ไขวิธี รีไซเคิล ‘คาร์บอนไดออกไซด์’ นำกลับมาใช้สร้างสรรค์ ผลิตภัณฑ์รักษ์โลก อะไรได้บ้าง?

SME Update
14/12/2023
รับชมแล้วทั้งหมด 12374 คน
ไขวิธี รีไซเคิล ‘คาร์บอนไดออกไซด์’ นำกลับมาใช้สร้างสรรค์ ผลิตภัณฑ์รักษ์โลก อะไรได้บ้าง?
banner

ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon dioxide) หรือ CO2 ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดภาวะเรือนกระจกและปัญหาโลกร้อน ที่ถูกปลดปล่อยออกมาจากกิจกรรมการผลิตสินค้าต่าง ๆ ที่ใช้อยู่ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็น เสื้อผ้า เครื่องประดับที่เราใส่ แก้วกาแฟที่เราดื่ม รถยนต์ที่เราขับ รวมถึงบ้านพักอาศัย แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีสมัยใหม่สามารถดักจับก๊าซคาร์บอนฯ มารีไซเคิลได้หลากหลายวิธี เพื่อนำกลับมาหมุนเวียนใช้ให้เกิดประโยชน์อีกครั้ง


จากผลการศึกษาตลาดของ Nielsen ปี 2019 ระบุว่า ผู้บริโภคยินดีจ่ายเพื่อความยั่งยืนมากขึ้น นั่นหมายความว่า การซื้อขายผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สามารถแข่งขันในตลาดได้ ดังนั้น หาก SME ที่อยากเริ่มต้นธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือต้องการปรับเปลี่ยนธุรกิจของตัวเอง ลองดูไอเดียสินค้าที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้กับธุรกิจเราได้ ส่วนเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ดังกล่าว จะน่าสนใจขนาดไหน ติดตามได้ในบทความนี้




สถานการณ์การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากอดีตถึงปัจจุบัน

รายงานจาก Climate Watch ระบุว่า ในปี 2011 ทั่วโลกมีปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon dioxide) หรือ CO2 สูงถึง 32,274 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ (MtCO2) มากกว่าปริมาณที่วัดค่าได้เมื่อปี 1850 ที่มีปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ เพียงแค่ 198 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ (MtCO2) ซึ่งต่างกันมากถึง 150 เท่า เลยทีเดียว


ขณะที่ รายงานของทบวงการพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency: IEA) ปี 2022 ระบุว่า ปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคพลังงานจากทั่วโลกเพิ่มขึ้น 0.9% หรือคิดเป็นปริมาณ 321 ล้านตันในปี 2022 ซึ่งส่งผลให้ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สะสมขึ้นถึงระดับสูงสุดที่เกิน 36.8 ล้านตัน


ซึ่งก๊าซคาร์บอนฯ ถูกปล่อยออกมาจากกิจกรรมในอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าต่าง ๆ ของภาคธุรกิจ แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีสมัยใหม่สามารถดักจับก๊าซคาร์บอนฯ มารีไซเคิลได้หลากหลายวิธี และนำกลับมาหมุนเวียนใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อีกครั้ง


ขอบคุณภาพจาก: Climeworks


สำหรับการดักจับและกักเก็บคาร์บอน เป็นเทคโนโลยีสำคัญที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ จากอุตสาหกรรมที่ขจัดได้ยาก โดยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีศักยภาพเพียงพอที่จะกักเก็บก๊าซคาร์บอนฯ ได้ถึง 300,000 ล้านตัน แต่บางประเทศเทคโนโลยีไปไกล จนก้าวไปถึงขั้นการนำเก็บก๊าซคาร์บอนฯ กลับมาใช้ใหม่ ซึ่งย่อมเกิดประโยชน์มากกว่ากักเก็บเอาไว้เฉย ๆ โดยก๊าซคาร์บอนฯ ทั่วโลกประมาณ 230 ล้านตัน จะสามารถนำกลับมาใช้ในรูปแบบต่าง ๆ ได้ถึง 7 ด้าน ดังนี้



