เปิด Passion ‘มานิตย์ กรุ๊ป’ ยกระดับอุตสาหกรรมปลาน้ำจืดไทย
จาก Passion เลี้ยงสัตว์น้ำ ผนวกกับความรู้ที่ได้ร่ำเรียนในสาขาวิชาประมง เมื่อ 30 ปีที่แล้ว ของคุณอมร เหลืองนฤมิตชัย Managing Director บริษัท มานิตย์ เจเนติกส์ จำกัด แล้วนำมาต่อยอดธุรกิจครอบครัว (Family Business) ซึ่งเป็นกิจการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ สู่การเพาะพันธุ์และเลี้ยงปลานิล ซึ่งมีการศึกษาวิจัยแล้วนำผลที่ได้มาใช้งานจริง จนประสบความสำเร็จเป็น ผู้ประกอบการ SME ชำนาญการด้านเพาะพันธุ์และเลี้ยงปลานิลแถวหน้าของเมืองไทย พร้อมกับเห็นโอกาสทางธุรกิจก่อนขยายอาณาจักร ‘มานิตย์ กรุ๊ป’ ออกเป็น 3 บริษัทย่อย ให้บริการเกี่ยวกับการเพาะพันธุ์ - เลี้ยงปลานิลและสัตว์น้ำอื่นๆ แบบครบวงจร

รูปภาพคุณ อมร เหลืองนฤมิตชัย Managing Director บริษัท มานิตย์ เจเนติกส์ จำกัด
นำ Passion สานฝันธุรกิจครอบครัว
คุณอมร กล่าวว่า บริษัท มานิตย์ เจเนติกส์ จำกัด มีจุดเริ่มต้นจาก ‘มานิตย์ฟาร์ม’ ซึ่งเป็นธุรกิจครอบครัว โดยก่อตั้งเมื่อปี 2511 ทำกิจการเป็นผู้ประกอบการ SME เกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เริ่มต้นจากการเลี้ยงปลาดุก ที่อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม เนื้อที่ประมาณ 200 ไร่ หลังจากนั้นคุณพ่ออยากเลี้ยงกุ้งเมื่อช่วงปี 2528 - 2529 จึงมีการขยับขยายธุรกิจมาที่อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี โดยมีพื้นที่ 2,200 ไร่ เริ่มเลี้ยงกุ้งกุลาดำ สองปีแรกไปได้ด้วยดี จากนั้นประสบปัญหาโรคระบาดในกุ้งกุลาดำ

รูปภาพคุณมานิตย์
ก่อนเป็นเหตุผลให้หันมาเลี้ยงปลานิลแทน เนื่องจากสามารถอยู่ในน้ำจืด - น้ำกร่อยได้ ซึ่งตอนแรกได้ผลไม่ดี เนื่องจากลูกพันธุ์ยังไม่ตอบโจทย์ ทำให้ประสบปัญหาขาดทุนเรื่อยมา ซึ่งปัญหาดังกล่าวทำให้เห็นว่าลูกพันธุ์มีความสำคัญ จึงได้ติดต่อไปยังสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) เพื่อขอ Know How เกี่ยวกับการทำลูกพันธุ์ปลานิลเพศผู้ จากนั้นทาง AIT ได้ถ่ายทอดความรู้ในห้องวิจัยให้กับ ‘มานิตย์ฟาร์ม’ จนเกิดความรู้และเข้าใจว่าต้องทำอย่างไร จึงจะได้ลูกพันธุ์เพศผู้ จากนั้นจึงทำเพื่อเลี้ยงเอง ก่อนจะเริ่มมีการจำหน่ายให้กับเกษตรกรรายอื่นๆ ที่สนใจ นำมาสู่หนึ่งในธุรกิจหลักของ ‘มานิตย์ กรุ๊ป’ ในปัจจุบัน ซึ่งมี 3 บริษัทย่อยก็คือ
1. Manit Genetics ธุรกิจเพาะพันธุ์ปลานิลและปลาทับทิม ปรับปรุงพันธุ์ขายลูกพันธุ์ รวมถึงห้องปฏิบัติการและบริการตรวจโรคสัตว์น้ำ ปัจจุบันผลิตลูกพันธุ์ปลานิล จำหน่ายในเมืองไทยรวมถึงประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม และกำลังขยายธุรกิจไปที่อินเดีย
2. Manit Intertrade ธุรกิจจำหน่ายอาหารปลา จุลินทรีย์ โพรไบโอติกส์สำหรับการเลี้ยงสัตว์น้ำแบบครบวงจรภายใต้แบรนด์ ‘มานิตย์’ โดยส่วนใหญ่บริษัทจะเป็นผู้จัดจำหน่าย และหาผู้ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ (OEM) ให้กับผู้เลี้ยงปลา
3. Manit Aquaculture ฟาร์มเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อการบริโภค ธุรกิจหลักก็คือ เลี้ยงกุ้ง และปลานิล โดยผลิตและจำหน่ายให้กับตลาดเมืองไทย - ต่างประเทศ

