ทอดไม่ทิ้ง! เปลี่ยน ‘น้ำมันเหลือทิ้ง’ เป็น ‘น้ำมันเครื่องบิน’ โอกาสใหม่ SME ไทย เติบโตอย่างยั่งยืน

SME Update
26/01/2024
รับชมแล้วทั้งหมด 1705 คน
ทอดไม่ทิ้ง! เปลี่ยน ‘น้ำมันเหลือทิ้ง’ เป็น ‘น้ำมันเครื่องบิน’ โอกาสใหม่ SME ไทย เติบโตอย่างยั่งยืน
banner

ขณะที่ยานพาหนะต่าง ๆ ทั้ง รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รถไฟ และเรือ ต่างมุ่งสู่การใช้เชื้อเพลิงพลังงานทดแทน ที่เป็นพลังงานสะอาดกันแล้ว แต่สำหรับการเดินทางโดยอากาศยาน อย่างเครื่องบิน กลับยังไม่ได้ถูกพูดถึงกันมากนัก ทั้ง ๆ ที่ต้องใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิลอย่างมหาศาล

โดย ธุรกิจการบินมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เป็นสัดส่วนประมาณ 2-2.5% ของโลก และตั้งแต่ปี 1990-2019 เพิ่มขึ้น มากกว่า 1 พันล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ ในปี 2019 หรือเฉลี่ยประมาณ 2.3% ต่อปี


แต่วันนี้รู้หรือไม่! เราสามารถนำ ‘น้ำมันใช้แล้ว’ มาเปลี่ยนเป็นเงินได้ ที่สำคัญได้มีส่วนในการช่วยลดผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมได้อย่างมาก เพราะน้ำมันใช้แล้วเหล่านี้ จะถูกนำไปแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบิน เชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน หรือ SAF (Sustainable Aviation Fuel) เพื่อลดภาวะโลกร้อนที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้นทุกวัน

วันนี้ Bangkok Bank SME ขอพาทุกคนไปทำความรู้จัก SAF คืออะไร แล้วเขาเปลี่ยน ‘น้ำมันใช้แล้ว’ ให้กลายเป็น ‘เชื้อเพลิงพลังงานสะอาดสำหรบอากาศยาน’ ได้อย่างไร ประเทศไหนเริ่มเข้าสู่เชื้อเพลิงชนิดนี้กันแล้วบ้าง ? ไปดูกันเลย




อุตสาหกรรมการบินทั่วโลก ปล่อย CO2 มากถึง 1,000 ล้านตันต่อปี


จากปัญหาภาวะโลกร้อน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่กำลังทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ทุกภาคส่วน รวมถึงอุตสาหกรรมการบิน ต่างมีความมุ่งมั่น ที่จะลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกการศึกษายานพาหนะประเภทต่าง ๆ ที่มนุษย์ใช้กันในปัจจุบัน พบว่าในแต่ละปีอุตสาหกรรมการบินทั่วโลก มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) มากถึง 1,000 ล้านตันต่อปี คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 2-2.5% ของโลก และตั้งแต่ปี 1990-2019 เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยประมาณ 2.3% ต่อปี


นอกจากนี้ ข้อมูลจากวารสาร Environmental Research Letters ระบุว่า อุตสาหกรรมนี้ มีส่วนทำให้เกิดภาวะโลกร้อน จากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ มากถึง 4%

จึงเป็นโจทย์ใหญ่ ที่ทำให้สายการบินต่าง ๆ ทั่วโลกเริ่มปรับตัวและหาทางแก้ไข และทางออกที่น่าสนใจมากที่สุดในตอนนี้ คือ การหันมาใช้ ‘น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานที่ยั่งยืน’ หรือที่เรียกว่า SAF (Sustainable Aviation Fuel) ที่ผลิตจากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร อย่าง ซังข้าวโพด เศษไม้ เศษหญ้า ฟางข้าว รวมไปถึงของเสียอย่างน้ำมันพืชใช้แล้ว (Waste Oils) ที่กำลังได้รับความสนใจอย่างมากในขณะนี้


หลายคนอาจตั้งคำถามว่า เครื่องบินไฟฟ้าประหยัดพลังงานและมีความยั่งยืนกว่าหรือไม่?


