การใช้ IoT พลิกเกมธุรกิจ เปลี่ยนโฉมประเทศ

SME Startup
17/05/2020
รับชมแล้วทั้งหมด 10051 คน
การใช้ IoT พลิกเกมธุรกิจ เปลี่ยนโฉมประเทศ
banner

Internet of Things (IoT) หรือ 'อินเทอร์เน็ตแห่งสรรพสิ่ง' เป็นเทคโนโลยีการเชื่อมต่ออุปกรณ์ทุกสิ่งทุกอย่างสู่โลกอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็นการเปิด-ปิด อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ โทรศัพท์มือถือ เครื่องมือสื่อสาร เครื่องมือทางการเกษตร อาคาร บ้านเรือน ที่ควบคุมผ่านมือถือหรือทางอินเทอร์เน็ต ที่มีการนำมาใช้จนเป็นที่รู้จักกันดีมาสักพักหนึ่งแล้ว

ไม่ว่าจะเรียกด้วยคำว่า IoT หรืออีกชื่อเรียกหนึ่งที่นิยมกันดีอย่าง M2M ที่ย่อมาจาก Machine to Machine ก็ตาม ล้วนเป็นวิวัฒนาการของเทคโนโลยีและดิจิทัลที่เข้ามามีบทบาทสำคัญของโลกที่กำลังจะก้าวไป โดยประเทศไทยเราได้มีการส่งเสริมให้เกิดการใช้ IoT เข้ามาขับเคลื่อนเศรษฐกิจสู่ยุคดิจิทัลในนโยบาย Thailand 4.0 ด้วย

ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme 


ความสำคัญของ IoT (Internet of Things)

IoT ได้รับการจัดอันดับให้เป็นเทคโนโลยีและนวัตกรรมสำคัญอันดับหนึ่งที่ทรงอิทธิพลต่อการเกิด Disruption ทางเทคโนโลยี โดยมีอันดับสูงกว่าปัญญาประดิษฐ์ (AI) และหุ่นยนต์ (robotics) สำคัญขนาดที่ว่า รัฐบาลไทยต้องจัดตั้งสถาบันไอโอที (IoT Institute) เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัลแห่งอนาคต

ภายใต้ความร่วมมือของเครือข่ายพันธมิตรไอโอทีแห่งประเทศไทย เพื่อจัดเป็นศูนย์ทดลองและทดสอบนวัตกรรมดิจิทัลโดยเฉพาะด้าน IoT และระบบอัจฉริยะให้กับธุรกิจขนาดเล็ก และนักเรียนนักศึกษาขึ้นที่ Digital Park Thailand ในโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) โดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มีสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (สศด.) เป็นผู้จัดการดูแล ซึ่งโครงข่าย Internet of Things ได้รับการคาดหมายว่าจะเป็นหนึ่งในตัวขับเคลื่อนสำคัญ ที่จะเข้ามาช่วยสนับสนุนให้เกิดการประยุกต์ใช้งานตามแผนงานที่รัฐบาลวางไว้ ในการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ยุคดิจิทัล

 

IoT กับการใช้ในเดินเกมธุรกิจ พลิกโฉมประเทศ

ด้วยความสามารถของ IoT ที่โดดเด่น จนรัฐบาลไทยเล็งเห็นบทบาทที่จะนำมาใช้พลิกโฉมประเทศเปลี่ยนจาก Thailand 3.0 ไปเป็น Thailand 4.0 คือการเชื่อมโยงเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเข้ากับหลายสิ่ง ผ่านการเชื่อมต่ออุปกรณ์แบบ RFID และ Sensors เพื่อให้สามารถตรวจวัดข้อมูลหลากประเภทได้เป็นจำนวนมาก จนอาจกล่าวได้ว่าเป็น Internet of Everything ไปแล้ว เพราะปัจจุบันนี้แค่เพียงคนหนึ่งคนก็ใช้การเชื่อมโยงทุกสิ่งที่เป็นอุปกรณ์รอบตัว ตั้งแต่รถยนต์ มือถือ แล็ปท็อป ไปจนถึงระบบเปิดปิด ควบคุมเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านและอีกหลายๆ สิ่ง

