ชมความล้ำ!! ‘นวัตกรรม Low Carbon’ เปลี่ยนประเทศไทย สู่สังคมคาร์บอนต่ำ ได้อย่างไร?

SME Update
29/11/2023
รับชมแล้วทั้งหมด 1616 คน
ชมความล้ำ!! ‘นวัตกรรม Low Carbon’ เปลี่ยนประเทศไทย สู่สังคมคาร์บอนต่ำ ได้อย่างไร?
banner

ก้าวไปอีกขั้นกับความล้ำนวัตกรรม Low Carbon ในงาน ESG Symposium 2023 เร่ง เปลี่ยนสู่สังคมคาร์บอนต่ำ พบกับแนวคิด แรงบันดาลใจจากคนทำจริงระดับโลก และหลากหลายนวัตกรรมสีเขียวที่จะมาเยียวยารักษาโลก ให้แข็งแรงขึ้นอีกครั้ง


โดยทุกภาคส่วน อยากเห็นเศรษฐกิจไทยเติบโตควบคู่กับการลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ เพื่อเปลี่ยนไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำให้เกิดขึ้นจริง โดยมีการคิดค้น วิจัย นวัตกรรมสีเขียวต่าง ๆ เพื่อช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ลดอุณหภูมิโลกที่ร้อนขึ้นทุกขณะ ส่วนตัวอย่างนวัตกรรมสีเขียวที่จะเปลี่ยนประเทศไทย สู่สังคมคาร์บอนต่ำจะเป็นอย่างไร ติดตามได้ในบทความนี้




ถอดแนวคิด ‘เมืองคาร์บอนต่ำ’ ในเอเชีย


หนึ่งในประเทศที่มีการพัฒนาเมืองด้วยเทคโนโลยี ให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างน่าสนใจ คือ ‘จีน’ ประเทศใหญ่ที่สุดในเอเชีย มีประชากรมากเป็นอันดับ 2 ของโลก มีความก้าวหน้าด้านอุตสาหกรรมการผลิตรองรับความต้องการผู้บริโภคทั่วโลก


จีนพัฒนาเมืองให้เติบโต ควบคู่กับให้ความสำคัญการลดก๊าซเรือนกระจก โดยใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมสีเขียว สร้าง ‘เมืองคาร์บอนต่ำ’ เช่น สร้างโรงงานสีเขียว ทำอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ควบคู่กับความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คนและสิ่งแวดล้อม


ตัวอย่างเช่น มาตรการจัดการมลพิษทางอากาศ ทำให้ท้องฟ้าเมืองปักกิ่งปี 2013 ที่ประสบปัญหามลพิษทางอากาศร้ายแรง กลายเป็นท้องฟ้าใสสะอาด ด้วยการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ทำให้รู้ถึงแหล่งที่มาของมลพิษทางอากาศ และหาวิธีจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ



สำหรับมาตรการมลพิษทางอากาศที่เมืองปักกิ่งใช้ดำเนินการ เริ่มในช่วงปี 2013-2017 มีดังนี้


- เปิดโรงไฟฟ้าใช้ก๊าซใหม่ 4 โรงเพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหิน รวมทั้งรณรงค์ให้ปรับเปลี่ยนระบบปรับอากาศที่ใช้ถ่านหิน ส่งผลให้เมืองรอบนอก 6 เมือง ที่ราบทางตอนใต้ และชุนอี ปัจจุบันมีระบบปรับอากาศที่ใช้ก๊าซ และสัดส่วนพลังงานสะอาดเพิ่มขึ้นเป็น 90% ในสิ้นปี 2017


- รีไซเคิลรถยนต์ 2.17 ล้านคันที่ปล่อยก๊าซสูงและติดตั้งเครื่องฟอกไอเสียแบบใหม่ที่ลดมลพิษในแท็กซี่ 50,000 คัน ซึ่งช่วยกรองอากาศและลดการปล่อยก๊าซ


