พฤติกรรมคนมาเลเซียในปัจจุบันกับแนวคิดการลดการใช้ที่ก่อให้เกิดขยะพลาสติกคล้ายๆ
กับผู้บริโภคชาวไทย อาทิ แคมเปญการรณรงค์ “Tak Nak Straw” หรือ “ไม่เอาหลอด” และ “Zero Waste” ซึ่งทำให้เกิดตลาดใหม่ สำหรับธุรกิจที่ต้องการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่ให้ความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม
ในด้านผลกระทบต่อภาคธุรกิจมาเลเซีย ผู้บริโภคในมาเลเซียที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมเริ่มมีการรวมกลุ่มทางสังคม
เกิดธุรกิจใหม่ๆ ที่เข้ามา ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในกลุ่มนี้ เช่น
เกิดร้านค้าที่จำหน่ายสินค้าแบบไม่มีบรรจุภัณฑ์เพิ่มมากขึ้น อาทิ ร้านจำหน่ายของแห้ง
และผลิตภัณฑ์ personal care ส่วนภาคธุรกิจในกระแสหลักหลายรายก็มีการ
ปรับตัวสู่การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน
ตลาดดังกล่าวก็ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นและมีความท้าทายหลายประการ กรณีตัวอย่างของการรวมกลุ่มทางสังคมและรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ ในมาเลเซียรวมทั้งความท้าทายที่เกิดขึ้น มีที่น่าสนใจอาทิ
ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme
ค้าปลีก
Zero Waste Malaysia (ZWM) เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรที่เติบโตขึ้นมาจากตั้งกลุ่ม
Facebook ในปี 2559 และปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 20,000
คน ซึ่งมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างกัน เกี่ยวกับความเป็นอยู่อย่างยั่งยืน
(sustainable living) และทำให้เห็นถึงความต้องการของผู้บริโภคต่อร้านค้าที่ปราศจากบรรจุภัณฑ์
จากเดิมร้านค้าดังกล่าวมีจำนวนเพียง 6-7 ร้านในแถบคลังวัลเล่ย์ แต่ปัจจุบันมีจำนวนร้านค้าที่อยู่ในกลุ่มนี้ (zero-waste related store) มากกว่า
500 ร้านค้า
บทบาทของ ZWM คือ ได้จัดพิมพ์รายชื่อร้านค้าและแผนที่ออนไลน์
(Zero Waste Map) ไปยังร้านค้า/สถานที่ที่เกี่ยวข้อง อาทิ
ร้านค้าปราศจากบรรจุภัณฑ์ ร้านบริการซ่อมต่างๆ และสถานที่ทำปุ๋ยหมักในชุมชน
เป็นต้น นอกจากนี้จะมีการมอบใบรับรองแก่ธุรกิจต่างๆ
โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจาก Zero Waste Saigon และ
Zero Waste France ซึ่งมีการมอบใบรับรองแก่ธุรกิจ โรงเรียน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่มีการดำเนินการในแนวทางที่ยั่งยืน
เพื่อนำไปสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน
แม้แต่กรณีของร้านจำหน่ายน้ำยาซักผ้าที่ไม่มีบรรจุภัณฑ์ภายใต้ชื่อ
BYOB (Bring Your Own Bottle) ซึ่งเริ่มต้นธุรกิจจากแนวคิดที่เห็นขวดน้ำยาซักผ้าจำนวนมากถูกนำไปรีไซเคิล
