5 รูปแบบการ Digital Transformation กลยุทธ์เร่งด่วนที่ SME ต้องทำก่อนปี 2568
การเปลี่ยนแปลงไปสู่รูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาปรับปรุงกระบวนการ หรือประยุกต์ใช้งานเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ต้องการ ในแง่มุมของการประกอบธุรกิจเรียกว่า Digital Transformation ขณะที่ คลาวด์ (Cloud) ปัญญาประดิษฐ์ (AI) อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (IoT) ระบบอัตโนมัติ (Automation) ตลอดจนนวัตกรรมใหม่ และเทคโนโลยีสมัยใหม่ในรูปแบบต่าง ๆ ในปัจจุบัน อาจเป็นเพียงเครื่องมือราคาแพงที่ผู้ประกอบการ SME ยังรู้สึกไม่คุ้มค่าที่จะลงทุน หากไม่สามารถกำหนดเจตนาทางธุรกิจ และรูปแบบที่เหมาะสมเพื่อการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้งานอย่างเต็มประสิทธิภาพ และได้ผลลัพธ์ที่ต้องการ
รูปแบบ Digital Transformation ในที่นี้ จึงหมายถึง ‘เจตนา’ ในการใช้เครื่องมือที่สามารถสร้างผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมได้ตามที่คาดหวัง ตัวอย่างเช่น เพิ่มรายได้ พัฒนาการบริการลูกค้า ลดต้นทุน จัดการความเสี่ยง หรือพัฒนาด้านบุคลากร ดังนั้น รูปแบบของการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้งานอย่างเหมาะสม และตอบสนองต่อเจตนาทางธุรกิจได้ตรงจุด จึงเป็นเคล็ดลับสำคัญที่ SME สามารถนำมารับมือความเปลี่ยนแปลง ยกระดับขีดความสามารถ หรือธุรกิจเกิดการก้าวกระโดดครั้งใหญ่ได้
บทความนี้ Bangkok Bank SME จึงนำเสนอ ‘5 รูปแบบการ Digital Transformation’ ในแบบฉบับ SME เพื่อให้สามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และพัฒนากลยุทธ์สร้างการเติบโตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนี้

1. Digital Transformation เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ
รูปแบบของการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับปรุงกระบวนการธุรกิจในรูปแบบเดิมให้มีประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้นภายใต้การเล็งเห็นถึง ‘ปัญหา’ หรือ ‘ข้อจำกัด’ ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เบื้องต้น SME จะต้องเข้าใจในสถานการณ์ที่ธุรกิจประสบอยู่อย่างถ่องแท้ เพื่อกำหนดเจตนาในการใช้เครื่องมือที่เหมาะสม เนื่องด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลในทุกวันนี้ มีคุณสมบัติและจุดเด่นที่หลากหลาย และบางอย่างอาจต้องใช้งานควบคู่กันเพื่อเสริมประสิทธิภาพการทำงานให้ดียิ่งขึ้น
ตัวอย่าง เช่น SME ราย A มีข้อมูลที่ต้องจัดเก็บเป็นจำนวนมาก แต่ถูกจัดเก็บอย่างกระจัดกระจาย การประสานงานเพื่อดำเนินการด้านข้อมูลจึงเกิดความล่าช้า การรวบรวมข้อมูลเพื่อคัดแยก ประมวลผล หรือวิเคราะห์ต้องใช้เวลานาน แถมสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายทั้งในแง่ของอุปกรณ์การบำรุงรักษา และเสี่ยงข้อมูลสูญหายหรือรั่วไหล ดังนั้นจึงกำหนดเจตนาว่า จะนำเทคโนโลยีคลาวด์มาลดความยุ่งยากในด้านข้อมูล ทั้งในแง่ของการจัดเก็บ จัดการ และกระจายให้สามารถเข้าถึงข้อมูลได้มีประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และรวดเร็ว แต่ยังไม่จบเพียงเท่านี้ เพราะก่อนที่ SME ราย A จะตัดสินใจเลือกใช้คลาวด์เพื่อจัดการด้านข้อมูล ยังต้องพิจารณาองค์ประกอบพื้นฐาน เช่น