ทำอย่างไร ให้ได้ปลานิลเพศผู้
Managing Director บริษัท มานิตย์ เจเนติกส์ จำกัด ให้ความรู้ว่า เนื่องจากปลานิลเป็นปลาที่ออกลูกง่าย โตเร็ว ปลาน้ำหนัก 1 ขีด ก็สามารถผสมพันธุ์ได้แล้ว ดังนั้นหากเกษตรกรซื้อปลาที่มีทั้งตัวผู้ตัวเมียไปเลี้ยง ปลาก็จะออกลูกเต็มบ่อ ส่งผลให้เกิดการแย่งอาหาร รวมถึงช่วงฝักไข่ปลาตัวเมียจะไม่กินอาหารเนื่องจากต้องอมไข่ไว้ในปากส่งผลให้มีขนาดเล็กกว่าตัวผู้ 20 - 30%
โดยขนาดปลานิลที่ตลาดต้องการจะอยู่ที่ 800 กรัม ถึง 1.2 กิโลกรัม เพราะฉะนั้นเกษตรกรจำหน่ายปลาขนาดเล็กกว่าที่ตลาดต้องการจึงประสบปัญหาขาดทุน ซึ่งเป็นอุปสรรคที่ทาง ‘มานิตย์ฟาร์ม’ เจอเมื่อเกือบ 30 ปีที่แล้ว
จากการวิจัยของ AIT ทำให้บริษัททราบว่า หากนำฮอร์โมนปลาตัวผู้ ‘เทสโทสเตอโรน’ ไปให้ลูกปลาแรกเกิดซึ่งยังไม่มีเพศ กินประมาณ 2 สัปดาห์ จะทำให้ปลาที่มีฮอร์โมนทั้งตัวผู้และตัวเมีย แปลงเพศกลายเป็นตัวผู้ทั้งหมด แต่ปลาตัวผู้นั้นไม่ได้เป็นหมัน หากเจอกับปลาตัวเมียตามธรรมชาติก็สามารถผสมพันธุ์ได้ปกติ
“เมื่อปลาตัวผู้ที่เลี้ยงไม่เจอตัวเมียก็จะกินอาหารแล้วก็เติบโต จนถึงขนาดที่ตลาดต้องการในเวลาเร็วขึ้น กลายเป็น Key Success สำคัญว่าทำไมเกษตรกรต้องเลี้ยงปลานิลเพศผู้”