ต้องยอมรับว่า เครื่องบินไฟฟ้า เป็นอีกหนึ่งแนวทางแก้ไขปัญหาที่ดี และอุตสาหกรรมการบินก็ให้ความสนใจไม่น้อย แต่ขณะนี้ เครื่องบินไฟฟ้า ยังอยู่ในขั้นตอนวิจัยและพัฒนา ต้องใช้เวลาอีกพอสมควรกว่าจะสำเร็จสมบูรณ์ และสามารถให้บริการเชิงพาณิชย์ได้จริง ต่างจากการใช้น้ำมัน SAF ที่กระบวนการพัฒนาไม่ซับซ้อนมากนัก จึงสามารถนำมาพัฒนาได้ง่ายและรวดเร็วกว่า ซึ่งที่ผ่านมา มีบางสายการบินใช้น้ำมันประเภทนี้กันบ้างแล้ว




‘น้ำมันใช้แล้ว’ เปลี่ยนเป็นเชื้อเพลิงเครื่องบินได้อย่างไร?


‘เชื้อเพลิงชีวภาพ’ ได้มาจากมวลชีวภาพ (Biomass) และขยะชีวภาพ (Biowaste) ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ ‘น้ำมันพืชที่ใช้แล้ว’ โดยผู้ผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพสามารถนำมวลชีวภาพเหล่านี้มาผ่านกรรมวิธีทางเคมีเพื่อผลิตน้ำมันไบโอดีเซลได้




เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะส่งน้ำมันดังกล่าวไปให้โรงกลั่นในต่างประเทศได้ ทางบริษัทต้องแยกเศษอาหาร หรือส่วนที่ไม่ใช่น้ำมันออกก่อน ซึ่งเมื่อผ่านกระบวนการดังกล่าวแล้ว ผลิตภัณฑ์นั้นจึงจะเรียกว่า Mixed Industrial Oil หรือ น้ำมันอุตสาหกรรมผสม ซึ่งจะถูกนำไปผลิตเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพต่อไป


จากนั้นวัตถุดิบเหล่านี้ จะถูกนำเข้ากระบวนการ ปรับให้มีคุณสมบัติทางเคมี คล้ายคลึงกับน้ำมันเครื่องบินทั่วไป ที่ผลิตจากเชื้อเพลิงฟอสซิล โดยน้ำมัน SAF จะเป็นเชื้อเพลิงแบบ Drop-in fuel ซึ่งหมายความว่า น้ำมันชนิดนี้สามารถนำไปผสมใช้กับน้ำมันเครื่องบินแบบเดิมได้ทันที ในสัดส่วนที่ปลอดภัยต่อเครื่องยนต์ โดยไม่ต้องดัดแปลงหรือปรับปรุงเครื่องยนต์เพิ่มเติมแต่อย่างใด




หากเปลี่ยนมาใช้ จะปล่อยมลพิษลดลงได้เท่าไร ?


จากการศึกษาพบว่า การใช้เชื้อเพลิงชีวมวลแทนฟอสซิลนั้น หากทำได้สำเร็จ ก็จะช่วยลดการปล่อย CO2 สู่สิ่งแวดล้อมลงได้ มากถึง 80% ในขณะเดียวกัน การนำ SAF ไปใช้ ก็จะเป็นในลักษณะเดียวกัน กับน้ำมันฟอสซิลผสมแอลกอฮอล์ เช่น E20, E85, B7 และ B20 ในบ้านเรา


คำตอบคือ เพื่อให้นำไปใช้ได้เลย โดยเครื่องบินไม่ต้องเปลี่ยน หรือปรับปรุงเครื่องยนต์ ซึ่งก็จะไม่กระทบต่อภาคธุรกิจ ที่เกี่ยวข้องกับการบินในด้านของการลงทุนเครื่องยนต์มารองรับเชื้อเพลิงใหม่



Cr. Facebook Bangchak


โดย SAF จะมีคุณสมบัติทางเคมีคล้ายคลึงกับน้ำมันที่ผลิตจากเชื้อเพลิงฟอสซิล แต่ต่างกันตรงที่ SAF จะผลิตจากวัตถุดิบที่มาจากธรรมชาติเท่านั้น ซึ่งหนึ่งในชีวมวลที่สามารถใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือ ‘น้ำมันทำอาหารใช้แล้ว’ โดย SAF สามารถช่วยลดการปล่อยคาร์บอนได้ถึง 80% ตลอดวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์เมื่อเทียบกับน้ำมันอากาศยานแบบเดิม


ปัจจุบันหลายประเทศ โดยเฉพาะสหภาพยุโรป ได้ให้ความสนใจและพัฒนา SAF กันมากขึ้น เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 และยังประเมินว่า การใช้ SAF จะช่วยลดคาร์บอนได้ถึง 34% เมื่อนำมาร่วมใช้กับมาตรการอื่น เช่น การปรับปรุงเทคโนโลยีอากาศยานและเครื่องยนต์ การใช้มาตรการทางเศรษฐกิจและการปรับปรุงการจัดการจราจรทางอากาศ ก็จะช่วยให้ธุรกิจการบินของยุโรปบรรลุเป้าหมายคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ได้สำเร็จ


ประเทศไหนเริ่มผลักดันนโยบาย และหันมาใช้เชื้อเพลิงชนิดนี้กันแล้วบ้าง ?


ปัจจุบัน ความต้องการ SAF เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในแถบยุโรป สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น

ที่หน่วยงานรัฐ ผลักดันให้ทั้งผลิต และใช้ SAF มากขึ้น รวมถึงสนับสนุนให้มีการวิจัยและพัฒนาด้วย

ในด้านผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง ทั้งสายการบิน ผู้ผลิตเชื้อเพลิง รวมไปถึงสนามบิน ในหลายประเทศ กำลังร่วมมือกันเพื่อพัฒนา และลงทุนในโรงงานผลิต SAF


ตัวอย่างประเทศที่เริ่มมีมาตรการบังคับใช้อย่างเข้มงวด เช่น ประเทศฝรั่งเศส บังคับให้ทุกเที่ยวบินที่ออกจากประเทศ ต้องใช้ SAF อย่างต่ำ 1% ของการใช้เชื้อเพลิงอากาศยาน ในปี 2022 และจะปรับเพิ่มขึ้น มากถึง 50% ภายในปี 2050


ส่วนสหภาพยุโรป ได้ออกกฎให้ทุกสายการบินในยุโรปเพิ่มการใช้พลังงานสะอาดให้เป็น 5% ของเชื้อเพลิงที่ใช้ทั้งหมดภายในปี 2030 และค่อย ๆ เพิ่มเป็น 85% ภายในปี 2050




ขณะที่ สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ หรือ IATA ก็ได้ประกาศเป้าหมายลดการปล่อยมลพิษ ภายในปี 2050 ซึ่งเป้าหมายหลัก ๆ ของสมาคมคือ การนำ SAF มาใช้แล้ว ปัจจุบัน เราผลิต SAF ได้มากขนาดไหน ?


ในปี 2021 โลกของเรามีการผลิต SAF ได้เพียง 100 ล้านลิตรต่อปี แต่ IATA ตั้งเป้าหมายการใช้ SAF ในปี 2025 ให้ได้ 8,000 ล้านลิตรต่อปี


ในขณะเดียวกัน ก็มีเป้าหมายจะเพิ่มขึ้นเป็น 450,000 ล้านลิตรต่อปี ภายในปี 2050 นั่นหมายความว่า จำเป็นต้องเร่งเพิ่มกำลังการผลิต เพื่อรองรับปริมาณการใช้งาน หรือในอีกความหมายหนึ่งก็คือ ธุรกิจกลุ่มนี้ มีแนวโน้มการเติบโตได้อีกในระยะยาว




ไทยใส่ SAF ในร่างแผนพัฒนาพลังงานทดแทน


สำหรับประเทศไทย เริ่มให้ความสนใจกับ SAF มากขึ้น โดยภาครัฐได้เริ่มร่างแผนพัฒนาพลังงานทดแทน (AEDP2022) โดยเริ่มบรรจุ SAF เข้าไปในแผนการนำ SAF สัดส่วน 2% มาผสมกับการใช้น้ำมันอากาศยานในปี 2027 โดยทยอยปรับเพิ่มขึ้นเป็น 5% ในปี 2032 และทยอยปรับเพิ่มขึ้นเป็น 20% ในปี 2037

สอดรับกับโมเดลเศรษฐกิจ ‘BCG’ หรือ Bio-Circular-Green Economy เศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว โดยประเทศไทยมีอัตราการบริโภคน้ำมันพืชสูงถึง 900,000 ตันต่อปี และมีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้นทุกปี ทำให้เป็นโอกาสที่ดีในการนำน้ำมันพืชใช้แล้ว มาต่อยอดเพื่อตอบโจทย์ความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน และเป็นทางเลือกเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เนื่องจากตลอดวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์นั้นมีอัตราการปล่อยคาร์บอนน้อยกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิลถึง 80%


ตัวอย่างประเทศที่เริ่มใช้จริงแล้ว



จีน รีไซเคิล 'น้ำมันเหลือทิ้งหม้อไฟหมาล่า' เป็นเชื้อเพลิงเครื่องบิน


จากข้อมูล Bloomberg ระบุว่า โดยชาวจีนบริโภคน้ำมันมากกว่า 41 ล้านตันต่อปี แต่มีเพียง 3 ล้านตันเท่านั้น ที่ถูกนำไปรีไซเคิลเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพที่กำลังเป็นที่ต้องการ และมีมูลค่าสูงขึ้นเรื่อย ๆ แค่ในเมืองเฉิงตูเมืองเดียว น้ำซุปหมาล่าก็ผลิตน้ำมันเหลือใช้จากน้ำซุปแล้วถึง 12,000 ตันต่อเดือน ซึ่งถ้ามีตัวเลขจากทั่วประเทศ จีนอาจมีน้ำมันเหลือใช้จากน้ำซุปหมาล่าที่คนบริโภคกันเป็นหลายแสนตันต่อเดือนเลยก็เป็นได้




ด้วยเหตุนี้เอง บริษัทจีนแห่งหนึ่งจึงเกิดไอเดียนำน้ำมันเหลือใช้จำนวนมากเหล่านี้มารีไซเคิล เพื่อเปลี่ยนเป็น ‘เชื้อเพลิงชีวภาพ’ ใช้กับเครื่องบินที่ถือว่าเป็นยานพาหนะใช้เชื้อเพลิงและปล่อยมลพิษมากที่สุดในโลก ทำให้ธุรกิจการส่งออกน้ำมันเหลือทิ้ง หรือธุรกิจโรงกลั่นรีไซเคิลน้ำมันและชีวมวลต่าง ๆ เพื่อเปลี่ยนเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพยังมีเติบโตอีกมาก


นอกจากนี้ ข้อดีที่ทำให้น้ำมัน SAF น่าสนใจแล้ว ที่สำคัญยังเป็นการหมุนเวียนทรัพยากร อย่างน้ำมันประกอบอาหารใช้แล้ว ให้กลับมาใช้ใหม่ได้อย่างคุ้มค่า และยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อมด้วย ทำให้ที่ผ่านมา จึงมีบริษัทและสายการบินต่าง ๆ เริ่มนำน้ำมัน SAF มาใช้กันมากขึ้น




Airbus มุ่งสู่เชื้อเพลิงยั่งยืน


ยกตัวอย่าง Airbus หนึ่งในบริษัทผู้ผลิตเครื่องบินรายใหญ่ของโลก ได้ทำการทดสอบนำน้ำมัน SAF แบบผสมเข้ากับน้ำมันเครื่องบินแบบเดิม มาใช้ในเครื่องบินสำหรับการขนส่งสินค้า เมื่อปี 2019


อีกทั้งในปี 2021 Airbus ได้ก้าวไปอีกขั้น ด้วยการพัฒนาน้ำมัน SAF แบบ 100% ผลิตจากน้ำมันประกอบอาหารใช้แล้ว โดยไม่ผสมเข้ากับน้ำมันเชื้อเพลิงใด ๆ เพื่อนำมาทดสอบใช้กับเครื่องบินพาณิชย์โดยสาร รุ่น A380 สำหรับเป้าหมายการเป็นเครื่องบิน ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ ลำแรกของโลก ภายในปี 2035