1. ด้านอาหารและเครื่องดื่ม

ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ CO2 สามารถใช้ขจัดคาเฟอีนออกโดยไม่ส่งผลกระทบต่อรสชาติของกาแฟ ซึ่ง CO2 ที่ดักจับมาได้ อาจใช้เติมฟองในเครื่องดื่มอย่างโซดาและเบียร์ และช่วยป้องกันไม่ให้ไวน์เสีย หรือรักษาความสดของอาหารสำเร็จรูปบรรจุห่อได้ด้วย


ยกตัวอย่างเช่น บริษัท Solar Foods สตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีอาหาร ได้พัฒนาการผลิตอาหารและเครื่องดื่ม โดยใช้จุลินทรีย์เพื่อเปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นสารโปรตีนทดแทนเนื้อสัตว์ที่เรียกว่า Solein โดย ก๊าซคาร์บอนฯ จะถูกฉีดเข้าไปในถังหมักพร้อมกับไฮโดรเจนและสารอาหารต่าง ๆ ทำให้เกิดการสร้างโปรตีนแห้งก่อนจะนำไปบดละเอียดเป็นผง สามารถนำไปปรุงอาหารได้หลากหลายประเภท

ซึ่งในอนาคตกระบวนการผลิตโปรตีนดังกล่าว จะช่วยลดพื้นที่การทำเกษตรแบบดั้งเดิมได้อย่างมาก ทำให้มีพื้นที่ในการดูซับและกักเก็บคาร์บอนได้มากขึ้น เช่น การปลูกป่า สร้างฟาร์มพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Farm) ฯลฯ เพื่อช่วยลดภาวะโลกร้อนนั่นเอง

ขอบคุณภาพจาก: Air Co. วอดก้า ที่กลั่นจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์


อีกหนึ่งตัวอย่าง คือ บริษัท Air Co ในประเทศอเมริกา ใช้ก๊าซคาร์บอนฯ ในการผลิตวอดก้าสูตรพิเศษ ที่กลั่นจากก๊าซคาร์บอนฯ ในอากาศ ด้วยกระบวนการผลิตจะใช้พลังงานไฟฟ้าแปลงคาร์บอนไดออกไซด์เป็นเอทานอล โดยปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ออกมาในกระบวนการผลิตน้อยกว่าแบบเดิมอย่างมาก โดยวอดก้า 1 ขวด สามารถดึงก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศได้ราว 1 ปอนด์ หรือประมาณ 0.45 กิโลกรัมเลยทีเดียว ที่พิเศษกว่านั้นคือ อุปกรณ์ไฟฟ้า และเครื่องมือในการผลิตวอดก้าสูตรพิเศษนี้ ใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาโรงกลั่น ทำให้วอดก้าของ Air Co. นอกจากจะไม่สร้างรอยเท้าคาร์บอน (Carbon Footprint) แล้ว ยังช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้อีกด้วย



ขอบคุณภาพจาก: Lululemon Athletica


2. ด้านเสื้อผ้าและเครื่องประดับ

ปัจจุบัน เสื้อผ้า แว่นกันแดด รองเท้า และเครื่องประดับได้หลากหลาย เช่น สร้อยข้อมือและฝาครอบป้องกันโทรศัพท์มือถือ รวมถึงการทำ เพชรเทียม หนังเทียมประเภทต่าง ๆ เป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถผลิตได้จากการใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยบริษัทเทคโนโลยีรายใหม่ สามารถทำให้การผลิตดังกล่าวเกิดขึ้นได้



ผลิตเพชรเทียม จากการแยกก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์


ยกตัวอย่างเช่น บริษัท Aether Diamonds สตาร์ทอัพสหรัฐอเมริกา ใช้วิธีแยกก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในการผลิตเพชรเทียม โดยดึงก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศมาอยู่ในเพชร ทุก ๆ 1 กะรัตที่ผลิต สามารถนำก๊าซคาร์บอนฯ ออกจากชั้นบรรยากาศได้ 20 เมตริกตัน



