ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในปัจจุบัน
ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของการค้าปลีกทั่วโลก เช่นเดียวกันกับการค้าปลีกในสิงคโปร์ที่จำเป็นต้องมีการปรับตัวเพื่อการแข่งขันในศตวรรษที่
21 ในสิงคโปร์ อีคอมเมิร์ซมีรูปแบบเป็น Online Ecosystem ซึ่งรวมถึงการขนส่งทั้งในและต่างประเทศ
การชำระเงิน และการใช้ Mobile Application ดังนั้นจึงเป็นช่องทางการซื้อขายที่มีความสะดวกค่อนข้างมากสำหรับผู้บริโภค
และตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป
นอกจากนี้ อีคอมเมิร์ซยังสามารถแก้ไขปัญหาด้านต้นทุนการดำเนินธุรกิจ ผู้ประกอบการค้าปลีกจึงมีการนำกลยุทธ์ต่าง ๆ เข้ามาใช้ ไม่ว่าจะเป็นการจำหน่ายสินค้าทั้งแบบออฟไลน์ ออนไลน์ และการให้บริการต่าง ๆ เพิ่มขึ้น เช่น ห้างร้านการจัดสรรพื้นที่สำหรับผู้บริโภคในการเข้าไปใช้ทั้งอ่านหนังสือหรือทำงานต่าง ๆ และการมีพื้นที่สำหรับร้านกาแฟหรือร้านอาหาร เป็นต้น
ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme
กรณีศึกษาสำหรับธุรกิจอีคอมเมิร์ซในสิงคโปร์ มีตัวอย่างที่น่าสนใจ เช่น เมื่อต้นปีที่ผ่านมามีร้านค้า Crabtree and Evelyn ซึ่งค้าปลีกสัญชาติอังกฤษที่ดำเนินกิจการในสิงคโปร์ที่ได้รับผลกระทบ จากการขยายตัวของอีคอมเมิร์ซและได้มีการปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินธุรกิจ โดยปิดหน้าร้านเกือบทุกสาขาทั่วโลกรวมทั้งสิงคโปร์ด้วย เหลือไว้เพียงสาขาเดียวที่อังกฤษ ซึ่งเป็นสาขาที่มีการให้บริการลูกค้าในด้านต่าง ๆ ส่วนการจำหน่ายสินค้าจะเน้นไปที่การจำหน่ายออนไลน์เพียงอย่างเดียว
อย่างไรก็ดี
ในทางกลับกันร้านค้าปลีกเสื้อผ้าแฟชั่นออนไลน์ของสิงคโปร์ Love Bonito ได้เปิดหน้าร้านสำหรับการจำหน่ายสินค้าเป็นร้านที่
3 บริเวณห้าง Funan Centre ในสิงคโปร์ ซึ่งมีขนาดใหญ่และเป็นร้านที่
19 ในภูมิภาคเอเชีย
โดยมีเหตุผลมาจากการที่ทางร้านต้องการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคให้ได้มากที่สุดเพื่อการพัฒนาการให้บริการของทางร้านไปอีกขั้นในทั้งรูปแบบออฟไลน์และออนไลน์
เช่น การให้ลูกค้าได้ลองสัมผัสกับสินค้าก่อนการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าซึ่งลูกค้าสามารถเลือกซื้อสินค้าได้ทั้งจากในร้านหรือเลือกซื้อทางออนไลน์หลังจากการทดลองสินค้าในร้าน
Omni Channel จุดพลิกผันค้าปลีกออนไลน์
ด้วยเหตุนี้ แนวโน้มการค้าปลีกของธุรกิจในปัจจุบัน
ผู้ประกอบการค้าปลีกหลายรายหันมาใช้กลยุทธ์การตลาดแบบ Omni Channel ซึ่งเป็นกลยุทธ์การขายหลายช่องทางรวมถึงการพยายามสร้างประสบการณ์การจับจ่ายที่ไร้รอยต่อให้กับลูกค้า
ทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์
โดยกลยุทธ์การตลาดแบบ Omni Channel นี้ ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากทั้งในกลุ่มร้านค้าปลีกแบบออฟไลน์อย่าง
Nike และ Uniqlo และร้านค้าปลีกแบบออนไลน์
อย่างเช่น AmazonGo
ในปัจจุบันผู้ประกอบการค้าปลีกออนไลน์บางส่วน เริ่มนำกลยุทธ์การเปิดหน้าร้านมาใช้เป็นการขยายช่อง
