กีฬาไม่เพียงดีต่อพัฒนาการด้านร่างกายของเด็กเท่านั้น
แต่ยังดีต่อจิตใจ ทั้งยังช่วยสอนทักษะสำคัญๆ ในชีวิตให้แก่เด็กได้ด้วย
พัฒนาการจากกีฬามีมากกว่าการเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ
ทางกายภาพ เพราะกีฬาช่วยให้เด็กเรียนรู้ที่จะรับมือกับช่วงเวลาแห่งความตกต่ำและสูงส่งในชีวิต
เด็กๆ ต้องเรียนรู้ว่าจะแพ้ยังไงให้เป็น การแพ้สอนให้เด็กก้าวข้ามความผิดหวัง
และรับมือกับประสบการณ์ไม่น่าพึงพอใจ
นอกจากนั้น การเล่นกีฬายังช่วยให้เด็กเรียนรู้ที่จะควบคุมอารมณ์ และแปลงความรู้สึกแง่ลบออกมาในทางบวก ทั้งยังช่วยให้เด็กๆ รู้จักอดทน
ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลค์ Facebook bangkokbanksme
ผลดีต่ออารมณ์และสังคม
กีฬามีผลดีต่ออารมณ์
เพราะกิจกรรมทางร่างกายกระตุ้นการหลั่งสารเคมีในสมองที่ทำให้เกิดความรู้สึกดีๆ
ดังนั้นการเล่นกีฬาเป็นประจำจึงทำให้เด็กอารมณ์ดีขึ้น
อีกทั้งยังมีการวิจัยที่สะท้อนถึงความเชื่อมโยงกันระหว่างการเล่นกีฬา
กับการที่เด็กเห็นคุณค่าในตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนจากทีม
คำพูดให้กำลังใจจากโค้ช และการเล่นอย่างสุดฝีมือ ล้วนช่วยให้เด็กรู้สึกดีกับตัวเอง
การเล่นเป็นทีมช่วยให้เด็กพัฒนาทักษะมากมายทางสังคมเช่นกัน
เพราะสอนให้เด็กรู้จักร่วมมือ เห็นแก่ตัวน้อยลง ฟังเด็กคนอื่น
และช่วยให้รู้จักเพื่อนใหม่ๆ นอกเหนือจากเพื่อนที่โรงเรียน
สิ่งสำคัญในการเล่นเป็นทีม
คือการยอมรับระเบียบวินัย เพราะการเล่นกีฬาหมายความว่าเด็กต้องทำตามกฎ
ยอมรับการตัดสินใจของผู้อื่น และเข้าใจว่าอาจถูกลงโทษหากแสดงพฤติกรรมไม่ดีออกมา
ทั้งยังสอนให้รู้จักฟังคำสั่งจากโค้ช กรรมการ และผู้ใหญ่คนอื่นๆ นอกจากนั้น
ยังสอนเกี่ยวกับทีมเวิร์กด้วย ซึ่งสิ่งนี้จะมีประโยชน์มากเมื่อเด็กโตขึ้น
เพราะจะสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ดี และรู้จักหน้าที่ของตัวเองว่า “เล่น”ในส่วนไหน
พ่อแม่มีบทบาทสำคัญ
หากอยากให้ลูกสนใจและชอบเล่นกีฬา พ่อแม่ต้องสร้างประสบการณ์ดีๆ ให้แก่ลูก ด้วยการเน้นที่ความสนุก หรือการได้เคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา แทนที่จะเน้นที่การแพ้-ชนะเพียงอย่างเดียว พ่อแม่สามารถสร้างทัศนคติแง่บวกให้แก่ลูกได้ด้วยการเอ่ยปากชมทีมนักกีฬาแม้ในกรณีที่แข่งไม่ชนะ โดยอธิบายให้ลูกฟังว่าสิ่งสำคัญอยู่ที่ความพยายามทำให้ดีที่สุด
ยิมนาสติกกับความเชื่อมั่น
การสนับสนุนให้ลูกชื่นชอบกีฬา
