รู้เท่าทัน! 8 วิธีป้องกัน พร้อมจุดสังเกต ไม่ตกเป็นเหยื่อ ‘มิจฉาชีพออนไลน์’ หลอกดูดเงินในธนาคาร

SME Update
19/01/2024
รับชมแล้วทั้งหมด 6118 คน
รู้เท่าทัน! 8 วิธีป้องกัน พร้อมจุดสังเกต ไม่ตกเป็นเหยื่อ ‘มิจฉาชีพออนไลน์’ หลอกดูดเงินในธนาคาร
banner

ไม่อยากตกเป็นเหยื่อโจรออนไลน์ต้องอ่าน! เพราะยุคนี้ต้องเผชิญกับค่าครองชีพแสนแพง บางคนทำงานกว่าจะได้เงินแต่ละบาท ต้องใช้น้ำพักน้ำแรงแลกมาอย่างเหนื่อยยาก แต่อยู่ดี ๆ มีใครไม่รู้ มาดูดเงินในบัญชีเราไปอย่างง่ายดาย แถมยิ่งนานวัน มิจฉาชีพยิ่งแฝงมาในทุกรูปแบบจนดูไม่ออก ด้วยสารพัดกลโกงที่หลอกขโมยเงินเรา ไม่ว่าจะเป็นการหลอกลวงผ่านช่องทางออนไลน์ ปลอมเป็นธนาคาร หน่วยงาน หรือองค์กรที่น่าเชื่อถือ จนมีผู้ตกเป็นเหยื่อไม่น้อย วันนี้ Bangkok Bank SME มี 8 วิธีสร้างเกราะป้องกันเพื่อให้รู้เท่าทันกลโกงโจรออนไลน์ จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อให้เสียทั้งเงิน เจ็บทั้งใจ มาฝากกัน




แอปฯ ดูดเงินคืออะไร อันตรายแค่ไหน?


แอปฯ ดูดเงินส่วนใหญ่มักจะเป็นแอปฯ ที่แฝงมัลแวร์ไว้ โดยมิจฉาชีพจะส่งลิงก์ดาวน์โหลดและติดตั้งแอปฯ ให้ทาง SMS ไลน์ หรืออีเมล ด้วยการหลอกล่อวิธีต่าง ๆ เช่น หลอกให้เงินกู้ หลอกให้กรอกข้อมูลลงทะเบียนเพื่อรับรางวัล หรืออ้างเป็นหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้เหยื่อติดตั้งแอปฯ ปลอมที่ทำเลียนแบบขึ้นมา


เมื่อแอปฯ ถูกติดตั้งในเครื่องแล้ว มัลแวร์จะเริ่มทำงานด้วยการจำลองเป็นแอปฯ ธนาคารปลอม หลอกให้เหยื่อกรอกชื่อและรหัสผ่าน (PIN) พร้อมทั้งดักจับรหัสผ่านชั่วคราวหรือ OTP ที่ส่งมาทาง SMS แล้วส่งข้อมูลทั้งหมดกลับไปให้มิจฉาชีพสามารถทำธุรกรรมต่าง ๆ และโอนเงินออกจากบัญชีของเหยื่อไปได้




นอกจากนี้ยังมีแอปฯ ประเภท Remote Access ที่หากติดตั้งแล้ว จะทำให้มิจฉาชีพสามารถเข้าถึงข้อมูลและควบคุมโทรศัพท์มือถือของเหยื่อเพื่อทำธุรกรรมและโอนเงินออกจากบัญชีได้ โดยจะหลอกให้เหยื่อกรอกตัวเลข หรือรหัสผ่าน แล้วนำรหัสเหล่านี้ไปใช้ทำธุรกรรมและโอนเงินออกจากบัญชี


ทั้งนี้ ศูนย์ประสานงานด้านความมั่นคงปลอดภัย เทคโนโลยีสารสนเทศภาคการธนาคาร (TB-CERT) ระบุว่า การหลอกลวงประชาชนให้ได้รับความเสียหายจากแอปฯ ดูดเงิน ส่วนใหญ่จะมาใน 3 รูปแบบ ดังนี้