ดังนั้นข้อมูลที่เกิดจากการเชื่อมโยงของคนหนึ่งคนจึงมีมากมาย ที่สามารถนำมาใช้วิเคราะห์และตัดสินใจได้ว่าคนหนึ่งมีพฤติกรรมแบบไหน ชอบอะไร กำลังจะไปไหน ไปจนถึงอยู่ในช่วงอกหักหรือมีความรัก หากการนำระบบ IoT มาใช้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศหรือบริหารกิจการ จะสามารถพัฒนาไปสู่รายได้หรือการทำกำไรนำคู่แข่ง หรือชนะขาดในเกมการทำธุรกิจได้เลย

ซึ่งความสามารถอันโดดเด่นของ IoT คือการสังเกตการณ์ผ่านตัวเซนเซอร์ที่จะมาช่วยตรวจสอบให้ได้ว่า ขณะนี้สถานการณ์ต่างๆ เป็นอย่างไร และส่งสัญญาณแจ้งเตือนผู้ใช้งานได้ ภายใต้การควบคุมโดยตัวซอฟท์แวร์ที่อยู่ในอุปกรณ์ที่สามารถควบคุมฟังก์ชั่นการใช้งานของอุปกรณ์นั้นๆ ไปจนถึงปรับให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ของแต่ละคนได้ นอกจากนี้ IoT ยังสามารถพยากรณ์สิ่งที่คาดว่าจะเกิดขึ้น จากข้อมูลที่ได้รับมาเป็นชุดข้อมูลแล้วนำไปประมวลผลให้ทราบล่วงหน้าได้เหมือนมีหมอดูส่วนตัว ผ่านระบบการทำงานอัตโนมัติที่พร้อมประสานงานกับอุปกรณ์ตัวอื่นๆ ได้เอง นี่จึงเป็นความโดดเด่นที่รัฐบาลไทยเล็งเห็นความสำคัญจนถึงขั้นชู IoT เป็นตัวเอกในกาเปลี่ยนผ่านประเทศไปสู่ยุคแห่งเทคโนโลยี

 

IoT กับบทบาทที่รัฐบาลวางไว้เพื่อพลิกโฉมประเทศ

โดยภาระหน้าที่ที่รัฐบาลคาดการณ์ให้ IoT มาช่วยขับเคลื่อนประเทศ ในภาคส่วนหลักด้านการผลิตที่ประเทศไทยมีอยู่เดิมก็คือ

- การทำเกษตรแม่นยำ (Precision Farming)  เป็นการอาศัยการทำงานร่วมกันของระบบเซ็นเซอร์วัดความชื้น ปริมาณแสงแดด อุณหภูมิ ระบบฐานข้อมูลพืช ระบบให้น้ำ ปรับปริมาณแสง และระบบปรับอุณหภูมิ ที่ทำงานสอดคล้องกัน เพื่อสร้างสภาพที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืชแบบแม่นยำที่สุด ภายใต้การประหยัดและใช้ทรัพยากรให้น้อยที่สุด 

- อินเทอร์เน็ตอุตสาหกรรม (Industrial Internet)  โครงข่ายข้อมูลขนาดใหญ่ที่เชื่อมต่ออุปกรณ์ เครื่องจักร เครื่องวัด และระบบการควบคุมในระบบอุตสาหกรรมเข้าด้วยกัน มีการส่งข้อมูลผ่านโครงข่ายที่ช่วยให้อุปกรณ์และระบบต่างๆ ผ่านการทำงานหลากหลายแบบ

- ระบบคมนาคมและการจัดการโลจิสติกส์  โครงข่าย IoT เข้าไปมีส่วนช่วยในการพัฒนาระบบคมนาคมและการจัดการโลจิสติกส์ ด้วยการเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างยานพาหานะและระบบควบคุมการจราจรอื่นๆ  เช่น ระบบสัญญาณการจราจร ระบบข้อมูลสภาพจราจร ไปจนถึงรอบการเดินรถสาธารณะ

- ระบบการจัดการพลังงานและสาธารณูปโภค (Utility Management)  IoT มาช่วยจัดการพลังงานและสาธารณูปโภคที่มีประสิทธิภาพ จะต้องมีการตรวจวัดแม่นยำในการประมวลผลภาพรวม เช่น ระบบ smart meter ที่มีความสามารถในการวัดปริมาณการใช้สาธารณูปโภค ก่อนจะส่งข้อมูลดังกล่าวไปยังหน่วยประมวลผลกลางเพื่อใช้วิเคราะห์ภาพรวมต่อไป

