เมียนมา ถือเป็นประเทศน้องใหม่อาเซียน CLMV
ที่กำลังเปิดกว้างรับนักลงทุนจากทั่วโลก
ทั้งเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่อเนื่อง จำนวนประชากร 60 ล้านคน และทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์
กลายเป็นแรงดึงดูดนักลงทุนจากทั่วโลกให้หลั่งไหลเข้าไป
ล่าสุดธนาคารโลกออกมาแถลงรายงานคาดการณ์เศรษฐกิจของเมียนมาว่า ในปี 2563 จีดีพีเมียนมาจะขยายตัวร้อยละ 6.6 และคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นตามลาดับ โดยในปี 2564 ขยายตัวร้อยละ 6.7 ในปี 2565 ร้อยละ 6.8
ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme
แนวโน้มธุรกิจที่มาแรงในปี 2563
ที่เป็นเป้าหมายของนักลงทุน คือ ธุรกิจประกันภัย ธุรกิจก่อสร้าง
ที่จะเป็นธุรกิจนำร่องการปฏิรูปตลาด อย่างไรก็ตามการเติบโตในธุรกิจเหล่านี้ก็อาจขึ้นอยู่กับนโยบายการปฏิรูปเศรษฐกิจ
เช่น การเปิดเสรีด้านธุรกิจการประกันภัย ยกเว้นการตรวจลงตรา (VISA)
แผนการนิรโทษกรรมภาษี ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม
แม้ว่าธนาคารโลกจะระบุว่าจีดีพีเมียนมาจะเติบโตดี
แต่ความสะดวกในการทำธุรกิจในเมียนมายังเป็นจุดที่นักลงทุนกังวลพอสมควร
เพราะจากการจัดอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ หรือ Ease
of Doing Business 2019 ซึ่งทางธนาคารโลกได้จัดให้เมียนมาอยู่ที่
171 เทียบกับ 190 ประเทศทั่วโลกที่สำรวจ โดยใช้ดัชนีชี้วัดจากการเริ่มต้นธุรกิจ,
การขออนุญาตก่อสร้าง, การขอใช้ไฟฟ้า, การจดทะเบียนทรัพย์สิน, การได้สินเชื่อ, การคุ้มครองผู้ลงทุน, การชำระภาษี, การค้าระหว่างประเทศ, การแก้ปัญหาการล้มละลาย
และการบังคับให้เป็นไปตามสัญญา
รัฐบาล "เมียนมา"
ไม่ได้นิ่งนอนใจเร่งวางเป้าหมายขยับสถานะจาก 117 ขึ้นสู่อันดับที่ 100 ภายในปี
2563-2564 และขึ้นสู่อันดับ 40 ให้ได้ภายในปี 2578-2579
ปี 2563 นี้จึงถือเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงโฉมที่สำคัญของเมียนมา
U Soe Win รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการวางแผนและการเงิน ระบุว่าในปี 2562
รัฐบาลเมียนมายังไม่พอใจกับผลการพัฒนาเศรษฐกิจนัก แต่รัฐบาลยังคงรักษาเสถียรภาพทางการเงินไว้ให้อยู่ในระดับที่เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด
หากวิเคราะห์ผลกระทบของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนต่อเศรษฐกิจเมียนมาแล้ว
จะพบว่า เหตุการณ์นี้ไม่ส่งผลกระทบต่อประเทศเมียนมา
โดยก่อนหน้านี้หลายธุรกิจเรียกร้องให้รัฐบาล ใช้ประโยชน์จากโอกาสนี้ในการดึงดูดนักลงทุนจากต่างชาติ
เข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศเมียนมา โดยการเปิดกว้างเงื่อนไขและสิทธิประโยชน์ในการลงทุนให้นักลงทุนต่างชาติสามารถถือหุ้นได้
100% และมีการพัฒนาระบบโลจิสติกส์
ระบบคมนาคมเพิ่มขึ้นอย่างมาก
แต่มีนักลงทุนบางรายใช้ช่องโหว่นี้มาลงทุนเพื่อเลี่ยงภาษีด้านศุลกากร
สำหรับภาพรวมการลงทุนในเมียนมาช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ
2018-2019 (ตุลาคม 2561-พฤษภาคม 2562) ธุรกิจที่นักลงทุนให้ความสนใจลงทุนอันดับที่
1 คือ การคมนาคมและการสื่อสาร อันดับที่ 2 คือ อุตสาหกรรมการผลิต อันดับที่ 3
ภาคพลังงาน อันดับที่ 4 โรงแรมและการท่องเที่ยว และอันดับที่ 5 อสังหาริมทรัพย์
อย่างไรก็ตามธุรกิจที่มีแนวโน้มสดใสในเมียนมา
ประกอบด้วย สินค้าอุปโภคบริโภค ยา เครื่องสำอาง อุปกรณ์เกี่ยวกับไอที
กลุ่มวัสดุก่อสร้าง กลุ่มฝึกอบรม กลุ่มการศึกษา เป็นต้น
ซึ่งนักลงทุนไทยควรมุ่งศึกษาข้อมูลและสิทธิประโยชน์ในการลงทุนอย่างต่อเนื่อง
เพราะในปัจจุบันนักลงทุนไทยที่เข้าไปลงทุนในเมียนมา ส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่
สัดส่วนการลงทุนโดยกลุ่มเอสเอ็มอียังมีไม่มากนัก
และไทยยังเป็นรองนักลงทุนจากสิงคโปร์และจีน
ขณะที่ด้านการค้าไทยและเมียนมาปี 2562 มูลค่า 237,095.92 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 3.67 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ไทยส่งออกมูลค่า 135,180.95 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 8.78 นำเข้ามูลค่า 101,914.97 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.04 ไทยได้ดุลการค้า 33,265.98 ล้านบาท
แม้ว่าเมียนมาจะเป็นตลาดที่กำลังไม่สูงหรือมีรายได้ต่อหัวของประชากรเมียนมาไม่สูงมากนัก
แต่จากแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภายในเมียนมาที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง
อนาคตเมียนมาจะเป็นแหล่งขุมทองในการลงทุน ซึ่งเป็นทั้ง
"ตลาดและฐานการผลิต" ที่มีศักยภาพ
สามารถขอใช้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีศุลกากรส่งออกไปยังประเทศที่ 3
ส่วนปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจเมียนมาปี 2563 ยังต้องติดตามภาวะภัยธรรมชาติที่มีความไม่แน่นอนและอาจส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรกรรม เพราะมีข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลอาเซียน ระบุว่า เมียนมาประสบอุทกภัยถึง 3 ครั้ง ในช่วง 9 เดือนของ ปี 2562 รวมถึงปัจจัยเสี่ยงจากที่ยังคงได้รับผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อ การเพิ่มขึ้นของอัตราค่าไฟฟ้า รวมถึงผลกระทบชนกลุ่มน้อยรัฐยะไข่ที่ยังไม่มีวี่แววสงบและเกิดความขัดแย้งขึ้นอย่างต่อเนื่อง