1. ความเหมาะสมของขนาดพื้นที่เก็บข้อมูลในคลาวด์
2. ความน่าเชื่อถือของผู้ให้บริการและโครงข่ายที่มีเสถียรภาพ
3. ค่าใช้จ่ายทั้งส่วนของผู้ให้บริการและค่าบุคลากรฝ่ายเทคนิค
4. วางระบบการใช้งานข้อมูลตามความจำเป็นเพื่อจำกัดสิทธิ์การเข้าถึงของผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง
5. การให้ความรู้ด้านการใช้งานคลาวด์แก่พนักงานอย่างถูกต้อง

ขณะเดียวกัน SME ราย A อาจต้องลงทุนกับซอฟต์แวร์ประยุกต์ที่เป็นระบบปฏิบัติการข้อมูลเฉพาะด้าน เช่น ระบบ CRM (เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้า สร้างยอดขาย พัฒนาการบริการ หรือสร้างแบรนด์) และ ระบบ ERP (ใช้ในการวางแผนเพื่อบริหารจัดการทรัพยากร การผลิต กระบวนการทำงานภายในองค์กร) เพื่อเสริมประสิทธิภาพการใช้งานเทคโนโลยีคลาวด์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ดังนั้น จะเห็นว่า การตัดสินใจเลือกใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ยังต้องประกอบด้วยพื้นฐานความต้องการ ความเหมาะสมของธุรกิจ และแผนงานที่ชัดเจนในขั้นตอนการนำไปใช้ประโยชน์ หลักการนี้ยังใช้ได้กับการเลือกใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอื่น ๆ ด้วย เช่น การลดต้นทุนกระบวนการผลิตสินค้าโดยใช้ Automation และ AI สิ่งเหล่านี้เป็นสาระสำคัญของรูปแบบ Digital Transformation เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพธุรกิจ

2. Digital Transformation เพื่อปรับปรุงโมเดลธุรกิจ
เมื่อใกล้ถึงทางตัน หลายธุรกิจจึงต้องสรรหาทางสายใหม่เพื่อไปต่อ นี่คือ รูปแบบการ Digital Transformation เพื่อปรับปรุงโมเดลธุรกิจ โดยการปรับปรุงโมเดลธุรกิจเดิมให้สามารถแข่งขันได้ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของกระแสธุรกิจ เช่น การพัฒนารูปแบบสินค้า หรือสร้างมูลค่าเพิ่ม การส่งมอบบริการใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์กลุ่มเป้าหมาย หรือการสร้างรูปแบบธุรกิจใหม่ที่ดีกว่าเดิมเพื่อสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้น โดยเลือกใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้สอดคล้องกับจุดอ่อนของธุรกิจ และความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป
ตัวอย่างเช่น SME ราย B เป็นร้านขายของเล่น จำหน่ายสินค้าให้แก่ลูกค้าในลักษณะผ่านหน้าร้าน เมื่อตลาดอีคอมเมิร์ซขยายตัวเร็ว จึงทำให้ธุรกิจมียอดขายลดลง หากจะดำเนินธุรกิจในลักษณะเดิมร้านคงไปต่อไม่ได้ และถึงแม้จะผันตัวไปเปิดหน้าร้านออนไลน์ก็อาจเผชิญการแข่งขันอย่างรุนแรง เนื่องด้วยเกิดคู่แข่งรายใหม่ในตลาดออนไลน์อีกเป็นจำนวนมาก และ Brand Loyalty ก็อาจรักษาไว้ได้ยากขึ้น
กรณีนี้ SME ราย B ต้องมองถึงต้นตอของปัญหา นั่นคือกระแสของตลาดออนไลน์กับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป และปรับปรุงโมเดลธุรกิจใหม่เริ่มจากวิเคราะห์ธุรกิจเพื่อค้นหาจุดแข็ง เช่น เดิมเป็นร้านขายของเล่นที่มีหน้าร้าน มีลูกค้าประจำ มีความเก่าแก่น่าเชื่อถือ มีสินค้าตัวอย่างซึ่งจับต้องได้ให้เลือกดูก่อนตัดสินใจซื้อ มีสินค้าพร้อมจัดส่ง ฯลฯ และหาจุดที่ต้องปรับปรุง คือ ไม่มีช่องทางจำหน่ายออนไลน์ ไม่มีช่องทางสื่อสารกับลูกค้าโดยตรง ขาดการส่งเสริมด้าน Brand Loyalty เป็นต้น