- ระบบสาธารณสุขอัจฉริยะ (Smart Health)  เป็นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี IoT เพื่อระบบสาธารณสุขอัจฉริยะ ทำโดยการใช้อุปกรณ์ IoT ที่เก็บข้อมูลสุขภาพและสัญญาณทางร่างกาย (bio signals) เช่น สัญญาณชีพจร ความดันโลหิต คุณภาพการนอน การเคลื่อนที่ การหายใจ ผ่านการใช้อุปกรณ์สวมใส่ (wearable devices) เพื่อรวบรวมและประมวลผลออกมาเป็นข้อมูลสุขภาพและการเจ็บป่วย ทำให้ง่ายต่อการวินิจฉัยโรค

- ระบบเทคโนโลยีการเงิน (Fintech) สนับสนุนเทคโนโลยีทางการเงินหลายรูปแบบ เช่น ระบบการจ่ายเงินอัตโนมัติ (auto-payment) ในร้านค้าปลีก ระบบการจ่ายเงินโดยผ่านอุปกรณ์สวมใส่ (wearable devices) และโทรศัพท์เคลื่อนที่ ดังที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในช่วงกักตัวเลี่ยงการแพร่ระบาดของโควิด-19

 

ประโยชน์ทางเศรษฐกิจของ IoT

การเชื่อมโยงโครงข่าย IoT ทำให้เกิดประโยชน์หลายด้าน ตั้งแต่ระดับตัวบุคคลไปจนถึงหน่วยงาน องค์กร และการนำมาใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ มีการคาดการณ์ว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ผลทางเศรษฐกิจของโครงข่าย IoT จะมีค่ามหาศาล โดยสถาบันวิจัย McKinsey Global ได้ประเมินไว้ว่าในปี พ.ศ. 2568 ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของ IoT ทั่วโลก อาจมีค่าสูงระหว่าง 3.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ถึง 11.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี

โดยที่เกือบร้อยละ 70 จะเป็นผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นระหว่างธุรกิจกับธุรกิจ Business-to business (B2B) ในขณะที่อีกร้อยละ 30 จะเป็นผลประโยชน์จากการที่ผู้บริโภคใช้งาน applications ต่างๆ 

นอกจากนี้ทาง McKinsey Global ยังประเมินไว้อีกว่าร้อยละ 40 ของค่าที่ประเมินไว้ จะมาจากประเทศที่กำลังพัฒนา ซึ่งมีโอกาสในการนำโครงข่าย IoT มาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ มากมาย ซึ่งนำมาใช้พลิกเกมธุรกิจได้ในอนาคต ด้วยการเพิ่มมูลค่าสร้างความแตกต่างบนอุปกรณ์รูปแบบหรือชนิดเดียวกัน ให้ดูดีมีมูลค่าเพิ่มขึ้นได้ด้วยการใส่เทคโนโลยีโครงข่ายเข้าไป ทำให้ลดการแข่งขันเรื่องการตัดราคาลงไปได้ ลดจำนวนคู่แข่งที่จะเข้ามาในสนามเดียวกัน

โครงข่ายเทคโนโลยีที่นำมาใช้กับสินค้าหรือติดตั้งบนอุปกรณ์ เป็นรูปแบบเฉพาะที่จะลอกเลียนหรือเข้าถึงรหัสต้นแบบได้ยาก จากต้นทุนการผลิตและการออกแบบอุปกรณ์ที่สูง ทำให้ลดจำนวนคู่แข่งที่ทุนไม่หนาพอลงไปได้ในตัว สนามแข่งนี้จึงอาจมีคู่แข่งหน้าใหม่เกิดขึ้นน้อย


ผู้ถือไอเดียต้นแบบจะกลายเป็นผู้ถือไพ่เหนือกว่า เทคโนโลยีโครงข่าย IoT ขึ้นอยู่กับการเชื่อมโยงข้อมูล ไปจนถึงการเก็บข้อมูลต่างๆ มาคิดวิเคราะห์ ซึ่งการตีโจทย์แตกนำเกมเดินหน้าก่อนจะมีโอกาสพัฒนาต่อยอดไปไกลกว่าคู่แข่งที่เกิดทีหลังและคิดเล่นในสนามเดียวกัน

