ส่องเนื้อใน UPOV1991 ข้อเท็จจริงที่คาใจเกษตรไทยกับการเข้าร่วม CPTPP
CPTPP ถูกพูดถึงและถกเถียงกันตลอดมานับตั้งแต่ประเทศไทยส่งสัญญาณว่าจะเข้าร่วม
CPTPP (Comprehensive and Progressive Agreement of
Trans-Pacific Partnership) ซึ่งเป็น
“ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก” โดยปัจจุบันมีสมาชิก 11 ประเทศ คือ ออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา ชิลี ญี่ปุ่น มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ เปรู สิงคโปร์
และเวียดนาม โดยมี 7 ประเทศที่ให้สัตยาบันแล้ว คือ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เม็กซิโก นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ และเวียดนาม
ขณะที่ประเด็นที่มีการถกเถียงกันมากที่สุดในการคัดค้านการสัญญาเข้าร่วม CPTPP ของไทย ต่างพุ่งประเด็นไปที่ UPOV 1991 ซึ่งเป็นอนุสัญญาที่อยู่ในข้อตกลงของ CPTPP ด้วย
ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme
ส่อง UPOV ประเด็นที่คนไทยกังขา
UPOV หรือ
สหภาพเพื่อคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ The International Union for the Protection of New Varieties of Plants (French: Union international pour la protection des obtentions végétales) เป็นความตกลงเพื่อให้สิทธิผูกขาดพันธุ์พืชใหม่แก่บริษัทและนักปรับปรุงพันธุ์
มีการบังคับใช้ครั้งแรกเมื่อปี 1961 ต่อมามีการปรับปรุงแก้ไขในปี 1972 1978 และ
1991 ซึ่งประเทศที่จะเข้าร่วมสัญญาใหม่หลังปี 1999 จะต้องเป็นสมาชิก UPOV 1991 ซึ่งมีความเข้มงวดมากกว่า
UPOV 1991 คือ อนุสัญญาระหว่างประเทศที่มุ่งเน้นเรื่องการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่
โดยให้สิทธิเด็ดขาดในพันธุ์พืชใหม่แก่นักปรับปรุงพันธุ์
เป็นการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาด้านพืช มีความเกี่ยวข้องกับความตกลง CPTPP ภายใต้ข้อบททรัพย์สินทางปัญญา กำหนดให้ประเทศสมาชิกต้องเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญา
UPOV 1991 ด้วย
ปัจจุบัน UPOV 1991 มีสมาชิกทั้งหมด 74 ประเทศ ในจำนวนนี้มี 28
ประเทศที่เป็นประเทศกำลังพัฒนา ในอาเซียนมี 2 ประเทศที่เข้าร่วม ได้แก่
เวียดนามและสิงคโปร์ ขณะที่มาเลเซีย บรูไน อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์
ได้แสดงความจำนงที่จะเข้าร่วมอนุสัญญานี้
ส่วนประเทศไทยยังไม่ได้เป็นสมาชิกของอนุสัญญาฉบับนี้
จากข้อบังคับให้ประเทศใหม่ที่เพิ่งเข้าเป็นสมาชิกหลังปี
1999 จะต้องเป็นสมาชิก UPOV 1991 ด้วย ดังนั้นอนุสัญญา UPOV 1991 จึงกลายเป็นประเด็นอ่อนไหวที่มีหลายฝ่ายคัดค้านกันแบบหัวชนฝาให้รัฐบาลไทยพิจารณาให้รอบครอบและฟังความคิดเห็นจากเสียงประชาชนส่วนใหญ่
ที่ออกไปในทางไม่เห็นด้วย
ข้อมูลจากงานศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
