The Big Blue | 4 ประโยชน์ของการบริหารองค์กรด้วยหลัก ESG
ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมานี้ เรื่อง ESG หรือ Environmental (สิ่งแวดล้อม) Social (สังคม) และ Governance (ธรรมาภิบาล) เป็นประเด็นสำคัญที่ผู้นำในแต่ละองค์กร และหน่วยงานกำกับดูแลอุตสาหกรรมทั่วโลกให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก
ESG คืออะไร?
ESG คือ กรอบแนวคิดที่ใช้ขับเคลื่อนองค์กร ให้เติบโตอย่างยั่งยืนและคำนึงถึงเรื่องจริยธรรม โดยมีประเด็นหลักๆ อยู่ 3 มิติ คือ
● Environmental (สิ่งแวดล้อม) หมายถึง การที่องค์กรคำนึงถึงผลกระทบ และความเสี่ยงทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกิจ
● Social (สังคม) หมายถึง การปฏิบัติต่อคนทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นพนักงาน ซัพพลายเออร์ ลูกค้า อย่างเป็นธรรม บริหารทรัพยากรบุคคลอย่างเท่าเทียม โดยคำนึงถึงสภาพแวดล้อมและสุขภาพของพนักงาน
● Governance (ธรรมาภิบาล) หมายถึง การที่องค์กรมีการดำเนินงานอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ มีการกำกับดูแลที่ดี และเป็นธรรมต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับองค์กร
ฟังดูแล้ว ESG เหมือนจะเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ เป็นสิ่งที่มีแต่บริษัทใหญ่ๆ เท่านั้นที่ต้องให้ความสำคัญ เนื่องจากบริษัทขนาดใหญ่มักจะมีโอกาสถูกตรวจสอบได้มากกว่า
อย่างไรก็ตาม ในฐานะที่ SMEs ก็เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และเป็นแหล่งสร้างงานให้แก่แรงงานจำนวนมาก SMEs ก็ควรที่จะต้องเริ่มทำความเข้าใจ และดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงหลัก ESG เพื่อการเติบโตในอนาคตที่ยั่งยืนเช่นกัน โดยเฉพาะในโลกธุรกิจทุกวันนี้ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ธุรกิจจำเป็นต้องหาทางปรับตัวให้สอดคล้องกับบริบทโลกธุรกิจยุคใหม่ ที่พยายามเน้นการเติบโตอย่างยั่งยืนมากขึ้น
ประโยชน์ของการบริหารองค์กรด้วยหลัก ESG
1. ลดต้นทุน
ถ้าพูดถึงการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมอาจดูไกลตัว แต่ถ้าลองพูดถึงการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ ง่ายๆ เช่น การที่ออฟฟิศของคุณเปลี่ยนมาใช้หลอดไฟที่ประหยัดพลังงานมากขึ้น แค่นั้นก็สามารถช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในทุกๆ เดือนได้แล้ว และยิ่งในยุคนี้ที่เกิดวิกฤติพลังงาน ส่งผลให้ราคาพลังงานพุ่งสูงในหลายประเทศ ไหนจะแนวโน้มที่กำแพงภาษีสินค้าพลังงานจะสูงขึ้น การที่ธุรกิจหันมาเริ่มควบคุมต้นทุนที่เกี่ยวกับพลังงานไว้แต่เนิ่นๆ ก็เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับอนาคตข้างหน้า
2. เพิ่มกำไร
รายงานฉบับล่าสุดของ International Finance Corporation พบว่ากำไรของบริษัท กับกิจกรรมเพื่อความยั่งยืนที่บริษัทได้ทำนั้นมีความเกี่ยวข้องกัน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือในอุตสาหกรรมการเกษตร, เทคโนโลยี, ไมโครไฟแนนซ์ และการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
สำหรับ SMEs กำไรที่มากขึ้นจากการลดต้นทุนลง รายได้เพิ่มขึ้น และผลิตภาพที่ดีขึ้น นั่นหมายถึง ความน่าเชื่อถือทางเครดิต (Credit worthiness) ที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับธุรกิจในการไปขอสินเชื่อในอนาคต
3. สร้างจุดขายที่เป็นเอกลักษณ์
งานวิจัยจาก Mastercard แสดงให้เห็นว่า กว่าครึ่งของผู้บริโภคเริ่มรู้สึกว่าควรตัดสินใจซื้อสินค้าที่คำนึงถึงความยั่งยืนมากขึ้น นั่นหมายถึงว่าเวลาที่ลูกค้าตัดสินใจจะบริโภคอะไรสักอย่าง ไม่ได้คิดถึงแต่ตัวเองเพียงอย่างเดียว แต่เริ่มตระหนักถึงผลกระทบต่อสังคมด้วย
ในฐานะเจ้าของธุรกิจ SMEs การปูพื้นฐานแนวคิดปรัชญาการดำเนินงานที่คำนึงถึงความยั่งยืนเป็นอันดับแรก และพูดถึงประโยชน์ของสินค้าหรือบริการต่อสิ่งแวดล้อม ก็จะช่วยให้คุณสามารถแย่งส่วนแบ่งจากกระเป๋าสตางค์ของลูกค้ามาได้มากขึ้น สามารถขยายฐานลูกค้า และดึงดูดซัพพลายเออร์ที่มีคุณภาพมากขึ้น
4. พนักงานมีความสุข
ใน 3 ตัวหลักของ ESG ตัว S มักจะเป็นตัวที่ถูกมองข้าม แต่ในบางประเทศ เช่น แอฟริกาใต้ ก็เริ่มมีการตระหนักรู้และตื่นตัวเรื่องความเป็นธรรมและความเท่าเทียมในสังคมมากขึ้น ดังนั้นการส่งเสริมวัฒนธรรมในที่ทำงานที่น่าอยู่ เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อการเติบโตทางธุรกิจในระยะยาว
วัฒนธรรมในที่ทำงานที่เอื้อต่อสุขภาพและความพึงพอใจในการทำงานของพนักงานนั้นมักจะส่งผลให้พนักงานมีอัตราการลาออกที่ลดลง ทำให้บริษัทสามารถลดต้นทุนในการไปสรรหาและฝึกอบรมพนักงานใหม่ลงเป็นอย่างมาก และท้ายที่สุด เมื่อทีมงานรู้สึกว่าได้รับการเห็นคุณค่า ก็จะทำงานออกมาได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