ในปี 2561 ประเทศไทยถูกรายงานว่าเป็นประเทศที่ทิ้งขยะสู่ท้องทะเลมากที่สุดเป็นอันดับ 6 ในเขตอาเซียน โดยกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
รายงานอ้างผลการสำรวจของ เจนนา อาร์. แจมเบ็ก
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยจอร์เจียของสหรัฐ ไว้ว่า
จีน ปล่อยขยะพลาสติกลงมหาสมุทรมากที่สุด 8.82 ล้านตันต่อปี รองลงมาเป็น อินโดนีเซีย 3.22 ล้านตันต่อปี อันดับ 3 ฟิลิปปินส์ 1.88 ล้านตันต่อปี อันดับ 4 เวียดนาม 1.83 ล้านตันต่อปี อันดับ 5 ศรีลังกา 1.59 ล้านตันต่อปีและไทยเป็นอันดับ 6 มีการปล่อยขยะพลาสติกลงมหาสมุทร
1.03 ล้านตันต่อปี อันดับ 7
เป็นประเทศอียิปต์ 0.97 ล้านตันต่อปี
อันดับ 8 ประเทศมาเลเซีย 0.94 ล้านตันต่อปี
อันดับ 9 ประเทศไนจีเรีย 0.85 ล้านตันต่อปี
และอันดับ 10
เป็นประเทศบังกลาเทศ 0.79 ล้านตันต่อปี
โดยรวมแล้วเป็นขยะที่ถูกทิ้งจากประเทศอาเซียนลงสู่ท้องทะเลสูงถึง 32.57 ล้านตันต่อปี
ซึ่งจัดเป็นปริมาณมหาศาลและอาจนำมาซึ่งความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของสัตว์ทะเลได้มากมาย
จากรายงานดังกล่าว ทำให้ประเทศไทยและสมาชิกกลุ่มอาเซียนหารือกันในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 34 เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาขยะทางทะเลให้เห็นผลเป็นรูปธรรม ซึ่งประเทศไทยได้ตั้งเป้าไว้ว่าระหว่างปี 2561-2573 จะเลิกใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง และยกเลิกการนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ใหม่ 200% ภายในปี 2570 และภายในปีเดียวกันนี้ไทยตั้งเป้าว่าจะลดปริมาณขยะลงทะเลให้ได้ถึง 50% นี่จึงเป็นที่มาของการประกาศงดใช้ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งในประเทศไทย โดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563
ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme
การปรับตัวของคนไทยกับขยะพลาสติก
นับตั้งแต่ประกาศข้อบังคับใช้งดแจกจ่ายถุงพลาสติกในร้านค้าปลีกหลายแห่ง
พบว่า คนไทยให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี
มีการพกถุงผ้ามาและภาชนะอื่นมาช้อปปิ้งแทนการใช้ถุงพลาสติก ตามการรณรงค์ของห้างร้านที่ทำมาก่อนหน้าและกระแสนิยมที่กำลังมาแรง
แม้กระทั่งการซื้อขายสินค้าริมถนนและตลาดสดก็ร่วมงดแจกจ่ายถุงพลาสติกไปด้วย
ทำให้บรรจุภัณฑ์จากธรรมชาติได้รับการตอบรับดีจากผู้บริโภค
ตลอดจนมีผู้คนให้ความสนใจมากขึ้นด้วย
และเป็นไปได้อย่างมากว่าถุงพลาสติกหูหิ้วที่มีการใช้ในประเทศไทยมากถึง 4.5 หมื่นล้านใบต่อปี และเป็นขยะพลาสติกมากถึง 80 ล้านใบต่อวัน จะหายไปจากระบบการซื้อขายและท้องตลาดในปี 2573 ตามนโยบายของรัฐบาล
จากผลการสำรวจของ Kantar (คันทาร์)
ผู้นำด้านข้อมูลเชิงลึกและที่ปรึกษาการตลาดระดับโลก พบว่า ขยะพลาสติก
เป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่คนไทยตระหนักมากที่สุดเป็นอันดับ 1 สูงถึง 18%
มากกว่าค่าเฉลี่ยจากผลสำรวจประชากรทั่วโลก ซึ่งอยู่ที่ 15% ของผู้คนทั้งหมด โดย 63%
ของคนไทยมองว่าขยะพลาสติกเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมหลักติด 5 อันดับแรก ซึ่ง 1 ใน 3 ของคนไทยเชื่อว่าคนที่ควรรับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกคือ
‘ตัวเราเอง’ แสดงให้เห็นว่า
คนไทยตระหนักถึงปัญหาพลาสติกและอยากที่จะออกมาร่วมกันช่วยแก้ไขปัญหานี้
ซึ่งนับเป็นสัญญาณดีในการเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงโลก
ดังนั้น ถ้าถุงพลาสติกหูหิ้วหายไปจากระบบการซื้อขายของไทยปีละ 4.5 หมื่นล้านใบต่อปีจริงๆ
