ลดต้นทุน ช่วยเพิ่มผลผลิต ‘เมกเกอร์โดรน’ โดรนเพื่อการเกษตรครบวงจร ยกระดับเกษตรกรไทยสู่ Smart Farmer

SME in Focus
30/03/2022
รับชมแล้วทั้งหมด 4345 คน
ลดต้นทุน ช่วยเพิ่มผลผลิต ‘เมกเกอร์โดรน’ โดรนเพื่อการเกษตรครบวงจร ยกระดับเกษตรกรไทยสู่ Smart Farmer
banner
อุตสาหกรรมการเกษตรคือรากฐานของสังคมไทยมาช้านาน โดยมีการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน แต่อาชีพ ‘เกษตรกร’ ก็ยังประสบปัญหาหลักๆ เหมือนเดิม คือผลผลิตน้อยแต่มีต้นทุนสูง รวมไปถึงการขาดแคลนแรงงาน ‘โดรน’ จึงเป็นเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ในการแก้ Pain Point ให้เกษตรกรไทย ในการช่วยยกระดับการทำเกษตรสู่ Smart Farmer

จุดเริ่มต้นของ ‘ศักดิ์สยาม เมกเกอร์ โดรน’

คุณศิวพงศ์ บุญสาลี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศักดิ์สยามลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ SAK เล่าถึงที่มาของการก่อตั้งบริษัท ‘ศักดิ์สยาม เมกเกอร์ โดรน’ ว่า ศักดิ์สยามลิสซิ่งมีความมุ่งมั่นและต้องการสนับสนุนให้เกษตรกรไทยเข้าถึงเทคโนโลยีการเกษตร เพื่อยกระดับวิถีการทำเกษตรสู่ Smart Farmer และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น


คุณศิวพงศ์ บุญสาลี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศักดิ์สยามลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน)

ด้วยเหตุผลนี้จึงได้ร่วมทุนกับคุณปภังกร โชคทวีชัยเจริญ ผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจโดรนเพื่อการเกษตร (Agricultural Drone) ซึ่งเกิดจากแนวคิดที่สอดคล้องกันคือ ต้องการช่วยเหลือเกษตรกรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วยการแก้ Pain Point ที่เป็นปัญหาใหญ่ของเกษตรกรไทยคือ การขาดแคลนแรงงาน การควบคุมต้นทุนการผลิต และวิธีการทำไร่ทำสวนแบบเก่าที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น อาทิ การเดินฉีดพ่นปุ๋ย พ่นยาที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพเกษตรกรไทย รวมถึงการเข้าถึงเทคโนโลยีที่ค่อนข้างน้อย

“ศักดิ์สยามลิสซิ่งทำสินเชื่อรายย่อยมานานกว่า 20 ปี ลูกค้าส่วนใหญ่ของเราเป็นเกษตรกร จึงมองว่าอยากหาวิธีช่วยสร้างรายได้ ลดต้นทุน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรให้ดีขึ้น คือทำแล้วมีเงินเหลือเก็บมากขึ้น จึงมองหาเทคโนโลยีเพื่อมาช่วยเพิ่มผลผลิตแต่สามารถลดต้นทุนได้ โดยมองว่าเทคโนโลยีโดรนของคุณปภังกร น่าจะตอบโจทย์นี้ได้เป็นอย่างดี จึงร่วมกันผลิตโดรนแบรนด์ ‘เมกเกอร์โดน’ ออกสู่ท้องตลาด” คุณศิวพงศ์ ขยายมุมมอง




ใช้เทคโนโลยี ‘โดรน’ แก้ Pain Point เกษตรกร

คุณปภังกร เล่าว่า ในอดีตที่ตนเริ่มทำเกษตร เมืองไทยยังไม่มีโดรนสำหรับการเกษตร ตนเป็นชาวไร่อ้อยอยู่จังหวัดกำแพงเพชร ทำไร่อ้อยมา 18 ปี ก่อนหน้านี้ประสบปัญหาแรงงานไม่เพียงพอ และขาดทุนจากการทำไร่เนื่องจากควบคุมต้นทุนไม่ได้ ซึ่งปัญหาใหญ่ก็คือการควบคุมวัชพืชในช่วงฤดูฝน เนื่องจากพอฝนตกหนักเครื่องพ่นยาลงไปในแปลงไม่ได้ต้องรอดินแห้ง แต่กว่าจะแห้งวัชพืชก็โตมากแล้ว

การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยควบคุมปัจจัยการผลิต จึงเป็นอีกแนวทางที่ทำให้เกษตรกรยุคใหม่ลดต้นทุนการผลิตได้ ขณะเดียวกันก็ได้ผลผลิตทั้งปริมาณและคุณภาพมากขึ้น ซึ่งโดรนสามารถตอบโจทย์ดังกล่าวได้ เนื่องจากการใช้แรงงานคนกับเทคโนโลยีโดรนมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน 

 
คุณปภังกร โชคทวีชัยเจริญ ผู้เชี่ยวชาญธุรกิจโดรนเพื่อการเกษตร

คุณปภังกร เปรียบเทียบให้เห็นภาพว่า จากประสบการณ์การเป็นทำไร่อ้อยที่ผ่านมาจะใช้รถพ่นยาที่เรียกว่า ‘Boom Spray’ เป็นการใช้รถไถติดเข้ากับถังบรรจุสารโดยใช้แรงงานคน 2 - 3 คนช่วยกัน ปัญหาคือเมื่อเกิดฝนตกจะไม่สามารถลงไปในแปลงได้ ซึ่งในส่วนนี้โดรนก็จะทำงานได้ง่ายและเร็วกว่าในการเข้าถึง และอีกปัญหาหนึ่งคือ เมื่อเวลาน้ำยาหมดจะไม่ทราบจุดน้ำหมดว่าอยู่ตรงไหน อาจทำให้ทำงานซ้ำซ้อนได้ และที่สำคัญการฉีดพ่นจะไม่มีความสม่ำเสมอ ยาที่ใช้ไม่สามารถกำหนดปริมาณต่อลิตรต่อไร่ได้ ทำให้สิ้นเปลืองและควบคุมคุณภาพได้ยาก

ขณะที่โดรนมีระบบควบคุมน้ำในการฉีดพ่นและกำหนดความสูง รวมไปถึงระยะห่างในการฉีดพ่นโดยอัตโนมัติและมีความแม่นยำในการกำหนดจุดต่อเนื่องเมื่อน้ำหมด สามารถเติมน้ำแล้วทำงานต่อได้อย่างถูกต้องแม่นยำนี่คือความแตกต่างในการทำงาน

ที่สำคัญเมื่อเกิดศัตรูพืชหรือแมลงระบาด โดรนสามารถแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็วและทันท่วงที สิ่งนี้จึงถือเป็นจุดแข็งของการใช้เทคโนโลยีโดรน คือ ‘ช่วยลดต้นทุน แต่เพิ่มผลผลิต’ ทำให้เราสามารถควบคุมผลผลิตให้โตทันต่อความต้องการของตลาด




จริงหรือไม่? ‘โดรน’ ประสิทธิภาพดี แต่ไม่เป็นที่แพร่หลาย

คุณปภังกร อธิบายถึงปัญหาการใช้โดรนในการเกษตรว่า ย้อนกลับไปเมื่อ 3 - 4 ปีที่แล้ว ตอนนั้นมีการใช้ โดรนเพื่อการเกษตรเพียง 2 ลำเท่านั้น พอปีที่ 2 เพิ่มเป็น 300 ลำ เข้าปีที่ 3 มีใช้ถึง 1,000 ลำ ล่าสุดปีนี้มีการใช้โดรนในการเกษตรมากกว่า 4,000 ลำ จะเห็นได้ว่ามีใช้งานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่เหตุที่ยังไม่แพร่หลายเท่าที่ควร เนื่องจากยังไม่มีผู้พัฒนาโดรนด้านการเกษตรอย่างจริงจัง ที่ผ่านมาเป็นเพียงนำมาเพื่อจำหน่าย ขายแล้วหมดไปไม่มีอะไหล่ ไม่มีบริการหลังการขาย ทำให้ซัพพลายเออร์และเกษตรกรเกิดความไม่มั่นใจในการใช้งาน
 
“บริษัทเล็งเห็น Pain Point ตรงนี้ จึงได้คิดค้นและพัฒนาเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว โดยมุ่งเน้นการให้บริการหลังการขายที่ดี คือมีอะไหล่ อุปกรณ์รองรับทุกชิ้นส่วน เพื่อให้ลูกค้าเกิดความมั่นใจในการใช้งานในระยะยาว” คุณศิวพงศ์ กล่าวเสริม




ลงทุนแล้วจะคุ้มหรือไม่ เมื่อไหร่จะคุ้มทุน

ถึงแม้โดรนเพื่อการเกษตร จะช่วยทุ่นแรง ประหยัดเวลา ทำให้การทำเกษตร สะดวกสบายง่ายขึ้น แต่เมื่อมองราคาโดรนในท้องตลาด ส่วนใหญ่มีราคาหลักหมื่นบาทถึงหลักแสนบาท ซึ่งถือว่าค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับการทำเองหรือว่าจ้างคนมาทำงานแทนแบบเดิมที่เคยทำกันมา ทำให้หลายคนเกิดคำถามว่า ถ้าซื้อแล้วจะคุ้มมั้ย แล้วเมื่อไหร่ถึงจะคุ้มทุน