- ใช้รถเมลล์รุ่นใหม่ที่ใช้พลังงานสะอาด 200,000 คัน ทำให้สัดส่วนรถที่ช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นเป็น 72.1% ในปี 2017 นอกจากนี้ยังสั่งปิดโรงงานปูนซีเมนต์ 6 แห่ง สั่งปิดและปรับปรุงหรือสั่งปิดอุตสาหกรรมอื่นที่สร้างมลภาวะ รวมทั้งตรวจสอบ 1,992 บริษัทในธุรกิจการพิมพ์ หล่อโลหะ เฟอร์นิเจอร์ ซึ่งมีผลให้ยกระดับโครงสร้างอุตสาหกรรมนี้


นอกจากนี้ เพื่อให้การป้องกันและควบคุมมลพิษทางอากาศเป็นไปอย่างยั่งยืน กรุงปักกิ่งยังคงให้สิทธิประโยชน์จูงใจในเชิงเศรษฐกิจและเข้มงวดกับมาตรฐานสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงศึกษาถึงสาเหตุของมลพิษทางอากาศ ตลอดจนมีการกำกับดูและที่เข้มงวดขึ้น


รัฐบาลปักกิ่งสนับสนุนให้ชาวเมืองมีส่วนในการติดตามภาวะมลพิษทั้งในระดับชุมชนและจัดตั้งองค์กรคุ้มครองสิ่งแวดล้อมขึ้น รวมทั้งนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการศึกษาและตรวจสอบคุณภาพอากาศ โดยใช้ดาวเทียมที่มีสัญญาณระยะไกลเพื่อให้การวิเคราะห์และการประเมินคุณภาพอากาศมีความถูกต้องมากขึ้น


ธนาคารโลกได้สนับสนุนด้วยการให้เงินกู้จำนวน 500 ล้านดอลลาร์ในเดือนมีนาคม 2016 เพื่อดำเนินโครงการสินเชื่อเพื่อลดมลภาวะทางอากาศใน 3 เมืองหลัก คือ ปักกิ่ง เทียนจิน และเหอเป่ย โดยธนาคารฮวา เซีย จะทำหน้าที่ปล่อยกู้ให้กับธุรกิจที่ต้องการจะเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานเพื่อลดมลภาวะและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รวมทั้งลงทุนในพลังงานสะอาด และควบคุมมลภาวะทางอากาศให้เข้มงวดขึ้น


ถ่านหินคือสาเหตุหลักที่มีผลต่อมลภาวะทางอากาศและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในจีน เนื่องจากมีการใช้ถ่านหินจำนวนมากเพื่อตอบสนองความต้องการ สัดส่วนการใช้ถ่านหินสูงถึง 66% ของแหล่งพลังงานรวมของประเทศ จีนใช้ถ่านหินราว 4 พันล้านตันในปี 2014 มากกว่าทั่วโลกใช้รวมกันเสียอีก โดยที่ปริมาณถ่านหินครึ่งหนึ่งใช้สำหรับเครื่องผลิตไอน้ำทั้งในภาคอุตสาหกรรมและที่อยู่อาศัย


การใช้ถ่านหินใน 3 เมืองสูงถึง 1.8 พันล้านตันในปี 2014 หรือ 40% ของการใช้ถ่านหินรวมในจีนและเท่ากับปริมาณที่กลุ่มประเทศ OECD ใช้รวมกัน


เงินกู้จากธนาคารโลกได้ให้สินเชื่อแก่บริษัทผลิตถ่านหินรายใหญ่ บริษัทหวังผิง พาวเวอร์ ได้ติดตั้งเครื่องดักจับความร้อนและท่อส่งความร้อนในเทศบาลหัวเหริ่น ทำให้ดักจับความร้อนที่เกิดขึ้นจากการผลิตกระแสไฟฟ้าได้และส่งเข้าท่อส่งเพื่อทำความร้อนให้กับบ้านเรือน จากเดิมที่ปล่อยสู่ทิ้งชั้นบรรยากาศ


นอกจากนี้ ยังมีโครงการนำร่อง เมืองกวางโจว ให้เป็นศูนย์กลางการค้าและระบบคมนาคมขนาดใหญ่ที่สำคัญของโลก กลายเป็น เมืองคาร์บอนต่ำ อีกหนึ่งแห่งในจีน โดยสนับสนุน ‘Carbon Market’ หรือตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิต ทำให้ก๊าซเรือนกระจกลดลงด้วยต้นทุนต่ำ ด้วยการนำเทคโนโลยี Blockchain มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน


ขณะเดียวกัน ธนาคารประชาชนแห่งประเทศจีน ยังสนับสนุนการจัดหาเงินทุนแบบต้นทุนต่ำให้สถาบันการเงิน ช่วยเหลือองค์กรต่าง ๆ ในการลดการปล่อยคาร์บอน รวมถึงชี้แนะการจัดหาเงินกู้สำหรับดำเนินการนโยบายนี้ให้องค์กรในพื้นที่สำคัญของการลดการปล่อยคาร์บอนอีกด้วย


‘Nusantara’ เมืองหลวงใหม่ ‘อินโดนีเซีย’

อินโดนีเซีย มีแผนสร้างเมืองและประเทศที่ยั่งยืน ด้วยการใช้เทคโนโลยี เศรษฐกิจหมุนเวียน ลดภาวะโลกร้อน ด้วยการย้ายเมืองหลวงจาก ‘จาการ์ตา’ สู่ ‘นูซันตารา (Nusantara)’ เพราะเมืองเดิมมีความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจกับส่วนภูมิภาค การจราจรติดขัด พื้นดินยุบตัว เพราะการสูบน้ำประปา มีมลพิษทางอากาศ รวมถึงมีแนวโน้มว่าในอนาคตอาจจมน้ำได้


สำหรับเมืองหลวงแห่งใหม่ของอินโดนีเซีย มีพื้นที่ราว 2,000 ตารางกิโลเมตร ใหญ่กว่าจาการ์ตาประมาณ 3 เท่า มีการวางแผนจัดสรรใหม่ ให้ 25% เป็นพื้นที่เมือง และอีก 75% เป็นพื้นที่สีเขียว พร้อมผสานความหลากหลายทางธรรมชาติของเกาะบอร์เนียว แหล่งอยู่อาศัยของสัตว์ป่าสำคัญเข้ากับการพัฒนาเมือง โดยตั้งเป้าให้อินโดนีเซีย กลายเป็นประเทศที่ปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์และมุ่งใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ภายในปี 2060 ด้วย


นอกจากนี้ ยังมีเมืองใหญ่อย่าง ‘โยโกฮามา’ ประเทศญี่ปุ่น เมืองต้นแบบคาร์บอนต่ำระดับโลก ที่ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 24% ในปี 2030 และ 80% ในปี 2050 ด้วยการปรับปรุงการใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพ การใช้พลังงานสะอาด รวมทั้งติดตั้งระบบการรายงานข้อมูลการใช้พลังงาน


ทั้งนี้ โยโกฮามา ยังเป็นเมืองที่ได้ชื่อว่าประสบความสำเร็จด้านการจัดการขยะ โดยเริ่มต้นจากการปลูกฝังความรู้และความเข้าใจให้กับประชาชนในการแยกขยะ ก่อนจะนำขยะเหล่านั้นเข้าสู่กระบวนการจัดการต่าง ๆ รวมไปถึงการรีไซเคิล นอกจากช่วยลดขยะแล้ว ชาวเมืองยังได้รับสิ่งของใหม่ ๆ จากขยะเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นทางเดินจากขยะ เสื้อผ้าจากไฟเบอร์ของขวดน้ำ หรือแม้แต่พลังงานไฟฟ้าจากการเผาไหม้ขยะ


แม้โยโกฮามา จะเป็นเมืองที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 2 ของประเทศ จนทำให้ดูเหมือนว่า การขอความร่วมมือจากชาวเมืองนั้น อาจเป็นไปได้ยาก แต่ความสำเร็จทั้งหมด เกิดขึ้นได้เพราะการประชาสัมพันธ์ให้ประชากรในเมืองมีความรู้ ความตระหนัก และความร่วมมือ ผ่านอีเวนต์แบบออฟไลน์ รวมถึงให้ข้อมูลผ่านเว็บไซต์และสื่อออนไลน์ต่าง ๆ โยโกฮามา จึงกลายเป็นอีกหนึ่งเมืองที่ประสบความสำเร็จในการร่วมมือกันช่วยลดโลกร้อน


