Passion ไม่เคยเปลี่ยน ‘นานมีบุ๊คส์’ ธุรกิจที่ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต
‘นานมีบุ๊คส์’
จากร้านเครื่องเขียน ขายหนังสือจีนสมัยอากง สู่สำนักพิมพ์แถวหน้าของไทย ยืนหยัดจากยุครุ่งเรืองของหนอนหนังสือ
ผลัดเปลี่ยนสู่อีกยุคที่ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์และหนอนหนังสือเริ่มโรยรา แต่ทราบหรือไม่ว่า
สิ่งที่พลิกเปลี่ยนสำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์ให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด มาจากวรรณกรรมเยาวชน
ที่ชื่อ ‘แฮร์รี่ พอตเตอร์’ ที่ได้ลิขสิทธิ์เพียงผู้เดียว ตีพิมพ์ฉบับภาษาไทยครั้งแรกเมื่อปี 2543 แต่นั่นก็แค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น
คุณเจน จงสถิตย์วัฒนา
ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด บอกว่า ‘นานมีบุ๊คส์’ ก่อตั้งเมื่อปี 2535 โดยคุณแม่ (คุณสุวดี
จงสถิตย์วัฒนา) สำนักพิมพ์ที่ความตั้งใจที่จะส่งเสริมความรู้ให้เด็ก เยาวชน จึงได้มีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์
ผันตัวจากสำนักพิมพ์ เปลี่ยนเป็นบริษัทที่ ‘ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต’ ตลอดจนการส่งเสริมให้คนไทยมีแนวคิด Active Citizen คนเก่ง
คนดี ที่รับผิดชอบตัวเองได้ และมีจิตสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมด้วย
ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme
จุดเริ่มของสำนักพิมพ์สายความรู้
คุณเจน
เล่าว่า หากย้อนไปเมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้ว หนังสืออ่านนอกเวลาสำหรับเด็กและเยาวชนในประเทศยังน้อย
และส่วนใหญ่เป็นหนังสือสำหรับผู้ใหญ่ ด้วยเหตุนี้ ช่วงแรกที่ก่อตั้งสำนักพิมพ์ จึงต้องใช้วิธี
Sourcing
หนังสือ และ Content จากต่างประเทศเป็นหลักมาพิมพ์เป็นหนังสือเสริมความรู้
เพราะมองว่าการสอนในโรงเรียนส่วนใหญ่เรียนจากหนังสือ Text book ซึ่งขาดสีสัน
เปลี่ยนทีมขายเป็น ‘Learning
Advisor’
การตลาดที่ทำให้หนังสือเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายเป็นเรื่องยาก
จึงต้องมีการ Educate ว่าจะเอาหนังสือแต่ละเล่มจะใช้อย่างไร
ที่ผ่านมานอกจากการตลาดในโรงเรียน ยังมีการอบรมบรรณารักษ์
เพื่อให้ความรู้ว่าห้องสมุดควรจะมีหนังสือเล่มอะไรบ้าง
หนังสือแต่ละประเภทเหมาะสมสำหรับช่วงอายุใด
เพราะฉะนั้นทีมงาน ทั้งฝ่ายขาย