แต่การรีไซเคิลดังกล่าวทำให้เกิด carbon footprint และต้นทุนทางการเงิน ทางออกที่สมเหตุสมผลมากกว่าจึงควรเป็นการนำกลับมาใช้ใหม่
ผู้ก่อตั้ง BYOB จึงได้ตัดสินใจเปิดร้านจำหน่ายน้ำยาซักผ้าที่ให้ลูกค้านำบรรจุภัณฑ์มาเอง
7 สาขา ในช่วง 2 ปีแรก แต่ต่อมาก็เหลือเพียง 2 สาขา
เนื่องจากผู้บริโภคจำนวนมากรับทราบเกี่ยวกับการรีไซเคิล แต่ยังไม่เข้าใจหลักการนำกลับมาใช้ใหม่
ช่วง 3 ปีแรกในการดำเนินธุรกิจของ BYOB จึงเป็นช่วงเวลาที่ค่อนข้างลำบาก
แต่เมื่อมีกระแสไวรัลเรื่องขยะพลาสติกก็ทำให้ผู้บริโภคมีความตื่นตัว ปัจจุบัน BYOB
ก็กลับมาเปิดสาขาได้เพิ่มขึ้นเป็น 4 สาขา
ร้าน Hive Bulk Foods เป็นอีกร้านที่จำหน่ายอาหารประเภท
whole food และสินค้าอุปโภคโดยไม่มีบรรจุภัณฑ์ที่เริ่มดำเนินกิจการมาตั้งแต่ปี
2558 ประสบภาวะขาดทุนในช่วง 2 ปีแรก
แต่ปัจจุบันสามารถขยายสาขาได้ 5 สาขา ในแถบคลังวัลเล่ย์และกรุงกัวลาลัมเปอร์
ร้าน Olive Tree เป็นผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์บำรุงผิวจากธรรมชาติและสบู่
และมีบริการจัดส่งสินค้า Olive Tree จะให้ส่วนลดแก่ลูกค้าที่นำขวดของ Olive
Tree กลับมาคืน ทำให้ได้รับขวดคืนมาประมาณร้อยละ
30 ซึ่งร้านจะนำมาทำความสะอาดและส่งกลับไปใช้ใหม่ในสาขาต่างๆ
นอกจากนี้ยังมีกล่องที่ทำขึ้นเองจากกระดาษรีไซเคิลสำหรับผลิตภัณฑ์ที่ใช้บริการจัดส่ง
ทั้งนี้
ผู้ประกอบการในกลุ่มตลาดนี้เชื่อว่า ในอีก 10 ปีข้างหน้าร้านค้าปลีกที่ไม่มีบรรจุภัณฑ์ในแบบที่ตนทำอยู่จะไม่มีอีกต่อไป
แต่แนวคิดดังกล่าวจะเข้าสู่การค้าปลีกกระแสหลัก (mainstream) เช่น
NSK Trade City หรือ Tesco ที่มีส่วนจำหน่ายสินค้าที่ไม่มีบรรจุภัณฑ์
โรงแรม
ทั้งในปัจจุบันธุรกิจโรงแรม อาทิ Westin
ได้เริ่มงดให้บริการน้ำในขวดพลาสติก แต่ได้ติดตั้งเครื่องกรองน้ำในห้องแทน
ทำให้เกิดแรงต้านจากลูกค้าค่อนข้างมากในระยะแรก อย่างไรก็ดีเมื่อโรงแรมให้ข้อมูลชี้แจงสาเหตุที่ไม่บริการน้ำในขวดพลาสติกผ่านโทรทัศน์ในห้องพัก
และการพูดคุยกับลูกค้าตั้งแต่ล็อบบี้ก็ทำให้แขกที่เข้าพักยินดีร่วมมือมากขึ้น การให้ความรู้แก่ผู้บริโภคอย่างต่อเนื่องจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง
โรงแรมอื่นๆ
ก็มีการบริการสบู่และแชมพูโดยใช้เครื่องจ่าย (dispenser) นอกจากเรื่องความตระหนักรู้ของผู้บริโภคแล้ว
ความท้าทายอีกประการคือ สินค้าที่จำหน่ายอยู่ในร้านค้าไร้บรรจุภัณฑ์มักจะมีราคาแพง
ซึ่งเป็นประเด็นเรื่อง economy of scale ที่ธุรกิจจะมีต้นทุนต่อหน่วยที่ต่ำลง
เมื่อธุรกิจขยายขนาดการผลิตมากขึ้น หรือได้รับการสนับสนุนจากผู้บริโภคเพิ่มขึ้น
การหาผู้ผลิตสินค้าที่ยินยอมจัดส่งสินค้า ที่ไม่ใช้บรรจุภัณฑ์ก็เป็นอีกหนึ่งความท้าทาย