ดังนั้น การ Digital Transformation เพื่อออกแบบโมเดลธุรกิจใหม่ของ SME ราย B มีทางเลือกที่ทำได้คือ การปรับธุรกิจให้มีตัวตนในโลกดิจิทัลให้มีความน่าสนใจ โดยผสานกับจุดแข็งและเลือกเทคโนโลยีดิจิทัลที่ตอบโจทย์มาใช้ เช่น
- จำหน่ายสินค้าออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์ม E-Market Place
- สร้าง Brand loyalty และสื่อสารกับลูกค้ากลุ่มเป้าหมายโดยตรงผ่าน Social Media
- จัดทำระบบสมาชิกบน Website
- ใช้กลยุทธ์ Omni Channel เพื่อเชื่อมโยงร้านออนไลน์และร้านค้าปลีกออฟไลน์เพื่อให้บริการทั้งลูกค้าที่สะดวกมาร้าน หรือซื้อในออนไลน์แบบไร้รอยต่อ
- ใช้เทคโนโลยี VR (Virtual Reality) เพื่อสร้างร้านค้าเสมือนจริง (Virtual Store)
- ใช้ Chat Bot เพื่อรับออร์เดอร์ หรือตอบปัญหาเบื้องต้นแก่ลูกค้า
- ใช้ซอฟต์แวร์ CRM หรือ AI ประมวลผลด้าน Digital Marketing เพื่อปรับปรุงโมเดลธุรกิจ หรือพัฒนาบริการที่ตรงกับไลฟ์สไตล์ลูกค้ามากยิ่งขึ้น
ประเด็นสำคัญของ Digital Transformation เพื่อปรับปรุงโมเดลธุรกิจ จึงไม่ได้จำกัดที่ความล้ำสมัยของเทคโนโลยี แต่เป็นการวิเคราะห์จุดแข็ง รู้จุดอ่อน เพื่อกำหนดเจตนาในการปรับปรุงธุรกิจก่อนจะเลือกสรรเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับธุรกิจมาสร้างรูปแบบใหม่ที่ทำได้จริง เพื่อให้ธุรกิจเติบโตต่อไปได้ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง

3. Digital Transformation เพื่อพัฒนาวัฒนธรรมองค์กร
วัฒนธรรมองค์กร คือโครงสร้างที่ไม่มีตัวตน มองไม่เห็น แต่ทุกคนรู้ว่ามีอยู่จริง! ขณะที่การพัฒนาวัฒนธรรมองค์กรกับการ Digital Transformation อาจไม่ใช่เรื่องที่คนปกติคุ้นเคย แต่หากคุณเป็นเจ้าของธุรกิจ หรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคล จะทราบว่านี่ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเปลี่ยน แต่ก็ไม่ถึงกับเป็นไปไม่ได้ โดยเฉพาะภายใต้กระแสเทคโนโลยี รูปแบบการทำงานจึงผันแปรตาม และก่อเกิดเป็นวัฒนธรรมองค์กรแบบใหม่ หรือวัฒนธรรมองค์ยุคดิจิทัล เช่น กระบวนการทำงานที่เน้นการใช้เทคโนโลยีเป็นหลัก ทั้งในแง่ของการจัดการ การเข้าถึงข้อมูล การวางแผนธุรกิจ การประชุมและติดต่อสื่อสาร ซึ่งทำให้การทำงานยุคใหม่มีความยืดหยุ่น เปิดกว้างต่อการรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง มีความคิดริเริ่มสิ่งใหม่ และทำงานเป็นทีมเวิร์คได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ การ Digital Transformation เพื่อสร้างวัฒนธรรมที่สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงให้กระบวนการทำงาน โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเป็นส่วนผลักดันในเกิดผลสำเร็จ ยังสามารถวัดผลิตภาพในการทำงาน (Productivity) ได้อย่างแม่นยำ เช่น การใช้ HR Cloud Solution ซึ่งเป็นโปรแกรมระบบจัดการทรัพยากรบุคคลในคลาวด์ การพัฒนารูปแบบการสื่อสาร และฐานข้อมูลองค์กรบนโครงข่ายคลาวด์ที่มีประสิทธิภาพเพื่อการทำงานแบบ Remote working หรือ Work from Anywhere เป็นต้น