และฝ่ายการตลาดของนานมีบุ๊คส์ จะไม่เรียกว่าเซลล์ แต่เรียกว่า ‘Learning
Advisor’ คือต้องสามารถแนะนำได้ว่า เด็กในโรงเรียนควรจะมีหนังสืออะไร
รวมทั้งการใช้กลยุทธ์ Influencers เป็นข้อดีของโลกออนไลน์ ที่ทำให้สามารถเข้าถึงลูกค้าได้โดยตรง
สมัยก่อนการเข้าถึงลูกค้าจะเป็นการผ่านร้านหนังสือเป็นหลัก แต่ทุกวันนี้หนังสืออะไรที่ลูกค้าหาง่ายในอินเทอร์เน็ต
หรือมี Influencer พูดถึง ก็จะทำให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นและขายดี
“ปัจจุบันเรามีร้านหนังสือแว่นแก้ว
ตั้งอยู่สุขุมวิท 31 เป็นทั้ง flagship store และสำนักงานใหญ่ จริงๆ ณ วันนี้เราจะไม่ได้โฟกัสไปที่หน้าร้านขายหนังสือ
แต่ว่าร้านนี้เหมือนกับเป็นโชว์รูมของเราเอง
และยังเป็นศูนย์เสริมศักยภาพเด็กปฐมวัยและศูนย์ฝึกอบรมครู”
คุณเจน
บอกอีกว่า หากในแง่ของสินค้ารายได้หลัก 70% ยังเป็นกลุ่มหนังสือ
โดยช่องทางตลาดถ้าเป็นก่อนโควิด 2 ปีที่แล้ว จริงๆ ร้านหนังสือยังเป็นช่องทางหลัก อยู่ที่ประมาณ
40-50% ของบริษัท ส่วนยอดการขายออนไลน์ก่อนการระบาดของโควิด 19 มีแค่ 2-5% เนื่องจากระบบเพิ่งเริ่มพัฒนา
แต่ภายหลังมีการระบาดของโควิด 19 และรัฐบาลประกาศล็อคดาวน์ เรามีการปรับตัวสู่ช่องทางออนไลน์
ทำให้การขายออนไลน์เติบโตขึ้น มีระบบที่ดีขึ้น แล้วยอดขายโตขึ้นเยอะมาก
เสริมการเรียนรู้ ควบคู่สังคมดิจิทัล
หน้าที่ของ ‘นานมีบุ๊คส์’ ที่ต้องการจะส่งเสริมการอ่าน และบทบาทในการ Educate ทั้งคุณครูและพ่อแม่ ซึ่ง คุณเจน บอกว่า ที่ผ่านมา ‘นานมีบุ๊คส์’
ได้มีบทบาทสำคัญในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการส่งเสริมการเรียนรู้ในห้องเรียน
ยกตัวอย่าง การเรียนเลขที่ได้ทำงานร่วมกับ ‘Maths-Whizz’
การเรียนรู้ตามอายุทางคณิตศาสตร์ของเด็กๆ แต่ละคน โดยใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI)
เป็นการเรียนทางออนไลน์เพื่อเสริมกับที่ครูสอน โดยเบื้องต้นให้เด็กทำแบบทดสอบก่อนว่า
เด็กคนนี้อายุเลขเท่าไหร่ แล้ว Maths-Whizz จะเป็นการสอนแบบ Personalize
ให้เด็กคนนั้น
“จากที่เราทำมา
เห็นเลยว่าผลของการที่เด็กได้เรียนแบบ Personalize
ทำให้คะแนนเรียนเลขดี แล้วเด็กก็ชอบเลขมากขึ้นแบบนี้
อันนี้ก็จะเป็นตัวอย่างของการแตกไลน์สำหรับกลุ่มโรงเรียน”
คุณเจนกล่าว
โรงแรมเพื่อหนอนหนังสือ และ
แคมป์เยาวชน
ปี 2553 นานมีบุ๊คส์
ได้เปิด Go Genius Learning Center ศูนย์พัฒนาศักยภาพการเรียนรู้
ด้านธรรมชาติ และ STEM สำหรับจัดค่าย อบรม สัมมนา
