การแพร่ระบาดของโควิด-19
ทำให้ชีวิตคนไทยทุกวันนี้อยู่ยากยิ่งขึ้น และยิ่งยากไปกว่านั้นก็คือการเผชิญกับความจริงที่ว่าเดือนนี้ค่าไฟพุ่งขึ้นหลายเท่าตัว
ซึ่งเป็นผลพวงจาก Work From Home ทำงานที่บ้าน และ Quarantine
กักตัวอยู่กับบ้านนั่นเอง
เรียกง่ายๆ ว่าชีวิตต้องย้ายที่ทำงานมาอยู่บ้านในช่วงหน้าร้อนอย่างนี้
แอร์ต้องมี อินเตอร์เน็ตต้องเปิด แถมทำอาหารกินเองที่บ้านอีก
จะไม่ให้ค่าไฟขึ้นได้อย่างไร
ยิ่งไปกว่านั้นคือ ไม่รู้ว่าจะต้องกักตัวทำงานอยู่ที่บ้านอีกนานเท่าไหร่ ดังนั้นต้องงัดมาตรการประหยัดไฟบ้านมาใช้ได้แล้ว ลองมาดูว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านอันไหนบ้างที่กินไฟที่สุดและควรจะประหยัดอย่างไรดี
ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme
เครื่องปรับอากาศ เมืองไทยอากาศร้อนมาก บางทีพัดลมก็ไม่สามารถบรรเทาความร้อนอบอ้าวได้ แทบทุกบ้านจึงต้องติดเครื่องปรับอากาศ แม้ว่าเครื่องปรับอากาศจะถูกออกแบบมาเพื่อให้อากาศเย็นสบาย
แต่ตัวเลขค่าไฟจะทำให้คุณเกิดอาการหัวร้อนได้ทันที
ข้อมูลจากการไฟฟ้านครหลวง
ระบุว่าเครื่องปรับอากาศขนาด 1,200-3,300
วัตต์ จะกินไฟประมาณ 5-13 บาท/ชม.
ข้อแนะนำ วิธีประหยัดค่าแอร์นั้น แนะนำให้เปิดในอุณหภูมิ 25 องศา หรือถ้าเพิ่มขึ้นเป็น 26-28 องศายิ่งดี เป็นการช่วยประหยัดไฟได้มากขึ้น แต่อาจต้องเปิดพัดลมเบาๆ เป็นตัวช่วยกระจายความเย็นไปทั่วห้องเนื่องจากพัดลมกินไฟไม่มาก หากเปิดพัดลมขนาด 20-75 วัตต์ กินไฟเพียง 10-30 สตางค์/ชม.
เครื่องซักผ้า แม้ว่าจะไม่ค่อยได้ออกไปข้างนอก
แต่คุณก็ยังต้องมีเสื้อผ้าให้ซักอยู่ดี รวมถึงผ้าชนิดอื่นๆ
ที่ต้องซักสัปดาห์ละครั้ง เช่น ผ้าเช็ดตัว ผ้าปูที่นอน เป็นต้น เครื่องซักผ้าเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านที่กินไฟมากเป็นอันดับสองรองจากเครื่องปรับอากาศ
ซึ่งกินไฟประมาณ 3,000 วัตต์ ถ้าซักผ้านาน
1 ชั่วโมงจะเสียค่าไฟ 12 บาท
ข้อแนะนำ อย่าซักผ้าทุกวันเพราะเปลืองไฟ
ควรรวบรวมผ้าในปริมาณที่มากพอสมควรจึงซักในคราวเดียวกัน วิธีนี้นอกจากประหยัดไฟแล้ว ยังประหยัดน้ำด้วย
เครื่องทำน้ำอุ่น ปกติเราจะอาบน้ำวันละ 1-2 ครั้ง
แต่ถ้าต้องทำงานอยู่ที่บ้านในช่วงหน้าร้อนด้วย บางทีแค่นั่งก็เหงื่อออกเหนียวตัวแล้ว
ต้องอาบน้ำระหว่างวันให้สบายตัวหน่อย แต่รู้ไหมว่าเครื่องทำน้ำอุ่นนั้นเป็นตัวกินไฟมากทีเดียว
2,500 -12,000 วัตต์ ถ้าเปิดนาน 1 ชม.จะเสียค่าไฟ 10-47 บาท
ข้อแนะนำ อากาศร้อนไม่จำเป็นต้องอาบน้ำอุ่นก็ได้
หรือถ้าอาบน้ำเย็นไม่เป็นก็ไม่จำเป็นต้องเร่งความร้อน และหลีกเลี่ยงการนอนแช่น้ำอุ่นในอ่างอาบน้ำ
เครื่องไฟฟ้าในครัว แน่นอนว่าช่วง WFH
ก็จำเป็นต้องสวมบทเชฟทำอาหารกิน 3 มื้อ
รู้ไหมว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวล้วนกินไฟทั้งนั้น อาทิ
หม้อต้มน้ำที่เราชอบเสียบปลั๊กทิ้งเอาไว้ตลอดวัน
เพื่อว่าเวลากินกาแฟจะได้มีน้ำร้อนชงได้ตลอด หม้อต้มน้ำ 500-750 วัตต์ เปิดนาน 1
ชม. กินไฟ 3 บาท, หม้อหุงข้าวไฟฟ้าขนาด 450-1,500 วัตต์ กินไฟ ชม.ละ 2- 6 บาท
และตู้เย็น 7-10 คิว ( 70-145 วัตต์) กินไฟ ชม. 25-60 สตางค์, เครื่องปิ้งขนมปัง
800-1,000 วัตต์ กินไฟ ชม.ละ 3-4 บาท เตาไมโครเวฟ 100-1,000 วัตต์ กินไฟ ชม.ละ
0.4-4 บาท
ข้อแนะนำ ทำอาหารกินเองบ้าง สลับกับบางมื้อก็ซื้อกินบ้างจะได้เลือกกินของอร่อยแปลกใหม่ไม่จำเจและไม่เปลืองค่าไฟ
คอมพิวเตอร์/โน๊ตบุ๊ค กลายเป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าที่จำเป็นในยุคดิจิทัลไปแล้ว ยิ่งต้อง WFH คุณจำเป็นต้องใช้คอมพิวเตอร์ทุกวัน
คอมพิวเตอร์ที่กินไฟ 180 วัตต์ (220V.0.8A)
ถ้าเปิดทำงานวันละ 8 ชม. คิดเป็นค่าไฟประมาณ 90 บาทต่อเดือน หรือเฉลี่ยวันละ 3 -5
บาท
ข้อแนะนำ วิธีประหยัดค่าไฟเมื่อต้องเปิดคอมพิวเตอร์ทำงานนานๆ นั้น ในกรณีที่ไปพักกินข้าว เข้าห้องน้ำ เดินไปทำธุระอื่นๆ ที่ไม่เกิน 15 นาที ให้ปิดจอภาพ (Monitor) หรือถ้าต้องพักนานกว่านี้ให้เปิด sleep mode จะช่วยประหยัดไฟได้มากขึ้น
นอกจากเครื่องไฟฟ้าหลักๆ
ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของเราแล้ว ยังมีวิธีการประหยัดไฟเล็กๆ
น้อยที่มองข้ามไป แต่สามารถช่วยให้ลดค่าไฟไปได้ไม่น้อย
เช่นเลือกซื้อเครื่องไฟฟ้าที่ประหยัดไฟ ถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกครั้งที่ไม่ใช้
หลอดไฟที่ให้แสงสว่างควรใช้หอลดประหยัดไฟ