'รถพลังงานไฮโดรเจน' กับ 'รถพลังงานไฟฟ้า' ควรหันหน้าไปทางไหนดี หากจุดหมายคือการมุ่งสู่ ‘สังคมไร้คาร์บอน’

SME Update
28/10/2023
รับชมแล้วทั้งหมด 13911 คน
'รถพลังงานไฮโดรเจน' กับ 'รถพลังงานไฟฟ้า' ควรหันหน้าไปทางไหนดี หากจุดหมายคือการมุ่งสู่ ‘สังคมไร้คาร์บอน’
banner
ทุกวันนี้รถยนต์ที่วิ่งอยู่บนท้องถนนใช้พลังงานขับเคลื่อนมากมายหลายประเภท ทั้งรถที่ขับเคลื่อนด้วยน้ำมันเชื้อเพลิง, แก๊สรถยนต์ แต่ที่กำลังเป็นกระแสมาแรงช่วงนี้เลย คือรถยนต์ไฟฟ้า หรือที่เราเรียกกันว่ารถ EV ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ที่ตอบโจทย์การใช้งานของคนเมืองในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี

แต่รู้หรือไม่ว่า? นอกจากรถ EV ที่เรารู้จักกันดี ยังมีการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ออกแบบมาเพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อม อย่าง รถพลังงานไฮโดรเจน ที่ซึ่งกำลังเป็นเมกะเทรนด์ที่น่าจับตามองในตอนนี้

Bangkok Bank SME ขอนำข้อมูลเพื่อเป็นแนวทางการตัดสินใจให้กับผู้บริโภคและผู้ประกอบการ SME ที่กำลังคิดปรับเปลี่ยนธุรกิจให้สอดรับกับกระแสของโลก แนวโน้มของตลาดรถยนต์ไฟฟ้า (EV) และ รถยนต์พลังงานไฮโดรเจนจะเป็นอย่างไร และอัตราการเติบโตในอนาคตเป็นไปในทิศทางใด ในการจะก้าวไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ติดตามข้อมูลได้ในบทความนี้



รถยนต์ไฟฟ้า Tesla ตัวจุดกระแสความยั่งยืน 

ในช่วงปี 2015 เป็นต้นมา องค์การสหประชาชาติ เริ่มวางเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยวางนโยบาย Sustainable Development Goals (SDGs) เป็นชุดเป้าหมายการพัฒนาระดับโลกที่ได้รับการรับรองจาก 193 ประเทศสมาชิก ทำให้ประชาคมโลกเริ่มหันมาให้ความสำคัญในเรื่องความยั่งยืน อย่างจริงจัง

ซึ่งหลังจากที่ UN ประกาศเป้าหมายนี้เพียง 2 ปี รถยนต์ไฟฟ้าขวัญใจมหาชนอย่าง Tesla ก็เริ่มวางจำหน่ายและใช้เวลาไม่ถึง 10 ปี นับตั้งแต่เปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าที่มีราคากลาง ๆ หลายรุ่นที่ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงได้ จึงทำยอดขายถล่มทลายกว่าปีละประมาณ 1.3 ล้านคันทั่วโลก 

เหตุผลที่รถยนต์ไฟฟ้าจุดกระแสติด ส่วนหนึ่งมาจากการสอดรับกับนโยบาย SDGs ที่กระตุ้นให้ประชาคมโลกเกิดความตระหนักเรื่องความยั่งยืน (Sustainability) และแน่นอนว่ารถยนต์ไฟฟ้าไม่ได้ใช้น้ำมันที่เป็นตัวการก่อภาวะโลกร้อน ดังนั้นก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากการใช้งานจึงเท่ากับศูนย์ รถไฟฟ้าจึงกลายเป็นเหมือนฮีโร่ที่ช่วยกอบกู้โลกในช่วงเวลานั้น



ส่งผลให้ผู้นำในอุตสาหกรรมยานยนต์ต้องปรับตัวกันครั้งใหญ่ เพื่อแข่งขันในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าไม่ใช่แค่กับ Tesla เท่านั้น แต่ยังรวมถึงค่ายรถยนต์หน้าใหม่จากจีนที่เกิดขึ้นราวดอกเห็ด เพราะนอกจากรถยนต์ไฟฟ้าจะทำลายข้อจำกัดของเครื่องยนต์สันดาปแล้วยังเอื้อให้เกิดผู้พัฒนารายใหม่เข้ามาในตลาดได้ง่ายขึ้นอีกด้วย

เนื่องจากรถยนต์ไฟฟ้าไม่มีชิ้นส่วนมากมายเหมือนรถยนต์สันดาป เพราะองค์ประกอบหลักมีเพียงแบตเตอรี่และมอเตอร์ไฟฟ้า ทำให้ผู้พัฒนารายย่อยไม่จำเป็นต้องใช้ Know How ในเรื่องเครื่องยนต์ที่ค่ายใหญ่ต่างเก็บเป็นความลับด้านเทคโนโลยีของตัวเองมากว่า 100 ปี เห็นได้จากแบรนด์รถยนต์น้องใหม่จากจีนทยอยออกรถยนต์ไฟฟ้ากันอย่างต่อเนื่อง หรือแม้กระทั่งค่ายรถยนต์ชั้นนำทั่วโลกอย่าง Mercedez-Benz, Audi, Posrche, BMW, Volvo, ก็หันมาพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าของตัวเองได้ในระยะเวลาไม่นาน

ด้วยระยะเวลาเพียงแค่ไม่ถึง 20 ปีรถยนต์ไฟฟ้าก็พัฒนาอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จนในปัจจุบันมีรถยนต์ไฟฟ้าทั้งในรูปแบบ EV และ PHEV วิ่งอยู่บนท้องถนนราว 27 ล้านคัน โดยในปี 2022 ที่ผ่านมายอดขายรถยนต์ทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ 80.6 ล้านคัน เป็นรถยนต์ไฟฟ้า 7.8 ล้านคัน หรือพูดได้ว่าประมาณเกือบ 10% ของยอดขายรถทั้งหมดเป็นรถยนต์ไฟฟ้าและมีแนวโน้มจะเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคต 



‘รถยนต์ไฟฟ้า’ คือคำตอบยานยนต์แห่งอนาคตจริงหรือ?