รูปภาพสินค้าลูกพันธุ์ปลานิลและปลาทับทิมของมานิตย์
พัฒนาสายพันธุ์ กลยุทธ์ยกระดับธุรกิจ
คุณอมร เผยว่า องค์ความรู้ในการผลิตปลาเพศผู้ไม่ได้เป็น Know How ปิด ทุกคนสามารถหาความรู้ได้ทั่วไป แต่สิ่งที่ ‘มานิตย์ กรุ๊ป’ พัฒนาต่อมาก็คือ การทำให้การผลิตปลามีประสิทธิภาพมากขึ้น มีระบบการตรวจสอบคุณภาพการผลิตดีขึ้น และจุดเด่นสำคัญที่ทำให้บริษัทแตกต่างจากฟาร์มอื่นก็คือการทำการวิจัยพัฒนาสายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีการลงทุนด้านนี้มา 16 ปีแล้ว
การปรับปรุงพันธุ์ ก็เหมือนกับธุรกิจสัตว์ - พืชทั่วไปก็คือ พันธุ์พืชก็จะมีธุรกิจที่ปรับปรุงพันธุ์พืช เช่น จะทำอย่างไรให้มะเขือเทศแดง สด ลูกดก ออกลูกเร็ว ต้านทานโรคสูง ‘มานิตย์ กรุ๊ป’ ก็ทำหน้าที่นั้นเช่นเดียวกันกับพันธุ์ปลานิล อันส่งผลให้พันธุ์ปลาของบริษัทมีความแตกต่างจากที่อื่น

โดยในอดีตจะเป็นการคัดเลือกที่เกิดจากการสังเกตได้ด้วยตา เช่น รูปร่าง น้ำหนัก การเติบโต รวมถึงกลุ่มไหนอัตรารอดดีกว่าก็เอากลุ่มนั้น แต่ช่วง 3 - 4 ปีที่ผ่านมา ได้เริ่มศึกษาเทคนิคใหม่ๆ มาเป็นการดูที่รหัสพันธุ์กรรมของสัตว์ ซึ่งเฟสนี้เป็นเฟสของการศึกษาและพัฒนา ทำการวิจัยร่วมกับทางมหาวิทยาลัย ในอนาคตหากมีข้อมูลมากเพียงพอ ก็จะเหมือนกับมนุษย์ที่เมื่อตรวจเลือดปุ๊บสามารถรู้ได้ทันที เช่น คนนี้น่าจะมีผมสีอะไร ตาสีอะไร มีความสูงประมาณเท่าไร
“ปัจจุบันการเพาะพันธุ์ปลานิลและการเลี้ยงปลานิลมีอัตราเติบโตเร็วกว่าในอดีตมากกว่า 120% โดย ‘มานิตย์ กรุ๊ป’ ได้ทำการปรับปรุงพันธุ์กว่า 17 เจเนอเรชัน ส่วนเปอร์เซ็นต์การรอดชีวิตของปลานิลดีขึ้น 20 - 30% โดยยังมีสิ่งที่สำคัญก็คือการตอบโจทย์เกษตรกร เช่น ทำให้ปลาต้านทานโรคสูง ทนกับสภาพอากาศร้อน บริษัทต้องนำทุกข้อดีมารวมกัน แล้วส่งมอบพันธุ์ปลานิลที่ดีที่สุดให้กับเกษตรกร”