ร้านจำหน่ายสินค้าไร้บรรจุภัณฑ์จำเป็นต้องหาผู้ผลิตซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้ผลิตในท้องถิ่น
แต่ผู้ผลิตบางส่วนก็มักจะไม่รับจัดส่ง
เนื่องจากปริมาณการสั่งซื้อค่อนข้างน้อย
ร้านอาหาร
ธุรกิจร้านอาหารหลายร้านในมาเลเซียก็มีความพยายามลดขยะจากอาหาร
เช่น ร้าน n Viet ที่มี แนวคิด Zero Food Waste Hero โดยให้ลูกค้าเลือกขนาดรับประทานและเพิ่มขนาดได้โดยไม่คิดเงิน
อีกทั้งยังให้ลูกค้าบริการใบโหระพาด้วยตนเองจากต้นโพระหาที่ตั้งไว้ทุกโต๊ะ
เพื่อลดขยะอาหารจากใบโหระพาที่เสิร์ฟ
มาพร้อมกับอาหารเวียดนามซึ่งลูกค้าบางรายไม่รับประทาน
ร้านอาหารบางร้านก็ไม่บริการซอสหรือช้อนส้อม
พลาสติก หรือใช้บรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ นอกจากนี้
หลังจากกระแสความนิยมชานมไข่มุกเข้ามายังมาเลเซีย ก็ได้สร้างขยะพลาสติกจำนวนมาก
หากมีการนำแก้วมาใส่เองและได้รับส่วนลดเหมือน Starbuck ก็จะช่วยลดปัญหาได้มาก
ในส่วนของการสนับสนุนจากภาครัฐ ปัจจุบันรัฐบาลท้องถิ่นในหลายรัฐมีนโยบายลด/เลิกใช้ถุงพลาสติก และหลอด แต่ยังสามารถให้การสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียนได้เพิ่มเติม โดยให้แรงจูงใจทางภาษีและเงินกู้แก่ธุรกิจขนาดเล็ก
โอกาสและแนวทางในการปรับตัวของเอกชนไทย
ด้วยข้อจำกัดในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ซึ่งยังจำเป็นต้องอาศัยบรรจุภัณฑ์สำหรับสินค้าการขยายตัวของร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ปราศจากบรรจุภัณฑ์
อาจไม่ใช่โอกาสสำหรับสินค้าส่งออกของไทย แต่เป็นโอกาสสำหรับอุตสาหกรรมการผลิตท้องถิ่นของมาเลเซียเอง
อย่างไรก็ดี สินค้าไทยยังมีโอกาสทางการตลาดในส่วนของบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หลอดที่ทำจากกระดาษหรือวัสดุย่อยสลายได้ในธรรมชาติ
เช่น หลอดทำจากไม้ไผ่และแป้งข้าว
ภาชนะใส่น้ำและอาหารที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ รวมทั้งผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติหรือปราศจากสารเคมีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ซึ่งสามารถตอบสนองกระแสความต้องการของผู้บริโภคที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมในมาเลเซีย
รวมทั้งภาคธุรกิจในมาเลเซียที่มีแนวโน้มจะดำเนินธุรกิจในแนวทางที่ยั่งยืนมากขึ้น
ประกอบกับกฎระเบียบของรัฐที่บังคับใช้ในหลายรัฐเพื่อลดปริมาณถุงพลาสติก
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยอาจสามารถปรับรูปแบบบรรจุภัณฑ์ให้สามารถใส่สินค้าได้ในปริมาณมากขึ้น
แทนที่จะใช้บรรจุภัณฑ์ย่อยๆ หรือบรรจุภัณฑ์หลายชั้น
ตลอดจนลดขนาดบรรจุภัณฑ์ให้สอดคล้องกับปริมาณบรรจุสินค้าให้มากขึ้น โดยนำความยั่งยืนในการประกอบธุรกิจมาเป็นจุดขายของสินค้าได้ต่อไป