1. หลอกล่อด้วยรางวัลและความผิดปกติของบัญชีและภาษี โดย Call Center โทรมาหลอกด้วยสถานการณ์ที่ทำให้กังวล SMS เป็นการใช้ชื่อเหมือนหรือคล้ายหน่วยงานต่าง ๆ และ Social Media หลอกให้เงินรางวัลและเงินกู้ และให้เพิ่ม (Add) บัญชีไลน์ปลอมของมิจฉาชีพ


2. หลอกให้ติดตั้งโปรแกรม หลอกขอข้อมูล โดยให้ทำตามขั้นตอนเพื่อติดตั้งแอปฯ ปลอม (ไฟล์ติดตั้งนามสกุล .apk) เมื่อแอปพลิเคชันได้รับอนุญาตให้ทำงานภายใต้ Accessibility Service แล้ว จะสามารถเข้าถึงและควบคุมการสั่งงานมือถือแทนผู้ใช้งานได้ ฟังก์ชันนี้จึงเป็นกลไกหลักของมิจฉาชีพในการควบคุมมือถือของเหยื่อ

3. ควบคุมมือถือของเหยื่อและใช้ประโยชน์ ด้วยการใช้แอปฯ ปลอมเชื่อมต่อไปยังเครื่องของมิจฉาชีพ เพื่อเข้าควบคุมและสั่งการมือถือของเหยื่อ เพื่อโอนเงิน และขโมยข้อมูลต่าง ๆ โดยรูปแบบของแอปฯ ดูดเงินที่มิจฉาชีพใช้หลอกประชาชนมี 3 รูปแบบ คือ

1. หลอกให้เหยื่อติดตั้งแอปพลิเคชันจำพวกรีโมทต่าง ๆ จาก Play Store จากนั้นมิจฉาชีพจะรีโมทเข้ามาดูและควบคุมมือถือของเหยื่อเพื่อโอนเงินออกทันที (เกิดขึ้นมากในช่วงกลางปี 2565)


2. แอปพลิเคชันอันตราย (.apk) เมื่อติดตั้งแล้วจอมือถือของเหยื่อจะค้าง โจรจะรีโมทมาควบคุมมือถือของเหยื่อ และโอนเงินออกทันที เช่น แอปพลิเคชัน DSI, สรรพากร, ศุลกากร, กระทรวงพาณิชย์ ล่าสุดที่เป็นข่าวดังคือ กรมที่ดิน มักเป็นรูปแบบที่มิจฉาชีพใช้มากที่สุด เพราะเป็นองค์กรรัฐที่มีความน่าเชื่อถือ


3. แอปพลิเคชันอันตราย (.apk) ที่ควบคุมมือถือของเหยื่อ รอผู้ใช้ไม่ระวังจะค่อย ๆ แอบโอนเงินออกภายหลัง เช่น แอปพลิเคชัน หาคู่ Bumble, Snapchat เป็นต้น


อย่างไรก็ดี กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมและสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) ได้รวบรวมรายชื่อ 203 แอปพลิเคชันอันตราย ซึ่งหากใครพบเห็นในเครื่องแนะนำให้ลบทิ้งทันที โดย รายชื่อแอปฯ ดูดเงิน ที่ต้องระวังสามารถดูได้ที่

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม https://shorturl.asia/RX1Im




อีกหนึ่งภัยคุกคาม ScamTok ภัยแฝงบน TikTok ที่หลายคนอาจไม่รู้


อีกหนึ่งแอปพลิเคชันที่ตอนนี้กำลังได้รับความนิยมอย่างมาก คือ TikTok ที่มาในรูปแบบ ScamTok หรือ TikTok Scam มิจฉาชีพ ที่แฝงตัวอยู่บน TikTok ซึ่งมีรูปแบบดังนี้


เสนอช่องทางรวยเร็วทันใจ มิจฉาชีพปลอมตัวเป็นอินฟลูเอนเซอร์ กูรูเรื่องการลงทุน เจ้าของธุรกิจ หรือแม่ข่ายสินค้า ลงคลิปวิดีโอแผนการช่องทางรวยทันใจ ช่องทางอาชีพรุ่นใหม่รวยเร็ว ซึ่งเป็นเพียงการหลอกลวงผู้คนให้คิดถึงความสำเร็จผลตอบแทนที่ได้รับ หรือถูกหลอกให้ทำงานที่ไม่มีจริง


ทำบัญชีธุรกิจปลอม ด้วยช่องโหว่ TikTok ดังนั้น บัญชีใหม่สามารถเข้าสู่หน้าหลักยอดนิยมได้แบบก้าวกระโดด แค่ตามเทรนด์ที่ถูกต้องหรือใช้เพลงแบ็คกราวด์ยอดนิยม สร้างธุรกิจปลอมชักชวนให้หลงกลลงทุน ซื้อขายสินค้า และหลอกคลิกลิงก์


หลอกเป็นซัพพลายเออร์ Dropshipping ที่ไม่มีอยู่จริง การดรอปชิปเป็นรูปแบบธุรกิจที่มีอยู่จริง แต่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ มิจฉาชีพอาศัยช่องโหว่นี้แฝงตัวเข้ามาโดยสวมรอยเป็นซัพพลายเออร์ดรอปชิปและขอชำระเงินล่วงหน้า


บัญชีไวรัส TikTok Bot ส่วนใหญ่เป็นบัญชีบอทที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับลงทุน ซึ่งบอทเหล่านี้สามารถขึ้นสู่ฟีดของผู้ใช้หลายคนได้ หรือแจกจ่ายลิงก์ที่ติดไวรัส หากเผลอกดลิงก์ ก็อาจถูกติดตั้งมัลแวร์


ซื้อผู้ติดตาม TikTok เพิ่ม ผู้ใช้งานหลายคนอยากให้บัญชีตัวเองมีคนมากดถูกใจ ติดตาม หรือมีคนดูคลิปของเราเยอะ ๆ มิจฉาชีพจึงใช้แนวทางนี้หลอกล่อเหยื่อ เพียงแค่คุณจ่ายเงินก็สามารถเพิ่มยอดผู้ติดตามให้ บางคนจ่ายเงินไป สุดท้ายหายเงียบ หรือบางรายมีผู้ติดตามเพิ่มขึ้นจริง แต่บัญชีที่ติดตามเหล่านั้นก็คือบอทที่ถูกสร้างขึ้นมา ไม่มีตัวตนอยู่จริง ทำให้บัญชีที่เราใช้งานถูกระงับอีกด้วย




จะรู้ได้อย่างไร? ว่ามีแอปฯ ดูดเงินแฝงอยู่ในมือถือเรา


ถ้าหากในมือถือมีแอปฯ ดูดเงินแฝงอยู่ เราจะมีวิธีสังเกตได้หลายอย่าง เช่น

- แอปฯ ต่าง ๆ อาจค้างหรือหยุดทำงานแบบไม่มีเหตุผล

- เครื่องมีอาการช้าและอืดกว่าเดิมมาก

- แบตเตอรี่หมดเร็วกว่าปกติ เพราะแอปฯ ดูดเงินจะใช้ทรัพยากรในเครื่องหนักขึ้น เป็นต้น

ด้าน กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี บช.สอท ให้คำแนะนำการตรวจสอบมือถือระบบแอนดรอยด์ ว่าถูกติดตั้งแอปฯ รีโมตดูดเงินหรือยัง โดยมีขั้นตอนดังนี้

1. กดเลือกที่เมนูการตั้งค่า (รูปฟันเฟือง) แล้วเลือก "แอป"

2. กดที่จุด 3 จุด มุมขวาบน เลือกเมนูย่อย "การเข้าถึงพิเศษ"


