หันหลังให้เมืองใหญ่ มุ่งหน้าสู่บ้านเกิด ทำ 'สวนโกโก้' ด้วยความรักและแรงบันดาลใจ สร้างงาน สร้างรายได้สู่ชุมชนยั่งยืน

SME in Focus
16/11/2023
รับชมแล้วทั้งหมด 1780 คน
หันหลังให้เมืองใหญ่ มุ่งหน้าสู่บ้านเกิด ทำ 'สวนโกโก้' ด้วยความรักและแรงบันดาลใจ สร้างงาน สร้างรายได้สู่ชุมชนยั่งยืน
banner

ชายหนุ่มผู้หันหลังให้เมืองใหญ่ ทิ้งอาชีพด้านขุดเจาะปิโตรเลียมกับบริษัทยักษ์ใหญ่ต่างชาติที่มั่นคง กลับสู่บ้านเกิด เพื่อเริ่มต้นใหม่ในสิ่งที่เขารัก จากวันนั้น ถึงวันนี้ เป็นเวลากว่า 14 ปี ที่เขาสร้างธุรกิจขึ้นมาและพัฒนาบ้านเกิด สร้างแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นทั้งสถานที่พักผ่อนและสวนโกโก้แห่งแรกในจังหวัดน่าน จากพืชผลที่เกษตรกรปลูกกันทั่วไปในจังหวัดน่าน แต่ไม่มีการต่อยอดเพื่อเพิ่มมูลค่า แต่เมื่ออยู่ในมือเขา พืชตัวนี้ กลายเป็นเศรษฐกิจตัวใหม่ ต่อยอดธุรกิจครอบครัว สร้างงาน สร้างรายได้ให้คนในชุมชนอย่างยั่งยืน


Bangkok Bank SME ขอพาทุกคนมารู้จักกับคุณมนูญ ทนะวัง ผู้ก่อตั้ง บริษัท โกโก้ วัลเล่ย์ กรุ๊ป จำกัด เจ้าของอาณาจักรโกโก้ชื่อดังจังหวัดน่าน และต่อยอดทำรีสอร์ทและคาเฟ่ พร้อมสนับสนุนให้ชาวบ้านในพื้นที่หันมาปลูกเพื่อส่งขาย ในราคาสูงเท่าที่เขาสามารถให้ได้ แล้วชายหนุ่มคนนี้ ทำธุรกิจเกษตรอย่างสร้างสรรค์ เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชนของเขาได้อย่างไร บทความนี้ มีคำตอบ




อิ่มตัวในเมืองใหญ่ เริ่มต้นใหม่ที่บ้านเกิด


คุณมนูญ เป็นคนน่านตั้งแต่เกิด พอเรียนจบจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ทำงานกับบริษัทแท่นขุดเจาะน้ำมันยักษ์ใหญ่ของอเมริกา ที่แหลมฉบัง ชลบุรี คุณมนูญประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานตั้งแต่อายุยังน้อย และด้วยความที่เป็นเด็กต่างจังหวัดมาทำงานในเมืองใหญ่ เมื่อได้เงินสูงประสบความสำเร็จไว จึงใช้ชีวิตอย่างเต็มที่


กระทั่ง อายุ 29 ปี คุณมนูญ เล่าว่า ตนใช้ชีวิต กิน เที่ยว เต็มที่ สุดท้ายพอเดินทางมาถึงจุดหนึ่ง จึงเริ่มเกิดคำถามว่า ชีวิตเราต้องการแค่นี้จริง ๆ หรือ

ซึ่งเมื่อก่อนนั้น เป้าหมายในชีวิตที่เขาวางไว้ คือแค่ทำงานหาเงินให้ได้มาก ๆ แต่เมื่อมีพร้อมทุกอย่าง ชีวิตกลับไม่มีความสุข จนมีโอกาสไปปฏิบัติธรรม จึงเห็นถึงความจริงว่า ชีวิตเราเกิดมาแล้วก็ตายไป แต่ในระหว่างที่มีชีวิตอยู่ เราทำประโยชน์อะไรไว้บ้าง