 อนาคตของรถยนต์ไฟฟ้าดูสดใสและดูเหมือนกำลังจะเป็นคำตอบสุดท้ายของวิวัฒนาการด้านยานยนต์  แต่การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าต้องอาศัยวัตถุดิบจากโลหะหายากหลายชนิด หนึ่งในส่วนประกอบสำคัญ คือ ลิเทียม โลหะหายากที่เป็นองค์ประกอบสำคัญในการผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน หัวใจหลักของรถยนต์ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เกือบทุกชนิดในปัจจุบัน ถือเป็นหนึ่งในโลหะที่ได้รับความสำคัญยิ่งขึ้นในยุคหลัง
 
ขณะที่ช่วงที่ผ่านมาราคาแร่ลิเทียมพุ่งขึ้นจาก 372,000 บาทต่อตัน เป็น 2.6 ล้านบาทต่อตันในระยะเวลาเพียงแค่ 1ปี ซึ่งสูงถึง 6 – 7 เท่าตัวเลยทีเดียว จากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นของลิเทียมในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นกว่า 5 – 6 หมื่นบาท/คัน อีกทั้งแม้จะผ่านช่วงนี้จนราคาเริ่มปรับตัวลง แนวโน้มของราคาก็ไม่มีทางลดลงเท่ากับก่อนหน้านี้อย่างแน่นอน



นอกจากลิเทียมแล้ว แร่ชนิดอื่นก็เริ่มขาดตลาด เช่น กราไฟต์ (Graphite) ที่ใช้ในขั้วแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนซึ่งประสบปัญหาขาดแคลน เช่นเดียวกับพาลาเดียมที่ถูกใช้งานในเซลล์เชื้อเพลิง ราคาแร่ปรับตัวสูงทำให้ต้นทุนการผลิตสูงตาม นั่นทำให้ช่วงที่ผ่านมารถยนต์ไฟฟ้าบางรุ่นต้องทยอยปรับราคา 
 
ปัจจัยที่ส่งผลกระทบไม่แพ้กันคือสงครามยูเครน-รัสเซีย นอกจากทำให้สายการผลิตแร่หายากจำนวนมากติดขัด ยังทำให้การผลิตพลังงานของประเทศฝั่งยุโรปมีปัญหา ผลลัพธ์คือปริมาณไฟฟ้าไม่เพียงพอในการใช้งาน ส่งผลกระทบต่อรถยนต์ไฟฟ้าโดยตรง 
 
ข้อจำกัดเหล่านี้เอง ทำให้เริ่มมีการตั้งคำถามว่า เทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้า จะเป็นยานยนต์แห่งอนาคตได้จริงหรือ? ในเมื่อวัสดุในการผลิตนั้นหายากมีเพียงบางประเทศเท่านั้น การนำอุตสาหกรรมหลักของประเทศไปผูกติดกับเรื่องนี้ถือเป็นความเสี่ยง จึงเริ่มมีผู้มองหาเทคโนโลยีทางเลือกขึ้นมาแข่งขันและทดแทนรถยนต์ไฟฟ้าเช่นกัน


ภาพจาก สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย

ยานยนต์ไฟฟ้าแห่งอนาคตที่จะไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาเลยนั้น จะต้องเป็นประเภท BEV และ FCEV เท่านั้น โดยมีเงื่อนไขว่า การผลิตไฟฟ้าเพื่อชาร์จเข้าสู่แบตเตอรี่ของรถ BEV และการผลิตไฮโดรเจนนั้น จะต้องมีต้นทางมาจากพลังงานหมุนเวียนที่ไม่มีการปล่อยคาร์บอนเท่านั้น จึงจะถือว่าไม่ปล่อยคาร์บอนสู่บรรยากาศได้อย่างแท้จริง ดังนั้น BEV และ FCEV จึงถือเป็นทางเลือกที่มีศักยภาพทั้งคู่ 



 พลังงานไฮโดรเจน กับการผลักดันของ Toyota

หากมองภาพรวม อนาคตของรถยนต์ไฟฟ้าน่าจะเป็นคำตอบสุดท้ายด้านยานยนต์ แต่คงมีหลายคนสงสัยว่า Toyota ค่ายรถยักษ์ใหญ่ที่มีมูลค่าเป็นอันดับ 2 ของโลก ทำไมไม่มองอย่างนั้น หากย้อนกลับไปเมื่อ 25 ปีก่อน Toyota คือ 1 ในผู้นำการพัฒนารถแบบ Hybrid โดยมี Toyota Prius เป็นรถยนต์ Hybrid รุ่นสำคัญที่ปัจจุบันถูกพัฒนาออกมาถึง 5 Generations และสามารถส่งขายได้มากกว่า 4 ล้านคันทั่วโลก

Toyota จึงอยู่ในฐานะผู้บุกเบิกวงการแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้ามายาวนานไม่แพ้ค่ายอื่น แต่กลับเลือกพัฒนา ‘รถยนต์พลังงานไฮโดรเจน’ แทนที่จะต่อยอดสิ่งที่ตัวเองพัฒนามาหลายสิบปีอย่างแบตเตอรี่เพื่อไปสู่รถยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบ  



