เทคโนโลยีด้านบริการทางการแพทย์นับเป็นกลุ่มหนึ่งที่มีแนวโน้มการเติบโตอย่างมาก
ท่ามกลางการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ประเด็นที่น่าจับตาคือ
ทุกวันนี้คนเราใช้บริการปรึกษาแพทย์ผ่านช่องทางออนไลน์แพลตฟอร์มต่างๆ เพิ่มมากขึ้น
ยืนยันผลสำรวจของ Global Market Insights ชี้ให้เห็นว่า มูลค่าตลาดโลกในส่วนของการใช้บริการปรึกษาแพทย์แบบ Real-time และมีมูลค่า 38.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี
2562
ปัจจุบันเราเรียกเทคโนโลยีที่ช่วยให้ผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์
สามารถพูดคุยตอบโต้กันได้แบบ Real-time เช่นเดียวกับการสื่อสารผ่านระบบ
video conference ว่า Telemedicine ซึ่ง Global Market
Insights ประมาณการณ์ว่าจะมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้นไปถึง 130.53
พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2568 โดยมีอัตราเติบโตเฉลี่ยถึงร้อยละ 19.2 ซึ่งนับว่าสูงมากทีเดียว
จากสถานการณ์ที่บุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อโควิด-19 จากคนไข้ ทำให้มีการเชื่อมโยงไปถึง Telemedicine ซึ่งเป็นการนําเทคโนโลยีที่ช่วยให้ผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ สามารถพูดคุยตอบโต้กันโดยที่คู่สนทนาสามารถมองเห็นหน้าและสนทนากันได้ทั้ง 2 ฝ่ายได้อย่างไร้ข้อจำกัดในเรื่องเวลาและสถานที่ ซึ่งแพทย์สามารถใช้ช่วยทำการรักษา วินิจฉัยโรค และให้คำปรึกษาจากทางไกลได้ โดยการให้บริการจะใช้วิธีการผ่านเครือข่ายสัญญาณอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และผ่านระบบ Video Conference ที่มีประสิทธิภาพสูง รวมถึงการใช้สื่อมัลติมีเดีย เช่น รูปถ่าย ดิจิตอลและวีดีโอ นําไปสู่การสร้างแอปพลิเคชั่นใหม่ให้บริการทางการแพทย์
ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme
Telemedicine แบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลัก ตามลักษณะการรับ-ส่งข้อมูล
1. การรับและส่งต่อข้อมูลด้านการแพทย์
เช่น ภาพเอกซเรย์ ผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ ภาพถ่าย หรือคลิปวิดีโอ
รวมถึงข้อมูลประวัติผู้ป่วยจากเวชระเบียนไปให้แพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ เพื่อการวินิจฉัยโรคและวางแผนการรักษา
การใช้บริการประเภทนี้จะเป็นการส่งข้อมูลผ่านทาง e-mail
วิธีนี้นิยมใช้เพื่อปรึกษาขอการวินิจฉัยโรค
หรือให้คําแนะนําการรักษาเกี่ยวกับโรค
2. การติดตามการรักษาผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่อยู่ห่างไกลจากโรงพยาบาล
เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน หอบหืด เป็นต้น
3. การพูดคุยโต้ตอบกันได้ทันทีแบบ Real Time ระหว่างผู้ป่วย และแพทย์
หรือบุคลากรทางการแพทย์ โดยการนําเทคโนโลยีเข้ามาช่วย เช่น
การพูดคุยผ่านทางโทรศัพท์ หรือการสื่อสารผ่านระบบ video conference ที่สามารถเห็นหน้าคู่สนทนาทั้งสองฝ่ายได้
วิธีนี้ช่วยให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่อยู่โรงพยาบาลอื่นสามารถมาซักประวัติผู้ป่วย
สั่งตรวจร่างกาย และประเมินสภาวะทางจิตใจของผู้ป่วยจากโรงพยาบาลที่ขอปรึกษาได้
โดยมีแพทย์ที่ขอปรึกษาจากโรงพยาบาลนั้นอยู่กับผู้ป่วยด้วย
เพื่อช่วยในการตรวจร่างกายตามคําแนะนําของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
สำหรับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในยุคปัจจุบัน
มีหลายประเทศที่มีการพัฒนาอุตสาหกรรม Telemedicine โดยการรวมเทคโนโลยี AI เข้ากับ Big Data ซึ่งใช้ในการรับมือการระบาดไวรัสโควิด-19
สะท้อนความต้องการการบริการทางการแพทย์ยุคใหม่ โดยเทคโนโลยี Telemedicine ระบบแพทย์ทางไกล สามารถช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ
ลดค่าใช้จ่ายการรักษา และผู้ป่วยสามารถเข้าถึงแพทย์ได้อย่างทันท่วงที
สำหรับในประเทศไทย Telemedicine ยังไม่ค่อยเป็นที่แพร่หลายนัก เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีที่มีต้นทุนค่อนข้างสูงและยังมีการใช้ไม่มาก
แต่ก็มีความพยายามที่จะดำเนินการเป็นโครงการต้นแบบ
เพื่อนำเทคโนโลยีนี้เข้าไปช่วยในพื้นที่ห่างไกลที่ด้อยโอกาสทางการแพทย์ ซึ่งอาจจะเหมาะกับโรคที่ใช้คำปรึกษาเยียวยา
(Saliva Therapy) มากกว่า
รวมทั้งในข้อกฎหมายในการใช้งาน Telemedicine
ที่ปัจจุบันแพทยสภาได้มีการแต่งตั้งอนุกรรมการพิจารณาแนวทางการใช้สื่อสารสนเทศทางการแพทย์ของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม
โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อทำให้มีความปลอดภัยและเกิดประโยชน์สูงสุดกับแพทย์
บุคลากรทางการแพทย์ และผู้รับบริการหรือผู้ป่วย
แต่เนื่องจากมีประเด็นที่ต้องพิจารณาหลากหลาย
และมีหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องหลายหน่วยงานทำให้ต้องใช้เวลาในการพิจารณาเพื่อความรอบคอบ
ดังนั้นในระหว่างที่แพทยสภากำลังจัดทำคู่มือและแนวทางการให้คำปรึกษาทางไกล
รวมถึงปรับปรุงกฏหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง
จึงขอให้แพทย์ทุกท่านที่สนใจเข้าร่วมโครงการให้คำปรึกษาทางไกลต่างๆ
โปรดใช้วิจารณญาณด้วยความรอบคอบ
กระนั้นในปัจจุบันได้มีแอปพลิเคชันและแพลตฟอร์มที่ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์โดยตรงมากขึ้น
สำหรับในประเทศไทย มีแอพพลิเคชั่น Telemedicine อาทิ
Raksa-ป่วยทัก รักษา
Samitivej Virtual Hospital
Chiiwii LIVE
See Doctor Now
หมอรู้จักคุณ-PATIENT
U Care
Telemedicine กับโรงพยาบาลในไทยในปัจจุบันมีการพัฒนาทางด้านการสื่อสารไปอย่างก้าวกระโดด
นั่น หมายความว่า ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหนก็ตามบนโลกใบนี้ ถ้าสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตคุณก็จะสามารถเข้าถึงแพทย์ที่มีความชํานาญได้เช่นกันไปกับ
Telemedicine
แหล่งอ้างอิง : https://healthmeth.wordpress.com