หากไม่สามารถเปิดดูเมนูดังกล่าวได้ หน้าจอเด้งออกไปที่หน้าหลักทันที แสดงว่ามือถือเครื่องนั้นถูกฝังแอปฯ รีโมตดูดเงินเรียบร้อยแล้ว ให้รีบตัดการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตทันที แล้วสำรองข้อมูลที่สำคัญ จากนั้นล้างเครื่อง โดยรีเซตเครื่องกลับสู่ค่าเริ่มต้นที่มาจากโรงงาน




วิธีป้องกันมิจฉาชีพหลอกติดตั้งแอปฯ ดูดเงิน


สมาคมธนาคารไทย ได้รวบรวม ข้อควรระวัง 8 เรื่อง หากปฏิบัติตามจะช่วยให้ลดความเสี่ยงจากการเป็นเหยื่อมิจฉาชีพออนไลน์ได้ ดังนี้

1. ไม่ดาวน์โหลดโปรแกรมจากแหล่งอื่น ก่อนจะติดตั้ง สังเกตนามสกุลไฟล์ .apk ให้รีบหยุดเลย เพราะแอปฯ ที่ขึ้นใน Store ส่วนมากจะมีการควบคุมการขอเข้าถึงต่าง ๆ และรับรองความปลอดภัยจากผู้พัฒนาระบบปฏิบัติการที่เป็น Official Store ให้ผู้ใช้ในระดับหนึ่งแล้ว อาทิ Play Store หรือ App Store

2. ไม่ตั้ง password ซ้ำ หรือ ใช้ร่วมกับ Mobile Banking

3. ไม่ทำการสแกนใบหน้า หรือยืนยันตัวตนผ่านแอปพลิเคชันที่ไม่รู้จัก

4. ไม่กดลิงก์จาก SMS แปลกปลอม จาก SMS อีเมล กลุ่มไลน์ ที่ส่งจากผู้ส่งที่ไม่รู้จัก ส่วนภาคธนาคารไม่มีนโยบายส่งข้อความ SMS แนบลิงก์ทุกชนิด หรือมีข้อความให้แอด Line ID หากได้รับ SMS ดังกล่าว อย่าหลงเชื่อเด็ดขาด

5. ควรสังเกตโล่ ที่อยู่ด้านหน้า Line account เสมอ ซึ่งควรมีโล่สีเขียว หรือน้ำเงินเข้ม เท่านั้น

6. หากต้องการทำธุรกรรมใดๆ ควรโทรกลับไปที่หน่วยงานที่ถูกแอบอ้างด้วยตนเอง

7. ไม่ใช้ Wi-Fi สาธารณะ เมื่อต้องใช้งานอินเทอร์เน็ตนอกบ้าน ควรใช้อินเทอร์เน็ตจากมือถือของตัวเองเท่านั้น หลีกเลี่ยงการใช้ Wi-Fi สาธารณะ โดยเฉพาะเมื่อต้องเข้าเว็บไซต์ที่ต้องกรอกข้อมูลส่วนตัว หรือแอปพลิเคชันธนาคาร เพราะมิจฉาชีพอาจติดตั้ง Wi-Fi ปลอมไว้เพื่อดักขโมยข้อมูลต่าง ๆ ของเรา

8. หากพบแอปฯ ดูดเงินในเครื่อง ให้รีบเปลี่ยนรหัส ถ้าหากพบว่ามีแอปฯ ดูดเงินถูกติดตั้งอยู่ในมือถือแล้ว แต่ยังไม่ถูกดูดเงิน ควรรีบเปลี่ยนรหัสผ่านบัญชีสำคัญต่าง ๆ ที่มีการผูกไว้กับมือถือเครื่องนั้น พร้อมทั้งลบแอปฯ ทิ้ง หรือรีเซตล้างเครื่องใหม่ทันที




ถ้าตกเป็นเหยื่อแล้วต้องทำอย่างไร?