(TDRI) ที่ได้จัดทำผลการศึกษาแบบชี้ขาดไว้เมื่อปี 2548 ซึ่งได้เปิดเผยผลการศึกษาว่า กรอบอนุสัญญา UPOV
ได้เริ่มจัดทำขึ้นฉบับแรกในปี 1961 มีสมาชิก 2 ประเทศ ต่อมาได้พัฒนาเป็น UPOV 1978 มีสมาชิก 25 ประเทศ แต่ประเทศผู้พัฒนาเมล็ดพันธุ์เพื่อการค้ายักษ์ใหญ่ต่างล็อบบี้เพื่อให้มีการพัฒนาเป็น
UPOV 1991 ซึ่งเป็นความตกลงคุ้มครองพันธุ์พืชที่มีความเข้มงวดสูงที่สุด
โดยพยายามชักจูงให้ประเทศต่างๆ เห็นความสำคัญและเข้าเป็นภาคีโดยสมัครใจได้จำนวนถึง
31 ประเทศ เงื่อนไขการเข้าเป็นสมาชิกคือจะต้องเป็นไปโดยความสมัครใจ
แต่การถอนออกจากการเป็นสมาชิกทำได้ยาก
และอาจมีผลทำให้ประเทศที่ต้องสูญเสียค่าชดเชยในภายหลัง
ความแตกต่างระหว่าง UPOV 1991 และ UPOV 1978 ก็คือ
ความเข้มงวดในการคุ้มครองพันธุ์พืช ซึ่ง UPOV 1991
จะให้การคุ้มครองพันธุ์พืชโดยไม่ต้องมีการประกาศคุ้มครองก่อน
และมีการอนุญาตให้มีการคุ้มครองซ้อนกันด้วยกฎหมายคุ้มครองโดยเฉพาะ
และระบบสิทธิบัตรควบคู่กัน โดยมีการขยายระยะเวลาในการคุ้มครองจากเดิมใน UPOV
1978 คุ้มครอง 15 ปี เพิ่มเป็น 20 ปี สำหรับพืชทั่วไป และเพิ่มเป็น 25 ปี
สำหรับไม้ยืนต้นและองุ่น
ที่สำคัญได้มีการขยายขอบเขตของสิทธิให้กว้างขึ้น
โดยให้ "ผู้ปรับปรุงพันธุ์"
มีสิทธิผูกขาดในการกีดกันผู้อื่นมิให้นำเอาส่วนที่ใช้ในการขยายพันธุ์พืช อาทิ
เมล็ดพันธุ์ กิ่งตอน ไปใช้ประโยชน์ในทางพาณิชย์และในการเพาะปลูก
รวมทั้งให้มีสิทธิผูกขาดในการส่งออก-นำเข้า หรือเก็บรักษาส่วนที่ใช้ในการขยายพันธุ์พืช
เพื่อจำหน่ายหรือเพาะปลูก
ข้อเสียของการเข้าเป็นสมาชิก UPOV 1991 ทำให้เกิดข้อจำกัด ข้อยกเว้นของเกษตรกร (farmers
privileges) ในการเก็บรักษาและแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ หมายความว่า
เกษตรกรไม่สามารถจะใช้วิธีการเพาะปลูกตามวัฒนธรรมดั้งเดิม เช่น
การปลูกข้าวหอมมะลิซึ่งเป็นพืชพื้นเมืองของไทยจะไม่ได้รับการคุ้มครอง
ประเทศอื่นสามารถใช้ประโยชน์จากเมล็ดพันธุ์ข้าว
โดยให้เหตุผลว่าจะเป็นการนำไปพัฒนาพันธุ์ต่อยอดเพื่อให้เกิดพันธุ์ใหม่
จากนั้นผู้พัฒนาพันธุ์ใหม่นั้นสามารถนำมาจดสิทธิบัตรและหาประโยชน์จากการขายเมล็ดพันธุ์เชิงพาณิชย์
ขณะที่เกษตรกรจะต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ดังกล่าว
และเมื่อนำมาปลูกได้ผลผลิตแล้วจะไม่สามารถเก็บผลผลิตเพื่อใช้เพาะปลูกในฤดูกาลต่อไปได้
หากพิจารณาประเทศที่เข้าเป็นสมาชิก UPOV 1991 โดยสมัครใจส่วนใหญ่
พบว่าประเทศเหล่านี้มีพืชพันธุ์พื้นเมืองน้อย แต่โอกาสที่จะพัฒนาพันธุ์พืชใหม่ๆ
มาก เพราะให้ความสำคัญกับการทำวิจัยมาก
ขณะที่ไทยมีลักษณะตรงข้ามกับกลุ่มประเทศที่เป็นสมาชิก เนื่องจากประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพมาก
ดังนั้นผลการศึกษาของ TDRI ณ ขณะนั้นจึงระบุว่า
ไทยขาดความเหมาะสมที่จะเป็นสมาชิก UPOV 1991
โดยสิ้นเชิง
ทั้งการเข้าร่วม CPTPP