ท่ามกลางธรรมชาติ เขาใหญ่ ซึ่งต่อมาได้ขยายมาในธุรกิจโรงแรมชื่อ เรนทรี
เรซิเดนซ์ ที่เขาใหญ่ (Raintree Residence Hotel Khaoyai) ก็เป็นหนึ่งด้านที่นานมีบุ๊คส์นำ Content มาแปลเป็นแหล่งเรียนรู้โดยจัดเป็นค่ายให้เด็กและเยาวชนมาทำกิจกรรม
และการเรียนแบบ Hand on โดยภายในออกแบบเป็น Learning
Space ท่ามกลางธรรมชาติ
รวมทั้งการนำ Content
จากหนังสือมาสร้างตัวตนที่ Rain Tree คือทุกห้องพักจะตกแต่งเป็น
Theme ของนักเขียนและหนังสือยอดนิยม โดยมี 51 ห้อง และทุกห้องจะตกแต่งไม่เหมือนกัน
อาทิห้อง Harry Potter, ห้องของ Paulo Coelho, ห้องของมู่เหยียน และมีหนังสือไว้ให้อ่านสำหรับทุกเพศทุกวัย แล้วจะมีการเปลี่ยนหนังสือ
รวมถึงชื่อห้องไปเรื่อยๆ เพราะว่าสำนักพิมพ์มีหนังสือใหม่ และนักเขียนใหม่อยู่ตลอดเวลา
และแน่นอนว่า (Raintree Residence Hotel Khaoyai) ยังรองรับกลุ่มลูกค้าทั่วไปและกรุ๊ปสัมมนาได้
อีกด้วย
เติบโต ท่ามกลางวัฒนธรรมการอ่านที่เปลี่ยนไป
ขณะที่วัฒนธรรมการอ่านหนังสือของเยาวชน
มีอุปสรรคสำคัญคือ Social Media ซึ่ง คุณเจน
มองว่า เด็กและเยาวชนสนใจอ่านหนังสือลดน้อยลง นับเป็นอุปสรรคอันใหญ่ของวงการหนังสือ
แต่หากมองอีกมุมหนึ่ง Social Media ก็เป็นช่องทางที่จะสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายได้
ก็ต้องปรับตัวและตามโลกให้มันทัน
และข้อดีของ ‘นานมีบุ๊คส์’ คือ มี content เยอะมาก
และไม่ได้จำกัดเฉพาะแค่หนังสือ ยังทำเป็นในช่อง YouTube
ชื่อว่า ‘Nanmeebooks’
ที่นำเอา Content หนังสือมาผลิตเป็นวิดีโอ
หรือลักษณะหนังสือเสียง ตอนนี้ยังช่วงพัฒนา
แต่คาดว่าจะเป็นช่องทางที่น่าจะดีมากในอนาคต
ขณะที่การเพิ่มช่องทางจำหน่ายในรูปแบบ E-book
ซึ่งได้ทำขึ้นเช่นกัน แต่จากที่ผ่านมาเห็นว่า E-book ในประเทศไทยยังไม่ได้กระแสแรงอย่างที่คิดไว้ ทั้งเด็กและเยาวชนก็จะอ่าน E-Book
น้อย เพราะฉะนั้นนานมีบุ๊คส์จะมี E-book ไม่มากนัก
แต่ถ้าเป็นหนังสือ
ซึ่งผู้ปกครองสมัยนี้ให้ความสำคัญกับการศึกษาของลูกมาก โดยเฉพาะในด้านการปลูกฝังนิสัยรักการอ่าน
ต่างจากยุคก่อนที่จะมองถึงปัจจัยด้านความจำเป็นในชีวิต ขณะที่เทรนด์สังคมยุคนี้ หรืออาจจะบอกว่า
พฤติกรรมของผู้ปกครองปัจจุบัน จะซื้อหนังสือให้ลูกอ่าน
และเห็นความสำคัญของการศึกษามากๆ
“พ่อแม่ยังอยากให้เด็กได้อ่านหนังสือเป็นรูปเล่มอยู่
หนังสือเด็กมีสีสันเยอะ มีรูปภาพสวยงาม เด็กได้จับ ได้อ่าน จะเห็นว่า แม้เราขายหนังสือเด็กและเยาวชนประมาณ