เสื้อผ้า ผลิตด้วยวัสดุโพลีเอสเตอร์จากก๊าซคาร์บอนฯ


อีกหนึ่งตัวอย่าง คือ บริษัทเสื้อผ้า Lululemon Athletica กับ LanzaTech ได้ร่วมกันผลิตวัสดุโพลีเอสเตอร์จากก๊าซคาร์บอนฯ โดยการใช้แบคทีเรียในการรีไซเคิลเอทานอล ให้เป็นเอทิลีน เพื่อนำมาใช้ทำผ้าโพลีเอสเตอร์และภาชนะพลาสติกได้ โดย CEO ของ LanzaTech กล่าวว่า แม้เอทานอลของเขาจะมีราคาสูงกว่าเอทานอลที่ทำจากข้าวโพด แต่ลูกค้าก็ยินดีจ่าย เพื่อแลกกับผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น


3. ด้านเฟอร์นิเจอร์

นอกจากนี้ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ยังสามารถเปลี่ยนเป็นผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ ได้ด้วย ไม่ว่าจะเป็น โต๊ะ เก้าอี้ โซฟา ที่นอน และหมอน ซึ่ง ก๊าซคาร์บอนฯ ที่ดักจับได้ จะเปลี่ยนสภาพไปเป็นโพลีออล ซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักในพลาสติกโพลียูรีเทนและโฟมชนิดต่าง ๆ

วัสดุตกแต่งอาคาร ด้วยพลาสติกชีวภาพ จากถ่าน Biochar


ตัวอย่างเช่น Made of Air สตาร์ทอัพสหรัฐอเมริกา ผลิตพลาสติกชีวภาพปลอดสารพิษที่ทำจากถ่าน Biochar ผสมกับสารยึดเกาะจากอ้อย โดยพลาสติกชีวภาพดังกล่าว มีองค์ประกอบของก๊าซคาร์บอนฯ ถึง 90 % และสามารถกักเก็บคาร์บอนฯ ได้ประมาณ 2 ตัน ต่อพลาสติก 1 ตัน



ถ่าน Biochar


ถ่านที่ว่านี้เกิดจากการเผาไหม้ในแบบที่ไม่มีออกซิเจนของเศษไม้และของเสียจากผลผลิตทางการเกษตร ที่สำคัญมีราคาถูกกว่าพลาสติกชีวภาพทั่วไปอีกด้วย สามารถนำไปใช้ในการผลิต การตกแต่งส่วนหน้าอาคาร (Façade) , เฟอร์นิเจอร์, การตกแต่งภายใน การคมนาคมขนส่ง และโครงสร้างพื้นฐานของเมือง



ขอบคุณภาพจาก: CarbonCure Technologies


4. ด้านวัสดุก่อสร้าง

สำหรับวงการก่อสร้าง ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ สามารถนำไปใช้ทำคอนกรีต อิฐ ซีเมนต์และกระจกนิรภัยชนิดแตกแล้วไม่ละเอียดได้ อย่างเช่น บริษัท CarbonCure Technologies ได้พัฒนาวิธีการฉีดก๊าซคาร์บอนฯ ลงในคอนกรีตระหว่างกระบวนการผลิต โดยคาร์บอนที่ถูกจับอยู่ภายในจะช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กับแท่งคอนกรีตและยังช่วยกักเก็บก๊าซคาร์บอนฯ ไม่ให้เพิ่มขึ้น นอกจากนั้น คอนกรีตจากก๊าซคาร์บอนฯ มีราคาถูกกว่าคอนกรีตแบบเดิม แต่มีประสิทธิภาพการใช้งานที่ดีกว่า


ขณะที่ บริษัท Carbureted ในแคนาดา ได้พัฒนาวิธีการกักเก็บก๊าซคาร์บอนฯ ในคอนกรีตด้วยเทคโนโลยีที่ลดการใช้ซีเมนต์ที่มีแคลเซียมเป็นส่วนประกอบหลักแบบดั้งเดิม ซึ่งช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ได้เพียงครึ่งหนึ่งของวัสดุ ขณะที่เทคโนโลยีแบบใหม่นี้ จะรวมเอาตะกรันของเสียจากอุตสาหกรรมเหล็กเข้ากับคาร์บอนที่จะปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศแทน นั้นคือการนำเอาก๊าซคาร์บอนฯ ออกจากการสร้างบล็อกคอนกรีตทุกครั้ง จึงช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ได้มากกว่านั่นเอง



อิฐจากของเสียจากอุตสาหกรรม ที่ฉีดก๊าซคาร์บอนฯ เข้าไป


อิฐอีกหนึ่งวัสดุก่อสร้างที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ได้ คือ บริษัท Mineral Carbonation International ของออสเตรเลีย ได้พัฒนาการผลิตอิฐด้วยการฉีดก๊าซคาร์บอนฯ ลงไปในของเสียจากอุตสาหกรรม แล้วเปลี่ยนจากก๊าซให้เป็นของแข็ง จากนั้นนำไปใช้สร้างอิฐซีเมนต์และวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ เช่น Drywall ชนิดใหม่เพื่อทดแทนปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ (Portland Cement) และวัสดุจากยิปซัม ที่มีกระบวนการผลิตที่ปล่อยคาร์บอนสูงกว่า



อิฐที่ทำจากไมซีเลียมของเห็ดราผสมกับเศษไม้


นอกจากนี้ยังมี เส้นใยของเห็ดราหรือไมซีเลียม (Mycelium) ที่มาทำเป็นวัสดุสำหรับก่อสร้าง ที่มีความทนทานสูง แต่มีความยืดหยุ่นมากกว่าคอนกรีต สามารถเติบโตซ่อมแซมตัวเองได้ มีคุณสมบัติเป็นฉนวนกันความร้อนและทนไฟ เช่น อิฐที่ทำจากไมซีเลียมของเห็ดราผสมกับเศษไม้, แผ่นฉนวนกันความร้อนใน อาคาร ที่พักอาศัย



5. ด้านการเกษตร

ต้นไม้ คือหนึ่งในวัสดุที่ช่วยกักเก็บคาร์บอน โดยต้นไม้โตเต็มที่สามารถกำจัดคาร์บอนฯ ตลอดระยะเวลาหนึ่งปีได้ถึง 22 กิโลกรัมจากชั้นบรรยากาศ และสามารถเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนฯ ประมาณ 125 ล้านตันต่อปี ให้เป็นยูเรีย ซึ่งเป็นส่วนผสมที่สำคัญในปุ๋ยชนิดต่าง ๆ




6. ด้านเชื้อเพลิงและพลังงาน

สำหรับด้านพลังงาน ก๊าซคาร์บอนฯ ที่ดักจับมาได้ สามารถนำมากลั่นและเปลี่ยนให้เป็นเชื้อเพลิงที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เริ่มเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนฯ ให้เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงได้แล้ว นอกจากนี้ก๊าซคาร์บอนฯ ยังสนับสนุนการพัฒนาเชื้อเพลิงแห่งอนาคตอย่างไฮโดรเจนด้วย เพราะช่วยเปลี่ยนไฮโดรเจนให้เป็นเชื้อเพลิงอื่น ๆ เช่น เชื้อเพลิงอากาศยาน


ขอบคุณภาพจาก: Ecojet เครื่องพลังงานเชื้อเพลิงไฮโดรเจน


ยกตัวอย่างเช่น บริษัท Ecojet สายการบินพลังงานทดแทนแห่งแรกของโลก ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานสะอาดจากเชื้อเพลิงไฮโดรเจน ที่ดัดแปลงเครื่องบินจากโครงสร้างเดิม ที่พร้อมใช้งานต่อได้ทันที ตัวเครื่องที่ได้รับการปรับปรุงรองรับผู้โดยสารได้กว่า 70 ที่นั่ง สามารถลดการปล่อยคาร์บอนให้เหลือศูนย์ คาดว่าจะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนได้มากกว่า 90,000 ตัน/ลำ/ปี เลยทีเดียว




7. ด้านการแพทย์

สุดท้ายคือ ก๊าซคาร์บอนฯ ทางด้านการแพทย์ ถือว่ามีความสำคัญอย่างมาก เพราะสามารถนำมาใช้ในตัวทำละลายสำหรับอุตสาหกรรมยา ซึ่งจะช่วยแยกและทำให้ผลิตภัณฑ์มีความบริสุทธิ์ตามต้องการ นอกจากนี้ก๊าซคาร์บอนฯ ที่ดักจับมายังสามารถใช้งานในกระบวนการทำให้แตกตัวด้วยน้ำ เพื่อใช้ทำแอลกอฮอล์สำหรับเปลี่ยนเป็นน้ำยาฆ่าเชื้อโรค และมีผลพลอยได้ คือ ออกซิเจน อีกด้วย