ของไทยที่บัญญัติให้ประเทศสมาชิกต้องเข้าร่วมในอนุสัญญาการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่หรือ
UPOV 1991 จะกลายเป็นการเปิดโอกาสให้ต่างชาตินำพันธุ์พืชพื้นเมืองของไทยไปทำการวิจัย
เพื่อสร้างพันธุ์พืชใหม่แล้วจดสิทธิบัตรนอกประเทศได้ แน่นอนว่าจะกลายเป็นผลเสียต่อเกษตรกรไทยโดยตรง
เพราะถ้านำพันธุ์พืชใหม่นี้มาปลูกแล้วจะไม่สามารถเก็บเมล็ดไปปลูกต่อได้เหมือนในอดีต
ทำให้ต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ใหม่จากผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ได้เพียงเท่านั้น
นั่นเท่ากับว่าเป็นการเพิ่มต้นทุนการเกษตรให้สูงขึ้น
เพราะถึงแม้ว่าจะมีการอนุญาตให้เกษตรกรเก็บเมล็ดพันธุ์พืชขนาดเล็กไว้ขยายพันธุ์เพื่อการบริโภคต่อได้
แต่เกษตรกรไทยส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นทำการเกษตรเพื่อจำหน่ายผลผลิตกันมากกว่า
ฟังอีกด้าน UPOV1991 เกษตรไทยได้ –หรือเสีย
ข้อมูลจากกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์
ที่ได้จัดทำขึ้นเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงในกรณีการเข้าร่วม CPTPP โดยเราคัดมาเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับ UPOV1991 โดยเฉพาะ
- ห้ามเก็บส่วนขยายพันธุ์นำไปปลูกต่อ : การห้ามเก็บเมล็ดพันธุ์ไปปลูกต่อนั้น
เป็นความจริงเพียงด้านเดียว ตามอนุสัญญาเกษตรกรสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์พืชในกลุ่มพันธุ์พื้นเมือง
พันธุ์ดั้งเดิม พันธุ์ป่าของพืชทุกชนิดรวมถึงสมุนไพร
และพันธุ์การค้าที่ไม่ได้รับการคุ้มครองไปปลูกต่อได้เหมือนเดิม
แต่ส่วนใหญ่เกษตรกรไทยก็ไม่นิยมปลูกพันธุ์พืชดั้งเดิม
อันเนื่องจากให้ผลผลิตต่ำกว่าพืชที่ถูกปรับปรุงพันธุ์ขึ้นใหม่
สำหรับพันธุ์พืชใหม่ที่ได้รับการจดทะเบียนคุ้มครอง
ก็มีข้อยกเว้นที่อนุญาตให้เกษตรกรสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ของพันธุ์พืชใหม่ไว้ใช้เพาะปลูกต่อในพื้นที่ของตนได้
และยังสามารถนำพันธุ์พืชใหม่ที่ได้รับการคุ้มครองไปพัฒนาต่อยอดโดยไม่ต้องขออนุญาตจากเจ้าของพันธุ์
(ตาม UPOV 1991 Article 15) และเมื่อซื้อเมล็ดพันธุ์หรือได้พันธุ์คุ้มครองมาอย่างถูกต้อง
เกษตรกรมีสิทธิเพาะปลูกและจำหน่ายผลผลิตและผลิตภัณฑ์ที่เกิดได้โดยไม่ผิดกฎหมายและไม่ต้องขออนุญาตจากเจ้าของพันธุ์
- การผูกขาดเมล็ดพันธุ์ : UPOV 1991 ให้การคุ้มครองสิทธิแก่ผู้พัฒนาปรับปรุงพันธุ์พืชใหม่ทั้งหมด
โดยไม่จำกัดว่าต้องเป็นเฉพาะบริษัทเอกชนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงนักวิจัยภาครัฐ
นักปรับปรุงพันธุ์พืชอิสระ นักศึกษา เกษตรกร หรือบุคคลทั่วไป
ก็สามารถยื่นจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่ได้
ทำให้นักปรับปรุงพันธุ์ทั้งหลายมีความมั่นใจเพิ่มการลงทุนด้านการวิจัยพัฒนาพันธุ์พืชมากขึ้น
