ปลาทูน่ากระป๋องของไทยถือว่าเป็นสินค้าส่งออกสำคัญอันดับ 1 ในตลาดโลก
โดยไทยสามารถครองส่วนแบ่งตลาดโลกสูงสุด 18.95% ของมูลค่าตลาดโลกรวม
11,827 ล้านเหรียญสหรัฐ
โดยเฉพาะการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ
ซึ่งเป็นตลาดหลักที่มีความนิยมบริโภคอย่างมาก ทำให้สินค้าปลาทูน่ากระป๋องของไทยครองส่วนแบ่งตลาด 50% ในตลาดสหรัฐฯ ตามข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองไมอามี
ประเทศสหรัฐอเมริกา
ด้วยเหตุที่ปลาทูน่ากระป๋องเป็นอาหารที่ให้โปรตีนสูงเทียบเท่าเนื้อไก่ รสชาติดีสามารถนำไปปรุงเป็นอาหารหลากหลายเมนู ทั้งยังมีราคาถูกและเก็บรักษาได้นานอีกด้วย
ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme
หากเจาะลึกลงไปที่ตลาดสหรัฐฯ จะพบว่า ปลาทูน่ากระป๋องเป็นสินค้าที่ผู้บริโภคชาวอเมริกันให้ความนิยมเป็นอันดับ 3 รองจากกุ้งและปลาแซลมอน โดยปกติชาวอเมริกันจะบริโภคปลาทูน่ากระป๋องเฉลี่ย 2.1 ปอนด์ต่อคนต่อปี แม้ว่าในปี 2563 จะประสบปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด แต่ยังนำเข้าสินค้ากลุ่มปลาทูน่าเพิ่มขึ้น 4.29% โดยเฉพาะปลาทูน่ากระป๋องเพิ่มขึ้นถึง 13.8%
แนวโน้มตลาดส่งออกทูน่าไปสหรัฐฯ ในปี 2564 น่าจะเติบโตได้ 3% จากปัจจัยที่สหรัฐฯ สามารถกระจายและแจกจ่ายวัคซีนได้ดีต่อเนื่อง ทั้งยังมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้ผู้บริโภคชาวอเมริกันมีกำลังซื้อมากขึ้น รวมถึงไปกลุ่มร้านอาหารและผู้ให้บริการอาหารในสหรัฐฯ ด้วย
โดยภาพรวมการนำเข้าสินค้าปลาทูน่าในช่วงเดือนมกราคม 2564 มีมูลค่า 132 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 20% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการนำเข้าปลาทูน่ากระป๋องมูลค่า 113 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 85% รองลงมาเป็นการนำเข้าปลาทูน่าแช่เย็นมูลค่า 15 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 11.93% และสินค้าปลาทูน่าแช่แข็งมูลค่า 3.75 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นสัดส่วน 2.85%
อย่างไรก็ตาม สินค้าปลาทูน่ากระป๋องของไทยจะต้องไปแข่งขันกับสินค้าจากประเทศคู่แข่งอื่น โดยไทยยังต้องเสียภาษีนำเข้าในอัตรา 4.9%-35% และยังต้องแข่งขันกับสินค้าที่ผลิตเองในสหรัฐฯ ซึ่งมีหลากหลายแบรนด์ จึงมีผู้ผลิตไทยบางรายที่เข้าไปลงทุนผลิตในสหรัฐฯ ช่วยทำให้แข่งขันได้ดีขึ้น
กฎเหล็กที่ผู้ส่งออกต้องเจอก่อนเข้าตลาดสหรัฐฯ
สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการจะส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ไปยังสหรัฐฯ นอกจากจะต้องทราบอัตราภาษีนำเข้าแล้ว ยังต้องศึกษากฎระเบียบขององค์การอาหารและยาสหรัฐฯ (U.S.FDA) ซึ่งจะมีข้อกำหนดเกี่ยวกับการส่งออกหลายด้าน เช่น ข้อกำหนดเกี่ยวกับมาตรฐานสินค้าปลาทูน่ากระป๋องสำหรับการบริโภค ที่จะระบุว่าต้องใช้ปลาชนิดใดผลิต ประเภทของเหลวที่บรรจุ ขนาดบรรจุภัณฑ์
ข้อกำหนดเกี่ยวกับการผลิตสินค้าอาหารกระป๋องสำหรับสินค้าอาหารที่ค่าความเป็นกรดต่ำ สำหรับอาหารที่ไม่ใช่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีความเป็นกรดสูง หรือค่า PH เกินระดับ 4.6 รวมถึงข้อกำหนดเกี่ยวกับฉลากสินค้าอาหาร ที่ต้องแสดงรายละเอียดของข้อมูล เช่น ขนาดการบริโภค พลังงานที่ได้รับ ปริมาณที่ควรบริโภคต่อวัน ปริมาณน้ำตาลที่เพิ่ม รวมถึงปริมาณวิตามิน เป็นต้น
ทั้งนี้เมื่อผ่านด่านการนำเข้าแล้ว สิ่งสำคัญต้องเลือกช่องทางจำหน่ายที่เหมาะสม ซึ่งเบื้องต้นตลาดปลาทูน่ากระป๋องในสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ 80% จะมีการจำหน่ายผ่านร้านซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านไฮเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ และร้านค้าปลีก รวมถึงต้องอาศัยความสัมพันธ์การค้าที่ยาวนานเพื่อเข้าสู่ตลาด ซึ่งผู้ประกอบการรายใหม่รายย่อยที่ต้องการเข้าสู่ตลาดนี้ อาจหันไปทำการตลาดเฉพาะกลุ่ม เฉพาะทาง เช่น กลุ่มสุขภาพ กลุ่มสินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน หรือทำการตลาดผ่านช่องทางออนไลน์
นอกจากนี้ผู้ประกอบการส่งออกยังต้องเตรียมแนวทางแก้ไขเพนพอยด์ต่างๆ ที่เป็นจุดอ่อน ทั้งปัญหาเรื่องการทำประมงผิดกฎหมาย ปัญหาการใช้แรงงานเถื่อนที่มักจะถูกนำมาใช้เป็นประเด็นโจมตีสินค้า ปัญหาต้นทุนการผลิต รวมถึงต้นทุนค่าระวางเรือ ซึ่งปรับตัวสูงขึ้นจากภาวะการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ เป็นต้น
หากผู้ประกอบการสามารถแก้ไข บริหารจัดการความเสี่ยงต่างๆ ได้ เชื่อมั่นได้ว่าตลาดส่งออกสหรัฐฯ ยังมีช่องว่างเปิดรับสินค้าจากไทยแน่นอน