ซึ่งเหตุผลที่ Toyota เลือกพัฒนาพลังงานไฮโดรเจน เพราะมองว่า การพัฒนารถยนต์เซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่มีศักยภาพ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า ขณะที่ รถยนต์ไฟฟ้า หรือ รถ EV ยังติดข้อจำกัดหลายอย่าง อาทิ ระยะเวลาการชาร์จพลังงานที่เร็วสุด ตอนนี้ต้องมีอย่างน้อย 20-30 นาที ผู้ใช้งานต้องวางแผนการเดินทางอย่างรอบคอบ และแบตเตอรี่ยังมีราคาสูง ค่าประกันภัยก็สูงมาก เมื่อเทียบกับรถยนต์ใช้น้ำมัน ปัญหาใหญ่ที่หลายคนเลือกมองข้าม คือรถยนต์ไฟฟ้าเป็นการแก้ปัญหาที่โลกร้อนที่ปลายเหตุ

จริงอยู่ที่รถยนต์ไฟฟ้าไม่สร้างมลพิษจากการขับขี่แต่ก็บริโภคไฟฟ้าไม่น้อย โดยเฉลี่ยรถยนต์ไฟฟ้าจะกินไฟประมาณ 5 กิโลเมตร/ 1 หน่วยไฟฟ้า ซึ่งเป็นระยะทางที่ถือว่าไม่ได้ไกลมาก สมมุติว่าเราเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด สิ่งที่ตามมาคือการผลิตไฟฟ้าต้องเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล แม้ในปัจจุบัน กระบวนการผลิตไฟฟ้าหลายแห่งทั่วโลกพยายามลดการใช้พลังงานที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ต้องยอมรับว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินในโลกไม่ได้หายไปในทันที แม้ว่าประชาคมโลกจะตั้งเป้าไว้ว่าภายในปี 2030 ต้องยุติโรงไฟฟ้าถ่านหินทั่วโลกก็ตาม



นอกจากการบริโภคไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นแบบทวีคูณแล้ว อีกสิ่งที่นับว่าเป็นปัญหาของรถยนต์ไฟฟ้า คือแบตเตอรี่ เพราะเมื่อเซลล์ของแบตเตอรี่เสื่อมจนหมดอายุการใช้งาน ซึ่งวันนี้ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่า จะทำอย่างไรกับแบตเตอรี่เสื่อมสภาพแล้ว เนื่องจากเป็น ขยะอันตราย ที่ไม่สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ

ด้วยปัญหาที่กล่าวมาจึงเป็นสาเหตุให้ Toyota เลือกที่จะเดินบนเส้นทางที่ไม่เหมือนใครในการพัฒนารถยนต์พลังงานจากไฮโดรเจน เพราะนอกจากพลังงานไฟฟ้าแล้ว ไฮโดรเจนก็เป็นพลังงานที่ไม่สร้างมลพิษในการขับขี่เช่นกัน อีกทั้งการพัฒนาพลังงานไฮโดรเจนของ Toyota ก็เดินมาสู่ Generation 2 แล้ว ซึ่งได้มีการเปิดตัว Toyota Mirai ที่ยังใช้เครื่องยนต์สันดาปอยู่แต่เปลี่ยนจากการเติมเชื้อเพลิงด้วยน้ำมันเป็นไฮโดรเจนแทน หรือที่เรียกว่าเครื่องยนต์ Hydrogen Combustion



รถพลังงานไฮโดรเจน แตกต่างจาก รถยนต์ไฟฟ้า อย่างไร 

ข้อดีของพลังงานไฮโดรเจนคือ การเป็นพลังงานสะอาดประสิทธิภาพสูง มีคุณสมบัติในการจ่ายพลังงานมากกว่าเชื้อเพลิงชนิดอื่น เมื่อเทียบกับน้ำมันเบนซินมีประสิทธิภาพสูงกว่าถึง 2.8 เท่า และสูงกว่าดีเซลถึง 4.5 เท่า อีกทั้งเมื่อเกิดการเผาไหม้จะก่อให้เกิดเพียงน้ำและออกซิเจนซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ก่อให้เกิดควัน ฝุ่นละออง และมลพิษใด ๆ

 นอกจากนี้ ไฮโดรเจน ยังเป็นพลังงานที่สามารถหาได้จากน้ำหรือการทำปศุสัตว์ จึงทำให้ไฮโดรเจนได้เปรียบแบตเตอรี่ในระยะยาว เพราะสารตั้งต้นของไฮโดรเจนไม่ก่อให้เกิดผลเสียต่อโลกเท่ากับการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน 

อย่างไรก็ตาม พลังงานชนิดนี้ก็มีข้อเสีย ทั้งในด้านการจัดเก็บและขนส่งซึ่งต้องมีอุปกรณ์เฉพาะมารองรับ มีความซับซ้อนในกระบวนการผลิต ส่งผลให้ต้องใช้เครื่องมือเฉพาะทางจนมีต้นทุนในการแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงสูง และจำเป็นต้องมีการวางโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่คอยรองรับ ทำให้เชื้อเพลิงชนิดนี้ไม่แพร่หลายเท่าที่ควร แต่ข้อจำกัดเหล่านั้นกำลังทยอยได้รับการปรับปรุงแก้ไขผ่านการพัฒนาเทคโนโลยีในปัจจุบัน 



ประเทศไหนใช้ยานพาหนะพลังงานไฮโดรเจนกันแล้วบ้าง

การใช้ไฮโดรเจนรูปแบบใหม่เป็นสัญญาณบ่งบอกถึงความก้าวหน้าไปสู่อนาคต  ปัจจุบันมีผู้ที่เล็งเห็นคุณสมบัตินี้และเริ่มการพัฒนาเพื่อใช้ประโยชน์ ยกตัวอย่าง 