สำหรับบางคนอาจเผลอเพียงแค่คลิกลิงก์ ยังไม่มีการโหลดแอปฯ ส่วนนี้ยังปลอดภัย แต่ถ้าโหลดแอปฯ ไปแล้ว ให้รีบถอนการติดตั้ง หากทำไม่เป็น ให้ปิดเครื่องไว้ก่อน แล้วไปให้ผู้เชี่ยวชาญทำให้ แต่ถ้าหลงกลตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพไปแล้ว ให้รีบดำเนินการปิดเครื่องทันที ด้วยวิธีกด Force-Reset คือ การกดปุ่ม Power และปุ่มลดเสียง พร้อมกันค้างไว้ 10-20 วินาที แต่ถ้าทำวิธีนี้ไม่สำเร็จ ให้ตัดการเชื่อมต่อของโทรศัพท์ด้วยการถอดซิมการ์ด ปิด Wi-Fi หลังจากนั้น อย่าเพิ่งท้อใจ เรายังอาจได้เงินคืนมาโดยปฏิบัติตามนี้


1. รีบแจ้งธนาคารที่เรามีแอปฯ ในโทรศัพท์ให้ทราบทันที เพื่อให้ดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งธนาคารจะสามารถระงับบัญชีรวมทั้งเงินที่ออกจากบัญชีของเราไว้ได้นาน 72 ชั่วโมง ในขั้นตอนนี้เราจะได้รับ เลขที่คำขอ (Bank Case ID) เพื่อเป็นหลักฐานว่าธนาคารได้รับข้อร้องเรียนไว้แล้ว และให้ธนาคารระงับบัญชีปลายทางที่เงินเราถูกโอนไป

2. ในช่วง 72 ชั่วโมงนี้ เราจะต้องแจ้งความกับตำรวจที่สาขาใดก็ได้ หรือผ่านทางตำรวจออนไลน์บนเว็บไซต์ (https://thaipoliceonline.com/) เพื่อให้ตำรวจทำงานร่วมกับธนาคาร ในการตรวจสอบเส้นทางการเงินและยืดเวลาระงับบัญชีต่อไปอีก 7 วัน โดยหากมีมูลเหตุเข้าข่ายการกระทำความผิด ตำรวจจะส่งหมายให้ธนาคารอายัดบัญชีจนกว่ากระบวนการสืบสวนจะแล้วเสร็จ

3. เก็บข้อมูลและหลักฐานทั้งหมดก่อนรีเซตโทรศัพท์

4. หากต้องการติดต่อสอบถามความคืบหน้าเพิ่มเติม ก็นำเลขที่คำขอไปสอบถามกับเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือพนักงานธนาคารได้




ไม่ตกเป็นเหยื่อ แต่อาจกลายเป็นบัญชีม้าไม่รู้ตัว

สำหรับบางคนไม่ได้คลิกลิงก์ และไม่เคยดาวน์โหลดแอปฯ ปลอมเลย แต่ถูกดึงมาเกี่ยวข้องด้วยการใช้เป็นบัญชีม้าอย่างที่เป็นข่าวให้เห็นมากมายในทุกวันนี้ หากมีเงินโอนเข้า-ออกจากบัญชีของคุณโดยไม่รู้ที่มา ให้ทำตามขั้นตอนต่อไปนี้


1. ถ้ามี SMS เข้ามาว่ามีการโอนเงินเข้า-ออกจากบัญชีของคุณพร้อมแนบลิงก์ให้กดดูรายละเอียด ห้ามกดลิงก์! เพราะธนาคารยกเลิกการส่งลิงก์ให้ลูกค้าผ่านทาง SMS และ E-Mail ครบทุกแห่งแล้วตั้งแต่ 30 มิถุนายน 2566

2. ถ้ามีคนโทรศัพท์มาบอกว่าโอนเงินผิด ขอให้โอนเงินกลับ อย่าเพิ่งโอน! หากเราโอนเงินต่อให้คนอื่น ทันทีบัญชีของเราอาจกลายเป็นเส้นทางหนึ่งของบัญชีม้า ควรติดต่อเจ้าหน้าที่ธนาคารเพื่อขอให้ธนาคารช่วยดำเนินการระงับวงเงินจำนวนเท่ากับที่มีคนโทรมาแจ้ง

3. เข้าเว็บไซต์ thaipoliceonline.com เพื่อแจ้งความไว้เป็นหลักฐาน ป้องกันการถูกกล่าวหาว่าไม่ยอมโอนเงินคืนเจ้าของเงินที่แท้จริง


