สำหรับคนทำงานที่ต้องใช้งานคอมพิวเตอร์ รวมทั้งสมาร์ตโฟนที่ทุกวันนี้ทำหน้าที่เป็นคอมพิวเตอร์พกพาไปเรียบร้อยแล้ว การเกิดอาการเจ็บมือ ปวดข้อ เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้ง่ายมาก อย่างไรก็ดีมีข้อสังเกตที่อาจทำให้เห็นว่าอาการเจ็บปวดที่เกิดขึ้นนั้น ไม่ใช่การเจ็บป่วยจากการทำงานร่วมสมัยที่เรารู้จักกันดีในชื่อ ออฟฟิศซินโดรม แต่อาจเป็นอาการที่เกิดจากโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์
ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme
“รูมาตอยด์” คืออะไร?
โรครูมาตอยด์ (rheumatoid arthritis) เป็นโรคข้ออักเสบเรื้อรังชนิดหนึ่ง
ปัจจุบันยังไม่มีใครรู้ว่าเกิดจากสาเหตุใดกันแน่
แต่อาการเจ็บป่วยมาจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายผิดปกติ
ส่งผลให้เยื่อบุข้อเกิดการอักเสบ บวม และมีน้ำเพิ่มขึ้นในช่องข้อ
หากปล่อยทิ้งไว้จะลุกลามทำลายข้อต่อกระดูกและกระดูกของตนเอง
จนก่อให้เกิดความพิการได้เนื่องจากข้อกระดูกถูกทำลายจนเสียความสมดุล และมีการดึงรั้งของกล้ามเนื้อจนอวัยวะเสียรูปทรง
ส่วนใหญ่เกิดบริเวณข้อขนาดเล็ก โดยเฉพาะข้อนิ้วมือ หรือข้อนิ้วเท้า
แต่ก็อาจเกิดบริเวณข้อเข่า ข้อเท้า ข้อสะโพกได้ด้วย แต่พบไม่บ่อยนัก
โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์พบได้บ่อยในสองช่วงอายุ
คือ ช่วงอายุ 20-30 ปี และ 50-60 ปี
ส่วนมากในช่วงอายุน้อยพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย แต่ในช่วงอายุมาก
พบได้ในทั้งสองเพศเท่าๆ กัน
อาการเป็นอย่างไร
อาการสำคัญที่ทำให้อาจตั้งข้อสงสัยว่าเกิดจากโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์
ได้แก่
1. ผู้ป่วยจะมีอาการฝืดตึงหรือเจ็บปวดข้อ
ความแตกต่างที่ชัดเจนจากการปวดจากการใช้งานข้อมากกว่าปกติจากการทำงาน
คือจะปวดแม้ไม่ได้ใช้งานข้อ เช่น ปวดกลางดึก ปวดตอนเช้าหลังตื่นนอนต่อเนื่องประมาณ
1 ชั่วโมง หรือขณะพักผ่อน และปวดเป็นประจำ แม้จะกินยาแก้ปวดแล้วอาการจะดีขึ้น
แต่ก็ไม่หายขาด
2. อาการฝืดตึงหรือเจ็บปวดจะเกิดขึ้นเหมือนกันทั้งสองด้านของร่างกาย
เช่น ถ้าเกิดอาการที่มือก็จะเป็นเหมือนกันทั้งสองข้าง
3. มีอาการข้อนิ้วมือ
หรือข้อมืออักเสบอย่างน้อย 1 ข้อ
การตรวจรักษา
การวินิจฉัยอาการทำได้ไม่ยากหากผู้ป่วยมีอาการข้ออักเสบปรากฏอย่างเต็มที่แล้ว
แต่ในระยะแรกผู้ป่วยอาจมีอาการนำหลายแบบ ทำให้บางครั้งต้องอาศัยการตรวจหาสารรูมาตอยด์ในเลือด
ประกอบกับการเอกซเรย์กระดูก หรือตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)
โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์เป็นโรคเรื้อรัง ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่วิธีการคือการทำให้โรคสงบ หยุดอาการบวมอักเสบ เจ็บปวด และหยุดยั้งการทำลายข้อ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติมากที่สุด โดยแนวทางการรักษาจะเป็นการใช้ยา ประกอบด้วยยากินหรือยาฉีด เพื่อลดอาการอักเสบ ควบคุมการลุกลามของโรค และยาช่วยบรรเทาอาการ สำหรับกรณีที่ข้อถูกทำลายไปมากแล้ว อาจใช้การผ่าตัดเพื่อซ่อมแซมหรือเปลี่ยนข้อ เพื่อให้สามารถใช้งานข้อได้ดีขึ้น ลดความเจ็บปวด และแก้ไขความพิการ รวมทั้งกายภาพบำบัดและออกกำลังกายเพื่อให้ข้อคงความยืดหยุ่น
เนื่องจากโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ไม่มีสาเหตุที่มาที่แน่ชัด
ทำให้การป้องกันค่อนข้างทำได้ยาก สิ่งที่ทำได้คือการดูแลร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ
ควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกิดภาวะน้ำหนักเกิน เพื่อลดการรับน้ำหนักของข้อเข่า ข้อเท้า
รับประทานอาการที่มีแคลเซียมและวิตามินซีอย่างเพียงพอเพื่อบำรุงเนื้อเยื่อและกระดูก
รวมทั้งออกกำลังกายกลางแจ้งเพื่อให้ร่างกายได้รับวิตามินดี
ซึ่งจะช่วยให้กระดูกแข็งแรง
หากเกิดอาการที่ต้องสงสัย
ควรพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเพื่อตรวจวินิจฉัย และสามารถเข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที