โรคลมพิษ" (Urticaria) ภัยใกล้ตัวที่เราทุกคนไม่ควรมองข้ามเพราะโรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา
แม้จะเป็นโรคที่ไม่มีความร้ายแรงมากนัก
แต่ก็สามารถสร้างความรำคาญใจให้กับผู้ป่วยค่อนข้างมาก ทั้งในด้านบุคลิกภาพ
การทำงาน รวมถึงการใช้ชีวิตประจำวัน
ซึ่งคนส่วนใหญ่มักไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดว่าตนเองนั้นแพ้อะไร
อีกทั้งด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันในยุคปัจจุบัน
ก็อาจเป็นอีกปัจจัยเร่งที่ทำให้เกิดความรุนแรงของ "โรคลมพิษ" ได้เช่นกัน
ดังนั้นการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับโรคลมพิษอย่างถูกต้องจึงเป็นสิ่งที่คนไทยไม่ควรละเลยเป็นอย่างยิ่ง เพราะโรคดังกล่าวอาจเกิดขึ้นกับคุณหรือคนใกล้ชิดก็เป็นได้
ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme
ศ.พญ.กนกวลัย กุลทนันทน์ ภาควิชาจตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้ให้ข้อมูลว่า
โรคลมพิษ (Urticaria) เป็นโรคที่คนทุกเพศทุกวัยสามารถเป็นได้
เกิดจากร่างกายมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อตัวกระตุ้น
ผิวหนังจะมีลักษณะเป็นผื่นหรือปื้นนูนแดง ไม่มีขุย มีขนาดตั้งแต่ 0.5 - 10 ซม. มักกระจายตามร่างกายอย่างรวดเร็ว
และทำให้ผู้ป่วยมีอาการคันตามบริเวณที่มีผื่นขึ้น โดยทั่วไปแต่ละผื่นจะอยู่ไม่เกิน
24 ชั่วโมง แล้วผื่นนั้นก็จะราบไปโดยไม่ทิ้งร่องรอยใด ๆ
แต่ก็สามารถมีผื่นใหม่ขึ้นที่อื่น ๆ ได้
โดยผื่นเกิดจากการที่ร่างกายปล่อยสาร
"ฮีสตามีน" (Histamine) และสารอื่น
ๆ ผู้ป่วยบางรายอาจมีริมฝีปากบวม ตาบวม ร่วมด้วย
รายที่เป็นรุนแรงอาจมีอาการปวดท้อง แน่นจมูก หายใจไม่สะดวก หอบหืด
เป็นลมจากความดันโลหิตต่ำได้ แต่ก็พบน้อยมาก
โรคลมพิษเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่
ลมพิษชนิดเฉียบพลัน (Acute
urticaria) คือ มีอาการผื่นลมพิษอย่างต่อเนื่องกันไม่เกิน 6 สัปดาห์
มักพบได้ในเด็กและคนไข้อายุน้อย และส่วนใหญ่จะมีสาเหตุมาจากการแพ้ เช่น
การแพ้อาหาร แพ้ยา การติดเชื้อในร่างกาย แมลงสัตว์กัดต่อย ฯลฯ
อย่างไรก็ตามอาจไม่พบสาเหตุได้ถึง 50% ของคนไข้ที่เป็นลมพิษเฉียบพลัน
ลมพิษชนิดเรื้อรัง (Chronic
urticaria) คือ มีอาการผื่นลมพิษอย่างน้อย 2 ครั้งต่อสัปดาห์
และเป็นต่อเนื่องติดต่อกันเกิน 6 สัปดาห์ขึ้นไป ส่วนใหญ่มักไม่พบสาเหตุหรือสิ่งกระตุ้นที่จำเพาะเหมือนลมพิษเฉียบพลัน
แต่สิ่งที่สามารถกระตุ้นให้ลมพิษเรื้อรังเป็นมากขึ้น ได้แก่ ยาแอสไพริน, ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์, เพนิซิลลิน, ยาต้านเอซโดย โรคลมพิษเรื้อรังมักเกิดกับเพศหญิง
มีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 35 ปี
ซึ่งตลอดช่วงชีวิตของคนทั่วไปจะมีโอกาสเกิดโรคลมพิษเรื้อรัง ได้ประมาณร้อยละ 0.5-1
ภาวะแทรกซ้อนของลมพิษ
ผู้ป่วยระยะเรื้อรัง มักจะมีการพัฒนาไปเป็นแองจิโออีดีมา (Angioedema) ซึ่งเป็นอาการบวมของเนื้อเยื่อในชั้นลึกของผิว
สามารถทำให้เกิดปัญหาได้สำหรับบางคนและเป็นอันตรายถึงชีวิตถ้ามีผลต่อการหายใจ
โดยภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญของลมพิษ ได้แก่ หายใจได้ลำบาก เกิดภูมิแพ้รุนแรงเฉียบพลัน (Anaphylaxis) และผลกระทบทางอารมณ์ นอกจากนั้น ผู้ป่วยลมพิษมีโอกาสเพิ่มมากขึ้นที่จะพัฒนาไปสู่โรคอื่น ๆ เช่น ไทรอยด์ หรือโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ และบางอาการที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น หายใจติดขัด หรืออาการแพ้ที่รุนแรง
การป้องกันลมพิษ
โรคลมพิษมักจะส่งผลให้ผู้ป่วยมีความกังวลต่อการดำเนินชีวิตตลอดเวลา
อาจส่งผลต่อการทำงาน สิ่งที่ควรปฏิบัติหากรู้ว่าตนเองนั้นเป็นโรคลมพิษ
เพื่อบรรเทาและป้องกันลมพิษได้ด้วยตัวเอง อีกทั้งยังช่วยให้การวินิจฉัยของแพทย์สามารถทำได้ง่ายขึ้น
ดังเช่น
1. หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นให้เกิดลมพิษตามแพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด
2. ต้องนำยาต้านฮิสตามีนติดตัวไว้เสมอ
เมื่อเกิดอาการจะใช้ได้ทันที
3. ทำจิตใจให้สบาย
ไม่เครียด
4. ไม่แกะเกาผิวหนัง
เพราะอาจทำให้เกิดผิวหนังอักเสบจากการเกา
5. สำหรับผู้ที่มีอาการรุนแรง ควรพบแพทย์และรับการรักษาอย่างเร่งด่วน รับประทานยาตามแพทย์สั่ง หากยาทำให้เกิดอาการง่วงซึม จนรบกวนการทำงานควรบอกแพทย์เพื่อเปลี่ยนยา