อะไรจะเป็นโอกาสเกิดขึ้นมาสวมบทบาทได้ดีแทนถุงพลาสติกเหล่านี้
ในสภาวะที่คนไทยตื่นตัวเรื่องขยะพลาสติกมากเป็นอันดับ 1 ของโลก ผู้ประกอบการควรต่อยอดธุรกิจอย่างไร? หรือแม้แต่ควรจะลงทุนอะไรในสถานการณ์แบบนี้
นี่เป็นโจทย์ที่ผู้ประกอบการต้องคิดนำหน้าคู่แข่งไป 1 ก้าว
เพราะเชื่อว่าคนไทยกว่าค่อนประเทศกำลังกังวลกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จนมองข้ามประเด็นนี้ไป ซึ่งในบทความนี้จะนำเสนอไอเดียการต่อยอดธุรกิจไว้ให้เป็นแนวทาง
ดังนี้
ไอเดียต่อยอดธุรกิจ ท่ามกลางกระแสคนไทยตื่นตัวเรื่องขยะพลาสติก
1. เปิดบริการขนส่งสินค้าสาธารณะ ไว้รองรับผู้ที่ไม่มีรถยนต์ส่วนตัว ปัญหาปกติของคนไม่มีรถยนต์ส่วนตัวเวลาไปช้อปปิ้งตามแหล่งค้าส่งต่างๆ
โดยเฉพาะแม่ค้า พ่อค้า ทั่วไปที่ต้องซื้อของมากกว่าคนปกติทั่วไปอยู่แล้ว
คือการหอบหิ้วข้าวของชิ้นใหญ่ หนัก และพะรุงพะรังออกไปเรียกรถแท็กซี่
ยิ่งไม่มีถุงพลาสติก การหอบหิ้วยิ่งเป็นไปอย่างลำบาก หากมีบริการรถสาธารณะแบบที่คนขับช่วยขนออกมาตั้งแต่หน้าประตูห้างไปใส่รถ
จนถึงหน้าประตูบ้านด้วย คงจะดีมิใช่น้อย
2. ปรับแพคเกจจิ้งให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ไปกันได้กับกระแสนิยมและสื่อให้เห็นว่าแบรนด์ก็มีความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม
ลดการใช้ถุงพลาสติกกับบรรจุภัณฑ์เช่นกัน แล้วแบรนด์จะได้ใจลูกค้า
โดยใช้บรรจุภัณฑ์ทำหน้าที่เป็นพรีเซนเตอร์พูดแทนเจ้าของแบรนด์
3. รับออกแบบบรรจุภัณฑ์แนว Eco ใส่ใจสิ่งแวดล้อม เมื่อตลาดกรีนมา
คนไทยก็ตื่นตัวเรื่องขยะพลาสติกและหันมาให้ความสนใจกับสินค้าในบรรจุภัณฑ์รักษ์โลก
ผู้ที่มีสินค้าอยู่จะปรับตัวหันไปเปลี่ยนแพ็กเกจจิ้งให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
เพื่อจับกลุ่มลูกค้ากลุ่มนี้กันมากขึ้น ดังนั้นธุรกิจออกแบบและรับผลิตบรรจุภัณฑ์แนว Eco คือสิ่งที่ต้องเกิดตัวตนให้ได้ในกระแสแบบนี้
4. ผุดถุงผ้า ถุงกระสอบ ถุงแฟชั่น ตะกร้า ภาชนะ หลากขนาด หลายดีไซน์ สิ่งเหล่านี้จะใช้แทนถุงพลาสติกที่กำลังจะหายไปจากระบบการซื้อขายของไทย
นี่จึงเป็นสิ่งที่ต่อไปผู้คนจะพกพาออกจากบ้านไปด้วยจนกลายเป็นความเคยชิน ดังนั้น
คุณสมบัติที่ควรใส่เพิ่มเติมเข้าไปคือ ความเหนียว ความทน ความจุ ความเบา และดีไซน์
เท่ห์เก๋ และความเป็นแฟชั่น ที่จะทำให้คนอยากพกติดตัวไปไหนมาไหนด้วยจนอาจใช้แทนกระเป๋าสะพายใบเดิมไปได้เลย
5. เกิดบริการรับจ้างช้อปปิ้ง วิ่งช้อปแทนคนสั่งซื้อ ในเมื่อมีเทรนด์วิ่งซื้ออาหารและนำส่งแทนการออกไปซื้อด้วยตนเองได้ เทรนด์รับจ้างชอปปิ้ง วิ่งชอปแทนคนซื้อก็ต้องเกิดขึ้นมาแน่ๆ ด้วยสถานการณ์ด้านการจราจรที่ติดขัด อากาศร้อน การเตรียมตัวออกจากบ้านแต่ละครั้งคือความวุ่นวาย ไหนเสื้อผ้า หน้าผม ต้องเป๊ะแล้วยังต้องเตรียมถุงผ้าหรือภาชนะไปใส่ข้าวของอีก ซึ่งในยุคนี้เป็นเทรนด์ของความขี้เกียจครองโลกเศรษฐกิจ ประกอบกับเทคโนโลยีมีความทันสมัยมากขึ้น การจะ VDO call ช้อปปิ้งผ่านแพลตฟอร์มที่รองรับจึงไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ แค่เพียงยังไม่มีใครเริ่มนำแค่นั้นเอง
ไม่ว่าเทรนด์ธุรกิจเหล่านี้จะมาหรือไม่
แต่การคิดอะไรที่ต่างออกไปตีโจทย์ทางการตลาดหรือกระแสให้ออก
และลงมือทำให้ไวก็เป็นสิ่งที่นักลงทุนหรือผู้ประกอบการไม่ควรมองข้าม
เพื่อหาลู่ทางโอกาสในการทำธุรกิจที่จะนำหน้าจนคู่แข่งตามไม่ทัน
ก็เป็นสิ่งสำคัญมิใช่หรือ.
แหล่งอ้างอิง :
https://www.bltbangkok.com/news/16089/
https://www.thansettakij.com/content/business/418080
https://www.bangkokbiznews.com/recommended/detail/1452