‘ไทยเอเซีย ไรซ์ โปรดักส์’ ผู้ผลิตเส้นก๋วยเตี๋ยวด้วยนวัตกรรม ไร้สารพิษเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
‘ก๋วยเตี๋ยว’ เป็นอาหารที่ผู้คนในประเทศแถบทวีปเอเชียคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทยที่หลงไหลในความอร่อยของเส้นก๋วยเตี๋ยวรูปแบบต่างๆ ที่สรรค์สร้างเป็นเมนูอาหารมากมาย แต่เส้นก๋วยเตี๋ยวก็มีข้อจำกัด ด้วยความที่เป็นผลผลิตที่แปรรูปจากข้าว ประกอบกับอากาศที่ร้อนชื้นของบ้านเราทำให้เส้นก๋วยเตี๋ยวเน่าเสียได้ง่าย จึงจำเป็นต้องใส่สารกันเสียเพื่อให้เก็บได้นานขึ้น คุณอรวรรณ ล้อบุณยารักษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยเอเซีย ไรซ์ โปรดักส์ จำกัด จึงนำนวัตกรรมการผลิตที่เป็น Know How ของตนเอง สร้างคุณภาพที่แตกต่าง พร้อมปั้นแบรนด์ ให้เป็นที่รู้จักในฐานะผู้ส่งออกเส้นก๋วยเตี๋ยวข้าวไทยรายใหญ่ของเมืองไทย
คุณอรวรรณ ล้อบุณยารักษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยเอเซีย ไรซ์ โปรดักส์ จำกัด
คุณอรวรรณ ย้อนความให้ฟังว่า ครอบครัวทำธุรกิจผลิตเส้นก๋วยเตี๋ยวมานานกว่า 40 ปี เป็นธุรกิจครอบครัวที่สานต่อจากรุ่นสู่รุ่น บุกเบิกโดยคุณพ่อจากโรงงานเล็กๆ ใน จ.แพร่ ผลิตเส้นก๋วยเตี๋ยวสดขายส่งในท้องถิ่นและจังหวัดใกล้เคียงในพื้นที่ภาคเหนือ ก่อนจะพัฒนาสู่การทำเส้นอบแห้ง ที่ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่ช่วยให้ธุรกิจครอบครัว (Family Business) เติบโตอย่างรวดเร็ว
แก้ Pain Point ด้วยนวัตกรรม
คุณอรวรรณ บอกว่า จุดอ่อนของก๋วยเตี๋ยวเส้นสดคือ ถ้าไม่รับประทานทันที ต้องใส่สารกันเสียเพื่อยืดอายุเส้นก๋วยเตี๋ยวให้อยู่ได้นานขึ้น ทำให้ช่องทางตลาดในอดีตจำกัดอยู่แค่พื้นที่ใกล้ๆ ในท้องถิ่นเท่านั้น คุณพ่อจึงคิดค้นเครื่องจักรด้วยกรรมวิธีการทำเส้นอบแห้งให้สามารถเก็บรักษาได้นานขึ้น โดยไม่ต้องพึ่งสารกันเสีย ซึ่งเป็น Know How ของบริษัทถือเป็นผู้ผลิตรายแรกๆ ของเมืองไทย ทำให้สามารถส่งไปขายได้ทั่วประเทศ รวมถึงยังรับจ้างผลิต (OEM) ให้บริษัทเทรดดิ้งเพื่อการส่งออกในหลายประเทศอีกด้วย
“ปกติแล้วเส้นก๋วยเตี๋ยวถ้าเป็นเส้นสดจะต้องใส่น้ำมันเพื่อไม่ให้เส้นติดกัน แต่ผลิตภัณฑ์ของเราตั้งใจทำเส้นก๋วยเตี๋ยวจากข้าว 100% ไร้น้ำมันดีต่อสุขภาพ คุณพ่อจึงมีแนวคิดออกแบบเครื่องจักรที่ทำให้ไม่มีน้ำมันมาเคลือบบนเส้นก๋วยเตี๋ยว จึงเก็บรักษาได้นานโดยไม่มีกลิ่นหืน เพราะกระบวนการผลิตจะไม่มีน้ำมันเข้ามาเกี่ยวข้องเลย จึงไม่เกิดอนุมูลอิสระที่เป็นสารก่อมะเร็ง และใช้ภาชนะที่เป็นไม้แทนสแตนเลสในการนึ่งเส้น จากนั้นนำไปอบในอุณหภูมิที่เหมาะสม จึงทำให้เส้นไม่ติดกัน สิ่งนี้ถือเป็น Key Product ของบริษัทเรา” คุณอรวรรณ กล่าวเสริม
ทำ Branding สร้างจุดขาย ขยายตลาด
ด้วยประสบการณ์ยาวนาน เป็นที่ยอมรับและเชื่อถือของลูกค้าซัพพลายเออร์ บริษัทผู้ผลิตเส้นก๋วยเตี๋ยวอบแห้งเพื่อส่งออกรายใหญ่ของไทย ยอดผลิตกว่า 1,000 ตันต่อเดือน ส่วนใหญ่เป็นลักษณะรับจ้างผลิต (OEM) ให้กับลูกค้ารายใหญ่ต่างๆ จึงไม่สามารถกำหนดตลาดได้เอง ดังนั้นเมื่อ คุณอรวรรณ ผู้เป็นหนึ่งในทายาทธุรกิจที่เข้ามารับช่วงต่อ เกิดแนวคิดที่จะต่อยอดธุรกิจด้วยการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ โดยการสร้างแบรนด์ของตนเอง และใส่นวัตกรรมเพื่อสร้างความแปลกใหม่ลงเส้นก๋วยเตี๋ยวอบแห้ง ภายใต้แบรนด์ ‘THAI Flavour’ ซึ่งรสชาติความอร่อยนั้น เส้นที่ผสมแป้งมันจะมีความเหนียว และมันมากกว่า ส่วนเส้นที่ทำจากข้าวล้วนๆ จะอ่อนนุ่ม เปรียบเหมือนกำลังกินข้าวสวยเลยทีเดียว
คุณอรวรรณ อธิบายถึงความโดดเด่นของเส้นก๋วยเตี๋ยวอบแห้งที่บริษัทพัฒนาขึ้นใหม่ ภายใต้แบรนด์ ‘THAI Flavour’ ว่า ทำมาจากข้าว 100% ในขณะที่เส้นก๋วยเตี๋ยวอบแห้งในท้องตลาดทั่วไป จะเป็นเส้นที่มีส่วนผสมของแป้งมันประมาณ 30% ข้อดีของเส้นทำจากข้าวล้วนๆ คือไร้น้ำมัน ช่วยให้เก็บรักษาในอุณหภูมิปกติได้นานกว่า 2 ปี ในขณะที่เส้นอบแห้งผสมแป้งมันอายุจะสั้นกว่ามาก
“ผลิตภัณฑ์เส้นก๋วยเตี๋ยวรูปแบบเส้นตรงคล้ายสปาเก็ตตี้ที่พัฒนาขึ้นนี้ ถือเป็นการปรับรูปโฉมใหม่ให้น่าสนใจ เพิ่มมูลค่าเส้นก๋วยเตี๋ยวสู่ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ตอบโจทย์ตามความต้องการของตลาดในปัจจุบัน อีกทั้งยังสะดวกต่อการบรรจุและลดพื้นที่จัดเรียงสินค้าในการขนส่งสินค้า นอกจากนี้บริษัทยังพัฒนาต่อยอดด้วยการคัดเลือกข้าวสายพันธุ์อื่นๆ เช่น ข้าวกล้อง ข้าวหอมนิล ที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง โดยเฉพาะสารต้านอนุมูลอิสระมาทำเป็นผลิตภัณฑ์เส้นก๋วยเตี๋ยวอบแห้งเส้นตรงใหม่ๆ รวมถึงเส้นก๋วยเตี๋ยวผสมผัก ที่เน้นเรื่องสุขภาพมากขึ้น”
ฉายภาพการตลาดและการส่งออก
คุณอรวรรณ กล่าวถึงภาพรวมว่า ตลาดในปัจจุบันมีการแข่งขันค่อนข้างสูง ซึ่งแต่ละเจ้าจะมีจุดเด่นของตัวเองแตกต่างกันไป ส่วนคู่แข่งจากต่างชาติคือ ผู้ผลิตประเทศเวียดนาม ซึ่งมีความชำนาญด้านการผลิตเส้นก๋วยเตี๋ยวสูง อีกทั้งมีข้อได้เปรียบด้านแรงงานถูกกว่า ดังนั้นแผนการตลาดของบริษัท จะเน้นเพิ่มสัดส่วนขายภายใต้แบรนด์ของตัวเอง และสร้างลักษณะพิเศษให้เส้นก๋วยเตี๋ยว เพื่อเพิ่มมูลค่า และการบริหารต้นทุนการผลิตทุกด้านให้มีประสิทธิภาพที่สุด
คุณอรวรรณ ยอมรับว่า การทำตลาดเส้นก๋วยเตี๋ยวอบแห้งในประเทศมีความยากกว่าการทำตลาดในต่างประเทศมาก เนื่องจากผู้บริโภคในประเทศส่วนใหญ่นิยมรับประทานก๋วยเตี๋ยวเส้นสดมากกว่า เนื่องจาก มีความสะดวก รวดเร็วในการนำมาบริโภค แต่ในต่างประเทศผู้บริโภคจะเน้นการจัดเก็บที่ยืดอายุการบริโภคได้ หรือในส่วนของร้านอาหารก็จะเก็บรักษาได้นานกว่าการใช้เส้นสด ทำให้สัดส่วนในการจำหน่ายเส้นก๋วยเตี๋ยว จึงเน้นส่งออกต่างประเทศเป็นหลัก
โดยสัดส่วนรายได้ของบริษัทขณะนี้ กว่า 90% มาจากรับจ้างผลิต (OEM) ให้กับลูกค้าที่กระจายอยู่ทั่วโลก เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และประเทศในยุโรป ในขณะที่การขายภายใต้แบรนด์ตัวเอง สัดส่วนประมาณ 10% กลุ่มลูกค้าหลักจะเป็นผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพ รวมถึงภัตตาคาร หรือร้านอาหารที่ต้องการเส้นที่มี Signature เฉพาะตัว และเน้นดูแลสุขภาพ
“จุดยืนของเราคือมุ่งยกระดับตัวเอง เพื่อต้องการเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตเส้น จากช่วงแรกที่เน้นเป็น OEM ต่อมาพัฒนาสู่การสร้างแบรนด์ของตัวเอง และพยายามใส่นวัตกรรม เพื่อเพิ่มมูลค่าเพื่อสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง” คุณอรวรรณ กล่าวถึงกลยุทธ์ตลาดของบริษัท
สร้างความยั่งยืนให้ธุรกิจ ด้วยแนวคิด ESG
กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยเอเซีย ไรซ์ โปรดักส์ จำกัด ฉายมุมมองเรื่องนี้ ขณะนี้มาตรการเก็บภาษีคาร์บอนสินค้าข้ามแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) เริ่มมีผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าไทย คาดว่าน่าเริ่มเห็นได้ชัดขึ้นนับจากนี้เป็นต้นไป โดยจะมีการคุมเข้มจากคู่ค้าในกระบวนการผลิตที่ต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม นั่นหมายความว่าใครไม่เริ่มปรับตัวนับจากนี้อาจประสบปัญหาการขายสินค้าไปยังต่างประเทศ หรือรับจ้างผลิตสินค้าให้กับคู่ค้าในต่างประเทศ
“การส่งออกไปตลาดยุโรปสิ่งสำคัญคือการผลิตสินค้าของบริษัท ต้องไม่ไปเบียดเบียนสังคมและสิ่งแวดล้อม เรื่องนี้ไม่ใช่มีแต่เฉพาะตลาดในประเทศยุโรปเท่านั้น แต่ตลาดสหรัฐอเมริกาก็เริ่มใช้กฎหมายข้อบังคับดังกล่าวในการพิจารณาเก็บภาษีคาร์บอน (Tax Border Carbon) นำเข้าสินค้าที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากต่างประเทศกันบ้างแล้ว” คุณอรวรรณ ขยายความ
เรื่องนี้จึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่บริษัท มุ่งมั่นทำมาอย่างต่อเนื่อง คือการดำเนินธุรกิจด้วยแนวคิด ESG โดยคำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน (Sustainability) เริ่มจากการรับซื้อข้าวจากเกษตรกรในพื้นที่ ประมาณเดือนละ 1,000 ตัน นอกจากนี้บริษัทยังมีการนำเทคโนโลยีก๊าซชีวภาพและเซลล์โซล่าเซลล์ รวมถึงการปลูกป่า มาช่วยในการลดปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยการนำของเสียที่เหลือจากกระบวนการผลิตคือน้ำแป้งวันละ 200,000 ลิตรมาผลิตเป็นก๊าซชีวภาพเพื่อแปรเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้าใช้ในโรงงานได้ถึง 2,100 กิโลวัตต์ต่อวัน ซึ่งทำให้บริษัทมีส่วนช่วยลดการใช้พลังงานฟอสซิลและยังทำให้ประหยัดค่าไฟฟ้าได้ถึงเดือนละกว่า 200,000 บาทเลยทีเดียว ที่สำคัญเป็นการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนได้เป็นอย่างดี
“สำหรับเป้าหมายการ ‘Go Green’ เพื่อความยั่งยืนในอนาคตในการทำธุรกิจในอนาคตเราจะปลูกป่าเพื่อดูดซับก๊าซคาร์บอนที่ปล่อยออกไปให้ได้มากกว่าการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนในกระบวนการผลิตของบริษัทซึ่งเทียบกับการปลูกป่า 1,300 ไร่ ซึ่งสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 1,235 Ton CO2e ต่อปี” คุณอรวรรณ กล่าวอย่างมุ่งมั่น
สะท้อนให้เห็นว่า การดำเนินธุรกิจยุคใหม่ต้องใส่ใจสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปด้วย การใช้แนวคิด ESG ในการดำเนินธุรกิจจึงเป็นแนวทางที่ทั่วโลกต้องปรับเปลี่ยนเพื่อการทำธุรกิจที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต ซึ่งถ้าธุรกิจใดไม่ปรับเปลี่ยนจะมีความยากลำบากในการดำเนินธุรกิจหรืออาจจะต้องชดเชยค่าปล่อยคาร์บอนให้กับธุรกิจที่ใช้พลังงานสะอาดซึ่งมีราคาสูงมาก อาจจะไม่คุ้มค่ากับกำไรที่ได้
รู้จัก ‘บริษัท ไทยเอเซีย ไรซ์ โปรดักส์ จำกัด’ เพิ่มเติมได้ที่