จุดเปลี่ยนชีวิต เริ่มต้นธุรกิจจากสิ่งที่ชอบ


คำตอบที่ได้ในวันนั้น เปลี่ยนการดำเนินชีวิตของชายคนนี้อย่างสิ้นเชิง เขาออกจากสังคมเดิม ๆ ขายทั้งบ้าน รถ และทุกอย่าง แล้วมุ่งหน้ากลับบ้านเกิด เริ่มต้นชีวิตและธุรกิจใหม่ ด้วยการตั้งโจทย์ 2 ข้อคือ เรามีอะไร และเรารักที่จะทำอะไร ที่มีความสุข ไม่ใช่เพื่อเงิน นี่คือจุดเริ่มต้นของการทำธุรกิจของเขา

เริ่มจากความคิดว่าอยากทำเกษตรแนวใหม่ ที่สร้างมูลค่า กำหนดราคาเองได้ ประกอบกับชอบรับประทานโกโก้ และช็อกโกแลต จึงลงมือปลูกต้นโกโก้ในสวนราว 400 ต้น บนพื้นที่ 2 ไร่


“ต้นโกโก้แต่ละต้น ผมกับครอบครัวปลูกเอง แม้เหนื่อยกาย แต่สุขใจ สิ่งที่ยากสำหรับเราคือการแปรรูปช็อกโกแลต เพราะหากย้อนกลับไปเมื่อ 14 ปีก่อน ความรู้เรื่องนี้แทบจะเป็นศูนย์เลยก็ว่าได้”

ระหว่างนั้น เขาได้ศึกษาเรื่องการแปรรูปโกโก้ ไปพร้อมกับปรับปรุงบ้านพัก และทำคาเฟ่ควบคู่ไปด้วย เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว เข้ามาเยี่ยมชม


เรียนรู้อย่างจริงจัง


เมื่อกิจการเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง ได้สร้างงานให้กับคนในชุมชน ทั้งช่วยแปรรูป รวมถึงเพาะปลูกต้นโกโก้ในพื้นที่อำเภอปัว ซึ่งคุณมนูญ เชื่อมั่นว่า สามารถปลูกพืชชนิดนี้ได้ดีไม่น้อยไปกว่าประเทศอื่น เนื่องจากต้นโกโก้ดูแลไม่ยาก เจริญเติบโตได้ดีในประเทศเขตร้อน และมีน้ำพอเพียง


เพื่อพัฒนาคุณภาพให้ดียิ่งขึ้น คุณมนูญ ตัดสินใจไปเรียนเรื่องแปรรูปช็อกโกแลตที่ต่างประเทศ โดยเขาเดินทางไปหลายประเทศ ทั้งในยุโรป แอฟริกา อเมริกาใต้ อินเดีย และอื่น ๆ เพื่อให้แน่ใจว่าตนเองเข้าใจในเรื่องโกโก้ ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ รวมถึงการตลาด พร้อมกันนั้น เขายังซื้อเครื่องมือการแปรรูปที่ดีที่สุดเท่าที่หาได้ กลับมาจากยุโรปด้วย


โดย คุณมนูญ ใช้หลักการพัฒนาแบบครบวงจร คือ “เกษตรอุตสาหกรรม” ที่เชื่อมโยงตั้งแต่ภาคเกษตร การแปรรูป และการจัดจำหน่ายหรือการตลาด ให้ทุกอย่างสอดคล้องกัน


ซึ่งการแปรรูปที่หลากหลาย สามารถสร้างคุณค่าและมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์โกโก้ โดยใช้การตลาดที่มีประสิทธิภาพเป็นตัวนำ จนเขามั่นใจว่าความรู้ เทคโนโลยี และการจัดการในทุกขั้นตอนตลอดห่วงโซ่มูลค่านั้น สามารถนำไปใช้กับธุรกิจของเขาได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด




ชุมชนคือหัวใจของธุรกิจ


เรารับซื้อโกโก้จากชุมชนเป็นหลัก นอกจากนี้ ยังเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อให้เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้แก่ชุมชน รวมทั้งให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของชุมชนในทุกกระบวนการผลิต แทนการใช้เครื่องจักร ผสมผสานธุรกิจเข้ากับวิถีชีวิตชาวบ้าน และแทรกเรื่องราวท้องถิ่นลงไปในผลิตภัณฑ์

เมื่อพบว่าความสุขและรายได้ที่ยั่งยืน เกิดขึ้นได้ในสวนโกโก้ คุณมนูญ จึงอยากแบ่งปันไปสู่คนในชุมชน ส่งเสริมให้เกษตรกรในชุมชนหันมาปลูก และเขาจะรับซื้อในราคาสูง ซึ่งราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 7-25 บาท ขณะที่ราคาตลาดรับซื้อทั่วไปอยู่ที่ 5-10 บาทเท่านั้น ทำให้สร้างรายได้เพิ่มให้ชาวบ้านกว่าเดือนละ 4-5 พันบาทต่อคน


ส่วนการแปรรูป ที่กระบวนการผลิตทั่วโลก ส่วนใหญ่ใช้เครื่องจักรทั้งหมด แต่ที่นี่จะใช้เพียงบางขั้นตอนเท่านั้น โดยหันมาเน้นจ้างงานผู้สูงอายุ ที่ไม่มีรายได้ในชุมชน จึงต้องคิดกระบวนการผลิตใหม่ทั้งหมด เช่น คัดแยกเปลือกกับเนื้อแทนการใช้เครื่องจักร โดยใช้ภูมิปัญญาอย่างวิธีการฝัดข้าวสาร ที่ผู้สูงอายุถนัดอยู่แล้ว เป็นการสร้างรายได้โดยไม่ต้องพึ่งลูกหลาน เพราะคนชนบทเมื่อแก่ตัว ไม่รู้จะทำอะไร ก็อาจเป็นทุกข์เพราะไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง


“พอเราให้อาชีพเขา ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะเขามีรายได้ และรู้ว่าตัวเองทำงานได้ ปัจจุบันผมสามารถช่วยเหลือชาวบ้าน ให้มีงานทำในบ้านเกิดผมเอง ด้วยการปลูกโกโก้เป็นพืชแซม และเรารับซื้อ โดยให้เขาตั้งกลุ่มทำอาชีพของเขาเอง ผมไม่ได้มองตัวเองเป็นนักธุรกิจ แต่อยากช่วยคนมากกว่า คนแก่มีความสุขขึ้น ผมรู้สึกประสบความสำเร็จ เกิดเป็นความสุขเล็ก ๆ พ่อกับแม่ของผม ก็มีความสุขในการมองสิ่งที่เราทำให้ชาวบ้านและชุมชน”




‘โกโก้’ แปรรูปเป็นสินค้าได้มากกว่าที่เราคิด


หลายคนอาจยังไม่ทราบว่า ปัจจุบัน ‘โกโก้’ สามารถแปรรูปได้ในหลากหลายอุตสาหกรรม นอกจากขนมและเครื่องดื่มที่เรารู้จักกันดีแล้ว โกโก้ยังผลิตเป็น เครื่องสำอาง ครีม แชมพู สบู่ และการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่มีส่วนผสมของโกโก้ ได้อีกด้วย


ส่วนเปลือกเมล็ดโกโก้ยังใช้ย้อมสีเส้นด้ายในการทอผ้า หรือแม้กระทั่ง ผ้าลายพื้นเมืองของน่าน ที่ใช้สีในการย้อมด้ายก่อนทอมือนั้นมาจากเปลือกและส่วนต่าง ๆ ของโกโก้ ถือเป็นอัตลักษณ์ที่หาได้ยาก เพราะทำมาจากกลุ่มทอผ้าในอำเภอปัวเท่านั้น ขณะที่อุตสาหกรรมผลิตยามีการใช้เปลือกเมล็ดโกโก้เป็นสีเคลือบแคปซูล ทั้งยังใช้โกโก้ผลิตยาสอดได้เช่นกัน