พัฒนาสายพันธุ์แล้วต้องพัฒนาการเลี้ยงควบคู่กัน
คุณอมร อธิบายว่า ‘มานิตย์ กรุ๊ป’ นอกจากจะมีการปรับปรุงพันธุ์ปลานิลแล้ว ยังต้องมีการพัฒนาการเลี้ยงปลานิลด้วย โดยฟาร์มจะมีระบบ IPRS (In-Pond Raceway System) ซึ่งอยู่ในบ่อน้ำขนาด 8 - 10 ไร่ หากเป็นการเลี้ยงทั่วไปจะเลี้ยงปลาแบบปล่อยลงในบ่อเลย แต่คอนเซปต์ของ IPRS จะมีบ่อซีเมนต์ (Raceway Cell) ตรงยาวคล้ายกับช่องแข่งม้า โดยมีขนาดกว้าง 5 เมตร ยาว 22 เมตร และลึก 2 เมตร มีประตูปิดกั้นด้านหัวและท้าย แล้วนำปลานิลมาเลี้ยงในบ่อซีเมนต์ จากพื้นที่ทั้งหมด 8 ไร่
การเลี้ยงปลานิลระบบ IPRS จะใช้การหมุนเวียนน้ำภายในระบบตลอด 24 ชั่วโมง น้ำจะต้องมีการเคลื่อนที่ตลอดเวลาโดยการใช้แรงดันลมจากอุปกรณ์ให้อากาศ (Blower) อุปกรณ์ให้อากาศจะถูกติดตั้งอยู่ตามจุดต่างๆ ที่มีความเหมาะสมต่อการทำให้น้ำภายในบ่อมีการเคลื่อนที่ เมื่อน้ำเข้าไปในบ่อซีเมนต์ (Raceway Cell) จากนั้นน้ำจะไหลออกด้านท้าย แต่น้ำที่ปล่อยออกไปจะถูกนำไปบำบัดในบ่อดิน แล้วก็กลับมาใช้ใหม่ ซึ่งวิธีการเลี้ยงแบบนี้ทำให้สภาพแวดล้อมไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงมาก ทำให้ปลาแข็งแรง
ที่สำคัญไม่ต้องทิ้งน้ำเสียไปข้างนอก สร้างสภาพแวดล้อมที่ยั่งยืน (Sustainability) ในการเลี้ยงปลานิล ไม่กระทบสิ่งแวดล้อม ขณะที่ของเสียซึ่งเป็นขี้ปลา เมื่อลอยตามน้ำไปอยู่ท้ายบ่อซีเมนต์ (Raceway Cell) ก็จะถูกดูดตะกอนที่เป็นมูลปลาออกนำไปทำเป็นปุ๋ย ระบบ IPRS ทำให้การจัดการต่างๆ ง่ายขึ้น การจับปลาไม่ต้องวิดน้ำทั้งบ่อ จับเอาเฉพาะตรงบ่อซีเมนต์ ซึ่งคล้ายกับกระชังเลี้ยงปลา แต่บริษัทจัดการน้ำได้ หมุนเวียนดีกว่า สามารถนำมูลปลาออกสามารถนำไปทำประโยชน์ด้านอื่นได้
“ระบบ IPRS คือการสร้างพื้นที่เลี้ยงปลาให้มีขนาดจัดการได้ง่ายขึ้น ทำให้ผลผลิตปลาคุณภาพดี มีขนาดใกล้เคียงกัน รูปร่างสวยงาม น้ำในบ่อมีคุณภาพ ปลาแข็งแรงเนื่องจากว่ายสวนกระแสของน้ำ ส่งผลให้เนื้อแน่น - เฟิร์มขึ้น รสชาติอร่อย รวมถึงจับง่าย ให้อาหารง่าย สามารถควบคุมและจัดการการเลี้ยงได้ง่ายขึ้น”


ด้วย Passion เลี้ยงสัตว์น้ำของคุณอมร เหลืองนฤมิตชัย Managing Director บริษัท มานิตย์ เจเนติกส์ จำกัด นำมาสู่การพัฒนาสายพันธุ์ - การเลี้ยงปลานิล รวมถึงระบบตรวจสอบย้อนกลับผลผลิตในทุกๆ ชุดของการผลิต เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค ก่อนเป็นเหตุผลให้ ‘มานิตย์ กรุ๊ป’ ประสบความสำเร็จ ที่ยังไม่หยุดเติบโตเพียงเท่านี้ เตรียมอัพเกรดคุณภาพและมาตรฐานการผลิตปลานิลเพิ่มเติม เพื่อยกระดับตลาดปลานิลสู่เมนูในภัตตาคาร - ร้านอาหารพรีเมียม เปิดตลาดใหม่ทั้งไทยและต่างประเทศ
รู้จัก 'มานิตย์ กรุ๊ป' เพิ่มเติมได้ที่ :
https://manitgroup.co.th/
https://www.facebook.com/ManitFarm/