โควิดทำให้เกิดปรากฏการณ์ ‘ยางแผ่นดิบขาดตลาด’

SME Update
02/09/2020
รับชมแล้วทั้งหมด 11156 คน
โควิดทำให้เกิดปรากฏการณ์ ‘ยางแผ่นดิบขาดตลาด’
banner

เป็นที่ฮือฮาไปทั้งบางกับปรากฏการณ์ยางโลกขาดตลาด ซึ่งเป็นการทำงานของกลไกการตลาด จากกำลังการผลิตที่ลดจำนวนลงเพราะราคาไม่จูงใจ ในขณะที่ขั้นตอนการผลิตยุ่งยาก ได้เงินช้ากว่าการขายน้ำยางสด จึงทำให้ปริมาณการผลิตยางแผ่นในท้องตลาดลดลงไป ท่ามกลางกระแสของการโค่นต้นยางหันไปปลูกพืชชนิดอื่นที่ให้ผลตอบแทนดีกว่า ประกอบกับการหยุดชะงักของตลาดยางล้อและผลิตภัณฑ์จากยางพารา และแรงงานกลับบ้านในช่วงล็อกดาวน์ทำให้สต็อกขาด ยางแผ่นจึงไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดที่เริ่มกลับคืนสู่ปกติ

การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) รายงานสถานการณ์ราคายางพารา ณ วันที่ 1 ก.ย. 2563 ใสส่วนราคาประมูลเฉลี่ย ณ ตลาดกลาง ยางพารายางแผ่นดิบอยู่ที่ 55.39 บาทต่อกิโลกรัม ราคายางแผ่นรมควันอยู่ที่ 60.05 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ราคา FOB อยู่ที่ 62.90 บาทต่อกิโลกรัม โดยราคายางมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น ตลาดหุ้นอเมริกาบวก เงินดอลลาร์สหรัฐทรงตัว ราคาเงินเยนอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ

ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme 

นายสมพร เต็งรัง ประธานกรรมการชุมนุมสหกรณ์จังหวัดตรัง จำกัด ประเมินว่า ราคายางที่เพิ่มขึ้นมานั้นยังไม่หวือหวามากนัก สาเหตุที่ยางแผ่นขาดตลาด เนื่องจากราคายางแผ่นรมควันต่างจากน้ำยางสดแค่ 2-3 บาทต่อกิโลกรัม ต้นทุนของการนำน้ำยางสดไปผลิตเป็นยางแผ่นรมควันไม่ต่ำกว่า 6 บาท/กิโลกรัม เพราะถ้านำน้ำยางไปผลิตเป็นยางแผ่นดิบ หรือแผ่นรมควันขาดทุน บวกกับแรงงานขาดแคลนเนื่องจากติดโควิด 19 ทำให้แรงงานยังไม่สามารถเข้าประเทศได้ หลายองค์ประกอบจึงทำให้ยางแผ่นดิบ และแผ่นรมควันขาดตลาด

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยหนุนทำให้ราคายางเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นภาวะภัยแล้ง เกษตรกรส่วนหนึ่งได้โค่นยางไปปลูกชนิดอื่น เช่น ทุเรียน ประกอบกับยางในพื้นที่ภาคใต้ของไทยต้องเจอกับโรคใบร่วงชนิดใหม่ไม่สามารถกรีดยางได้ ทำให้ปริมาณยางในตลาดลดลง ขณะเดียวกันสต็อกยางในต่างประเทศหลายประเทศเริ่มเอาออกมาใช้ ทำให้ปริมาณสต็อกยางก็ลดลง ล้วนแต่เป็นปัจจัยบวกต่อราคายางพารา

โดยในช่วงที่เกิดโควิด ความต้องการใช้น้ำยางสดจากถุงมือยางในช่วงเดือน พ.ค.-ก.ค. มีราคาสูงขึ้นกว่าราคาน้ำยางก้อนถ้วย และยางแผ่นดิบ ทำให้ผลผลิตที่ออกมาปริมาณน้อยอยู่แล้วได้ใช้น้ำยางสดเข้าไปโรงงานน้ำยางข้น ทำให้ปริมาณการผลิตเป็นยางแผ่นดิบลดลงไปด้วย บวกอานิสงส์แล้งยาว ส่งผลทำให้ยางแผ่นรมควันหายไปจากตลาด 2 เดือนเต็ม จากราคาน้ำยางแพง แต่ปัจจุบันราคายางแผ่นดิบ ราคาเริ่มกลับมาจะทำให้ชาวสวนยางหันกลับมาทำยางแผ่นดิบ และยางแผ่นรมควันใหม่อีกครั้ง คาดว่าจะใช้ระยะเวลา 2 อาทิตย์เท่านั้น ตลาดจะกลับคืนสู่ภาวะปกติ

