AEC Connect | ทำไม ‘อาเซียน’ ถึงเติบโตแกร่งหลังโควิด?
อาเซียน มีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในปี 2563 อยู่ที่ 1.37 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากจุดที่เงินทุนไหลเข้าสูงที่สุดที่ 1.82 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2562 จากการครองตำแหน่งภูมิภาคที่มี FDI สูงที่สุดในบรรดาประเทศกำลังพัฒนา อย่างไรก็ดี อาเซียนยังคงเป็นจุดหมายปลายทางของการลงทุนที่น่าดึงดูดใจ โดยส่วนแบ่งตลาด FDI ทั่วโลกของภูมิภาคเพิ่มขึ้นจาก 11.9% ในปี 2562 เป็น 13.7% ในปี 2563 ขณะที่ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนเพิ่มขึ้นจาก 12% เป็น 17%
นอกจากนี้ เทรนด์ในระยะยาวยังแสดงให้เห็นว่ามูลค่าทางการเงินของโครงการระหว่างประเทศต่างๆ ในอาเซียนเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า จากค่าเฉลี่ยประจำปีเดิมอยู่ที่ 3.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2558-2560 เป็น 7.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2561-2563 ซึ่งมีแนวโน้มสดใสยิ่งขึ้นในอนาคต
ตามรายงานของ ASEAN Development Outlook (ADO) พบว่า GDP รวมทั้งหมดของ 10 ประเทศในอาเซียนในปี 2562 มีมูลค่าอยู่ที่ 3.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้อาเซียนกลายเป็นเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 5 ของโลก และมีแนวโน้มที่จะใหญ่เป็นอันดับ 4 ภายในปี 2573 ด้วยประชากรทั้งหมด 700 ล้านคน และ 61% มีอายุต่ำกว่า 35 ปี ซึ่งคนหนุ่มสาวส่วนใหญ่ในภูมิภาคเปิดรับเทคโนโลยีดิจิทัลเข้าไปใช้ในชีวิตประจำวันด้วย
ทั้งนี้ อาเซียนมีแนวโน้มในการเติบโตที่ดีจากความพยายามที่จะรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และมีการพัฒนาที่สำคัญๆ หลายอย่างภายในภูมิภาค ประกอบด้วย
1. ประเทศสมาชิกรับมือกับการแพร่ระบาดร่วมกัน
อาเซียนประสานงานกันเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาด โดยร่วมมือกันเพื่อสร้างสภาพคล่องของการขนส่งสินค้าจำเป็น ปรับความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทาน และการจัดหาสินค้าในภูมิภาค ซึ่งการร่วมมือกันนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งเพราะ FDI ของอาเซียนเชื่อมโยงกับกิจกรรมห่วงโซ่คุณค่าในตลาดหรือเครือข่ายการผลิตที่เชื่อมโยงกันทั้งภายในและภายนอกภูมิภาค
2. ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP)
RCEP เป็นความตกลงการค้าเสรีระดับภูมิภาคที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่ปรากฏอยู่ ซึ่งครอบคลุม 30% ของ GDP ทั่วโลก 30% ของประชากรทั่วโลก และมีสัดส่วนเป็น 1 ใน 4 ของการค้าสินค้าและบริการทั้งหมดของโลก โดย 40% ของการลงทุนในอาเซียนมาจากสมาชิก RCEP และ 24% มาจากประเทศสมาชิก RCEP ที่ไม่ได้อยู่ในอาเซียน ทั้งนี้จึงมีโอกาสที่จะส่งเสริม FDI ที่ยั่งยืนมากขึ้นในภูมิภาคได้
3. การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 และการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล
อาเซียนมีการใช้ยุทธศาสตร์ว่าด้วยการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (4IR) ในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 38 และ 39 และความตกลงอาเซียนด้านการค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่จะช่วยผลักดันการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล รวมถึงการลงทุนของเอกชนในโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลอย่างเครือข่าย 5G และศูนย์ข้อมูล การลงทุนใน Cloud Computing ความปลอดภัยทางไซเบอร์ ปัญญาประดิษฐ์ และการผลิตอัจฉริยะ
4. ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน
รัฐบาลมีบทบาทสำคัญในการสร้างแรงจูงใจในการลงทุนการวิจัยและพัฒนา ขณะที่ภาคเอกชนจะขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรม 4.0 ผ่านการลงทุนดิจิทัลในการผลิต รวมถึงการหาโซลูชั่นการผลิตขั้นสูง การสร้างโรงงานอัจฉริยะ และการสร้างศูนย์ R&D ศูนย์เทคโนโลยี และศูนย์ความเป็นเลิศในภูมิภาค พร้อมควบคู่ไปกับการสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมที่จะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของภูมิภาค สามารถดึงดูด FDI ที่ให้ความสำคัญเรื่องความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ให้เข้ากับการลงทุนใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศและมาตรฐานการค้าที่กำหนดโดยประเทศพัฒนาแล้วต่างๆ ได้
ที่มา:
https://www.weforum.org/agenda/2022/01/asean-is-poised-for-post-pandemic-inclusive-growth-and-prosperity-heres-why/
ผู้เรียบเรียง: ณภัสสร มีไผ่แก้ว
╔═══════════╗
ติดตามช่องทางอื่นๆ ของ AEC Connect
YouTube: https://bit.ly/3wunilQ
Blockdit: https://bit.ly/3xlPhE3
Tiktok: https://vm.tiktok.com/ZM8XcMGx5/
LINE OA: https://lin.ee/vPLU1bd
╚═══════════╝