ภาพจาก Railway-News.com

ประเทศเยอรมนี เริ่มมีการใช้ ‘รถไฟพลังงานไฮโดรเจน’ (Hydrogen Fuel Cell Train) ขบวนแรกแล้ว แทนรถไฟใช้น้ำมันดีเซล โดยปัจจุบันประเทศเยอรมนีมีรถไฟที่ขับเคลื่อนด้วยดีเซลอยู่ประมาณ 20 % ดังนั้นจึงมีความต้องการเปลี่ยนเป็นรถไฟพลังงานไฮโดรเจนอยู่ถึง 2,500 – 3,000 คัน 


ภาพจาก Railway-News.com

นอกจากนี้ บริษัทสตาร์ทอัพหลายแห่งใน สหรัฐฯและเยอรมนี เริ่มพัฒนาเครื่องบินพลังงานไฮโดรเจนมากขึ้น เช่น เครื่องบิน HY4 และ Celera 500L ซึ่งกำหนดออกสู่ตลาดภายในปี 2025 เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมการบินให้เข้าสู่พลังงานสะอาดอย่างเต็มตัว


ภาพจาก interestingengineering.com

ประเทศฝรั่งเศส เริ่มผลิต ‘รถจักรยานพลังงานไฮโดรเจน’ ออกสู่ตลาด โดยกลุ่มเป้าหมาย คือ บริษัทขนส่งสินค้า รัฐบาลส่วนท้องถิ่น และบริษัทเช่าจักรยาน โดยจักรยานพลังงานไฮโดรเจนนี้สามารถวิ่งได้ประมาณ 100 กิโลเมตร จากการใช้ไฮโดรเจนจำนวน 2 ลิตร 

โดยใช้เวลาเพียงไม่กี่นาทีในการเติมพลังงาน ซึ่งดีกว่าจักรยานไฟฟ้าที่ต้องชาร์จไฟทีละหลายชั่วโมง นอกจากนี้ยังมีบริษัท Hopium ของฝรั่งเศสได้เปิดตัวรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฮโดรเจน ซึ่งมีความแรง 500 แรงม้า ทำความเร็วสูงสุดได้ 230 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และวิ่งได้ไกลสูงสุดกว่า 1,000 กิโลเมตรต่อการเติมเชื้อเพลิง 1 ครั้ง โดยจะมีถังบรรจุไฮโดรเจน 6 กิโลกรัม ซึ่งใช้เวลาเติมเพียงไฮโดรเจนเพียง 3 นาทีเท่านั้น

อีกทั้งยังมีบริษัท Compagnie Fluvial de Transport (CFT) สัญชาติฝรั่งเศส เริ่มใช้เรือขนส่งสินค้าเชิงพาณิชย์ โดยใช้พลังงานไฮโดรเจนในการขนส่งสินค้า ซึ่งเป็นการร่วมพัฒนาเทคโนโลยีเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell) และ Hydrogen Joint Undertaking (FCH JU) ระหว่างฝรั่งเศสและนอร์เวย์ ภายใต้งบประมาณจากโครงการ Horizon 2020 ของสหภาพยุโรป เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีที่ยั่งยืนสำหรับการขนส่งทางน้ำ



สิงคโปร์ ก็เดินหน้าผลิตเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน สำหรับรถยนต์ในการพาณิชย์แล้ว

สำหรับประเทศเพื่อนบ้านเราที่น่าจับตามอง คือ ประเทศสิงคโปร์ เขาตั้งเป้ายุติการใช้รถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในปี 2583 และมุ่งศึกษาพลังงานสะอาดทางเลือกใหม่ที่ยั่งยืนกว่า เพื่อใช้ในการคมนาคมขนส่งทางบกอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนอกจากการเพิ่มการใช้รถยนต์ไฟฟ้าแล้ว การใช้เซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจนเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของพลังงานสะอาดที่กำลังจะถูกนำกลับมาทดลองใช้กับรถยนต์บนถนนของสิงคโปร์อีกครั้ง
             

ภาพจาก Spectronik (https://www.spectronik.com/gallery)

โดยบริษัทสตาร์ทอัพผู้พัฒนาและผลิตเซลล์เชื้อเพลิง (fuel cell) ได้เริ่มพัฒนา ‘เซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน’ ที่ผลิตไฟฟ้า ตั้งแต่ปี 2554  เพื่อเป็นแหล่งจ่ายพลังงานให้กับอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น โดรน หุ่นยนต์ และยานพาหนะอื่น ๆ เช่น รถรับ-ส่ง (shuttle) และรถกอล์ฟ (buggy) ขณะที่ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 นี้ บริษัทจะเริ่มนำเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจนมาทดลองใช้งานกับรถบรรทุกขนาดเล็กครั้งแรกของสิงคโปร์เป็นเวลา 1 ปี


ภาพจาก Spectronik (https://www.spectronik.com/gallery)

โดยรถบรรทุกทดลองคันดังกล่าว สามารถบรรทุกได้มากถึง 1 ตัน ขับได้ไกลถึง 500 กิโลเมตร ทำความเร็วสูงสุด 44 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยใช้เวลาเติมไฮโดรเจนแต่ละครั้งเพียง 5 นาทีเท่านั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการทดสอบสมรรถนะและความปลอดภัยให้มีประสิทธิภาพที่มาตรฐานสากล



แนวโน้มการใช้เซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจนในสิงคโปร์

รัฐบาลสิงคโปร์ วางแผนเพิ่มการใช้รถยนต์ EV ที่ใช้แบตเตอรี่ลิเทียมเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกับรถยนต์นั่ง รวมทั้งการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการใช้งานรถไฟฟ้า อาทิ การเร่งติดตั้งเครือข่ายสถานีชาร์จไฟฟ้า 12,000 จุด ภายในปี 2568 และ 60,000 จุด ภายในปี 2573 

แต่จากข้อได้เปรียบของเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจนที่สามารถจ่ายพลังงานได้สูงกว่าแบตเตอรี่ถึง 3 เท่า ทำให้ขับเคลื่อนได้ไกลกว่า อีกทั้งใช้เวลาเติมเชื้อเพลิงไม่นาน ต่างจากการชาร์จไฟฟ้าให้แบตเตอรี่ สิงคโปร์จึงมองว่าเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน น่าจะตอบโจทย์มากกว่าแบตเตอรี่ลิเทียมในภาคขนส่งที่มักต้องขับกลับมายังจุดเริ่มต้นที่เป็นสถานี ท่ารถ หรือคลังสินค้า ไม่จำเป็นต้องมีจุดเติมไฮโดรเจนกระจายอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาที่สูญเสียไประหว่างการเดินทาง และลดค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการได้เป็นอย่างมาก


ภาพจาก Spectronik (https://www.spectronik.com/gallery)

นอกจากนี้บริษัทดังกล่าวยังดัดแปลงรถยก (Forklift) และรถขนส่งของผู้ประกอบการด้านการจัดส่งอาหารและพัสดุด้วยเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน และตั้งเป้าหมายการให้บริการรถบรรทุกเซลล์เชื้อเพลิงบนท้องถนนของสิงคโปร์ในอีก 5 ปีข้างหน้า เช่น รถตู้ และรถบัสขนาดเล็ก รวมถึงติดตั้งสถานีบริการเชื้อเพลิงไฮโดรเจน รวมถึงศึกษาวิจัยความเป็นไปได้ในการจัดตั้งสถานีบริการเติมไฮโดรเจนในสิงคโปร์ด้วยเช่นกัน

นอกจากการใช้เซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจนกับการคมนาคมขนส่งทางบกแล้ว การท่าเรือแห่งสิงคโปร์ ยังมีกำหนดใช้เรือเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจนลำแรกในช่วงปลายปีนี้ หลังจากได้เริ่มพัฒนามาตั้งแต่ปี 2564 โดยตั้งแต่ปี 2573 เป็นต้นไป สิงคโปร์มีนโยบายให้เรือลำใหม่ทั้งหมดที่ดำเนินการในน่านน้ำสิงคโปร์ต้องใช้พลังงานสะอาด เช่น พลังงานไฟฟ้า เชื้อเพลิงชีวภาพ หรือพลังงานไฮโดรเจน เท่านั้น



การใช้งานพลังงานไฮโดรเจนในไทย ไปถึงไหนแล้ว

หันกลับมามองที่ประเทศไทย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ได้ร่วมมือกันศึกษาและทดลองนำพลังงานไฮโดรเจนมาใช้ในภาคยานยนต์ของบ้านเรา ปัจจุบันมีการจัดทำโครงการติดตั้งสถานีนำร่องทดลองใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง FCEV แห่งแรกของไทย (Hydrogen Station) ที่ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี โดยการนำรถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง รุ่นมิไร (Mirai) ของโตโยต้า มาเพื่อทดสอบการใช้งาน 

จากผลการศึกษาความเป็นไปได้ในการนำพลังงานไฮโดรเจนมาใช้ในภาคขนส่งของประเทศ พบว่า ต้องอาศัยไฮโดรเจนที่เป็นผลิตภัณฑ์พลอยได้ (By Product) จากโรงกลั่นอยู่ด้วย ซึ่งมีความสามารถผลิตได้ 96,841 kg/day และยังมีการศึกษาว่าเชื้อเพลิงไฮโดรเจนมีความคุ้มค่าและมีราคาถูกกว่าในระยะทางที่เท่ากัน เมื่อเปรียบเทียบกับรถยนต์ที่ใช้แบตเตอรี่

นอกจากนี้ประเทศไทยยังมีการจัดตั้งกลุ่ม Hydrogen Thailand ที่มีผู้เชี่ยวชาญจากภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ เพื่อผลักดันการเตรียมความพร้อมในการใช้พลังงานจากไฮโดรเจน เช่น แผนการดำเนินงานของไฮโดรเจนสำหรับประเทศไทย สร้างโอกาสในการทดลองเทคโนโลยีไฮโดรเจน 

รวมไปถึงมุมมองของไฮโดรเจนในอนาคต กับบทบาทหน้าที่ความสำคัญของไฮโดรเจนในยุคของการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน เพื่อใช้ในภาคขนส่ง โดยอยู่ภายใต้ข้อกำหนดว่า ต้นทุนพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ในกระบวนการผลิตไฮโดรเจนต้องไม่สูง พร้อมทั้งสนับสนุนการใช้ไฮโดรเจนที่ผลิตผ่านกระบวนการจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนเพื่อการลดการปล่อยคาร์บอน รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น สถานีเติมไฮโดรเจน ซึ่งขณะนี้เปิดสถานีต้นแบบเติมไฮโดรเจนสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิงแห่งแรกของประเทศไทยแล้ว ที่ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี



นอกจากนี้ ยังได้นำรถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง รุ่นมิไร (Mirai) ของโตโยต้า มาทดสอบการใช้งานในประเทศไทย ให้บริการในรูปแบบรถรับส่งระหว่างสนามบินอู่ตะเภา จ.ชลบุรี (U-Tapao Limousines) สำหรับนักท่องเที่ยวและผู้โดยสารในพื้นที่พัทยา - ชลบุรี และพื้นที่ใกล้เคียง โดยจะทำการเก็บข้อมูลเชิงเทคนิคที่ได้จากการใช้งานจริง เพื่อสร้างการรับรู้และเป็นข้อมูลรองรับการขยายผลใช้งานในอนาคต

รถยนต์ไฮโดรเจน ถือเป็นสิ่งที่น่าสนับสนุน เพราะเป็นพลังงานสะอาด ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ ทั้งต้นทางของการผลิตเชื้อเพลิง และปลายทางคือการใช้รถยนต์ และอีกหนึ่งจุดเด่นที่น่าสนใจคือ ในการนำรถไปเติมไฮโดรเจน ผู้ขับขี่ไม่ต้องเสียเวลานาน ยกตัวอย่าง Toyota Mirai ที่ใช้เวลาในการเติมประมาณ 5 นาที จ่ายเงิน 1,000 กว่าบาท สามารถวิ่งได้ถึง 750-800 กม.

ทั้งนี้ ปตท. เล็งเห็นว่าการลงทุนด้านเทคโนโลยีพลังงานสะอาดอย่างไฮโดรเจน จะเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตามการนำไฮโดรเจนมาใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับยานยนต์ เป็นนวัตกรรมใหม่สำหรับประเทศไทยที่จำเป็นต้องอาศัยประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ และการลงทุนมูลค่าสูง 

ความร่วมมือของพันธมิตรชั้นนำในกลุ่มพลังงานและยานยนต์ จึงเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค ทั้งในด้านมาตรฐานระดับสากล และความปลอดภัยสูงสุดที่จะส่งมอบให้กับผู้ใช้บริการในอนาคต โดย ปตท. ได้ร่วมสนับสนุนการติดตั้งโครงสร้างพื้นฐานของระบบอัดบรรจุก๊าซไฮโดรเจน และข้อมูลเชิงเทคนิคที่จำเป็น ร่วมผลักดันการใช้เทคโนโลยีพลังงานสะอาด เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมให้เติบโตไปด้วยกันในทุกมิติอย่างสมดุลและยั่งยืน

ซึ่งการสร้างสถานีบริการไฮโดรเจนเพื่อเติมไฮโดรเจนในรถยนต์ FCEV ครั้งนี้ นับเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญซึ่งจะช่วยเติมเต็มศักยภาพของโออาร์ในการมุ่งสู่การเป็นผู้นำ EV Ecosystem ในทุกมิติ  โดยผู้บริโภคที่ใช้รถยนต์ FCEV ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการเติมเชื้อเพลิง เนื่องจากการเติมไฮโดรเจนสำหรับรถยนต์ รูปแบบ Passenger Car ใช้เวลาเพียง 5 นาที ซึ่งตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ ที่ชอบการบริการที่สะดวกรวดเร็ว 

อีกทั้งยังสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคผู้ใช้หรือมีแผนที่จะใช้รถ FCEV และพันธมิตรผู้ค้าในคุณภาพและมาตรฐานการบริการ ซึ่งเป็นผลดีกับการเติบโตของตลาดรถยนต์ EV และในอนาคตจะมีการพัฒนาการใช้พลังงานไฮโดรเจนในกลุ่มรถ FCEV ขนาดใหญ่ เช่น รถบัสและรถบรรทุก ซึ่งจะช่วยให้ประหยัดเวลาในการเติมเชื้อเพลิง สามารถเพิ่มรอบการขนส่ง ซึ่งจะช่วยเพิ่มกำไรให้แก่ธุรกิจอีกทางหนึ่ง


ล่าสุดเมื่อเร็วๆ นี้ Toyota ได้จับมือกับ เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ CP เตรียมผลิตไฮโดรเจนในประเทศไทยด้วยมูลไก่จากฟาร์มของเครือ CP และเศษอาหารต่าง ๆ โดยพลังงานที่ได้จะนำมาใช้การขนส่งของโดย CPจะนำร่องนำพลังงานดังกล่าวมาใช้แทนน้ำมันเพื่อใช้ในการขนส่งสินค้า  

ถือเป็นการสอดรับกับเป้าหมายของไทยในการมุ่งสู่การบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon-neutrality) ภายในปี 2030 ซึ่งจะเป็นรากฐานที่นำไปสู่เป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Carbon Zero) ในปี 2050 ต่อไป



แล้ว รถ EV กับ รถพลังงานไฮโดรเจน ควรเลือกแบบไหนดี?

สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าแห่งอนาคตที่จะไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาเลยนั้น จะต้องเป็นประเภท รถยนต์ไฟฟ้า (EV) และ รถพลังงานไฮโรเจน (FCEV) เท่านั้น โดยมีเงื่อนไขว่า การผลิตไฟฟ้าเพื่อชาร์จเข้าสู่แบตเตอรี่ของรถ EV และการผลิตไฮโดรเจนนั้น จะต้องมีต้นทางมาจากพลังงานหมุนเวียนที่ไม่มีการปล่อยคาร์บอนเท่านั้น จึงจะถือว่าไม่ปล่อยคาร์บอนสู่บรรยากาศได้อย่างแท้จริง และรถยนต์ทั้งสองประเภทนี้ จัดว่าเป็นทางเลือกที่มีศักยภาพทั้งคู่ เป็นการพัฒนานวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์เพื่อสิ่งแวดล้อมที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก ดังนั้นการจะเลือกรถยนต์สักรุ่นในสองประเภทนี้ ต้องคำนึงถึงปัจจัย ดังนี้