ต่อยอดธุรกิจ โกโก้ วัลเล่ย์ รีสอร์ท บ้านพักคนรักโกโก้


สำหรับ โกโก้ วัลเล่ย์ รีสอร์ท หรือ Cocoa Valley Resort แห่งนี้ คุณมนูญ เล่าว่า เดิมทีที่นี่เป็นกิจการของครอบครัว สมัยนั้นยังเป็นบ้านพักธรรมดา รับแขกที่มาพักโดยไม่มีกิจกรรมอะไร เลยอยากมีร้านเกี่ยวกับช็อกโกแลต หรือ โกโก้ เข้ามาเสริมในรีสอร์ท จึงคิดคอนเซ็ปต์ให้มีธีมขึ้นมาว่า เป็นรีสอร์ทสำหรับคนรักโกโก้หรือช็อกโกแลตเหมือนเรา ก็เริ่มปรับ เริ่มให้นักออกแบบมาดู ซึ่งเราก็เลือกการรีโนเวตเพราะว่าค่าใช้จ่ายมันถูกกว่าเพราะไม่ได้มีทุนเยอะ


แม้ไม่ใช่รีสอร์ทที่ลงทุนมากมาย แต่ทุกอย่างเริ่มต้นจากความรัก ทำให้ห้องพักที่นี่ถูกออกแบบให้อยู่สบาย โปร่ง โล่ง มีระเบียงกว้าง เหมาะกับการพักผ่อน นั่งเล่นรับลมชมวิว เพราะคิดว่าเวลาพักผ่อน เราอยากนอนจริง ๆ จึงเลือกใช้ของที่ดี ส่วนห้องน้ำก็ต้องทำให้รู้สึกผ่อนคลายจากการทำกิจกรรมมาทั้งวัน ทุกอย่างจึงถูกออกแบบและคัดสรรมาเป็นอย่างดี


“ผมอยากให้ โกโก้ วัลเล่ย์ รีสอร์ท เป็นที่ชาร์จแบตสำหรับคนที่เหนื่อยจากการทำงาน หรือต้องการหลบหนีความวุ่นวายในเมืองเพื่อมาหาความสงบ ได้เห็นวิวภูเขา ต้นไม้ และธรรมชาติ เห็นวิถีชีวิตของคนในอำเภอปัว ที่สำคัญ คือเราอยากเชิญชวนให้คนที่รักช็อกโกแลต รักโกโก้ ได้มาเรียนรู้ว่าต้นจริงเป็นอย่างไร วิธีแปรรูปทำแบบไหน แล้วรสชาติของช็อกโกแลตจริง ๆ ที่ไม่ใช่ตามท้องตลาด รสชาติเป็นอย่างไร เพราะเราจะใช้ช็อกโกแลตแท้ 100% ปลูกแบบอินทรีย์ ปลอดสารเคมี ผลิตและแปรรูปที่ปัว ส่วนสูตรจะคิดขึ้นมาใหม่ทั้งหมด อยากให้ทุกคนได้มาสัมผัสทั้งรสชาติและบรรยากาศที่สงบและเรียบง่าย สไตล์ รีสอร์ทคนรักโกโก้ แห่งนี้”




โกโก้ วัลเล่ย์ มุ่งสู่ธุรกิจสีเขียวอย่างยั่งยืน


การทำธุรกิจของ คุณมนูญ ในวันนี้ คือการสร้างกิจกรรมทั้งห่วงโซ่คุณค่าของผลิตภัณฑ์แปรรูปทุกอย่างให้เป็นออร์แกนิก ที่ค่อยคิด ค่อยทำ จนปัจจุบัน โกโก้ วัลเล่ย์ สามารถต่อยอดธุรกิจจนเติบโตอย่างครบวงจร ประกอบด้วยธุรกิจ 4 ส่วนด้วยกัน ได้แก่