การที่ผู้นำประเทศลุกขึ้นมาปรับโฉมประเทศ ด้วยนโยบายด้านเทคโนโลยีให้ก้าวไปสู่ยุคดิจิทัล โดยใช้โครงข่าย IoT เป็นตัวช่วยขับเคลื่อนหลัก เพื่อให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากระดับรายได้ปานกลาง-สูง ไปสู่ระดับรายได้ดีกว่า ที่อาจต้องใช้เวลานานหลายปีกว่าจะเห็นผลเป็นรูปธรรมนั้น ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีวันเกิดขึ้น

ดังนั้นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยที่เป็นเสมือนกลไกช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ก็ควรมีความพร้อมตื่นตัวและเปิดรับเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้าไปใช้ในการดำเนินกิจการ เพื่อไม่ให้พลาดจังหวะและโอกาสที่จะเกิดขึ้นในโลกของการทำธุรกิจยุค 4.0 ที่ประเทศไทยปักธงไว้ แม้วันนี้เรื่องเทคโนโลยีใหม่ๆ จะเป็นสิ่งที่ชวนปวดหัว แต่ถ้าเปิดใจ เปิดรับ และพร้อมเรียนรู้ ก็ไม่ใช่เรื่องยากไปกว่าการนั่งถอดสมการฟิสิกส์ในชั้นเรียนอย่างแน่นอน.

 

แหล่งอ้างอิง

https://techsauce.co/tech-and-biz/thai-business-internet-of-things 

https://www.fujitsu.com/th/th/themes/enabling-digital/asia/smart-factory/fully-utilizing-iot-inside-the-vast-plant.html 

http://www.nbtc.go.th/getattachment/Services/  



สมัครสินเชื่อ >>สินเชื่อธุรกิจบัวหลวง SMEs ดีแน่นอน<< 


ปั้น 4 เมืองของไทยขึ้นชั้น Smart City 

Gig Worker เทรนด์แรงงานยุคใหม่




Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

4 สตาร์ทอัพไทย ที่ใช้ Model Innovation เปลี่ยนโลกใบนี้เป็นสีเขียว

4 สตาร์ทอัพไทย ที่ใช้ Model Innovation เปลี่ยนโลกใบนี้เป็นสีเขียว

อย่างที่ทราบดีว่า ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมถือเป็นเรื่องใหญ่ระดับโลก ที่ส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิตของคนส่วนใหญ่ และกลายมาเป็นโจทย์สำคัญที่มีความเกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจ…
pin
2277 | 14/02/2023
ไม่ดูตอนนี้ รู้อีกทีปีหน้า! ส่องเทรนด์ธุรกิจมาแรง ที่ SME ห้ามพลาดใน ปี 66

ไม่ดูตอนนี้ รู้อีกทีปีหน้า! ส่องเทรนด์ธุรกิจมาแรง ที่ SME ห้ามพลาดใน ปี 66

หลังจากไทยเผชิญการระบาดของโรคโควิด 19 ทำให้ผู้คนปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต หลายหน่วยงานที่เกี่ยวกับธุรกิจการค้าต่างออกมาวิเคราะห์เทรนด์ธุรกิจที่มาแรงในปี…
pin
4460 | 19/01/2023
ตอบโจทย์ Aging Society! นักวิจัยไทยคิดค้น ‘MONICA’ เกมกระตุ้นสมองสำหรับผู้สูงอายุ ที่ผู้ประกอบการต่อยอดไอเดียได้

ตอบโจทย์ Aging Society! นักวิจัยไทยคิดค้น ‘MONICA’ เกมกระตุ้นสมองสำหรับผู้สูงอายุ ที่ผู้ประกอบการต่อยอดไอเดียได้

‘ไทย’ ได้ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์แล้ว คิดเป็นประมาณ 18.3% ของประชากรทั้งหมด และไทยจะกลายเป็นสังคมสูงอายุระดับสุดยอดเช่นเดียวกับญี่ปุ่นที่มีประชากรอายุ…
pin
2247 | 22/12/2022
การใช้ IoT พลิกเกมธุรกิจ เปลี่ยนโฉมประเทศ