ทั้งนี้ยางแผ่นรมควันนับเป็นการแปรรูปยางขั้นพื้นฐานจากน้ำยางดิบ เพื่อนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมขั้นต่อไป เช่น ยางรถยนต์ ที่มีการใช้มากที่สุด รองลงมาได้แก่ ยางรัดของ ยางลบ ท่อยาง และยางพื้นรองเท้า เป็นต้น ปัจจุบันประเทศไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกยางธรรมชาติอันดับหนึ่งของโลก โดยร้อยละ 95 ของผลผลิตจะถูกส่งออก ที่เหลืออีกร้อยละ 5 ใช้ในประเทศ ผลิตภัณฑ์ส่งออกส่วนใหญ่เป็นยางแผ่นรมควันถึงร้อยละ 52 ปริมาณการใช้ยางในประเทศในแต่ละปีอยู่ในระดับประมาณ 4-5 หมื่นตัน ในขณะที่มีการส่งออกถึงกว่าล้านตันต่อปี

 

แนวโน้มสถานการณ์ยางพาราไทย

ปัจจุบันไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกยางพาราอันดับหนึ่งของโลก แต่กลับไม่สามารถกำหนดราคาขายเองได้ จากการผลิตเพื่อส่งออกกว่าร้อยละ 80 และยางพาราเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity) จึงถูกกำหนดราคาจากอุปสงค์และอุปทานในตลาดโลก ไทยจำต้องยอมรับราคาตามกลไกลการตลาด ดังนั้นเมื่อยางแผ่นมีการผลิตน้อยลง ท่ามกลางน้ำยางที่ถูกนำส่งไปแปรรูปเป็นถุงมือยาง ภัยแล้ง โรคระบาดและการลดพื้นที่ปลูก ย่อมทำให้ปริมาณความต้องการใช้สวนทางกับกำลังการผลิต

จากสถานการณ์ด้านราคายางพาราที่ยังคงตกต่ำมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่กลางปี 2554 ถึงปัจจุบัน จากอุปทานส่วนเกินของประเทศ และผลผลิตส่วนเกินของโลก 2.2 แสนตัน ในปี 2554 และ 6.4 แสนตัน ในปี 2556 ในขณะที่ผลผลิตยางของไทยได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงผลผลิตของประเทศอินโดนีเซียและเวียดนามที่เพิ่มขึ้นตามมา ทำให้ราคายางต่ำดิ่งลงจากยุคทองที่เคยจำหน่ายได้ในราคากิโลกรัมละไม่ต่ำกว่า 100 บาท อาจจะไม่หวนกลับมาแล้วในปัจจุบัน แม้แนวโน้มราคายางพาราจะขยับขึ้นอีกเล็กน้อยก็ตาม

ปัจจุบันราคายางในไตรมาส 2/2563 ช่วงต้นไตรมาสได้รับปัจจัยกดดันจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง เนื่องจากภาวะอุปทานน้ำมันล้นตลาด รวมทั้งทิศทางราคายางตลาดล่วงหน้าต่างประเทศเคลื่อนไหวอยู่ในช่วง Downtrend และอุปสงค์ยางลดลง จากการปิดโรงงานผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ในอเมริกา ยูโรโซน และบางกิจการในไทย

ทำให้ผู้ประกอบการภายในประเทศสามารถส่งออกยางได้ช่วงกลางไตรมาส หลังจากหลายประเทศเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ และอยู่ในทิศทางเดียวกับสัญญาณตลาดล่วงหน้าสิงคโปร์ รวมทั้งค่าเงินบาท และค่าเงินเยนอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย และนักลงทุนเข้าซื้อดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินปลอดภัยและมีสภาพคล่องสูง ทำให้ราคายางในช่วงต้นไตรมาส 2/2563 ปรับตัวลดลงแรงจากปัจจัยกดดันก่อนฟื้นตัวในช่วงปลายไตรมาส

สถานการณ์การส่งออกยางพาราเดือน ม.ค.-ก.พ. 63 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากภาคการผลิตยานยนต์ที่ใช้ยางพาราเป็นส่วนประกอบในการผลิตชิ้นส่วนและยางล้อ รวมไปถึงความต้องการถุงมือยางที่เพิ่มขึ้นในตลาดโลกจากผลกระทบการแพร่ระบาดของโควิด 19 ทำให้ราคายางมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อน โดยเฉพาะราคาน้ำยางข้น ซึ่งการส่งออกน้ำยางข้นขยายตัวสูงถึงร้อยละ 28.69 และถูกใช้เป็นวัตถุดิบหลักในการนำไปผลิตถุงมือยาง ที่กำลังเป็นที่ต้องการทั่วโลกในขณะนี้

โดยตลาดหลักในการส่งออกยังคงเป็นประเทศจีนร้อยละ 41.09, มาเลเซียร้อยละ 13.82, ญี่ปุ่นร้อยละ 8.56, สหรัฐอเมริการ้อยละ 7.21 รวมเป็นสัดส่วนร้อยละ 70.68 สำหรับตลาดที่ขยายตัวสูง ได้แก่ ลัตเวียร้อยละ 255.33, อินโดนีเซียร้อยละ 144.37, จีนร้อยละ34.37, ไต้หวันร้อยละ 26.71