1. Cocoa Farm สวนโกโก้อินทรีย์ที่ได้มาตรฐานอินทรีย์วิถีไทย (Earth Safe Standard) เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นักท่องเที่ยวสามารถเดินชมสวนและลองชิมผลโกโก้สด พร้อมเรียนรู้เรื่องโกโก้ได้ตลอดทั้งปี




2. Workshop Chocolate คือกิจกรรมเรียนรู้การแปรรูปโกโก้เบื้องต้น ฝึกการฝัดโกโก้แยกเปลือกและเนื้อโกโก้กับชาวบ้าน การทำช็อกโกแลตจากการออกแบบด้วยตัวเอง เป็นช็อกโกแลตที่มีชิ้นเดียวในโลก รวมถึงกิจกรรมย้อมผ้าจากเปลือกโกโก้ ซึ่งที่นี่คิดค้นได้เป็นแห่งแรก นักท่องเที่ยวจะได้ผ้ามัดย้อมสีโกโก้ผืนเดียวในโลกจากฝีมือตัวเองเช่นกัน พร้อมนำช็อกโกแลตผ้ามัดย้อมสีโกโก้ฝีมือตัวเองกลับไปอวดคนที่บ้านได้ด้วย อีกทั้งยังได้เยี่ยมชมวิธีการทอผ้าแบบไทลื้ออีกด้วย


ที่ผ่านมา โกโก้ วัลเล่ย์ ได้มีการให้ความรู้กับเกษตรกร ไปจนถึงชาวเขาอย่างต่อเนื่อง และยังมีการอบรมการทำผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น สอนการทำสบู่ นอกจากนี้ ทางผู้ประกอบการยังเล็งเห็นความสำคัญของ CSR และได้ร่วมมือกับภาคี หรือภาคส่วนอื่น เช่น โครงการรักษ์ป่าน่าน และมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เป็นต้น




3. Chocolate Cafe เมื่อครบ 3 ปี ที่เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ คุณมนูญ จะนำผลผลิตที่ได้จากสวนโกโก้ที่เขาภาคภูมิใจ ไปทำเครื่องดื่มและขนมในเมนูเฉพาะของตัวเอง มีการแปรรูปเป็นช็อกโกแลตแท้ วางขายในคาเฟ่ ซึ่งได้ผลตอบรับที่ดี เพราะโกโก้ของเขามีรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ เป็นสูตรที่คิดค้นขึ้นมาเฉพาะของทางร้าน ส่วนสวนโกโก้กลายเป็นสถานที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาเยี่ยมชมและเก็บภาพเป็นที่ระลึก




4. Resort ที่พักสไตล์บูทีค ทิวทัศน์เขียวขจีของยอดไม้และทิวดอยภูคา ที่ถูกยกให้เป็นหนึ่งในปอดของประเทศไทยที่น่าไปเยี่ยมชม นักท่องเที่ยวที่มาเยือน โกโก้ วัลเล่ย์ จึงไม่ใช่แค่เที่ยวชมสวนเท่านั้น แต่ได้ทั้งการพักผ่อนที่มีคุณภาพ ความสนุกสนานในการได้ทำสิ่งแปลกใหม่ และการเรียนรู้วิถีชีวิตในชุมชนไปพร้อมกันด้วย




สะท้อนให้เห็นว่า โกโก้ วัลเล่ย์ แห่งนี้ เป็นบทพิสูจน์ความสำเร็จได้อย่างชัดเจน ว่าการทำการเกษตรโดยไม่ลืมที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลคนในชุมชนนั้น ไม่เพียงแค่จะทำให้คุณภาพชีวิตของพวกเขาดีขึ้น แต่ยิ่งส่งผลให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง ก่อให้เกิดความภาคภูมิใจในท้องถิ่นบ้านเกิดด้วย

