู่ธุรกิจในประเทศไทยอีกมากมาย ที่เปิดโอกาสปูทางให้เปลี่ยนชีวิตจากลูกจ้างคนมาสู่การเป็นเถ้าแก่หรือนายตัวเอง
เพราะในทุกๆ วิกฤติมักมีโอกาสเกิดขึ้นใหม่ได้เสมอ ขอแค่สำรวจตัวเองและค้นหาทางให้เจอ ด้วยหลายชีวิตของผู้ยิ่งใหญ่ที่พลิกเปลี่ยนโลกได้ รวมไปถึงมหาเศรษฐีในเมืองไทย ล้วนแล้วแต่ต้องผ่านสถานการณ์วิกฤติของชีวิตที่บีบคั้นมาแล้วทั้งสิ้น ยิ่งพวกเขาถูกบีบคั้นกดดันด้วยความยากลำบากมากเท่าไหร่ นั่นยิ่งเป็นแรงผลักดันให้พวกเขาฮึดสู้ได้อย่างมหาศาล จนสามารถผ่านเหตุการณ์ของช่วงชีวิตที่น่าจดจำและเป็นตำนานเล่าขานไปจนตาย สามารถมีชีวิตใหม่ที่สวยงามได้ด้วยการ ลุกขึ้นสู้ ลงมือทำและไม่ยอมแพ้.