สถานการณ์บ้านเมืองวุ่นวายจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 กระทบหลายภาคส่วน โดยเฉพาะภาคส่วนธุรกิจแรงงาน
การให้บริการต่างๆ ที่ไม่ใช่ระบบราชการล้วนได้รับผลกระทบทุกหย่อมหญ้า
บางธุรกิจปรับตัวได้เร็วก็สามารถพลิกเปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาส ทำให้ไปต่อได้ในวันที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว
เศรษฐกิจไทยหยุดชะงัก
ธุรกิจที่เติบโตและดำเนินกิจการมานานดูจะได้รับผลกระทบมากที่สุด
สำหรับธุรกิจที่เพิ่งเริ่มต้นได้ไม่นาน แล้วต้องมาเจอกับวิกฤติการณ์ไวรัสโควิด-19 กลับกลายเป็นกลุ่มที่ปรับตัวได้ดีที่สุด เนื่องจากเพิ่งเป็นการเริ่มต้นระบบ ระเบียบ โครงสร้างต่างๆ ยังไม่ได้หยั่งรากลึก กิจการที่ดำเนินการอยู่จึงมีความยืดหยุ่นกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ แต่ถึงอย่างนั้นก็สร้างความหวาดกังวลได้มากกว่า เพราะเพิ่งเป็นการเริ่มต้นได้ไม่นานก็เผชิญกับปัญหาในทันที บางคนเริ่มก่อตั้งธุรกิจจากเงินเก็บที่สะสมมาตลอดชีวิตการทำงาน เมื่อมาเจอเหตุการณ์ที่บ้านเมืองเงียบเหงา ผู้คนไม่ออกมาข้างนอกต่างต้องหาแนวทางปรับตัว เพื่อไปต่อและอยู่ให้รอดในสถานการณ์นี้
ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme
5 เทคนิคฝ่าวิกฤติ ให้อยู่รอด สำหรับผู้ประกอบการใหม่
1. ปรับทัศนคติ ตั้งสติสู้ เมื่อคนเราเจอกับสถานการณ์เลวร้ายหรือด้านแย่ที่กำลังเผชิญอยู่ จะติดคิดลบและเกิดความวิตกกังวลขึ้นมาในทันที ซึ่งไม่ดีแน่ถ้าไม่รีบดึงสติกลับมา คิดพลิกแก้สถานการณ์ปัจจุบัน พร้อมกับทำใจยอมรับกับสถานการณ์ที่ไม่สามารถควบคุมหรือเปลี่ยนแปลงอะไรได้
2. ระดมมันสมอง ประชุมทีมแก้สถานการณ์ หากธุรกิจที่เริ่มต้นมีหุ้นส่วนและทีมงาน การเรียกระดมพลังความคิดจากมันสมองสมาชิกในทีมเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม ไม่ว่าลูกทีมนั้นจะมีตำแหน่งแบบไหน ระดมกำลังกันมาให้ได้มากที่สุด เพราะบางครั้งบางทีความคิดดีๆ ก็มาจากบุคคลธรรมดาที่เรามองข้ามก็เป็นได้ นอกจากนี้ยังใช้โอกาสนี้แจ้งข่าวให้แก่สมาชิกทราบถึงนโยบายหรือการดำเนินงานในช่วงนี้ให้ทราบไปในตัวด้วย
3. พิจารณาหาทางไปต่อให้ธุรกิจจากฐานข้อมูลที่มี หากการเริ่มต้นธุรกิจที่ผ่านมาได้ทำแบบสำรวจเก็บฐานข้อมูลของลูกค้า หรือทำการวิจัยที่เกี่ยวกับสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่มี จัดว่ายังมีความโชคดีอยู่ที่อย่างน้อยก็สามารถนำข้อมูลมาคิดวิเคราะห์ต่อยอดเพื่อหาช่องทางต่อไป เช่น มีฐานรายชื่อลูกค้าเก่าๆ ในระบบสมาชิกที่ได้จากการออกร้านเดินสายจัดกิจกรรม ทำการตลาด หรือระบบสมาชิกก็ตาม ให้นำเอาฐานลูกค้าที่มีอยู่มาพิจารณา แล้วจัดโปรโมชั่น ทำตลาด เสนอขายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ช่วงนี้
4. ดึงออนไลน์เข้ามาช่วยรับออฟไลน์ หากธุรกิจที่เริ่มต้นลงทุนเป็นธุรกรรมในรูปแบบออฟไลน์ เช่น การเปิดร้านอาหาร ทำร้านต่างๆ ช่วงเวลาแบบนี้ย่อมได้รับผลกระทบ จากกฎข้อบังคับที่ใช้ในการควบคุมโรคในขณะนี้ การปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานแบบออฟไลน์ แล้วหันเข้ามารุกตลาดออนไลน์ ไปจนถึงการจัดส่งสินค้าและบริการถึงที่ จึงเป็นช่องทางเลือกที่จะทำให้รอดและไปได้ดีตลอดช่วงเวลานี้
5. เตรียมคิดแผนฟื้นฟูหลังสถานการณ์โควิดผ่านไป หากสุดท้ายแล้วไม่สามารถปรับทำสิ่งใดได้ นอกจากนั่งทำใจรับชะตากรรม ก็ให้ใช้เวลาว่างในช่วงนี้จัดการประชุม และวางแผนธุรกิจอย่างรัดกุมว่าหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 คลี่คลาย เหตุการณ์กลับคืนสู่ปกติสุขแล้ว จะปรับธุรกิจให้ตอบรับกับเวลาหลังจากนี้อย่างไร จะทำอะไรได้บ้าง ทั้งการทำแผนรุกตลาด การทำโปรโมชั่น ไปจนถึงออกผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องเหมาะสมในช่วงเวลาข้างหน้าอย่างไร รวมไปถึงจะเปิดสถานที่ใดในการทำงานแบบออฟไลน์ การใช้เวลาว่างคิดเตรียมการเป็นสิ่งที่พึงกระทำ หลังจากผ่านเหตุการณ์ไม่คาดคิดจากโรคระบาดในครั้งนี้ไปได้ ในเกมธุรกิจนั้นไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว จังหวะ โอกาส ปัญหา อุปสรรค ที่เจอในรายที่ทำธุรกิจเดียวกัน
อาจจะไม่เหมือนกัน หรือแม้แต่เจอปัญหาแบบเดียวกัน กับสถานการณ์เรื่องโรคระบาดโควิด-19 ครั้งนี้ก็ตาม ธุรกิจที่คิดพลิกสถานการณ์ไปจนถึงปรับตัวหาช่องทางได้ไวกว่าเท่านั้นที่จะอยู่รอดและได้ไปต่อ เพราะหลังจากผ่านวิกฤติไปได้ จะกลับกลายเป็นแกร่งมากขึ้นกว่าเดิม.