กลายเป็นประเด็นดราม่าในสังคมไทย เมื่อมีนักธุรกิจมาเลเซียยื่นจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า
คำว่า “Harimau Menangis” (ฮาริเมา เมอนางิส) ซึ่งแปลเป็นไทยตรงตัวว่า
“เสือร้องไห้” เมนูอาหารอีสานของไทยที่มีขายอยู่แพร่หลายและเป็นที่นิยมมากในมาเลเซีย
หลังจากมีกระแสข่าวการยื่นจดทะเบียนไม่นาน ผู้ประกอบการรายดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงในสื่อสังคมออนไลน์มาเลเซีย
ต่อมาในช่วงเย็นของวันเดียวกันนั้น ผู้ประกอบการรายดังกล่าวได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนในมาเลเซียว่าได้ถอนคำขอดังกล่าวแล้ว
ทั้งนี้ สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ จึงได้ประสานไปยังกรมทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศมาเลเซีย หรือ “MyIPO” เพื่อขอทราบรายละเอียดคำขอขึ้นทะเบียนของผู้ประกอบการรายดังกล่าว พบว่าผู้ประกอบการรายนี้ได้ยื่นคำขอขึ้นทะเบียนเครื่องหมายการค้าในสินค้าจำพวก 29 ได้แก่ เนื้อวัวหมัก (marinated beef), เนื้อหมัก (marinated meat), สารสกัดจากเนื้อ (meat extracts), เนื้อที่ถนอมสภาพแล้ว (meat preserved), เนื้อ (meat), ปลา (fish), สัตว์ปีก (poultry and game) เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2563
ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme
โดยที่สถานะล่าสุด ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2563 ยังอยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบ
(under formality verification) และแม้ผู้ประกอบการจะให้สัมภาษณ์ว่า
ได้ขอถอนคำขอดังกล่าวแล้ว แต่ด้วยระบบของ MyIPO ผู้ขอถอนคำร้องจะต้องมาดำเนินการด้วยตนเอง
หรือแต่งตั้งผู้แทนมาดำเนินการเท่านั้น แต่ในขณะนี้ยังไม่สามารถทำได้เนื่องจากสถานการณ์โควิด19
ที่รัฐบาลมาเลเซีย ออกมาตรการควบคุมเข้ม (MCO) ถึงสิ้นเดือนมกราคม ทำให้คำขอดังกล่าวยังมีอยู่ในระบบ
ทั้งนี้หลังจากได้รับเรื่องขอถอนคำขอแล้ว
MyIPO จะใช้เวลาอีก 1-2 สัปดาห์ในการดำเนินการ
อย่างไรก็ดีในวันเดียวกันนั้น MyIPO ได้ออกแถลงการณ์หรือ official
statement เป็นภาษามลายูว่า มีคำขอดังกล่าวอยู่ในระบบจริง
แต่ยังระหว่างการพิจารณาเท่านั้น และยังไม่ได้รับความคุ้มครอง
นอกจากนี้ ปัจจัยที่โหมให้ “ดราม่า”
ครั้งนี้ลุกลามขึ้นไปอีก คือการที่ตัวผู้ประกอบการเองซึ่งเป็นผู้มีชื่อเสียง
ได้อัพโหลดวิดีโอสาธิตวิธีปรุงอาหารเมนู ‘Harimau
Menangis’ และบอกเป็นนัยว่าเมนูนี้ ได้รับการจดเครื่องหมายการค้าแล้ว
ทำไมจึงจดเทรนด์มาร์ค ‘เสือร้องไห้’ ไม่ได้
โดยทั่วไปแล้วคำว่า Harimau (แปลว่า เสือ) และคำว่า
Menangis (แปลว่า ร้องไห้) เป็นคำภาษามลายู มีแปลความจากเมนู
“เสือร้องไห้” ของไทย มีลักษณะเป็นเนื้อวัวหมักด้วยเครื่องเทศ นำไปย่างและหั่นเป็นชิ้นพอดีคำ
เสิร์ฟพร้อมข้าวเหนียวหรืออาหารอื่นๆ นอกจากนี้คำว่า “เสือร้องไห้” ในภาษามลายู
ยังหมายถึง เนื้อวัวส่วนที่มีลักษณะเหนียวเคี้ยวยาก ในทำนองเดียวกันกับของไทยด้วย
ดังนั้นจึงถือได้ว่าคำว่า
“เสือร้องไห้” เป็นคำสามัญสำหรับใช้เรียกเมนูอาหารและชิ้นส่วนเนื้อวัว ด้วยเหตุนี้ผู้ที่ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า
จะต้องสละสิทธิ์การคุ้มครองคำว่า “เสือร้องไห้”
เหลือเพียงการคุ้มครองรูปหรือตัวอักษรเป็นต้น ขอยกตัวอย่างเพื่อให้เข้าใจง่าย
ดังนี้
กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาอนุญาตให้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า
“แอปเปิล” กับเครื่องคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือแบรนด์หนึ่ง แต่ไม่สามารถนำไปจดให้กับสินค้าที่เป็นผลไม้แอปเปิล
หรือผลิตภัณฑ์แอปเปิลแปรรูป
ในทำนองเดียวกัน “เสือร้องไห้”
อาจจดเป็นเครื่องหมายการค้าของช่องยูทูบผลิตสื่อคอนเทนท์ออนไลน์ได้ แต่ไม่สามารถนำไปจดให้กับสินค้าเนื้อวัวย่างหรือสินค้าอื่นใดที่มีความใกล้เคียงกันได้
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นถึงความนิยมที่มีต่ออาหารไทยในตลาดมาเลเซียได้เป็นอย่างดี
นอกเหนือไปจากเมนูคลาสสิกตลอดกาลอย่างเช่น ต้มยำกุ้ง ผัดไทย ผัดกะเพรา ต้มข่า แล้วตอนนี้
“เสือร้องไห้” ก็เป็นเมนูดาวรุ่งอย่างเห็นได้ชัด
เห็นชัดว่าท่ามกลางประเด็นดราม่า แต่ก็นับเป็นโอกาสที่อาหารอีสานไทยอย่างเสือร้องไห้ได้เป็นที่รู้จักแพร่หลายมากขึ้น
ไม่จำกัดเฉพาะในมาเลเซีย แต่สามารถสร้างสตอรรี่ให้โด่งดังได้มากขึ้นอีกด้วย
ซึ่งหากมองในมุมนี้ยังมีอาหารพื้นบ้านไทยหลายๆ อย่างที่เป็นเสน่ห์ของแต่ละท้องถิ่น
หากสามารถหยิบยกมาบอกเล่าให้เกิดการรับรู้ที่กว้างขวางไม่จำกัดเฉพาะในประเทศ ก็จะเป็นโอกาสใหม่ๆ
ของผู้ประกอบการไทย
แหล่งอ้างอิง :
https://www.malaymail.com/news/malaysia/2021/01/14/
https://www. malaymail.com/news/malaysia/2021/01/13/