เวียดนาม
ประเทศที่ถูกจับตามองว่าจะก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางของสตาร์ทอัพในอาเซียน
ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ Cento Venture กองทุนร่วมลงทุนในสิงคโปร์
ได้รายงานเกี่ยวกับสถานการณ์การลงทุนด้านเทคโนโลยีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี
2562 โดยระบุว่าในปี 2562 มีจำนวนเงินทุนไหลเข้าสู่บริษัทสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีในเวียดนามคิดเป็นร้อยละ
18 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ซึ่งมากกว่าการลงทุนด้านเดียวกันในสิงคโปร์ที่มีสัดส่วนร้อยละ 17 ของภูมิภาค
นอกจากนี้ในรายงานดังกล่าว ระบุถึงสถานการณ์การลงทุนด้านเทคโนโลยีในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี 2562 ว่าการลงทุนในบริษัทด้านเทคโนโลยีภายในภูมิภาคลดลงร้อยละ 36 เมื่อเทียบกับปี 2561 จาก 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็น 7.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่ดึงดูดนักลงทุนด้านเทคโนโลยีจำนวนมาก ถึงแม้มูลค่าการลงทุนจะลดลง
ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme
อย่างไรก็ตาม
ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 และสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ – จีน
มหานครทางเศรษฐกิจของเวียดนามอย่างนครโฮจิมินห์ยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่ง
โดยการพัฒนาเศรษฐกิจของนครโฮจิมินห์มีมูลค่าเป็น 1 ใน 4 ของ GDP ประเทศ มีการลงทุนกว่า 2.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วง 7 เดือนแรกของปี
2563 และยังมีโครงการลงทุนใหม่ที่มากที่สุดในประเทศกว่า 598 โครงการในปี 2563
จึงไม่น่าแปลกใจที่นครโฮจิมินห์จะครองตำแหน่งมหานครที่ดึงดูดการลงทุน FDI มากที่สุดในประเทศติดต่อกัน มาหลายปี
รัฐบาลเวียดนามไม่รอช้าและใช้โอกาสการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
ในการต่อยอดเพื่อผลักดันเขตนวัตกรรมเมืองอัจฉริยะรูปแบบใหม่ในพื้นที่ด้านตะวันออกของนคร
หรือที่รู้จักกันในนาม “Thu Duc City” เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในลักษณะเดียวกับ Silicon
Valley ในสหรัฐฯ รวมถึงการเป็นศูนย์กลางทางการเงินของภูมิภาคเช่นเดียวกับสิงคโปร์และฮ่องกง
“Thu Duc City” หรือ “เขตเมืองใหม่” ของเวียดนาม มีการผลักดันมาตั้งแต่ปี 2560
ผ่านการทุ่มงบลงทุนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
เพื่อดึงดูดนักพัฒนาอินเตอร์เน็ตและซอฟต์แวร์
มีการก่อสร้างอาคารสำนักงานของบริษัทเทคโนโลยีด้านการเงินราว 40 แห่ง โดย Thu
Duc City และมีพื้นที่รวม 211 ตารางกิโลเมตร มีประชากร 1 ล้านคน
หรือคิดเป็นร้อยละ 10 ของพื้นที่ของนคร และร้อยละ 10
ของประชากรทั้งหมดในนครโฮจิมินห์ ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่าเขต Thu Duc จะสร้างมูลค่า GRDP (Gross Regional Domestic Product) กว่าร้อยละ 30 ของนคร ดังนั้น Thu Duc City จึงมีนัยสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของเวียดนามเป็นอย่างมาก
นอกจากนี้ Thu Duc City ยังเป็นที่ตั้งโครงการและสถานที่สำคัญหลายแห่ง
อาทิ
(1) โครงการ Saigon High-Tech Park (SHTP) ในเขต 9
ที่ปัจจุบันมีการลงทุนในภาค IT และเทคโนโลยีมากถึง 156
โครงการ มีมูลค่าการลงทุนรวม 7.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และมูลค่าการส่งออก 1.4
หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 1 ใน 3 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของนครโฮจิมินห์
(2) มหาวิทยาลัยแห่งชาติเวียดนามสาขา
นครโฮจิมินห์ หรือ Vietnam National University (VNU) ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาที่ใหญ่ที่สุดของเวียดนาม
และเป็นมหาวิทยาลัยที่มีนักศึกษาในภาควิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากกว่า 15,000 คน
(3) เมืองใหม่ Thu Thiem ในเขต 2
ซึ่งผู้บริหารนครกำลังผลักดันให้เป็นศูนย์กลางการค้า การเงิน
การบริการและเป็นที่อยู่อาศัยสมัยใหม่ ปัจจุบันมีการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัยจากทั้งต่างประเทศและเวียดนาม
เช่น กลุ่ม Lotte จากเกาหลีใต้ และ CapitaLand Group จากสิงคโปร์ เป็นต้น
จากศักยภาพดังกล่าว
รัฐบาลเวียดนามจึงตั้งเป้าที่จะยกระดับ “เขตเมืองใหม่” ให้เป็นเมืองแห่งเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ในอนาคต
พร้อมกับโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสมและสะดวกสบาย
พร้อมบริการองค์กรของเวียดนามและต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนในเมืองไฮเทคแห่งนี้
ทั้งนี้คณะกรรมการประชาชนนครโฮจิมินห์ได้มอบหมายให้กรมการวางแผนและสถาปัตยกรรมนครโฮจิมินห์ดำเนินการพัฒนาเขตเมืองใหม่
โดยมีแผนดำเนินงานระหว่างปี 2563-2568 และเมื่อแล้วเสร็จ Thu Duc City จะกลายเป็นเขตเมืองหลักทางเศรษฐกิจที่จะส่งผลต่อพลวัตการพัฒนาพื้นที่รอบข้าง
โดยสามารถใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่เดิม
และที่กำลังจะพัฒนาขึ้นมาใหม่ เช่น VNU ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
อุตสาหกรรมการผลิตที่ใช้เทคโนโลยี ขั้นสูงในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ
และศูนย์กลางทางการเงินที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต
สำหรับประเทศไทยซึ่งมีการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก
หรือ Eastern Economic Corridor (EEC) ต้องติดตามความคืบหน้าการดำเนินโครงการ
Thu Duc City อย่างใกล้ชิด
เพื่อแสวงหาโอกาสการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานการผลิตและทรัพยากรมนุษย์ระหว่างกัน
เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรม S-Curve ของประเทศไทย
ซึ่งเวียดนามเองก็มีจุดแข็งในการพัฒนาบุคลากรด้าน IT และสามารถสนับสนุนการพัฒนา
EEC ของไทยได้ ดังนั้น ในอนาคตอาจจะได้เห็นประเทศไทยและเวียดนามร่วมมือกันพัฒนา
EEC และ Thu Duc City เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศแบบ
win-win ในอนาคตต่อไปก็เป็นได้
แหล่งอ้างอิง : www.globthailand.com.