1. ความคุ้มค่าต่อการใช้งานเรา
 
สิ่งแรกที่สัมผัสได้ถึงการเปลี่ยนมาใช้เป็นรถ EV หรือรถพลังงานไฮโดรเจน คือค่าใช้จ่ายในการเติมเชื้อเพลิงที่ลดลงไปไม่น้อย เพราะในอนาคตเมื่อเทคโนโลยีของรถยนต์ไฮโดรเจนแพร่หลายขึ้น มีผู้ผลิตพลังงานมากขึ้น ราคาเชื้อเพลิงพลังงานไฮโดรเจน จะถูกลงเรื่อย ๆ เนื่องจากพลังงานไฮโดรเจนสามารถผลิตได้เรื่อย ๆ ไม่มีวันหมด

2. สถานีเติมเชื้อเพลิงหรือพลังงานไฮโดรเจน
 
ประเทศไทยว่ามีความพร้อมสำหรับรถยนต์ทั้งสองแบบ ในเรื่องของสถานีเติมเชื้อเพลิง ถือว่ามีความพร้อมระดับหนึ่ง ซึ่งเราจะเห็นได้ว่าปัจจุบัน ปั๊มน้ำมันหลาย ๆ สาขา หรือห้างสรรพสินค้าหลายแห่งนั้น เริ่มมีสถานีสำหรับชาร์จไฟฟ้ารองรับไว้แล้ว โดยเฉพาะรถ EV ที่เห็นได้อย่างชัดเจน ส่วนสถานีเติมเชื้อเพลิงไฮโดรเจน ปัจจุบันยังมีเพียงแห่งเดียวคือ ปั๊ม ปตท. ที่ได้ร่วมมือกับค่ายรถยนต์โตโยต้า ที่จังหวัดชลบุรี บริเวณปั๊มน้ำมันใกล้สนามบินอู่ตะเภา ที่จะเป็นต้นแบบสถานีเติมเชื้อเพลิงในอนาคต

3. เวลาที่ใช้ในการเติมเชื้อเพลิง
 
สำหรับรถยนต์ทั้ง 2 ประเภทนี้ จะมีระยะเวลาในการเติมเชื้อเพลิงที่แตกต่างกัน โดยรถ EV ใช้เวลาชาร์จประมาณ 45 - 60 นาที ขึ้นอยู่กับกำลังไฟในการชาร์จ หรือกิโลวัตต์ (Kw) ของแต่ละสถานีที่ชาร์จ เพราะหากบางสถานที่มีกำลังไฟในการชาร์จสูงก็จะใช้เวลาเพียง 20-25 นาทีเท่านั้น

ส่วนการเติมเชื้อเพลิงของรถไฮโดรเจน ใช้เวลาเติมเพียง 3 - 5 นาที หรือ 5 - 10 นาที โดยประมาณ ก็สามารถใช้งานต่อได้แล้ว 

4. ค่าบำรุงรักษาและค่าใช้จ่าย

สำหรับรถยนต์ทั้ง 2 ประเภท มีค่าบำรุงรักษาที่ค่อนข้างแตกต่างกันโดยรถพลังงานไฮโดรเจนยังเป็นเทคโนโลยีใหม่ จึงมีค่าใช้จ่ายที่มากกว่าเฉลี่ยประมาณ 15,000 บาท ส่วนค่าบำรุงรักษารถ EV เนื่องจากเทคโนโลยี EV ถูกพัฒนามาหลายปี ทำให้มีราคาที่ถูกลงมาก เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 2,000 บาทต่อครั้ง โดยค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับรถยนต์ทั้งแบบ EV และไฮโดรเจนส่วนใหญ่จะเป็นการตรวจสภาพรถยนต์มากกว่า
 
ขณะที่ในส่วนของการเติมเชื้อเพลิงแต่ละครั้ง รถ EV จะมีราคาต่อการชาร์จหนึ่งครั้งประมาณ 400 - 500 บาท ซึ่งหากเทียบกับรถพลังงานไฮโดรเจนเติมเต็มถังต้องเสียเงินประมาณ 1,000 บาทเลยทีเดียว หากเทียบกันเรื่องของค่าใช้จ่าย และค่าบำรุงรักษา ในตอนนี้รถ EV ยังได้เปรียบกว่ามาก แต่ในอนาคต หากรถพลังงานไฮโดรเจน ได้รับความนิยมมากขึ้น ราคาเชื้อเพลิง และค่าบำรุงรักษาจะถูกลงกว่านี้แน่นอน

5. ระยะทางในการใช้งาน
 
สำหรับระยะทางในการใช้งานของรถยนต์ทั้งสองประเภทนี้จะมีความแตกต่างกัน โดยในรถ EV นั้น จะขึ้นอยู่กับแต่ละรุ่นซึ่งในรุ่นที่มีการพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรมของแบตเตอรี่มาอย่างดี ก็จะทำให้วิ่งได้ไกลกว่า ซึ่งส่วนใหญ่รถ EV จะมีระยะการขับโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 400-500 กิโลเมตร ส่วนรถพลังงานไฮโดรเจน จะมีระยะการขับโดยเฉลี่ยประมาณ 500 - 600 กิโลเมตร 