เป็นสิ่งที่ปลูกฝังได้ตั้งแต่ยังเด็ก รวมถึงเด็กก่อนวัยเรียน
ซึ่งดูมีพลังงานเหลือเฟือในการเล่นซน กีฬาสนุกๆ ที่เหมาะกับเด็กวัยนี้ มีตั้งแต่
ยิมนาสติก ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน ไปจนถึงคาราเต้
ซึ่งทักษะพื้นฐานของกีฬาเหล่านี้ไม่ได้ซับซ้อนเหมือนกีฬาประเภทอื่น
แต่ขณะเดียวกันก็สามารถสอนให้เด็กรู้จักการควบคุมตัวเอง
เรียนรู้จังหวะการเคลื่อนไหว และมั่นใจในร่างกายของตนเอง
ซึ่งเด็กที่มั่นใจในร่างกายของตัวเองจะเริ่มมีความมั่นใจในการเข้าสังคมด้วย
นอกจากนั้น ศิลปะการป้องกันตัวอย่างคาราเต้ ยังสอนให้เด็กรู้จักเคารพผู้อื่น เริ่มจากการโค้งคำนับฝ่ายตรงข้าม
ฟุตบอลกับทักษะการสื่อสาร
เด็กหรือวัยรุ่นสมัยนี้อาจคิดว่าเพื่อนที่ดีที่สุดของพวกเขาอยู่ในโลกโซเชียล
และพออยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง นักรบคีย์บอร์ดก็ไม่ค่อยพูดค่อยจากับใคร
หากอยากเติมเต็มจุดอ่อนของลูกด้านการสื่อสาร
พ่อแม่อาจสนับสนุนให้ลูกเล่นกีฬาที่เป็นทีม อย่างฟุตบอล รักบี้ บาสเกตบอล
วอลเลย์บอล เพราะในการทำหน้าที่สมาชิกที่ดีในทีม
ลูกต้องเกี่ยวพันกับทุกคนในทีมรวมถึงโค้ช ทั้งยังต้องเรียนรู้เทคนิควิธีการเล่น
และการสื่อสารกับเพื่อนร่วมทีมเพื่อจะได้รู้ทางหรือเล่นเข้าขากัน
ในทีมที่ประสบความสำเร็จนั้น
ผู้เล่นจะพูดคุยหรือสื่อสารกันตลอดเวลาว่าตอนนี้อยู่จุดไหนและควรไปให้ถึงจุดไหน
นั่นคือการมองว่าปัญหาอยู่ตรงไหน และจะแก้ไขข้อผิดพลาดอย่างไร
นอกจากนั้น
ลูกยังสามารถเรียนรู้ที่จะสื่อสารกับคนทั่วไป อย่างเจ้าหน้าที่ คนดู
หรือกองเชียร์อีกด้วย
หากลูกฝีเท้าหรือฝีมือดี ก็อาจได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าทีม ซึ่งจะเป็นสนามอย่างดีสำหรับเรียนรู้ทักษะความเป็นผู้นำ และทักษะการสร้างทีม นอกเหนือจากทักษะการสื่อสาร ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ทั้งตอนอยู่ในโรงเรียน หรือตอนเรียนจบมีงานทำ ไปจนถึงตอนติดต่อสัมพันธ์กับผู้อื่น
เทนนิสกับสมาธิ-ความบากบั่น
บรรดานักเทนนิสฝีมือดี
น่าจะเป็นนักกีฬาที่มีสมาธิและมีความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวอันดับต้นๆ ของโลก
เพราะพวกเขาไล่เก็บไปทีละแต้ม
จนกระทั่งสามารถพลิกกลับมาเอาชนะได้ในหลายแมทช์ทั้งที่แพ้ไปแล้วหลายเซ็ต
ขณะที่ถ้าเป็นคนทั่วไปคงยกธงขาวและเก็บของกลับบ้านไปนานแล้ว
นอกจากมีสมาธิกับการเล่นและมีความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าแล้ว