ล่าสุด เมื่อต้นปี 2023 ที่ผ่านมา สายการบินระดับโลกอย่าง Emirates ก็ประสบความสำเร็จ ในการทดสอบใช้น้ำมัน SAF ที่มาจากน้ำมันประกอบอาหารใช้แล้ว แบบ 100% เช่นกัน กับเครื่องบิน Boeing 777-300ER ซึ่งเป็นการทดลองบินจริง นานกว่า 1 ชั่วโมง


ในขณะที่ประเทศญี่ปุ่น ได้มีการจัดตั้งองค์กร Act For Sky ซึ่งเป็นการร่วมมือกันระหว่างสายการบิน Japan Airlines และ All Nippon Airways โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างห่วงโซ่อุปทาน การค้าน้ำมันเชื้อเพลิง SAF เพื่อรองรับตลาดนี้ในอนาคต


ภาคเอกชนไทยเริ่มลงทุนตั้งโรงกลั่นผลิต SAF แล้ว


ปัจจุบัน ภาคเอกชนของไทยเริ่มทยอยลงทุนตั้งโรงกลั่นผลิต SAF แล้ว โดยคาดว่าในปี 2024 กลุ่ม บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น หรือ BCP ในปี 2025 บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ หรือ EA และในปี 2026 กลุ่ม บมจ.ปตท. หรือ PTT จะเริ่มทำการผลิต SAF ได้


โดยขณะนี้ มีผู้ผลิต 2-3 ราย ในประเทศที่เป็นกลุ่มโรงกลั่นน้ำมันให้ความสนใจที่จะผลิต SAF โดยใช้วัตถุดิบหลักคือ "น้ำมันใช้แล้ว" กับเอทานอลจากโมลาส หรือกากน้ำตาล ตามทิศทางต่างประเทศที่เป็นระดับสากล


อย่างเช่น บริษัท ธนโชค ออยล์ ไลท์ จำกัด ผู้เชี่ยวชาญในการบริหารจัดการน้ำมันพืชใช้แล้ว ทั้งระบบทั่วประเทศไทยมากว่า 40 ปี มีการจัดการน้ำมันใช้แล้วจากการทำอาหาร ที่รวบรวมมาว่ามาจาก ร้านฟาสต์ฟู้ดรายใหญ่ ในตลาด จากกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารที่ทำอาหาร หรือขนมขบเคี้ยวส่งออกกว่า 98% รวมถึงเครือข่ายที่ดูแลการรับซื้อน้ำมันพืช ใช้แล้วจากชุมชน ที่พักอาศัย ฯลฯ ครอบคลุม 77 จังหวัด ทั่วประเทศ รวมเป็นปริมาณ น้ำมันใช้แล้วทั้งสิ้นราว 17 ล้านลิตรต่อเดือน



โดย SAF จากน้ำมันใช้แล้วในการทำอาหาร ส่งผลดีในเรื่องการดูแลรักษา สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อป้องกันการนำเอาน้ำมันพืชใช้แล้วกลับมาใช้ซ้ำ หรือเทลงท่อน้ำทิ้งและแหล่งน้ำสาธารณะ จนเกิดมลภาวะเป็นพิษ ที่สำคัญส่งผลดีในเชิงเศรษฐกิจ สอดคล้องกับ BCG Economy Model อย่างครบวงจร เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ในปี 2050




ส่วนในภาคธุรกิจ และครัวเรือน รวมถึงอุตสาหกรรมการผลิตอาหาร และภาคธุรกิจโรงแรมมีโอกาสที่เข้าไปมีส่วนร่วมในดีมานด์ของ SAF จากน้ำมันเก่าที่ใช้แล้วในกระบวนการผลิตอาหารสามารถรวบรวมนำไปขายต่อได้ ซึ่งอีกหนึ่งเรื่องที่สร้างสรรค์สังคมไม่น้อย คือ ปัจจุบันมีสถานีน้ำมันบางจากบางสาขาในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ได้เปิดโครงการ ‘ทอดไม่ทิ้ง’ รับซื้อน้ำมันพืชที่ใช้แล้ว ทั้งจากธุรกิจร้านอาหาร รวมถึงประชาชนทั่วไป เพื่อไปผลิตเป็นน้ำมันเครื่องบิน โดยในปี 2022 รับซื้อที่ราคา 20-25 บาทต่อลิตร ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการที่สร้างสรรค์สังคมไม่น้อย


ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2551 ‘บางจาก’ รับซื้อน้ำมันที่ใช้แล้วไปกว่า 200,000 กิโลกรัม ในราคากิโลกรัมละ 13 บาท และไม่เกิน 30 กิโลกรัม ต่อวันต่อคน เมื่อผ่านกระบวนการผลิตเป็นไบโอดีเซล จะได้น้ำมันประมาณ 160,000 กิโลกรัม ซึ่งที่ผ่านมา บางจากฯ ได้นำไปใช้ผสมเป็นน้ำมันไบโอดีเซลบี 3 และ บี 5 ด้วย


โดย บางจาก ลงทุนจัดตั้งหน่วยกลั่นใหม่ เพื่อผลิตน้ำมันเครื่องบิน จากน้ำมันพืชใช้แล้ว กำลังผลิต 1 ล้านลิตรต่อวัน เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน ที่อุตสาหกรรมการบินทั่วโลกสามารถนำมาใช้ทดแทนได้ทันทีโดยไม่ส่งผลต่อเครื่องยนต์ ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากอุตสาหกรรมการบินลงได้ประมาณ 80,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี (เทียบกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของเชื้อเพลิงการบินในปัจจุบัน)



Cr. Facebook Bangchak


น้ำมันใช้แล้ว นำไปขายได้อย่างไร


สำหรับการรับซื้อ น้ำมันพืชเก่าใช้แล้ว เริ่มนำร่องที่สถานีบริการบางจากในกรุงเทพฯ และปริมณฑล บางสาขา ทำให้ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วมในการช่วยกันลดภาวะโลกร้อนได้ แถมยังได้เงินอีกด้วย โดยน้ำมันที่รับซื้อไป จะถูกนำเข้าสู่กระบวนการ เพื่อผลิตเป็นน้ำมันเครื่องบินต่อไป แต่การจะนำน้ำมันที่ใช้แล้วไปขาย ต้องมีขั้นตอนดังนี้

-ตั้งน้ำมันที่ใช้แล้วทิ้งไว้ให้เย็น


-กรองเอาเศษอาหารออก ให้เหลือแต่น้ำมัน และเทลงภาชนะ หรือขวด


แต่มีข้อยกเว้นสำหรับ "น้ำมันหมู" ไม่สามารถนำมาขายได้ เนื่องจากน้ำมันทอดหมู หรือน้ำมันหมู จะทำให้เกิดไข จึงไม่สามารถนำมาทำไบโอดีเซลได้




สามารถนำไปขายได้ที่ไหนบ้าง?

น้ำมันใช้แล้ว สามารถนำไปขายได้ที่ ปั๊มน้ำมันบางจาก 44 แห่ง ดังนี้


- เขตดอนเมือง-ลาดพร้าว-จตุจักร สาขาวัชรพล

สาขา ENCO สาขาจตุจักร สาขาวิภาวดีรังสิต สาขาพหลโยธิน กม. 22 สาขาคู่ขนานเอกมัย-รามอินทรา (4) สาขาคู่ขนานเอกมัย-รามอินทรา (5) สาขา สตรีวิทย์ 2 สาขารามอินทรา 71 สาขาสุขาภิบาล 1 (2)


- เขตพระโขนง-บางนา

สาขาเอกมัย สาขาอุดมสุข 45 สาขาอ่อนนุช 17/1 สาขาสุขุมวิท 101/2


- เขตบางแค-ทวีวัฒนา

สาขาเพชรเกษม 57 สาขาเพชรเกษม 92 สาขากาญจนาภิเษก (บางบอน) สาขาปิ่นเกล้า-นครชัยศรี 2 สาขากาญจนาภิเษก (2) สาขาจรัญสนิทวงศ์


- เขตหนองจอก

สาขาสุวินทวงศ์ 4 สาขาสุวินทวงศ์ 2 สาขาเลียบวารี


- เขตราษฎร์บูรณะ-ยานนาวา

สาขาราษฎร์บูรณะ 1 สาขาประชาอุทิศ สาขาพระราม 3 (2) สาขาเจริญกรุงตัดใหม่ สาขากรุงธนบุรี 2


- เขตห้วยขวาง

สาขาประชาอุทิศ-เหม่งจ๋าย

- เขตปทุมธานี

สาขาสวัสดิการศูนย์ฝึกอบรมวิศวกรรมเกษตรบางพูน สาขาพหลโยธิน กม.38 สาขาลำลูกกา (คลอง 1)


- เขตนนทบุรี

สาขาประชาชื่น สาขาแคราย สาขาบางบัวทอง 3 สาขากาญจนาภิเษก กม .41 สาขาแจ้งวัฒนะ 22 สาขาราชพฤกษ์ 2


- เขตสมุทรปราการ

สาขาศรีนครินทร์ สาขาบางนา-ตราด กม.13 สาขาเทพารักษ์ กม. 9 สาขาปากน้ำ 2 สาขาบางนา-ตราด กม.16 สาขาเทพารักษ์ กม. 7


โดยสามารถนำไปขายได้ทุกวันจันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น. พร้อมเซ็นรับรอง สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน 1 ฉบับ




คาดดีมานด์ SAF โต 10 เท่าภายในปี 2025


จากรายงานของ Bloomberg มีการประเมินว่า ความต้องการใช้ SAF มีโอกาสจะเติบโตขึ้นอย่างมาก ซึ่งในปี 2022 มีปริมาณการใช้ SAF รวมอยู่ที่ 375 ล้านลิตรต่อปี มีโอกาสในปี 2025 จะมีปริมาณการใช้เพิ่มเป็น 3.9 พันล้านลิตร หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 10 เท่า ภายในระยะเวลา 3 ปี ขณะที่ซัพพลายจะเติบโตขึ้นไม่ทันกับดีมานด์การใช้ SAF ที่เติบโตในอัตราที่แรงกว่าฝั่งซัพพลายจากมาตรการสนับสนุนของภาครัฐ ดังนั้นในปี 2028-2030 มีโอกาสที่ SAF จะเกิดภาวะขาดแคลนซัพพลาย (Supply Shortage) ได้


อย่างไรก็ดี SAF ยังมีความท้าทายในด้านของมาตรฐานคุณภาพซัพพลายเชนในการผลิตที่ถูกกำหนดว่าในการขั้นตอนของการผลิตจะต้องปล่อยคาร์บอนไม่เกินมาตรฐานที่กำหนดไว้ด้วย รวมถึงมีความท้าทายในการจัดหาวัตถุดิบจากหลากหลายแหล่งให้มีปริมาณเพียงพอ และมีต้นทุนการขนส่งที่เหมาะสมในการผลิต


อีกหนึ่งความท้าทายที่สำคัญ คือ ราคา SAF ที่สูงกว่าราคาน้ำมันอากาศยานปกติถึงประมาณ 3 เท่า หากการผลิตในอนาคตมีการประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale) และมีการสนับสนุนจากภาครัฐ มีโอกาสที่ระดับราคาในอนาคตจะปรับลดลงมาแข่งขันได้


ปัจจุบันภาพรวมปัจจุบันของน้ำมันอากาศยานของไทย ถูกจำหน่ายให้แก่ Flight บินระหว่างประเทศ โดยส่วนใหญ่เป็น Flight บินเส้นทางยุโรปและญี่ปุ่นซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีการประกาศแผนในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของอุตสาหกรรมการบินแล้ว



โอกาส SME สร้างรายได้ ช่วยลดโลกร้อน ไปพร้อม ๆ กัน


Bloomberg ยังคาดการณ์อีกว่า ในอนาคตความต้องการน้ำมันชีวภาพ อาจสูงกว่าทรัพยากรที่มีด้วยซ้ำ เพราะภายในปี 2030 น้ำมันใช้แล้วของคนทั้งโลกอาจคิดเป็นเพียง 4% ของดีมานด์สำหรับมวลชีวภาพเท่านั้น ซึ่งจะทำให้น้ำมันเหลือทิ้งเหล่านี้มีคุณค่ามากในอนาคต