Up Skill แรงงาน รองรับสังคมคาร์บอนต่ำ

เมื่ออุตสาหกรรมกำลังเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนมากขึ้น แรงงานก็ต้องปรับตัวเช่นกัน โดยปัจจุบัน จะมีหลักสูตร Green Job หรือ Green Skill เช่น หลักสูตรพลังงานสะอาด รถยนต์ไฟฟ้า โซลาร์รูฟท็อป โดยกลุ่มงานพัฒนาหลักสูตรและเทคโนโลยี ของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ฝึกอบรม สร้างมาตรฐานฝีมือแรงงาน จะเริ่มจากการอบรมทักษะที่ตรงกับความต้องการของสถานประกอบการก่อน โดยสนับสนุนทั้งแรงงานเดิมและใหม่ รวมไปถึงแรงงานนอกระบบ ที่ต้องการเพิ่มทักษะให้ทำงานต่อไปได้ เพราะกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน มองว่า การเปลี่ยนจากรถยนต์สันดาปเป็นรถยนต์ไฟฟ้า หรือรถไฮโดรเจน แรงงานกลุ่มนี้ต้องไม่ถูกทิ้ง โดยนำความรู้เดิมไปต่อยอด ซึ่งถือเป็นแรงงานจำนวนมากที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องให้ความสำคัญ 



การเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำเป็นสิ่งที่ต้องทำให้เกิด

สำหรับการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำเป็นสิ่งที่ต้องทำให้เกิด แต่ระหว่างทางของการเปลี่ยนผ่าน มีปัญหารออยู่ และความสามารถในการรับมือหรือแก้ปัญหาของแต่ละคน แต่ละประเทศไม่เท่ากัน การสนับสนุนและความร่วมมือในการเปลี่ยนผ่าน เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องช่วยกันผลักดันให้เกิด โดยไม่ทิ้งให้บางกลุ่มต้องรับมือฝ่ายเดียว ถึงเวลาแล้ว ที่เราจะร่วมกันพลิกภาวะโลกร้อนนี้ให้เป็น ‘โอกาส’ ในการเปลี่ยนประเทศไทยไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ อย่างยั่งยืน
 
อย่างไรก็ตาม แม้รถพลังงานไฮโดรเจนจะดูเป็นอีกทางเลือกของพลังงานสะอาดในอนาคต แต่ต้องยอมรับว่าปัจจุบัน รถยนต์ไฟฟ้ายังเป็นต่ออยู่มาก ด้วยโครงสร้างพื้นฐานที่หลายประเทศพัฒนาขึ้นมารองรับรถไฟฟ้าในปัจจุบัน ค่อนข้างล้ำหน้าไฮโดรเจนไปไกลพอสมควร ทั้งในเรื่องของการเข้าถึงสถานีเติมพลังงาน รถยนต์ที่วางจำหน่าย ไปจนถึงราคาของไฟฟ้าต่อ 1 หน่วยไม่ได้แพงเหมือนกับไฮโดรเจน
ท้ายที่สุดแล้ว แม้ว่ารถยนต์ไฟฟ้าในปัจจุบันกำลังมีแนวโน้มที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่หากจะให้ฟันธงว่ารถยนต์ไฟฟ้าจะชนะศึกครั้งนี้ ก็ดูเป็นคำตอบที่เร็วไป เพราะหากเทียบจำนวนรถยนต์ทั้งหมดในโลกยังไม่ถึง 30 ล้านคัน ซึ่งหากเทียบกับจำนวนรถยนต์ทั้งหมดในโลกกว่า 1,000 ล้านคัน ก็ยังไม่ถึง 3% ด้วยซ้ำ จึงทำให้รถพลังงานไฮโดรเจน มีโอกาพลิกกลับมาเป็น ‘คำตอบสุดท้ายของยานยนต์แห่งอนาคต’ ได้เช่นกัน

อ้างอิง 
สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน
https://www.erc.or.th/th/energy-articles/2890
https://globthailand.com/hydrogenfuelcell-singapore-15082023/
https://www.thairath.co.th/news/auto/news/2708296
https://www.pptvhd36.com/automotive/news/184212
https://www.techhub.in.th/hydrogen-vs-ev-car/
http://siweb1.dss.go.th/news/show_abstract.asp?article_ID=7272
https://thaibizsingapore.com/news/%e0%b8%81/directions/singapore-hydrogen-fuel-cell-trial-for-fleet-vehicles/

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

‘TikTok For All’ Update เทรนด์ใหม่ปี 2024 พร้อมกลยุทธ์เพิ่มโอกาส SME ไทยสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน

‘TikTok For All’ Update เทรนด์ใหม่ปี 2024 พร้อมกลยุทธ์เพิ่มโอกาส SME ไทยสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน

TikTok ตอกย้ำการเป็นแพลตฟอร์มเอนเตอร์เทนเมนต์ที่น่าเชื่อถือสำหรับทุกคน ทั้งครีเอเตอร์ คอมมูนิตี้ผู้ใช้งาน และธุรกิจทุกขนาดในไทย ด้วยการเปิดตัว…
pin
1367 | 14/02/2024
ทอดไม่ทิ้ง! เปลี่ยน ‘น้ำมันเหลือทิ้ง’ เป็น ‘น้ำมันเครื่องบิน’ โอกาสใหม่ SME ไทย เติบโตอย่างยั่งยืน

ทอดไม่ทิ้ง! เปลี่ยน ‘น้ำมันเหลือทิ้ง’ เป็น ‘น้ำมันเครื่องบิน’ โอกาสใหม่ SME ไทย เติบโตอย่างยั่งยืน

ขณะที่ยานพาหนะต่าง ๆ ทั้ง รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รถไฟ และเรือ ต่างมุ่งสู่การใช้เชื้อเพลิงพลังงานทดแทน ที่เป็นพลังงานสะอาดกันแล้ว แต่สำหรับการเดินทางโดยอากาศยาน…
pin
1752 | 26/01/2024
'รถพลังงานไฮโดรเจน' กับ 'รถพลังงานไฟฟ้า' ควรหันหน้าไปทางไหนดี หากจุดหมายคือการมุ่งสู่ ‘สังคมไร้คาร์บอน’