การตั้ง "โรงไฟฟ้าชุมชน" ทั่วไทย
เป็นนโยบายด้านพลังงานของรัฐบาลชุดนี้
ที่มุ่งส่งเสริมให้เกิดการผลิตไฟฟ้าใช้เองในชุมชน เพื่อให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงไฟฟ้าตามนโยบาย
“Energy
For All” และมุ่งให้เกิดการใช้ประโยชน์จากวัสดุทางการเกษตร สร้างรายได้ให้เกษตรกร
ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากมามากพอสมควร
กระทรวงพลังงาน
โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็น
เพื่อการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน เพื่อเศรษฐกิจฐานรากไปเมื่อเร็วๆนี้
วางเป้าหมายว่าจะพัฒนาโรงไฟฟ้าชุมชนในเฟสแรก 250 แห่ง และจะนำร่อง 10-20
แห่งภายในกลางปี 2563 ซึ่งในจำนวนนี้คือโรงไฟฟ้าชุมชน ที่ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่
เบื้องต้นรูปแบบการพัฒนามี 7 รูปแบบหลัก
ได้แก่
1. โรงไฟฟ้าชุมชนก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน)
2. ไฮบริดก๊าซชีวภาพ
(พืชพลังงาน-พลังงานแสงอาทิตย์)
3. ชีวมวล
4. ไฮบริดชีวมวล-พลังงานแสงอาทิตย์
5. ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย)
6. ไฮบริดก๊าซชีวภาพ
(น้ำเสีย/ของเสีย)-พลังงานแสงอาทิตย์
7. พลังงานแสงอาทิตย์
ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme
โดยทุกรูปแบบจะเป็นการร่วมทุน
ซึ่งจะประกอบไปด้วย วิสาหกิจชุมชนถือหุ้น 10-30%
และเอกชน 70-90% ส่วนรายได้ที่เกิดขึ้น จะประกอบด้วยรายได้จากการขายไฟให้กับการไฟฟ้า
และรายได้จากการขายเชื้อเพลิงที่มาจากเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรและพืชพลังงาน
เช่น หญ้าเนเปียร์ และได้ส่วนแบ่งราย อย่างน้อย 0.25 บาทต่อหน่วย หรืออัตราอื่นที่ได้ข้อสรุปตามการพิจารณาเพื่อให้สอดรับกับอัตรารับซื้อไฟฟ้า
สำหรับโรงไฟฟ้าชุมชนแห่งแรกที่มีแผนจะนำร่องที่
อ.แม่แจ่ม ในพื้นที่ 2 แห่ง คือ โรงเรียนบ้านบนนา ตำบลช่างเคิ่ง และบ้านแม่นาจร
แต่ละแห่งจะมีกำลังการผลิตแห่งละ 2-3 เมกะวัตต์
โดยได้มีการวางตัวให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นแม่งาน
คาดว่าจะเป็นการผลิตไฟฟ้าชีวมวล (ไบโอแมส) ซึ่งจะอาศัยวัตถุดิบซังข้าวโพด
และเศษวัสดุจากต้นข้าวโพด แกลบ ฟาง
และขยะจากชุมชนมาเป็นเชื้อเพลิง ที่มีประมาณปีละ 90,000 ตัน
กฟผ.คาดว่าจะใช้โมเดลและเทคโนโลยี biogasification
และเทคโนโลยีบวกกับรูปแบบจากเยอรมนี ซึ่งเป็นก๊าซสังเคราะห์
แม้ข้อเสียคือใช้เชื้อเพลิงมาก แต่มีข้อดีในแง่ไม่มีมลพิษ ใช้น้ำน้อย
ปล่องควันไม่มี ซึ่งหลังจากนี้จะศึกษาความเป็นไปได้ คาดว่าจะสรุปได้ในเดือนสิงหาคม
ปี 2563
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ระบุว่าผลสรุปแผนการตั้งโรงไฟฟ้าชุมชนรูปแบบต่างๆ
คาดว่าจะนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้กลางเดือน ธ.ค.
2562 และสามารถดำเนินการได้เมื่อผ่าน กพช. แล้ว
อย่างไรก็ตาม ในมุมของภาคเอกชนด้านพลังงาน
มีทั้งฝ่ายที่สนับสนุน และเตรียมพร้อมจะเข้าร่วมลงทุน
แต่อีกด้านหนึ่งก็มีกลุ่มที่ยังกล้าๆ กลัว ๆ
เพราะรัฐบาลที่ผ่านมามีการปรับเปลี่ยนนโยบาย
จนทำให้ผู้ประกอบการที่เคยลงทุนเมื่อครั้งที่บูมโรงไฟฟ้าชีวมวลหญ้าเนเปียร์แล้ว
ขาดทุนต้องปิดกิจการ และที่สำคัญโครงการนี้ยังต้องรอความชัดเจนในหลายด้าน ทั้งรูปแบบการร่วมทุน
ข้อกำหนดเรื่องการรับซื้อวัตถุดิบ
การบริหารจัดการวัตถุดิบทางการเกษตรให้มีเสถียรภาพ การรับซื้อไฟฟ้า
และการแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างชุมชนและนายทุนที่เข้าร่วมร่วมดำเนินการ
ซึ่งหากรัฐบาลสามารถกำหนดออกมาให้สมดุลกับทุกฝ่าย เชื่อได้ว่าการดำเนินโครงการนี้จะบรรลุเป้าหมายการสร้างโรงไฟฟ้าให้ประชาชนทุกคนมีไฟฟ้าใช้ และเพื่อกระจายรายได้สู่ชุมชนให้ผู้มีรายได้น้อยได้มีโอกาสมากขึ้น ถือว่าเป็นนโยบายที่ดี