“แมลง” เป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมในตลาดยุโรปเพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่ปีมานี้ เนื่องจากแมลงเป็นอาหารทางเลือกที่มีโปรตีนสูง ราคาไม่แพง สามารถผลิตได้ง่ายในท้องถิ่น เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้สินค้านี้ได้รับความนิยมมากขึ้น
โดยมีข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครชิคาโก สหรัฐอเมริกา รายงานเกี่ยวกับการรับประทานแมลงที่สามารถรับประทานได้ (Edible Insects) ที่จัดทำโดยองค์การสหประชาชาติ (UN) ระบุว่าภายในปี 2593 ประชากรโลกจะมีจำนวนถึง 9,700 ล้านคน แต่พื้นดินเพาะปลูกพืชสำหรับเลี้ยงประชากรโลกจะมีจำนวนไม่เพียงพอ และ 1 ใน 3 ของพื้นดินเพาะปลูกที่มีอยู่ในโลกได้ใช้สำหรับทำปศุสัตว์ ขณะที่พื้นที่ป่าและน้ำก็มีจำกัด ซึ่งอาหารโปรตีนที่จะมาทดแทนปศุสัตว์ ก็คือ แมลง เพราะเป็นโปรตีนที่มีคุณภาพสูง
นอกจากนี้ UN ได้คาดการณ์ว่าแนวโน้มการเลี้ยงแมลงรับประทานได้จะเป็นในรูปแบบฟาร์มแนวดิ่งในอาคาร และจะเป็นฟาร์มในเมือง ใช้พื้นที่ขนาดเล็ก ส่วนตลาดแมลงรับประทานได้ จะมีมูลค่า 1.53 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2564
หากพิจารณาโอกาสการส่งออกแมลงไปยังอียู ถือว่ามีโอกาสสูง เพราะตลาดนี้มีประชากรกว่า 500 ล้านคน เป็นตลาดส่งออกหลักของไทยที่มีสัดส่วน 8% ของการส่งออก
ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme
อียูปลดล็อก Novel Foods – การบริโภคแมลง
แต่ผู้ส่งออกต้องศึกษากฎระเบียบใหม่ที่ว่าด้วย “อาหารใหม่” หรือ Novel Foods ซึ่งได้มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561แทนกฎระเบียบเดิมที่เคยใช้มาตั้งแต่ปี 2540 (1997) ซึ่งเป็นการปรับปรุงเพื่อให้สอดคล้องกับพัฒนาการด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีของอาหารปัจจุบัน ซึ่งกฎระเบียบฉบับนี้ยอมรับอาหารพื้นบ้าน อย่างแมลง และมีการอำนวยความสะดวกให้กับการขึ้นทะเบียน
ทั้งนี้ ประเภทอาหารใหม่ (Novel Foods) ตามกฎระเบียบดังกล่าวจะหมายถึง อาหารหรือส่วนประกอบของอาหารที่ไม่มีประวัติการบริโภคภายในอียูก่อนวันที่ 15 พฤษภาคม 2540 แบ่งเป็น 4 ประเภท คือ
1.
อาหารที่สกัดหรือพัฒนาด้วยนวัตกรรมใหม่
(New
Substance)
2.
อาหารที่ผลิตจากแหล่งโภชนาการใหม่
(New
Source)
3.
อาหารที่ผลิตจากกรรมวิธีรูปแบบใหม่
(New
Technique)
4. อาหารพื้นบ้านที่มีการบริโภคนอกอียู (Traditional Food in 3rd Countries) มาแล้วไม่ต่ำกว่า 25 ปี
ที่พิเศษคือ อียู ปรับลดขั้นตอนกระบวนการขออนุญาต โดยรวมศูนย์การพิจารณาคำร้องขึ้นทะเบียนอาหารใหม่เป็นของอียูทั้งหมด และตั้งหน่วยงานความปลอดภัยด้านอาหารแห่งสหภาพยุโรป (EFSA) ให้เป็นหน่วยงานประเมินผลความปลอดภัยอาหารใหม่ และจำกัดระยะเวลาการพิจารณาในแต่ละขั้นตอนที่กระชับมากขึ้น มีการออกแบบคำขอผ่านระบบออนไลน์ และแปลเป็น 22 ภาษา โดยใช้เวลาการขึ้นทะเบียนประมาณ 20 เดือนสำหรับอาหารใหม่ ส่วนอาหารท้องถิ่นจะใช้เวลา 6-8 เดือน และผู้ที่ได้รับสิทธิ์จะได้รับอนุญาตให้จำหน่ายเป็นเวลา 5 ปี
โดยเมื่อเร็วๆ นี้ ทางคณะกรรมาธิการยุโรป ได้จัดประชุมอบรม The Better for Safe Food หรือ BTSF ขึ้นที่ประเทศไทยระหว่างวันวันที่ 18-21 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พบว่ามีผู้สนใจเข้าร่วมจำนวนมาก "นายราฟาเอล เปเรซ เบอร์เบจัล" เจ้าหน้าที่นโยบายอาวุโสด้านความปลอดภัยอาหาร ประจำคณะกรรมาธิการยุโรป ระบุว่า อาหารที่ไม่เคยมีการบริโภคในยุโรป ก่อนวันที่ 15 พฤษภาคม 2540 แต่มีการบริโภคในประเทศอื่นเกิน 25 ปี ขึ้นไปจะถูกจัดเป็นอาหารท้องถิ่น ซึ่งจะต้องขออนุญาตจำหน่าย
โดยแมลงก็จัดอยู่ในประเภทนี้ด้วย ทั้งนี้แม้ว่าตลาดสินค้าอาหารชนิดนี้จะยังมีขนาดไม่ใหญ่มากนัก แต่ก็มีผู้สนใจจำนวนมาก ทั้งแมลงประเภทจิ้งหรีด ตั๊กแตน และหนอน เนื่องจากมีข้อมูลการวิจัยว่าแมลงเป็นแหล่งโปรตีนสูงไม่ต่างจากเนื้อสัตว์ชนิดอื่น
ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า สินค้าแมลงแปรรูปมีโอกาสได้รับความนิยมในตลาดยุโรป โดยเฉพาะแป้งที่มีส่วนผสมของแมลง ซึ่งสามารถมาแปรรูปเป็นเส้นพาสต้าหรือผสมในเบอร์เกอร์ที่เป็นเมนูอาหารที่ชาวยุโรปคุ้นเคย และรับประทานอย่างแพร่หลายอยู่แล้ว
สอดคล้องกับรายงานของนักวิจัยจากคณะกีฏวิทยา มหาวิทยาลัย Wageningen ประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่ชี้ว่าประเทศไทยมีศักยภาพสูงในการเป็นแหล่งผลิตอาหารที่ทำจากแมลง เนื่องจากประเทศไทยมีแมลงที่บริโภคได้มากกว่า 300 สายพันธุ์ และประเทศไทยมีแหล่งผลิตและบริโภคแมลงอยู่แล้ว นี่จึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ส่งออกไทย
สำหรับผู้ประกอบการไทยที่สนใจส่งออก ต้องเร่งเตรียมตัวและปฏิบัติตามแนวทางของอียูในการผลิตอาหาร เพื่อให้ตามมาตรฐานการผลิตสากล ขยายตลาดส่งออกไปยังอียูให้ได้