คุณศิวพงศ์ อธิบายเรื่องนี้ว่า การพ่นปุ๋ยจากโดรนนั้นจะให้ความสม่ำเสมอ มากกว่าเครื่องพ่นที่ใช้แรงงานคนในการเดินพ่น และยังสามารถใช้ในแปลงเพาะปลูกที่มีขนาดใหญ่ได้อย่างสบาย ไม่ต้องใช้คนเดินไปไกลๆ เพื่อไปใส่ปุ๋ย จากเมื่อก่อนการพ่นยา 100 ไร่ใช้เวลาหลายวัน แต่หากใช้โดรน 1 วันก็ทำงานเสร็จแล้ว และไม่ต้องเสียเวลาไปดูแลคนงานอีกด้วย

“นอกจากการพ่นปุ๋ยแล้ว ยังนำโดรนมาใช้พ่นสารอื่นๆ ที่ใช้ในการเกษตรได้อีกด้วย เดี๋ยวนี้แรงงานรับจ้างพ่นปุ๋ย พ่นสารกำจัดศัตรูพืช หรือสารอื่นๆ ด้านการเกษตรเริ่มน้อยลง เพราะกลัวอันตรายจากสารเคมี การทำเกษตรที่ต้องใช้แรงงานคนจึงได้รับผลกระทบ”

ขณะที่จุดคุ้มทุนของโดรน 1 ลำนั้น สามารถทำงานได้เฉลี่ย 100 ไร่ต่อวัน ถ้าคิดจากค่าจ้างปัจจุบันเฉลี่ยประมาณ 50 บาทต่อไร่ หรือวันละ 5,000 บาท (คิดที่ 100 ไร่) ใช้เวลาไม่เกิน 5 - 6 เดือนก็สามารถคืนทุนได้แล้ว ดังนั้นการใช้โดรนในการทำงานแทนแรงงานคนจึงมีความคุ้มค่าในทุกๆ ด้าน




จุดเด่น ‘ศักดิ์สยาม เมกเกอร์โดรน’

นอกจากตัวโดรนที่เป็นสิ่งสำคัญแล้ว Pain Point ที่สำคัญของผู้ใช้โดรน คือเรื่องแบตเตอรีและการใช้งาน ถ้าแบตเตอรีมีอายุการใช้งานสั้นจะทำให้ต้นทุนสูงขึ้นตามไปด้วย ‘ศักดิ์สยาม เมกเกอร์โดรน’ จึงพัฒนามาใช้แบตเตอรีลิเธียมไฮโวลต์ ซึ่งใช้งานได้ยาวนานกว่าลิเธียมโพลิเมอร์ เนื่องจากมีโวลต์มากขึ้น ทำให้มีกำลังที่สามารถแบกน้ำหนักได้มากขึ้น ส่งผลให้ทำงานในรัศมีที่กว้างไกลขึ้นในขณะที่ใช้ต้นทุนเท่าเดิม

ซึ่งถือเป็นจุดแข็งของ ‘ศักดิ์สยาม เมกเกอร์โดรน’ เพราะเป็นเจ้าเดียวที่ใช้แบตเตอรีดังกล่าว รวมไปถึงตัวมอเตอร์ที่สามารถสร้างแรงยกได้มากขึ้นแต่กินไฟน้อยลง เมื่อทำงานผสมผสานกับแบตเตอรีลิเธียมไฮโวลต์แล้ว ทำให้ ‘เมกเกอร์โดรน’ สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงและประหยัด




Key Success ผู้นำโดรนเพื่อการเกษตรครบวงจรในประเทศไทย

คุณศิวพงษ์ บอกว่า ปัจจุบันโดรนที่ใช้เพื่อการเกษตรมีอยู่หลายเจ้าด้วยกัน แต่ ‘ศักดิ์สยาม เมกเกอร์โดรน’ ไม่ใช่โดรนถูกที่สุดแต่มุ่งเน้นผลิตโดรนมีคุณภาพดีที่สุดเพื่อนำไปใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ทำให้ปัจจุบันบริษัทเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายโดรนเพื่อการเกษตรพร้อมบริการหลังการขายแบบครบวงจร ตลอดจนจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมทักษะการบินที่มีมาตรฐาน ขณะที่ SAK พร้อมสนับสนุนสินเชื่อเป็นแหล่งเงินทุนให้เกษตรกรผ่านเครือข่ายครอบคลุมทั่วประเทศ 