ทางการจำหน่ายสินค้า เพื่อลดข้อจำกัดของการเติบโตของธุรกิจออนไลน์
ที่ได้รับผลกระทบจากจำนวนผู้ประกอบธุรกิจออนไลน์ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ยังรวมถึงปัจจัยในด้านอื่น ๆ เช่น ค่าใช้จ่ายด้านโฆษณาที่มีราคาสูงและความลังเลของผู้บริโภคเมื่อต้องมีการกรอกข้อมูลส่วนบุคคลก่อนการชำระค่าบริการ
ทั้งนี้ กลยุทธ์ดังกล่าวเหมาะสมกับสินค้าประเภทแฟชั่น เช่น เสื้อผ้า เครื่องประดับ กว่าสินค้าประเภทอื่น ๆ เนื่องจากผู้บริโภคมีความต้องการที่จะสัมผัสวัสดุของสินค้าและทดลองขนาดของสินค้าเพื่อความพอดีและความเหมาะสมกับ รูปร่าง และยังสามารถที่จะเลือกสินค้าเสื้อผ้าแบบ Mix & Match ได้อีกด้วย
บทบาทของ ‘ทำเล’
ที่น้อยลง
ส่วนปัจจัยด้านทำเลที่ตั้งของร้านค้าปลีกนั้น ในอดีตการเลือกทำเลที่ตั้งสำหรับการทำธุรกิจเป็นเรื่องที่สำคัญมาก
แต่ในปัจจุบันด้วยการค้าปลีกแบบอีคอมเมิร์ซ ทำให้ปัจจัยด้านทำเลที่ตั้งลดน้อยลงไป
เช่น ร้านค้าปลีกออนไลน์ Honestbee ที่จำหน่ายสินค้าเบ็ดเตล็ดในสิงคโปร์
ปัจจุบันได้เปิด Habitat by Honestbee อยู่ที่ บริเวณ
Pasir Panjang ซึ่งเป็นย่านชานเมืองแต่ใกล้กับแหล่งธุรกิจ Mapletree Business City ที่มีชาวสิงคโปร์วัยทำงานเป็นจำนวนมาก
กรณีหน้าร้าน Habitat by Honestbee นั้นสร้างสิ่งจูงใจผู้บริโภคโดยการนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการดำเนินงาน และการชำระค่าสินค้าภายในร้าน เช่น การเลือกซื้ออาหารสดที่มีคุณภาพสูงแต่ราคาไม่สูงมากนัก และรับบริการการปรุงอาหาร เพื่อบริโภคภายในร้าน การชำระค่าสินค้าผ่านทาง Application ของ Habitat by Honestbee ซึ่งกลยุทธ์นี้เป็นการสร้างประสบการณ์ใหม่ให้แก่ผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี ส่งผลให้ทั้งชาวสิงคโปร์ที่ทำงานในย่านนั้น ๆ และชาวสิงคโปร์โดยทั่วไปก็สนใจและเดินทางไปทดลองใช้บริการดังกล่าวในวันหยุดเสาร์อาทิตย์เป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้ การดำเนินธุรกิจเป็นคู่ขนานทั้งในรูปแบบออฟไลน์และออนไลน์ และมีการพัฒนาการให้บริการลูกค้าที่มีความหลากหลายมากขึ้น
เช่น ตัวเลือกในการส่งสินค้า ช่องทางการชำระค่าสินค้า การอำนวยความสะดวกในการใช้ Mobile Application ในการเลือกซื้อสินค้า
การปรับตัวและพัฒนากลยุทธ์ทางการค้าแบบต่าง ๆ
ของผู้ประกอบการร้านค้าปลีกในสิงคโปร์ นั้นเป็นส่วนช่วยกระตุ้นให้ผู้บริโภคสนใจในสินค้ามาขึ้น
ทำให้ร้านค้าปลีกในสิงคโปร์สามารถดำเนินธุรกิจได้เป็นอย่างดีในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป
ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยควรมีการศึกษาเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ
เพื่อนำมาใช้ในการดำเนินธุรกิจ เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจและยังสามารถสร้างปัจจัยที่เป็นแรงดึงดูดความสนใจของผู้บริโภคได้อีกด้วย
อ้างอิง : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงสิงคโปร์