7 เช็คลิสต์ ‘สินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่า’ (Deforestation-free products) เมื่อ EU ออกกฎแบนการนำเข้า ส่งออกไทย

SME Update
15/11/2023
รับชมแล้วทั้งหมด 982 คน
7 เช็คลิสต์ ‘สินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่า’ (Deforestation-free products) เมื่อ EU ออกกฎแบนการนำเข้า ส่งออกไทย
banner

การดำเนินมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมมีความเข้มงวดขึ้นทั่วโลก สหภาพยุโรป (EU) เป็นหนึ่งในภูมิภาคที่ให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง ซึ่งในปี 2562 คณะกรรมาธิการยุโรป ได้ออกแผนการปฏิรูปสีเขียว โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHGs) ลง 50-55% ภายในปี 2573 และในปี 2593 ต้องปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) เพื่อทำให้อุณหภูมิของโลกไม่เพิ่มขึ้นเกิน 5-2.0 องศาเซลเซียส ตามที่ตกลงกันไว้ในความตกลงปารีส (Paris Agreement)


ข้อมูลขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ในระหว่างปี 2533 ถึง 2563 พื้นที่ป่าขนาด 420 ล้านเฮกเตอร์ สูญเสียไปโดยมีสาเหตุมาจากการตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งหากเปรียบเทียบในช่วงเวลาเดียวกันโลกสูญเสียพื้นที่ป่าเป็นจำนวน 178 ล้านเฮกเตอร์ เท่ากับว่าในทุก ๆ นาที พื้นที่ป่าขนาดประมาณ 20 สนามฟุตบอลกำลังถูกทำลายอยู่ทั่วทุกมุมโลก การสูญเสียพื้นที่ป่าดังกล่าวส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นจากฝีมือมนุษย์


ตามรายงานของคณะทำงานระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) วิเคราะห์ว่าปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของมนุษย์ ส่วนใหญ่มาจากการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อตอบสนองความต้องการขยายพื้นที่เกษตรกรรมและปศุสัตว์ที่เพิ่มมากขึ้น


เพื่อแก้ไขและป้องกันการกระทำการต่าง ๆ ที่เป็นสาเหตุทำให้ป่าเสื่อมโทรม สหภาพยุโรปในฐานะที่เป็นตลาดรายใหญ่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่าทั่วโลกเพื่อการบริโภคจึงมุ่งแสวงหาข้อตกลงระดับชาติเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม


ในการเปลี่ยนแปลงนี้คณะกรรมาธิการยุโรปได้เสนอร่างกฎระเบียบฉบับใหม่ที่มีชื่อว่า “Deforestation-free products” หรือ “กฎหมายว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า” กฎหมายฉบับแรกของโลกที่ห้ามนำเข้าสินค้าที่มีส่วนตัดไม้ทำลายป่า


#สิ่งแวดล้อม #cop27 #Deforestationfreeproducts #สินค้าปลอดการทำลายป่า #ส่งออกไทย #ภาคการส่งออก #Deforestation #อียู #roadtonetzero #esg #เพื่อนคู่คิดธุรกิจsme #ธนาคารกรุงเทพ #bangkokbanksme

 



ไฟเขียว ‘กฎหมายห้ามนำเข้าสินค้าโยงตัดไม้ทำลายป่า’ (Deforestation-free products)


รัฐสภายุโรปมีมติในวันที่ 19 เม.ย.2566 เห็นชอบข้อบังคับผลิตภัณฑ์ปลอดการตัดไม้ทำลายป่าของสหภาพยุโรป (EUDR) กฎหมายฉบับนี้กำหนดให้ผู้ประกอบการต่าง ๆ ที่จดทะเบียนในชาติสมาชิกของสหภาพยุโรป (อียู) ต้องแสดงข้อมูลที่พิสูจน์ได้ว่า สินค้าที่นำเข้า ไม่ได้เป็นผลผลิตที่เติบโตบนที่ดิน ที่มีการตัดไม้ทำลายป่าในทั่วโลก มิฉะนั้นอาจเสี่ยงต้องโทษปรับในอัตราสูง


สินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า กำหนดให้ผู้ผลิตต้องแสดงหลักฐานการตรวจสอบสถานะผลิตภัณฑ์ (Due Diligence) ว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำลายป่า สามารถติดตามกระบวนการผลิตสินค้า และต้องดำเนินการตรวจสอบย้อนกลับตลอดกระบวนการผลิตสินค้า (mandatory due diligence) ว่าไม่มีความเชื่อมโยงกับการตัดไม้ทำลายป่าและการทำให้ป่าเสื่อมโทรม


แม้กฎหมายฉบับนี้จะมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งมั่นที่จะลดการตัดไม้ทำลายป่าและความเสื่อมโทรมของป่าที่เชื่อมโยงกับการบริโภคและการผลิตสินค้าเพื่อแก้ไขวิกฤตสภาพภูมิอากาศอย่างเร่งด่วน โดยคณะกรรมาธิการยุโรปคาดว่ากฎหมายฉบับนี้จะปกป้องป่าอย่างน้อย 71,920 เฮกตาร์ต่อปี หรือประมาณ 100,000 สนามฟุตบอล และลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลก 31.9 ล้านเมตริกตันต่อปี


ข้อมูลจาก

-กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

-สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศประจำสหภาพยุโรป

-สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

https://shorturl.asia/SNgu9

กฎหมายว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า (Deforestation-free products) ของสหภาพยุโรป (อียู) ว่าเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2565 ที่ประชุม 3 ฝ่าย (trilogue) ประกอบด้วย คณะกรรมาธิการยุโรป รัฐสภายุโรป และคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป ได้บรรลุข้อตกลงเบื้องต้นที่จะห้ามสินค้า 7 กลุ่มได้แก่ วัวและผลิตภัณฑ์ ไม้และผลิตภัณฑ์กระดาษตีพิมพ์ ปาล์มน้ำมันและอนุพันธ์ของน้ำมันปาล์ม ถั่วเหลือง กาแฟ โกโก้ ยางพาราและผลิตภัณฑ์ เข้าอียูหากพบว่ามีส่วนในการทำลายป่า


ซึ่งยังครอบคลุมถึงสินค้าเกษตรหลายชนิด เช่น ถั่วเหลือง เนื้อวัว น้ำมันปาล์ม ไม้ โกโก้ กาแฟ ยาง ถ่าน และสินค้าที่ผลิตจากสินค้าเหล่านี้ อาทิ หนัง ช็อกโกแลต และ เฟอร์นิเจอร์


ข้อมูลจาก

-กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

https://www.dtn.go.th/th/content/category/detail/id/22/iid/12255

-สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศประจำสหภาพยุโรป



การนำเข้าและส่งออกสินค้าจากสหภาพยุโรปตามกฎหมายว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า (Deforestation-free products) นั้น กำหนดเงื่อนไขให้ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดครบ 3 ประการ


คือ

1) ปลอดจากการทำลายป่า

2) ผลิตตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับประเทศผู้ผลิต

และ 3) ผู้ประกอบการหรือผู้ค้าจะต้องจัดทำ Due diligence ตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ก่อนการวางจำหน่าย มิฉะนั้นผู้ค้าหรือผู้ประกอบการจะต้องรับผิดตามบทลงโทษที่กฎหมายกำหนดไว้หากฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม


ระบบการตรวจสอบและประเมิน (Due diligence) คือ กระบวนการที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับไปจนถึงแหล่งกำเนิดสินค้าว่าเป็นสินค้าที่มาจากพื้นที่ที่มีการทำลายป่าหรือทำให้ป่าเสื่อมโทรมมาก่อนหรือไม่ โดยกำหนดให้ผู้ประกอบการ (operator) และผู้ค้า (trader) ต้องจัดทำข้อมูล รวมถึงแสดงเอกสารหลักฐานยืนยันพิสูจน์ว่าสินค้าที่นำเข้าหรือส่งออกเป็นสินค้าที่ปลอดจากการทำลายป่า (deforestation-free products)


โดยกระบวนการการทำ Due diligence แบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอน กล่าวคือ

1) รวบรวมข้อมูลจากฐานข้อมูล อาทิ รายละเอียดสินค้า ประเทศผู้ผลิต ข้อมูลสารสนเทศภูมิศาสตร์ (geo-localization) เป็นต้น

2) ทำการประเมินระดับความเสี่ยงในสินค้าของประเทศคู่ค้าตามระดับของการทำลายป่าไม้และทำให้ป่าเสื่อมโทรมรวมถึงการบังคับใช้กฎหมายภายในประเทศ

3) จัดการความเสี่ยง โดยจะต้องแสดงถึงแผนการจัดการการแก้ไขปัญหาความเสี่ยงไปยังหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ (Competent Authority) ของประเทศสมาชิกซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบสินค้าผ่านระบบ Due diligence นั้น


สหภาพยุโรปจะจัดระดับความเสี่ยงของประเทศคู่ค้าในระบบ Due diligence ตามระดับของการทำลายป่าหรือการทำให้ป่าเสื่อมโทรม โดยอาศัยระบบการเทียบเคียง (Benchmarking System) มาประเมินความเสี่ยงของแต่ละประเทศ ทั้งนี้ ประเทศคู่ค้าจะถูกจัดอยู่ในประเภทใดประเภทหนึ่งจากสามประเภท ได้แก่ ระดับความเสี่ยงต่ำ มาตรฐาน และสูง การจัดระดับนี้จะเผยแพร่ภายใน 18 เดือนนับจากกฎหมายมีผลใช้บังคับ


ข้อมูลจาก

-กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

-สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศประจำสหภาพยุโรป



กฎหมายนี้ ถือเป็นกฎหมายฉบับแรกของโลกที่ห้ามนำเข้าสินค้าที่มีส่วนตัดไม้ทำลายป่า โดยกำหนดให้ผู้นำเข้าจะต้องจัดทำข้อมูล และแสดงหลักฐาน/เอกสารยืนยันว่า สินค้าไม่ได้ผลิตบนที่ดินที่มีการทำลายป่า


กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ระบุว่า ในช่วงที่ผ่านมา กลุ่มอุตสาหกรรมไม้ของไทย ได้เตรียมความพร้อมมาระยะหนึ่งแล้ว เนื่องจากก่อนหน้านี้ EU เริ่มใช้แผนปฏิบัติการบังคับใช้กฎหมายป่าไม้ ธรรมาภิบาล และการค้า (Forest Law Enforcement, Governance and Trade: FLEGT) ร่วมกับประเทศผู้ผลิตไม้ ต้องมีการรับรองแหล่งที่มาของไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ว่าถูกต้องตามกฎหมาย รวมถึงจัดทำข้อตกลงการเป็นหุ้นส่วนด้วยความสมัครใจ (VPA) กับประเทศผู้ผลิตไม้ เพื่อป้องกันไม่ให้ไม้ผิดกฎหมายเข้ามาในตลาดอียู โดยไทยและอียูได้เริ่มการเจรจาจัดทำ FLEGT VPA ตั้งแต่ปี 2556


แต่ยากที่จะปฏิเสธว่าในกระบวนการตรวจสอบและประเมินสินค้า (Due diligence) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการที่สำคัญของกฎหมายว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า (Deforestation-free products) อาจส่งผลกระทบต่อการนำเข้าและส่งออก โดยเพิ่มภาระทางค่าใช้จ่ายให้กับผู้ประกอบการและผู้ค้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ต้องติดตามว่าทุกภาคส่วน จะมีแนวทางอย่างไรเพื่อรับมือและแก้ไขปัญหาดังกล่าว


โดยประเทศไทย เป็นหนึ่งในประเทศผู้ผลิตสินค้าที่ต้องส่งสินค้าไปจำหน่ายในสหภาพยุโรป จึงต้องมีการเตรียมรับมือต่อกฎหมายฉบับนี้ เพื่อไม่ให้เสียโอกาสในการแข่งขันจากคู่แข่ง แม้จะมีสัดส่วนการส่งออกไปยังสหภาพยุโรปไม่มาก


ซึ่งหากบริษัทใดไม่ปฏิบัติตามกฎหมายใหม่ จะถูกปรับสูงถึง 4 % ของผลประกอบการของบริษัทในประเทศใด ประเทศหนึ่งในสหภาพยุโรป ส่วนประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรป จะดำเนินการตรวจสอบให้บริษัทต่าง ๆ ปฏิบัติตามกฎหมายที่บังคับใช้ ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 30 ธ.ค. 2567


หากธุรกิจส่งออกไทย ในฐานะผู้ผลิต ไม่ปรับตัวหรือเตรียมรับมือในเรื่องนี้ อาจเกิดปัญหาใหญ่ โดยเฉพาะประเด็นมาตรการกีดกันจากหลายประเทศ


ทั้งนี้ ในปี 2564 ไทยส่งออกยางพาราและผลิตภัณฑ์ไปอียู มูลค่า 1,693.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 8% ของการส่งออกไทยไปโลก ไม้มูลค่า 22.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นสัดส่วน 9% ของการส่งออกไทยไปโลก และเฟอร์นิเจอร์มูลค่า 19.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นสัดส่วน 5% ของการส่งออกไทยไปโลก ส่วนสินค้ากลุ่มอื่นๆ ได้แก่ วัวและผลิตภัณฑ์ ถั่วเหลือง โกโก้ และน้ำมันปาล์ม โดยไทยส่งออกไปอียูน้อย มีสัดส่วนต่ำกว่า 1% ของการส่งออกไปโลก