ด้วยความมุ่งมั่นที่จะนำเทคโนโลยีโดรนมาเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุนการเพาะปลูก ทั้งการประหยัดเวลาและแรงงาน ลดการสัมผัสสารเคมีโดยตรงของผู้ฉีดพ่น ผลักดันภาคการเกษตรไทยไปสู่ Smart Farmer ส่วนเกษตรกรที่ยังไม่พร้อมลงทุนซื้อโดรนมาใช้เอง ก็มีบริการนักบินโดรนรับจ้างเพื่อการเกษตรด้วย ซึ่งขณะนี้บริษัทสามารถผลิตโดรนได้ประมาณ 100 ลำต่อเดือน โดยตั้งเป้าผลิตให้ได้ 1,000 ลำต่อปี เพื่อพร้อมให้บริการตอบโจทย์การใช้งานทุกรูปแบบ

สะท้อนให้เห็นว่า แม้ปัจจุบันการใช้โดรนเพื่อการเกษตรในประเทศไทยจะยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก แต่คาดว่าในอนาคตราคาโดรนเพื่อการเกษตรจะถูกลง เนื่องจากบริษัทผู้ผลิตโดรนมีการแข่งขันกันมากขึ้น ขณะที่ความนิยมใช้โดรนในเกษตรกร และผู้ประกอบการก็มีมากขึ้น เพราะโดรนจะเข้ามาพลิกวิถีการทำเกษตรไทยให้เป็นเรื่องง่าย แต่ได้ผลผลิตที่ดี มีต้นทุนต่ำ คุ้มค่าต่อการลงทุน


รู้จัก ‘บริษัท ศักดิ์สยาม เมกเกอร์โดรน จำกัด’ เพิ่มเติมได้ที่

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

ชูนวัตกรรม ขับเคลื่อน-ยกระดับ อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไม้สู่ความยั่งยืน ด้วย Automation กลยุทธ์สู่ Smart Factory ระดับรางวัล The Prime Minister's Industry Award 2023 ของ 'ศรีวัฒนา วู้ดดิ้ง อินดัสทรีส์'

ชูนวัตกรรม ขับเคลื่อน-ยกระดับ อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไม้สู่ความยั่งยืน ด้วย Automation กลยุทธ์สู่ Smart Factory ระดับรางวัล The Prime Minister's Industry Award 2023 ของ 'ศรีวัฒนา วู้ดดิ้ง อินดัสทรีส์'

การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วจากการรุกคืบของเทคโนโลยีใหม่ ๆ เกิดขึ้นอยู่เสมอ และส่งผลให้ผู้บริโภคมีความต้องการที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา นำมาสู่การพัฒนา…
pin
301 | 30/04/2024
Business Model ธุรกิจจำหน่ายอุปกรณ์ไฟฟ้า ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และ โซล่าร์เซลล์มุ่งเน้นสร้าง "ธุรกิจยั่งยืน" ทำกำไร พร้อมสนับสนุนชุมชน-สังคม-สิ่งแวดล้อม

Business Model ธุรกิจจำหน่ายอุปกรณ์ไฟฟ้า ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และ โซล่าร์เซลล์มุ่งเน้นสร้าง "ธุรกิจยั่งยืน" ทำกำไร พร้อมสนับสนุนชุมชน-สังคม-สิ่งแวดล้อม

ภาพรวมตลาดสินค้า อะไหล่ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์ไฟฟ้าและโซล่าร์เซลล์มีแนวโน้มเติบโตสูง คาดการณ์ว่าจะเติบโตเฉลี่ย 10% ต่อปี จากปี 2566…
pin
322 | 29/04/2024
‘LED Farm’ โรงงานผลิตพืชด้วยหลอดไฟ ฟาร์มผักพันธุ์ใหม่ เอาใจคนรักสุขภาพยุคดิจิทัล

‘LED Farm’ โรงงานผลิตพืชด้วยหลอดไฟ ฟาร์มผักพันธุ์ใหม่ เอาใจคนรักสุขภาพยุคดิจิทัล

จากธุรกิจผลิตหลอดไฟ LED ต่อยอดสู่การพัฒนาด้านการผลิตอาหารและนวัตกรรมการแปรรูปสินค้าเกษตรออร์แกนิก แบรนด์ ‘แอลอีดี ฟาร์ม’ (LED Farm) ที่มุ่งสร้างมาตรฐานสินค้าเกษตรคุณภาพ…
pin
647 | 25/04/2024
ลดต้นทุน ช่วยเพิ่มผลผลิต ‘เมกเกอร์โดรน’ โดรนเพื่อการเกษตรครบวงจร ยกระดับเกษตรกรไทยสู่ Smart Farmer