ทั้งนี้แม้ประเทศไทยจะมีจุดแข็งที่เป็นผู้ส่งออกยางแปรรูปขั้นต้นอันดับ 1 ของโลกที่มีคุณภาพและมาตรฐานสูง และเป็นที่ยอมรับระดับโลก รวมถึงมีหน่วยงานกำกับดูแลและส่งเสริมอุตสาหกรรมยางอย่างครบวงจร และเกษตรกร ผู้ประกอบการยางพาราไทย มีความรู้ความเชี่ยวชาญ แต่ก็ยังมีอุปสรรคและจุดอ่อนที่น่าห่วงกังวลอยู่มาก ดังนั้นการที่คิดจะกระโดดลงมาเล่นยางพาราควรคิดวิเคราะห์หาลู่ทางให้ดี อย่าทำกระแสโดยไม่ศึกษาข้อมูลว่าสถานการณ์ที่ทำให้ราคายางพาราไม่สดใสมาเป็น 10 ปี นั้นมีผลมาจาก

1. ไทยยังมีการพึ่งพาการส่งออกยางพาราเป็นหลัก เมื่อเศรษฐกิจโลกชะลอตัว เช่น ปัญหาสงครามทางการค้า โรคระบาด ส่งผลกระทบต่อการส่งออกไปตลาดหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศจีน

2. ราคายางพาราอ้างอิงจากตลาดซื้อขายล่วงหน้าในต่างประเทศเป็นหลัก จึงทำให้มีการเก็งราคาและแทรกแซงราคา จนเกิดความผันผวนของราคาสูง ซึ่งไม่สะท้อนกับความเป็นจริง

3. ราคายางพารายังอ้างอิงจากราคาน้ำมันโลก จึงเกิดความผันผวนของราคาสูงและอยู่เหนือการควบคุมได้

4. กลุ่มประเทศ CLMV หันมาปลูกยางพาราเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดภาวะอุปทานยางพาราโลกเกินกว่าอุปสงค์

5. ต้นทุนการผลิตและการส่งออกไทยสูงกว่าคู่แข่งขัน (ต้นทุนแรงงานและพลังงาน) เช่น อินโดนีเซีย เวียดนาม

6. ค่าเงินบาทไทยที่แข็งค่า ส่งผลต่อความได้เปรียบในการแข่งขัน

7. ปัญหาการชำระเงิน และการยกเลิกสัญญาของกลุ่มลูกค้าบางราย

 

แหล่งอ้างอิง :

https://www.thansettakij.com/

https://www.rubber.co.th/

https://www.ditp.go.th/ 



สมัครสินเชื่อ >>สินเชื่อธุรกิจบัวหลวง SMEs ดีแน่นอน<<


วิกฤติโควิด คือ โอกาสส่งออก "ถุงมือยาง"

ตลาดเฟอร์นิเจอร์จีนยังไม่ฟื้น ทุบส่งออกไม้ยางพาราไทย


Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

‘TikTok For All’ Update เทรนด์ใหม่ปี 2024 พร้อมกลยุทธ์เพิ่มโอกาส SME ไทยสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน

‘TikTok For All’ Update เทรนด์ใหม่ปี 2024 พร้อมกลยุทธ์เพิ่มโอกาส SME ไทยสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน

TikTok ตอกย้ำการเป็นแพลตฟอร์มเอนเตอร์เทนเมนต์ที่น่าเชื่อถือสำหรับทุกคน ทั้งครีเอเตอร์ คอมมูนิตี้ผู้ใช้งาน และธุรกิจทุกขนาดในไทย ด้วยการเปิดตัว…
pin
1049 | 14/02/2024
ทอดไม่ทิ้ง! เปลี่ยน ‘น้ำมันเหลือทิ้ง’ เป็น ‘น้ำมันเครื่องบิน’ โอกาสใหม่ SME ไทย เติบโตอย่างยั่งยืน

ทอดไม่ทิ้ง! เปลี่ยน ‘น้ำมันเหลือทิ้ง’ เป็น ‘น้ำมันเครื่องบิน’ โอกาสใหม่ SME ไทย เติบโตอย่างยั่งยืน

ขณะที่ยานพาหนะต่าง ๆ ทั้ง รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รถไฟ และเรือ ต่างมุ่งสู่การใช้เชื้อเพลิงพลังงานทดแทน ที่เป็นพลังงานสะอาดกันแล้ว แต่สำหรับการเดินทางโดยอากาศยาน…
pin
1383 | 26/01/2024
จับกระแส 'เทรนด์ธุรกิจ' ปี 2024 ใครได้ไปต่อ ใครมาแรง SME ไทยต้องรู้

จับกระแส 'เทรนด์ธุรกิจ' ปี 2024 ใครได้ไปต่อ ใครมาแรง SME ไทยต้องรู้

ปี 2024 นี้ ธุรกิจไหนมาแรง ธุรกิจไหนน่าจับตา เทรนด์ธุรกิจใดกำลังมาแรง Bangkok Bank SME สรุปมาไว้ในบทความนี้ เพื่อเป็นแนวทางแก่ SME และผู้ที่กำลังคิดจะเริ่มต้นทำธุรกิจทุกท่าน…
pin
1663 | 25/01/2024
โควิดทำให้เกิดปรากฏการณ์ ‘ยางแผ่นดิบขาดตลาด’