ข้อมูลจาก กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

https://www.dtn.go.th/th/content/category/detail/id/22/iid/12255




สหภาพยุโรป (EU) กำหนดให้ผู้นำเข้าสินค้าทั้ง 7 กลุ่ม จะต้องลงทะเบียนในระบบฐานข้อมูลและแจ้งข้อมูลที่เกี่ยวกับการผลิต เช่น แหล่งที่มา ผู้ผลิต และพิกัดทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่เพาะปลูก เก็บเกี่ยว เป็นการรับรองว่าการผลิตมีการบุกรุกป่าหรือไม่ รวมถึงการจัดทำเอกสารแสดงสิทธิการใช้ที่ดินว่าไม่ได้บุกรุกป่า


เพื่อให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับ และวิเคราะห์ข้อมูลผ่านระบบภาพถ่ายจากดาวเทียมว่าสินค้าที่ผลิตไม่ได้อยู่ในพื้นที่ตัดไม้ทำลายป่า (Deforestation) หรือทำให้ป่าเสื่อมโทรม (Degradation) หรือไม่


เพื่อลดการทำลายพื้นที่ป่า และลดการนำเข้าสินค้าที่มีความเสี่ยงในการทำลายป่าเข้ามาใน EU ซึ่งกฎหมายในลักษณะนี้ไม่ได้มีเฉพาะในยุโรปเท่านั้น ปัจจุบันสหรัฐอเมริกาก็เริ่มแล้ว และกำลังลามเข้าไปในหลายประเทศด้วยเช่นกัน


สะท้อนให้เห็นว่า กฎระเบียบการค้าของ EU กำลังจะเป็นต้นแบบของกฎการค้าที่หลาย ๆ ประเทศนำมาใช้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นตลาดส่งออกที่เป็นแหล่งหารายได้สำคัญของไทย ดังนั้นผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องเตรียมความพร้อม เพื่อยืนยันว่าสินค้ามาจากที่ดินที่ปลอดจากการทำลายป่า และจัดทำกรอบความร่วมมือด้านป่าไม้ (Forest Partnership) รวมถึงกรอบความร่วมมืออื่นๆ กับ EU ในอนาคตต่อไป


ข้อมูลจาก กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์

https://www.dtn.go.th/th/content/category/detail/id/22/iid/12255


อ่านบทความเพิ่มเติม คลิก :

https://www.bangkokbanksme.com/en/23-7sme3-eu-rules-to-ban-exports-of-products-at-risk-of-deforestation


Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

‘TikTok For All’ Update เทรนด์ใหม่ปี 2024 พร้อมกลยุทธ์เพิ่มโอกาส SME ไทยสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน

‘TikTok For All’ Update เทรนด์ใหม่ปี 2024 พร้อมกลยุทธ์เพิ่มโอกาส SME ไทยสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน

TikTok ตอกย้ำการเป็นแพลตฟอร์มเอนเตอร์เทนเมนต์ที่น่าเชื่อถือสำหรับทุกคน ทั้งครีเอเตอร์ คอมมูนิตี้ผู้ใช้งาน และธุรกิจทุกขนาดในไทย ด้วยการเปิดตัว…
pin
1367 | 14/02/2024
ทอดไม่ทิ้ง! เปลี่ยน ‘น้ำมันเหลือทิ้ง’ เป็น ‘น้ำมันเครื่องบิน’ โอกาสใหม่ SME ไทย เติบโตอย่างยั่งยืน

ทอดไม่ทิ้ง! เปลี่ยน ‘น้ำมันเหลือทิ้ง’ เป็น ‘น้ำมันเครื่องบิน’ โอกาสใหม่ SME ไทย เติบโตอย่างยั่งยืน

ขณะที่ยานพาหนะต่าง ๆ ทั้ง รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รถไฟ และเรือ ต่างมุ่งสู่การใช้เชื้อเพลิงพลังงานทดแทน ที่เป็นพลังงานสะอาดกันแล้ว แต่สำหรับการเดินทางโดยอากาศยาน…
pin
1752 | 26/01/2024
7 เช็คลิสต์ ‘สินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่า’ (Deforestation-free products) เมื่อ EU ออกกฎแบนการนำเข้า ส่งออกไทย