พวกเขายังมองภาพในมุมกว้าง คือมองภาพรวมด้วย
นั่นคือคำนึงถึงผลลัพธ์ของการแข่งขันอยู่ตลอดเวลา
การจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ทำตรงหน้า การค่อยๆ เก็บ ค่อยๆ ทำไปอย่างไม่ลดละ พร้อมกับไม่ลืมเป้าหมายระยะยาว ถือเป็นทักษะล้ำค่าสำหรับเด็กสมัยนี้ ซึ่งอาจจดจ่อกับอะไรไม่ได้นาน หรือบางครั้งทำสิ่งที่อยู่ตรงหน้ายังไม่เสร็จ ก็หันไปหยิบจับอย่างอื่นแล้ว ดังนั้นหากอยากให้ลูกมีสมาธิกับสิ่งที่กำลังทำ และไม่ล้มเลิกความพยายามอะไรง่ายๆ เทนนิสเป็นกีฬาที่น่าสนใจทีเดียว
ชกมวยกับการรับมือความขัดแย้ง
กีฬาที่มีการตะลุมบอนอย่างรักบี้หรือชกมวย
เป็นกีฬาที่แฝงบทเรียนเช่นกัน
บ่อยครั้งที่คนดูคิดอยู่ในใจว่านักกีฬารักบี้ยังเป็นเพื่อนกันอยู่ได้ยังไง
หลังจากแมทช์การเล่นที่พยายามดันกันไปมาจนไหล่แทบหลุดเพื่อให้ได้ชัยชนะ
แล้วทำไมนักมวยยังสวมกอดกัน หลังจากเพิ่งตะลุมบอนคลุกวงในและชกหน้ากันอยู่ร่วมครึ่งชั่วโมง
คำตอบคือ
เพราะทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของกีฬา
และนักกีฬาก็ทราบดีว่าไม่ได้มีเรื่องส่วนตัวเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยเลย
พวกเขาทราบดีว่าฝ่ายตรงข้ามแค่กำลังทำหน้าที่ของตัวเอง
แม้จะทิ้งรอยฟกช้ำไว้ให้อีกฝ่ายดูต่างหน้าบ้าง นอกจากนั้น
พวกเขายังสามารถเป็นเพื่อนกันได้หลังการตะลุมบอนอย่างดุเดือดในสนามและบนสังเวียน
นักกีฬาอย่างนักมวยยังต้องชำนาญเรื่องการควบคุมอารมณ์ด้วย
เพราะอารมณ์ที่รุนแรง อย่างความโกรธ จะทำให้เสียสมาธิได้ง่าย
ดังนั้น
หากอยากปูพื้นฐานให้ลูกรู้จักรับมือกับความขัดแย้ง หรือความเห็นต่าง
โดยไม่ฟูมฟายโวยวาย หรือเก็บมาคิดมาก ก็อาจพิจารณากีฬาอย่างรักบี้ หรือชกมวยก็ได้
รวมถึงในกรณีที่อยากเพิ่มความสนอกสนใจของลูกตอนอยู่ในห้องเรียน
เพราะการชกมวยเป็นกีฬาที่ต้องใช้ความแข็งแกร่งทั้งร่างกายและจิตใจ
ซึ่งเด็กที่ร่างกายแอคทีฟ จะมีความตื่นตัวและจดจ่ออยู่กับสิ่งเฉพาะหน้าได้ดี
หากวิตกว่าลูกจะถูกต่อยหน้าตาฟกช้ำ
ก็สามารถปรึกษากับโค้ชได้ เพราะส่วนใหญ่การฝึกซ้อมเบื้องต้นสำหรับเด็ก
เน้นที่การฝึกร่างกายอย่างกระโดดเชือก วิ่ง ชกกระสอบทราย
ข้อดีของกีฬามีมากมายหลายอย่าง และสามารถนำข้อคิดจากการเล่นกีฬา มาปรับใช้ได้กับแทบทุกวัย รวมถึงเด็กๆ เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว คุณพ่อคุณแม่อย่ารอช้า รีบชวนลูกๆ ไปเล่นกีฬากันเถอะ