สำหรับรูปแบบการ Digital Transformation เพื่อพัฒนาวัฒนธรรมองค์กร สาระจึงอยู่ที่การเลือกสรรเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในองค์กรไปสู่กระบวนการทำงานที่มีประสิทธิภาพตามเป้าหมาย โดยการสร้างสภาพแวดล้อมในการทำงานที่เอื้อต่อค่านิยมการทำงานยุคใหม่ ตัวอย่างเช่น รูปแบบการปรับปรุงการสื่อสารภายในองค์กรเพื่อสนับสนุนการทำงานระยะไกล โดยนำเทคโนโลยีคลาวด์มาใช้สำหรับการจัดเก็บและเข้าถึงข้อมูลระยะไกล การใช้เทคโนโลยี IoT เพื่อโดยทำให้อุปกรณ์หลายเครื่องในเครือข่ายสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย หรือการควบคุมตรวจสอบการทำงานระยะไกล การนำซอฟต์แวร์ประยุกต์ ด้าน HRM (Human Resource Management) มาติดตามการทำงาน วิเคราะห์ และประเมินผลลัพธ์ประสิทธิภาพงาน เป็นต้น
การ Digital Transformation เพื่อพัฒนาวัฒนธรรมองค์กร ที่เริ่มจากการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานแบบเดิม ยังสามารถสร้างแรงจูงใจให้บุคลากรรุ่นใหม่ ๆ ได้ปฏิบัติงานตามหน้าที่ความรับผิดชอบได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างแรงจูงใจอยากร่วมงานกับองค์กร และรักษาคนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพสูงไว้ได้ด้วย (Talent management) ด้วยเหตุนี้ การพัฒนาวัฒนธรรมองค์กรที่สอดรับกับพฤติกรรมการทำงานยุคใหม่จึงเป็นแนวทางในการพัฒนาด้านบุคลากรที่มีความยั่งยืน

4. Digital Transformation การเพิ่มความคล่องตัวในการดำเนินงาน
ปัจจุบันเทคโนโลยีดิจิทัลมีบทบาทในกระบวนการทำงานที่หลากหลาย ทำให้ SME สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับรูปแบบการทำงานภายในองค์กรได้อย่างเหมาะสมกับสถานการณ์ และช่วยเพิ่ม Productivity หรือที่เรียกว่าการ Digital Transformationเพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการดำเนินงาน เช่น แนวคิดการลดใช้ทรัพยากรบุคคลอย่างสิ้นเปลืองภายในองค์กร (Lean Concep) เป็นนวัตกรรมการทำงานขององค์ยุคใหม่ ที่ช่วยลดขั้นตอน ลดกระบวนงานที่ทับซ้อนกัน ประหยัดทรัพยากร และใช้เวลาได้เกิดผลสัมฤทธิ์สูงสุด ทำให้การพัฒนาสินค้า หรือบริการได้อย่างตรงตามเป้าหมาย รวดเร็ว และตอบสนองทันต่อความเปลี่ยนแปลง
แนวคิดดังกล่าวมีการต่อยอดไปสู่การออกแบบซอฟต์แวร์ชุดคำสั่ง หรือเครื่องมือที่เป็นซอฟต์แวร์การทำงาน (Scrum) ที่เป็น Framework โดยจะแบ่งการทำงานเป็นกลุ่มย่อย ๆ และลำดับขั้นตอนการทำงานต่าง ๆ ให้กระชับ มีการส่งงาน ประเมินผล ปรับปรุงแก้ไข ได้อย่างรวดเร็ว เป็นการทำงานยุคใหม่ที่ผสานรูปแบบการทำงานแบบดิจิทัลที่เรียกว่า Agile Methodology
ซึ่งการทำงานด้วยชุดคำสั่งที่เป็นซอฟต์แวร์นี้ จะเน้นในกรณีที่ทีมงานมีเวลาอย่างจำกัด หรือกรณีที่ต้องเร่งผลิตสินค้าเพื่อให้ทันต่อตลา ตอบสนองต่อความต้องการและไลฟ์สไตล์ของลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นกลยุทธ์หนึ่งที่ SME สามารถนำมาใช้เพื่อสร้างโอกาสให้แก่ธุรกิจได้ เป็นรูปแบบการ Digital Transformation ที่พัฒนากระบวนการทำงาน ผสานกับเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ต้องการโดยใช้ทรัพยากรทุกอย่างคุ้มค่า