นอกจากนี้ ก๊าซคาร์บอนฯ ในอังกฤษ ยังนำมาใช้ในการผ่าตัดที่ต้องเปิดแผลใหญ่เพื่อรักษาสภาพร่างกาย เพื่อกระตุ้นการหายใจ รวมทั้งใช้ในการจี้หูดและไฝออกจากผิวหนังได้ด้วย


ทั้งหมดนี้ คือส่วนหนึ่งของการคิดค้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ เพื่อมาช่วยลดปัญหาโลกร้อนจากก๊าซเรือนกระจก อันเกิดจากกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์เราเอง ที่กำลังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและโลกเราอย่างมหาศาล ดังนั้น ยิ่งเทคโนโลยีดักจับคาร์บอนมีแนวโน้มที่จะขยายตัวมากขึ้นเท่าไหร่ จะยิ่งส่งผลให้การใช้งานก๊าซคาร์บอนฯ ที่ดักจับมาได้เติบโตมากขึ้นไปด้วย และนับเป็นการวางรากฐานสำคัญสำหรับอนาคต ที่จะทำให้โลกเรามีคาร์บอนต่ำลงและแก้ปัญหาโลกร้อนได้อย่างยั่งยืน


อ้างอิง

กรมพัฒนาพลังงานทดแทน และอนุรักษ์พลังงาน กระทรงพลังงาน

https://enhrd.dede.go.th/7recycleco2/

https://www.voathai.com/a/recycled-carbon-market-global-warming-emissions-reduction/6270722.html

https://thaipublica.org/2021/12/products-from-carbondioxide/

https://www.bbc.com/thai/features-51161304

https://dsignsomething.com/2021/08/04/carbon-revolution/

https://www.dezeen.com/2021/06/27/carbon-negative-carbon-neutral-materials-roundup/

https://www.bbc.com/thai/international-58635674

https://www.facebook.com/environman.th/photos/a.1745027465625693/4109372299191186/?type=3

https://www.facebook.com/GC.CorporateOfficial/posts/6024504867590317/?paipv=0&eav=AfZLEhUROgNs5-yGODdJiC-2bZVgReJFvO2UjtUi39F4VjTA0E3Clft3xIuD1z3KNyQ&_rdr

https://www.dezeen.com/2021/06/24/carbon-negative-plastic-biochar-made-of-air-interview/?fbclid=IwAR3-rYitRIPw3Ls5mgvGo2WQcXkarJk7pRHYmt1t3ALouHmObKNInJLJsdg

https://www.posttoday.com/international-news/698126



Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

‘TikTok For All’ Update เทรนด์ใหม่ปี 2024 พร้อมกลยุทธ์เพิ่มโอกาส SME ไทยสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน

‘TikTok For All’ Update เทรนด์ใหม่ปี 2024 พร้อมกลยุทธ์เพิ่มโอกาส SME ไทยสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน

TikTok ตอกย้ำการเป็นแพลตฟอร์มเอนเตอร์เทนเมนต์ที่น่าเชื่อถือสำหรับทุกคน ทั้งครีเอเตอร์ คอมมูนิตี้ผู้ใช้งาน และธุรกิจทุกขนาดในไทย ด้วยการเปิดตัว…
pin
1367 | 14/02/2024
ทอดไม่ทิ้ง! เปลี่ยน ‘น้ำมันเหลือทิ้ง’ เป็น ‘น้ำมันเครื่องบิน’ โอกาสใหม่ SME ไทย เติบโตอย่างยั่งยืน

ทอดไม่ทิ้ง! เปลี่ยน ‘น้ำมันเหลือทิ้ง’ เป็น ‘น้ำมันเครื่องบิน’ โอกาสใหม่ SME ไทย เติบโตอย่างยั่งยืน

ขณะที่ยานพาหนะต่าง ๆ ทั้ง รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รถไฟ และเรือ ต่างมุ่งสู่การใช้เชื้อเพลิงพลังงานทดแทน ที่เป็นพลังงานสะอาดกันแล้ว แต่สำหรับการเดินทางโดยอากาศยาน…
pin
1753 | 26/01/2024
ไขวิธี รีไซเคิล ‘คาร์บอนไดออกไซด์’ นำกลับมาใช้สร้างสรรค์ ผลิตภัณฑ์รักษ์โลก อะไรได้บ้าง?