คำตอบของชีวิตที่ชายคนหนึ่งตามหามานาน วันนี้ เขาได้ค้นพบคำตอบและลงมือทำจนประสบความสำเร็จเรียบร้อยแล้ว


หากใครมีโอกาสไปเที่ยวจังหวัดน่าน ต้องหาเวลาแวะที่ “โกโก้ วัลเล่ย์” อำเภอปัว เพื่อดูการพัฒนาตามวิถีเกษตรอุตสาหกรรม ทั้งหมดที่เขาทำ เกิดจากความรักที่มีต่อชุมชน ต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทย และที่สำคัญอยากเห็นบ้านเกิดเป็นชุมชนที่มีความยั่งยืนต่อไปในอนาคต


ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมที่:

https://www.facebook.com/cocoavalleyresort/?locale=th_TH

https://www.facebook.com/cocoavalleyresort




Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

ชูนวัตกรรม ขับเคลื่อน-ยกระดับ อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไม้สู่ความยั่งยืน ด้วย Automation กลยุทธ์สู่ Smart Factory ระดับรางวัล The Prime Minister's Industry Award 2023 ของ 'ศรีวัฒนา วู้ดดิ้ง อินดัสทรีส์'

ชูนวัตกรรม ขับเคลื่อน-ยกระดับ อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไม้สู่ความยั่งยืน ด้วย Automation กลยุทธ์สู่ Smart Factory ระดับรางวัล The Prime Minister's Industry Award 2023 ของ 'ศรีวัฒนา วู้ดดิ้ง อินดัสทรีส์'

การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วจากการรุกคืบของเทคโนโลยีใหม่ ๆ เกิดขึ้นอยู่เสมอ และส่งผลให้ผู้บริโภคมีความต้องการที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา นำมาสู่การพัฒนา…
pin
426 | 30/04/2024
Business Model ธุรกิจจำหน่ายอุปกรณ์ไฟฟ้า ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และ โซล่าร์เซลล์มุ่งเน้นสร้าง "ธุรกิจยั่งยืน" ทำกำไร พร้อมสนับสนุนชุมชน-สังคม-สิ่งแวดล้อม

Business Model ธุรกิจจำหน่ายอุปกรณ์ไฟฟ้า ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และ โซล่าร์เซลล์มุ่งเน้นสร้าง "ธุรกิจยั่งยืน" ทำกำไร พร้อมสนับสนุนชุมชน-สังคม-สิ่งแวดล้อม

ภาพรวมตลาดสินค้า อะไหล่ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์ไฟฟ้าและโซล่าร์เซลล์มีแนวโน้มเติบโตสูง คาดการณ์ว่าจะเติบโตเฉลี่ย 10% ต่อปี จากปี 2566…
pin
402 | 29/04/2024
‘LED Farm’ โรงงานผลิตพืชด้วยหลอดไฟ ฟาร์มผักพันธุ์ใหม่ เอาใจคนรักสุขภาพยุคดิจิทัล

‘LED Farm’ โรงงานผลิตพืชด้วยหลอดไฟ ฟาร์มผักพันธุ์ใหม่ เอาใจคนรักสุขภาพยุคดิจิทัล

จากธุรกิจผลิตหลอดไฟ LED ต่อยอดสู่การพัฒนาด้านการผลิตอาหารและนวัตกรรมการแปรรูปสินค้าเกษตรออร์แกนิก แบรนด์ ‘แอลอีดี ฟาร์ม’ (LED Farm) ที่มุ่งสร้างมาตรฐานสินค้าเกษตรคุณภาพ…
pin
735 | 25/04/2024
หันหลังให้เมืองใหญ่ มุ่งหน้าสู่บ้านเกิด ทำ 'สวนโกโก้' ด้วยความรักและแรงบันดาลใจ สร้างงาน สร้างรายได้สู่ชุมชนยั่งยืน