ทำให้มีพันธุ์พืชใหม่ๆ ชนิดพืชที่หลากหลายออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง
เกิดการแข่งขันด้วยเรื่องความดีเด่นของพันธุ์และคุณภาพเมล็ดพันธุ์
ซึ่งจะช่วยลดการผูกขาดด้านการค้าเมล็ดพันธุ์ไม่ให้จำกัดอยู่เฉพาะรายใหญ่เพียงไม่กี่บริษัท
ประเด็นนี้เกษตรกรอาจได้ประโยชน์
ขณะที่ธุรกิจที่เดิมเคยผูกขาดตลาดพันธุ์พืชในประเทศจะเจอการแข่งขันที่รุนแรงกว่าเดิม
- เกษตรจะซื้อเมล็ดพันธุ์แพงขึ้น : เนื่องจากเกษตรกรไทยปลูกพืชเน้นจำหน่ายมากกว่าการบริโภค
ดังนั้นมีความกังวลว่าการเข้าร่วม CPTPP ภายใต้อนุสัญญา UPOV1991 จะทำให้ราคาเมล็ดพันธุ์พืชในประเทศจะแพงขึ้น
ซึ่งมีแนวโน้มเป็นความจริง แต่จำกัดเฉพาะในกลุ่มพันธุ์พืชใหม่ที่จดทะเบียนคุ้มครองเท่านั้น
ไม่มีผลกระทบต่อพันธุ์พืชพื้นเมือง พันธุ์พืชป่า
หรือพันธุ์การค้าที่ไม่ได้รับการคุ้มครอง
โดยราคาเมล็ดพันธุ์ในตลาดจะถูกกำหนดด้วยความดีเด่น
หรือคุณค่าของพันธุ์และคุณภาพเมล็ดพันธุ์ และการได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไป
หากเกษตรกรเห็นว่าแพงไป ขายผลผลิตแล้วไม่คุ้มกับเงินที่ลงทุน
เกษตรกรก็สามารถเลือกที่จะไม่ซื้อ แล้วไปซื้อพันธุ์อื่นที่ถูกกว่าได้ นอกจากนี้เกษตรกรยังสามารถเลือกใช้พันธุ์ของหน่วยงานรัฐที่แจกจ่ายให้ฟรีได้เช่นกัน
ทำให้ประเด็นนี้มีทั้งดีและเสีย คือการมีพันธุ์พืชใหม่ที่หลากหลายออกสู่ตลาดมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ถือเป็นข้อดี ให้เกษตรกรได้มีทางเลือกมากขึ้น
เลือกซื้อพันธุ์ที่มีลักษณะตามความต้องการของตลาด ขายผลผลิตได้ราคา
- ประเด็นเรื่อง GMOs : ความตกลง CPTPP ไม่ได้กำหนดให้สมาชิกต้องปรับกฎหมายภายในประเทศในเรื่องสินค้าเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่
(Modern Biotechnology) แต่อย่างใด
และปัจจุบันไทยยังไม่อนุญาตให้ปลูกหรือทำการค้าพืช GMOs ได้อย่างเสรี
โดยพืช GMOs เป็นสิ่งต้องห้ามตาม พ.ร.บ.กักพืช พ.ศ. 2507
และที่แก้ไขเพิ่มเติม
สำหรับประเด็นด้านความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจเชื่อว่าคงมีรายงานให้อ่านกันมากมายอยู่แล้ว
จึงขอเว้นไว้ในที่นี้ ซึ่งต้องการมุ่งประเด็นที่ UPOV
1991 เท่านั้นเพื่อชั่งน้ำหนักให้เห็นชัดเจนว่า
ภายใต้เงือนไขดังกล่าวเกษตรไทยจะได้หรือเสีย
ซึ่งนี้ยังถือว่าเพียงแค่เริ่มต้นอันเนื่องจากยังต้องมีการกำหนดเงื่อนไขรายละเอียดอีกมาก
เพื่อให้ชาติและคนในชาติได้ประโยชน์มากกว่าเสียประโยชน์
เพราะแน่นอนว่าภายใต้การเข้าร่วม CPTPP ย่อมไม่สามารถมองที่ผลประโยชน์เพียงด้านเดียว
แต่ต้องมองด้านที่เสียประโยชน์ด้วย และใคร่ครวญว่าคุ้มค่ากับการแลกหรือไม่
แหล่งอ้างอิง :
http://www.biothai.net/sites/default/files/2013_food-doc_15witoon.pdf
https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=610483763235733&id=1683658098593742
http://203.209.117.11/files/TPP/CPTPP-Impack.pdf