5. Digital Transformation เพื่อการฝึกอบรมทักษะบุคลากร
เมื่อก่อน การพัฒนาทักษะบุคลากรเป็นเรื่องลำดับท้าย ๆ ที่ SME จะคำนึงถึง ไม่ใช่เพราะไม่อยาก Training ให้พนักงานเก่งขึ้น แต่กังวลว่าหากเก่งขึ้นแล้ว พนักงานรายนั้นอาจจะลาออกไปหางานใหม่ และทำให้ต้องเสียทรัพยากรไปอย่างสูญเปล่า สิ่งเหล่านี้เป็นข้อเท็จจริงที่เคยเกิดขึ้น และอาจยังคงมีอยู่ในทัศนคติของผู้ประกอบการบางราย แต่ภายใต้ยุคสมัยที่เปลี่ยนไป เชื่อว่าแนวคิดเหล่านั้นลดลงไปมากแล้ว ด้วยต้นทุนในการฝึกอบรมและพัฒนาทักษะบุคลากร ไม่ใช่ของแพง หรือเข้าถึงได้ยากอีกต่อไป
เนื่องด้วย ปัจจุบันมีซอฟต์แวร์ประยุกต์ หรือ แพลตฟอร์ม AI สำหรับการ Training ในองค์กร ที่ทำให้กิจกรรมนี้ทำได้ง่ายขึ้นภายในองค์กร ทำได้ทั้งในรูปแบบ ออนไลน์ และ ออฟไลน์ ซึ่งเป็นรูปแบบการ Digital Transformation เพื่อการฝึกอบรมทักษะบุคลากร ที่จะกล่าวถึง
ตัวอย่างเช่น การจัดโปรแกรมการฝึกอบรมทักษะดิจิทัลสำหรับพนักงานเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ซึ่ง SME พิจารณาว่าเป็นทักษะที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งยังเป็นทักษะพื้นฐานทั่วไปที่บุคลากรทุกคนควรต้องมีกทักษะด้านนี้ ก็สามารถทำได้ง่าย เช่น การใช้ Software as a Service สำหรับการฝึกอบรมทักษะ หรือ แพลตฟอร์มที่ให้บริการฝึกทักษะเฉพาะด้าน โดยผู้บริการด้านนี้จะมีโซลูชันให้เลือกมากมาย ขึ้นอยู่กับความต้องการและวัตถุประสงค์ ภายใต้งบประมาณที่ควบคุมได้
รวมถึงเพิ่มทักษะให้แก่บุคลากรที่จำเป็น เพื่อให้สอดรับการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจและตลาด เช่น Digital Marketing การใช้เครื่องมือ Social Media เพื่อสร้างยอดขายยุคใหม่ ทักษะการสื่อสารกับลูกค้า ตลอดจนทักษะการทำงานยุคใหม่ในด้านต่าง ๆ อาทิ การทำงานเป็นทีม การทำงานและการสื่อสารระยะไกลให้มีประสิทธิภาพ ภาวะผู้นำ เป็นต้น การฝึกอบรมทักษะเหล่านี้แก่บุคลากรภายในองค์ โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทสำคัญซึ่งไม่เพียงทำได้สะดวกมากขึ้น และยังช่วยให้องค์กรเตรียมความพร้อมไปสู่การพัฒนา และเติบโตอย่างเข้มแข็งขึ้นด้วย ดังนั้นคนที่มีทักษะเพียบพร้อมจะเป็นพลังงานที่ขับเคลื่อนธุรกิจ เพราะสุดท้ายแล้วเทคโนโลยีเป็นได้เพียงเครื่องมือที่เรานำมาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการทำงานนั้นเอง

สรุป! ทำไม SME ต้อง Digital Transformation
SME ที่ต้องการเติบโตต้องพร้อมปรับเปลี่ยน จำเป็นต้องปรับปรุงกระบวนการทำงานทุกส่วนให้สอดคล้องกับเทคโนโลยี และบริบทของการค้ายุคใหม่ ขณะเดียวกันยังต้องเพิ่มประสิทธิภาพ ลดการสูญเสีย ปรับปรุงรูปแบบสินค้า และบริการให้ดียิ่งขึ้น สร้างรูปแบบการทำงานที่มีประสิทธิภาพ สร้างวัฒนธรรมองค์กรที่สอดรับกับการเติบโต และบุคลากรมีทักษะเหมาะสมกับงาน สิ่งเหล่านี้หากไม่ทำจะส่งผลให้ SME สูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขัน หรือประกอบธุรกิจ ดังนั้น สาระสำคัญของ Digital Transformation จึงเป็นการปรับปรุงเพื่อพัฒนาอย่างเหมาะสม และต่อยอดไปสู่อนาคตต่อไป ก้าวสู่ปี 2568 ได้อย่างแข็งแกร่งและพร้อมรับความท้าทายใหม่ ๆ ทุกรูปแบบ
อ้างอิง :