วันนี้ต้องยอมรับว่า ‘เทคโนโลยี’ เข้ามามีส่วนสำคัญในชีวิตประจำวันของเรามากขึ้น เป็นโอกาสให้มิจฉาชีพใช้เทคโนโลยีหาช่องทาง สร้างกลโกงรูปแบบต่าง ๆ เพื่อแฮกข้อมูลของเราได้มากขึ้นเช่นกัน เพื่อรู้เท่าทันก่อนเกิดเหตุร้ายกับบัญชีเงินในธนาคารของเรา ควรติดตามข่าวสารรูปแบบกลโกงใหม่ ๆ ที่มิจฉาชีพสร้างขึ้นอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันตัวเราเองให้ได้มากที่สุด ทั้งนี้ หากมีปัญหาเกี่ยวกับการดูดเงินในบัญชีธนาคาร สามารถติดต่อ บช.สอท. ได้ที่ โทร. 1441 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือเข้าไปแจ้งเหตุที่เว็บไซต์สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (www.thaipoliceonline.com)


อ้างอิง

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

https://www.bot.or.th/th/research-and-publications/articles-and-publications/bot-magazine/Phrasiam-66-3/theknowledge_manualforfinancialfraud.html

https://www.bot.or.th/th/research-and-publications/articles-and-publications/bot-magazine/Phrasiam-66-1/The-Knowledge-66-1-4.html

https://www.bot.or.th/th/news-and-media/news/news-20230118.html

สมาคมธนาคารไทย

https://www.tba.or.th/%E0%B9%81%E0%B8%8A%E0%B8%A3%E0%B9%8C-6-%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%98%E0%B8%B5%E0%B8%9B%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B9%81%E0%B8%AD%E0%B8%9B%E0%B8%AF%E0%B8%94/

https://www.thaihealth.or.th/scamtok-%E0%B8%A0%E0%B8%B1%E0%B8%A2%E0%B9%81%E0%B8%9D%E0%B8%87%E0%B8%9A%E0%B8%99-tiktok-%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B9%80%E0%B8%84%E0%B8%A2%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89/

https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ/2679205



Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

‘TikTok For All’ Update เทรนด์ใหม่ปี 2024 พร้อมกลยุทธ์เพิ่มโอกาส SME ไทยสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน

‘TikTok For All’ Update เทรนด์ใหม่ปี 2024 พร้อมกลยุทธ์เพิ่มโอกาส SME ไทยสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน

TikTok ตอกย้ำการเป็นแพลตฟอร์มเอนเตอร์เทนเมนต์ที่น่าเชื่อถือสำหรับทุกคน ทั้งครีเอเตอร์ คอมมูนิตี้ผู้ใช้งาน และธุรกิจทุกขนาดในไทย ด้วยการเปิดตัว…
pin
1368 | 14/02/2024
ทอดไม่ทิ้ง! เปลี่ยน ‘น้ำมันเหลือทิ้ง’ เป็น ‘น้ำมันเครื่องบิน’ โอกาสใหม่ SME ไทย เติบโตอย่างยั่งยืน

ทอดไม่ทิ้ง! เปลี่ยน ‘น้ำมันเหลือทิ้ง’ เป็น ‘น้ำมันเครื่องบิน’ โอกาสใหม่ SME ไทย เติบโตอย่างยั่งยืน

ขณะที่ยานพาหนะต่าง ๆ ทั้ง รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รถไฟ และเรือ ต่างมุ่งสู่การใช้เชื้อเพลิงพลังงานทดแทน ที่เป็นพลังงานสะอาดกันแล้ว แต่สำหรับการเดินทางโดยอากาศยาน…
pin
1753 | 26/01/2024
รู้เท่าทัน! 8 วิธีป้องกัน พร้อมจุดสังเกต ไม่ตกเป็นเหยื่อ ‘มิจฉาชีพออนไลน์’ หลอกดูดเงินในธนาคาร