80% แต่คนที่จ่ายเงินคือพ่อแม่ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่ผู้ปกครองพยายามส่งเสริมให้เด็กมีนิสัยรักการอ่าน”
เน้นสร้าง Passion ควบคู่ธุรกิจ
ที่ผ่านมาร้อยละ 80 ของ ‘นานมีบุ๊คส์’ มุ่งในเน้นในด้านการเรียนรู้สำหรับเด็กและเยาวชน
แต่ก็มีแผนเพิ่มฐานลูกค้าใหม่ในกลุ่มนักศึกษา และคนในวัยแรกทำงาน ซึ่งที่ผ่านมายังไม่มีหนังสือที่ตอบโจทย์กลุ่มนี้โดยตรง
เลยทำ Survey ว่าหนังสือแนวไหนที่กลุ่มนี้ชอบ นำไปสู่การก่อตั้งสำนักพิมพ์ใหม่
ชื่อว่า “Bloom” ซึ่งจะเป็นหนังสือแนวให้กำลังใจ
แนะนำการใช้ชีวิต ซึ่งวัยนี้ยังเป็นวัยที่ยังคงค้นหาตัวตน
แต่หากมองเหตุผลในการเลือกหนังสือมาพิมพ์ คุณเจน
บอกว่า ยังเป็นการลองผิดลองถูก เพราะบ่อยครั้งที่นานมีบุ๊คส์ไม่ได้ทำอะไรตามกระแส
แต่มองหาสิ่งที่สังคมยังขาดอยู่ หรือสิ่งที่ควรจะมีในสังคม ดังนั้นจะเห็นว่า
มีหนังสือที่บางเล่มไม่ใช่หนังสือตลาด แต่ในสังคมต้องมี อาทิ หนังสือแนวจิตเวช
เรื่องโรคซึมเศร้า ในมิติต่างๆ เช่นจากมุมมองของหมอ จากผู้ป่วยซึมเศร้าเขียนบันทึก
หรือบางเล่มก็เขียนโดยผู้ดูแลผู้ป่วยซึมเศร้า
ให้ผู้อ่านเข้าใจและควรปฏิบัติตัวอย่างไรกับผู้ป่วย เป็นต้น หรือจะเป็นการเลือกทำหนังสือที่สอนให้เด็กรู้จักและภาคภูมิใจในร่างกายของตัวเอง
เรียนรู้ส่วนต่างๆ ของร่างกายที่ควรปกปิด สิ่งที่เด็กทำได้เมื่ออยู่ในที่ส่วนตัวและที่สาธารณะ
เรียนรู้ที่จะหลีกเลี่ยงและป้องกันตัวเองจากการคุกคามทางเพศในเบื้องต้นได้ ซึ่งหนังสือแนวนี้ยังหาได้ยากในสังคมไทย
นานมีบุ๊คส์ จึงจัดพิมพ์ขึ้นมา
“นานมีบุ๊คส์
พยายามมองว่าสังคมต้องมีอะไร บางครั้งก็ต้องบอกตามตรงว่า ที่ขายไม่ดีก็มีเหมือนกัน
อย่างเช่นมองว่า หนังสือรางวัล Nobel เป็นหนังสือที่ดีมากเลย
แล้วก็ซื้อลิขสิทธิ์มาแปล แต่ขายได้น้อยมาก”
เจนกล่าวและบอกอีกว่า
แต่อย่างไรก็ตาม backbone
ของ ‘นานมีบุ๊คส์’ ยังเป็นหนังสือ
แต่ต้องยอมรับว่าสังคมเปลี่ยนไป เพราะฉะนั้นคงไม่ได้ยึดติดว่าต้องมีแค่หนังสือเท่านั้น
คงเป็นกลยุทธ์แบบที่ทำมา คือผันตัวจากการเป็นแค่สำนักพิมพ์
สู่การเป็นบริษัทที่ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต
และการเรียนรู้ย่อมไม่จำกัดอยู่เฉพาะแค่สิ่งใด หรือที่ใดที่หนึ่ง
เพราะฉะนั้นถ้าต่อไปในอนาคต จะมีวิธีการเรียนรู้อะไรแบบใหม่เกิดขึ้นมา
‘นานมีบุ๊คส์’ ก็ต้องไปอยู่ในจุดนั้นให้ได้
เพราะเนื้อแท้เราคือธุรกิจด้านการเรียนรู้
รู้จัก นานมีบุ๊คส์ เพิ่มเติม
: