วันเกษตรก้าวหน้า 2567 ตอกย้ำเส้นทาง 80 ปี หนุนเกษตรกรไทย ใช้นวัตกรรมทำธุรกิจยุคดิจิทัล สู่ความยั่งยืน
ธนาคารกรุงเทพ จัดมหกรรมพิเศษ สนับสนุนเกษตรกรไทยส่งท้ายปี 2567 ด้วยการจัดงาน “วันเกษตรก้าวหน้า” ประจำปี 2567 ครั้งที่ 17 โดยได้รับการตอบรับจากผู้ประกอบการ SME 55 ราย มาจำหน่ายสินค้าเกษตรไทยคุณภาพส่งออก ในราคาพิเศษ ณ ธนาคารกรุงเทพ สำนักงานใหญ่ สีลม พร้อมกับมอบรางวัลให้กับ 3 สุดยอดเกษตรกรดีเด่นประจำปี 2567 รวมถึงเปิดสัมมนาแลกเปลี่ยนความรู้กับวิทยากร และผู้เชี่ยวชาญ เพื่อยกระดับผู้ประกอบการด้านการเกษตรของไทยก้าวเข้าสู่การเป็น Smart Farming สู่โลกยุคดิจิทัลอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน ภายใต้ธีมงาน “80 ปี ธนาคารกรุงเทพ เพื่อนคู่คิด มิตรคู่เกษตรไทย”
- รางวัลเกษตรกรผู้ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลดีเด่น เพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพทางธุรกิจ
- รางวัลผู้บริหารห่วงโซ่การผลิตดีเด่น เพื่อส่งเสริมการรวมกลุ่มกันเป็น Supply Chain
- รางวัลเกษตรกรรุ่นใหม่ดีเด่นเพื่อส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่ที่มีความสนใจด้านเกษตรได้
เรียนรู้จากผู้ที่มีประสบการณ์ที่ประสบผลสำเร็จ ให้กล้าลงมือ และปฏิบัติจริง เพื่อทำให้เกษตรกรรุ่นใหม่ที่มีความรู้ด้านเทคโนโลยี ในการจัดการธุรกิจอย่างเป็นระบบ เข้ามาเป็นกำลังสำคัญในภาคการเกษตรต่อไป
เนื่องจากธนาคารตระหนักดีว่า ภาคการเกษตรเป็นรากฐานสำคัญในระบบเศรษฐกิจไทย และเป็นต้นน้ำสำคัญในอุตสาหกรรมอื่น ๆ การสนับสนุนเกษตรกรให้มีความรู้ด้านการผลิต และการจัดการความรู้อย่างถูกต้อง ไม่เพียงจะเกิดประโยชน์ต่อตัวเกษตรกร ให้มีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่ยังจะส่งผลดีต่อเนื่องถึงอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร ภาคการส่งออก ความปลอดภัยของผู้บริโภค ความมั่นคงทางอาหารของประเทศ และยังมีส่วนรักษาสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
นอกจากนี้ งาน “วันเกษตรก้าวหน้า 2567” ธนาคารกรุงเทพ ยังได้เชิญวิทยากร ผู้เชี่ยวชาญมาร่วมให้ความรู้ เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับเกษตรกรไทย ในการรับมือกับกฎเกณฑ์การค้าใหม่ของโลกด้านการเกษตรและสิ่งแวดล้อม โดยใช้เทคโนโลยี AI กับภาคการเกษตร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และสร้างโอกาสใหม่ ๆ เพื่อให้ความรู้กับผู้สนใจสัมมนา “เกษตรก้าวหน้า 2567” ซึ่งจัดเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2567 ณ ห้องโกมุท ธนาคารกรุงเทพ สำนักงานใหญ่สีลม
รศ.ดร. วีระภาส คุณรัตนศิริ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้มาให้ความรู้ในเรื่องของ ความท้าทายจากระเบียบโลกใหม่ด้านเกษตรและสิ่งแวดล้อม : EUDR & CBAM” เนื่องจากปัจจุบันทั่วโลกต่างให้ความสำคัญและตระหนักต่อสภาพแวดล้อมของโลก โดยเฉพาะสหภาพยุโรปได้ออกกฎหมายห้ามทำลายป่า หรือ EUDR (EU Deforestation-free Regulation) ซึ่งเป็นกฎระเบียบบังคับใช้กับธุรกิจยางพารา ปาล์มน้ำมัน วัว ไม้ กาแฟ โกโก้ และถั่วเหลือง เป็นต้น รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาจากสินค้าเหล่านี้ เช่น เครื่องหนัง ช็อกโกแลต ยางรถยนต์ หรือเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งกฎหมายนี้ระบุว่า นับตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2024 ผู้ประกอบการค้าปลีก (Operator) และผู้ค้าผู้นำเข้า (Trader) จะประเมินและตรวจสอบสินค้าที่เข้ามาในตลาด EU ไม่ได้ผลิตจากพื้นที่ที่เกิดจากการทำลายป่าหลังจากปี ค.ศ. 2020 ขณะที่ผู้นำเข้าต้องรับผิดชอบการให้ข้อมูลเรื่องห่วงโซ่อุปทานแก่ผู้ประกอบการค้าปลีก
ส่วนในเรื่องมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน หรือ CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) ก็เป็นอีกหนึ่งมาตรการที่สหภาพยุโรป มุ่งสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแก่ประเทศคู่ค้านอกสหภาพยุโรป โดยจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้นำเข้าสินค้าประเภทที่มีการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิตสูง (Carbon Intensive Products) ซึ่งปัจจุบัน มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2566 นำร่องในสินค้าที่มีการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิตสูง โดย 6 ประเภทแรกที่บังคับปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน คือ ซีเมนต์ พลังงานไฟฟ้า ปุ๋ย ไฮโดรเจน เหล็ก และอะลูมิเนียม โดยที่ปัจจุบันอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่าน (Transition) เพื่อให้นานาประเทศได้เตรียมความพร้อมและปรับตัวก่อนเริ่มเก็บค่า CBAM certification หรือเอกสารรับรองการจ่ายค่าธรรมเนียมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิตจากผู้นำเข้าสินค้า โดยจะมีผลบังคับใช้ในปี 2569 เป็นต้นไป
คุณคมกริช นาคะลักษณ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานบริหารองค์กรเพื่อความยั่งยืน บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด ได้ออกมาให้ความรู้ในห้วข้อ “Sustainability ด้านการเกษตร” เนื่องจากปัจจุบันทุกคนต่างตระหนักถึงภาวะโลกเดือด โดยที่ได้ยกตัวอย่างถึงแนวทางของกลุ่มธุรกิจมิตรผล ที่ดำเนินธุรกิจตามปรัชญาของความยั่งยืน ครอบคลุมทั้ง 3 มิติ สิ่งแวดล้อม สังคม และ การกำกับดูแลกิจการ หรือ ESG โดยวางกรอบการดำเนินงานเพื่อให้มีความชัดเจน มีความสอดคล้องกับหลักการความยั่งยืนในระดับสากลปัจจุบัน และตอบสนองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ โดยยกตัวอย่างองค์ความรู้เกี่ยวกับ ESG ทั้ง 3 มิติ ประกอบด้วย
- ด้านสิ่งแวดล้อม (Environment) การวางเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Greenhouse Gas Emissions) การสนับสนุนการผลิต การใช้ และการเข้าถึงพลังงานหมุนเวียน เพื่อลดผลกระทบด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ การเปลี่ยนสิ่งไร้ค่า เป็นสิ่งที่มีคุณค่า (From Waste to Value)
- ด้านสังคม (Social) ส่งเสริมให้เกษตรกรมีความมั่นคงทางอาหาร และดำรงชีวิตอย่างยั่งยืน โดยพัฒนาคุณภาพการศึกษา เพื่อส่งเสริมให้เกิดความเสมอภาค และเกิดการสร้างงาน สร้างโอกาส และรายได้อย่างมีคุณค่าให้กับคนในชุมชนและท้องถิ่น
- ด้านการกำกับดูแลกิจการ (Governance) ที่ให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยง การดูแลกิจการ การปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และรอบด้านในทุกมิติ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างโปร่งใส เพื่อพัฒนาชุมชน สังคมและประเทศชาติ ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
รศ. ดร. รวิภัทร ลาภเจริญสุข จากภาควิชาวิศวกรรมเกษตร คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้มาให้ความรู้ในหัวข้อ “เทคโนโลยี AI กับภาคการเกษตร” เนื่องจากโลกในยุคปัจจุบัน หรือหลายองค์กรทั่วโลกได้ริเริ่มนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามามีส่วนร่วมกับธุรกิจ หรือการดำเนินงาน รวมถึงด้านการเกษตร ซึ่งเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นในการนำเทคโนโลยี AI มาประยุกต์ใช้ในหลายด้าน เพื่อตอบโจทย์ภาคการเกษตร
การนำเทคโนโลยี AI มาใช้ในการเกษตร ไม่ว่าจะเป็น การจัดการทรัพยากรดินและน้ำ ระบบ AI สามารถช่วยวิเคราะห์ข้อมูลคุณภาพดินและสภาพอากาศเพื่อการจัดการทรัพยากรให้ได้ประสิทธิภาพมากขึ้น การควบคุมศัตรูพืช ที่ระบบจะช่วยตรวจจับและวินิจฉัยโรคพืชได้แม่นยำ ช่วยให้เกษตรกรมีข้อมูลเพื่อจัดการปัญหาได้ การใช้ AI มาช่วยเพิ่มผลผลิต หรือช่วยวางแผนการเพาะปลูก การใช้ปุ๋ย เพื่อให้ได้ผลผลิตสูงสุด รวมถึงด้านการตลาด หรือการจัดการห่วงโซ่อุปทานนั้น ระบบ AI ยังสามารถช่วยคาดการณ์ความต้องการของตลาด การจัดการการขนส่งอย่างมีประสิทธิภาพ การตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มา รวมถึงการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วย
นอกจากนี้ งานสัมมนา “เกษตรก้าวหน้า 2567” ยังปิดท้ายด้วยการเสวนาจาก 3 สุดยอดเกษตรก้าวหน้าประจำปี ประกอบก้วย คุณธนโชติ ศรีรินทร์ชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท พี.ที.ฟาร์ม จำกัด ที่ได้รับรางวัลเกษตรกรผู้ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลดีเด่น คุณนฤมล ทักษอุดม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฮิลล์คอฟฟ์ จำกัด ที่ได้รับรางวัลผู้บริหารห่วงโซ่การผลิตทางการเกษตรดีเด่น และคุณสุจิต จิตทิชานนท์ กรรมการบริษัท เนวิลล์ ฟู้ด เซอร์วิส จำกัด ที่ได้รับรางวัลเกษตรกรรุ่นใหม่ดีเด่น มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์และความภาคภูมิใจ เพื่อให้ผู้ประกอบการ SME ที่เข้าร่วมรับฟังได้นำแนวคิดไปปรับใช้กันด้วย
ธนาคารกรุงเทพมุ่งมั่นและสนับสนุนความเติบโตที่จะเคียงข้างเกษตรกรไทย ด้วยเจตนารมย์ของ “เพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน” ที่ธนาคารยึดถือมาตลอด 80 ปี และยังคงสืบเนื่องต่อไป
รับชม เสวนา “3 สุดยอด เกษตรกรก้าวหน้า ปี 2567” ได้ที่
https://www.youtube.com/playlist?list=PL7-0AIDUook--WfCPy8hBvx2vDhD9vcjl