เมื่อพิจารณาจากข้อมูลเหล่านี้ พบว่า ธุรกิจเก็บและส่งออกน้ำมันพืชและสัตว์ จึงเป็นธุรกิจที่ถือได้ว่ามีศักยภาพสูงในอนาคต และประเทศที่มีประชากรบริโภคน้ำมันเป็นปริมาณอย่างจีน รวมถึงไทยที่หม้อไฟหมาล่ากำลังได้รับความนิยม ก็มีโอกาสกระโดดเข้ามาเป็นผู้เล่นในตลาดนี้ และสร้างรายได้จากการส่งออกน้ำมันเหลือใช้เช่นเดียวกัน


ทั้งหมดนี้ สะท้อนให้เห็นว่า ความร่วมมือในการลดวิกฤตโลกร้อน เป็นเรื่องของเราทุกคน สามารถมีส่วนร่วมในการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมได้ ซึ่งการผลิต SAF ผ่าน BSGF ในครั้งนี้จะช่วยสร้างระบบนิเวศรองรับความต้องการของผู้โดยสารทางอากาศอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่ไม่เพียงแค่ลดการปล่อยคาร์บอนฯ สู่ชั้นบรรยากาศ แต่ยังช่วยลดจัดการ น้ำมันพืชใช้แล้ว อย่างเป็นระบบ ดีต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม และช่วยให้ทุก การเดินทาง สามารถเลือกใส่ใจโลกอย่างยั่งยืนได้ด้วย


อ้างอิง

https://www.thairath.co.th/news/sustainable/2721383

https://www.thansettakij.com/economy/538220

https://www.amarintv.com/spotlight/sustainability/detail/41287

https://brandinside.asia/airbus-sustainable-energy/

https://www.blueskynews.aero/issue-621/SAF-demand-to-increase-more-than-30-fold-by-2025-as-industry-decarbonises.html

https://shorturl.asia/9Drme

https://shorturl.asia/jnz8o




Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

‘TikTok For All’ Update เทรนด์ใหม่ปี 2024 พร้อมกลยุทธ์เพิ่มโอกาส SME ไทยสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน

‘TikTok For All’ Update เทรนด์ใหม่ปี 2024 พร้อมกลยุทธ์เพิ่มโอกาส SME ไทยสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน

TikTok ตอกย้ำการเป็นแพลตฟอร์มเอนเตอร์เทนเมนต์ที่น่าเชื่อถือสำหรับทุกคน ทั้งครีเอเตอร์ คอมมูนิตี้ผู้ใช้งาน และธุรกิจทุกขนาดในไทย ด้วยการเปิดตัว…
pin
1330 | 14/02/2024
ทอดไม่ทิ้ง! เปลี่ยน ‘น้ำมันเหลือทิ้ง’ เป็น ‘น้ำมันเครื่องบิน’ โอกาสใหม่ SME ไทย เติบโตอย่างยั่งยืน

ทอดไม่ทิ้ง! เปลี่ยน ‘น้ำมันเหลือทิ้ง’ เป็น ‘น้ำมันเครื่องบิน’ โอกาสใหม่ SME ไทย เติบโตอย่างยั่งยืน

ขณะที่ยานพาหนะต่าง ๆ ทั้ง รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รถไฟ และเรือ ต่างมุ่งสู่การใช้เชื้อเพลิงพลังงานทดแทน ที่เป็นพลังงานสะอาดกันแล้ว แต่สำหรับการเดินทางโดยอากาศยาน…
pin
1706 | 26/01/2024
จับกระแส 'เทรนด์ธุรกิจ' ปี 2024 ใครได้ไปต่อ ใครมาแรง SME ไทยต้องรู้

จับกระแส 'เทรนด์ธุรกิจ' ปี 2024 ใครได้ไปต่อ ใครมาแรง SME ไทยต้องรู้

ปี 2024 นี้ ธุรกิจไหนมาแรง ธุรกิจไหนน่าจับตา เทรนด์ธุรกิจใดกำลังมาแรง Bangkok Bank SME สรุปมาไว้ในบทความนี้ เพื่อเป็นแนวทางแก่ SME และผู้ที่กำลังคิดจะเริ่มต้นทำธุรกิจทุกท่าน…
pin
1944 | 25/01/2024
ทอดไม่ทิ้ง! เปลี่ยน ‘น้ำมันเหลือทิ้ง’ เป็น ‘น้ำมันเครื่องบิน’ โอกาสใหม่ SME ไทย เติบโตอย่างยั่งยืน