ขณะที่ สิงคโปร์ ประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องความก้าวหน้าและพัฒนาประเทศอย่างต่อเนื่อง ก็ให้ความสำคัญเรื่อง ‘เมืองที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม’ ไม่แพ้กัน เช่น การติดตั้งโซลาร์เซลล์เพื่อใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ ส่งเสริมการใช้รถสาธารณะไฟฟ้าเพื่อลดมลภาวะ รวมไปถึงโครงการ ‘Cooling Singapore’ ที่มีเป้าหมายสูงสุดเพื่อสร้าง ‘Digital Urban Climate Twin (DUCT)’ ลดอุณหภูมิทดแทนการทำความเย็นจากเครื่องปรับอากาศ ตลอดจนจัดการให้เมืองและพื้นที่สีเขียวอยู่ร่วมกัน ทำให้เห็นพื้นที่สีเขียวในหลายแห่ง เช่น บนดาดฟ้า สวนแนวตั้ง หรือแม้แต่พื้นที่เล็ก ๆ บนตึกสูงเกือบทุกที่ทั่วประเทศ


สิงคโปร์ยังตั้งเป้า ‘Singapore Green Plan 2030’ แผนพัฒนาเมืองกับพื้นที่สีเขียวอย่างยั่งยืน ด้วยการปลูกต้นไม้เพิ่มกว่า 1 ล้านต้น เพิ่มพื้นที่สำหรับจักรยานให้มากขึ้น ยกเลิกรถยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซลภายในปี 2025 ลดปริมาณขยะฝังกลบต่อครัวเรือนลง 30% และพัฒนาโครงสร้างการรีไซเคิลขยะให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะเดียวกัน มีการเรียกร้องให้บริษัทต่าง ๆ รับผิดชอบต่อขยะที่สร้างขึ้น รวมไปถึงตึกที่สร้างภายในปี 2030 จะต้องใช้พลังงานต่ำสุดตามมาตรฐานที่รัฐบาลกำหนดด้วย


เมื่อทั้งประเทศให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก ทำให้กลุ่มนักลงทุนที่เริ่มทำธุรกิจใหม่ หรือมีธุรกิจในมือหันมาดำเนินงานโดยใช้แนวคิด ESG เป็นหลักด้วย เพราะชาวสิงคโปร์ โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ค่อนข้างให้ความสำคัญกับปัญหาโลกร้อนมากกว่าช่วงวัยอื่น ดังนั้น ธุรกิจที่จะไปต่อได้ ต้องสร้างความมั่นใจผู้บริโภคได้ว่าจะไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม




ผลักดัน กรุงเทพฯ สู่ เมืองคาร์บอนต่ำ


หันกลับมาที่ประเทศไทย เป็นที่ทราบกันดีว่า เมืองหลวงอย่าง ‘กรุงเทพมหานคร’ ประสบปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อมมายาวนาน ทุกฝ่ายจึงหาแนวทางแก้ไข โดยในปี 2024 ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 19% ในปี 2030 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2050 โดยมีแผนลดการปล่อยคาร์บอนด้วยการเปลี่ยนรถเก็บขยะของ กทม. เป็นรถ EV พร้อมเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมืองมากขึ้น รวมถึงเตรียมเปลี่ยนไปใช้รถเมล์ไฟฟ้าทั้งหมดภายใน 7 ปี




‘สระบุรีแซนด์บ็อกซ์’ นำร่องเมืองต้นแบบคาร์บอนต่ำแห่งแรกของไทย


นอกจาก กรุงเทพฯ แล้ว ประเทศไทยยังนำร่อง ‘เมืองคาร์บอนต่ำ’ ในพื้นที่อื่น ๆ ด้วย นั่นคือ ‘สระบุรีแซนด์บ็อกซ์’ เมืองต้นแบบคาร์บอนต่ำ ที่เป็นฐานไปสู่การเป็นพื้นที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero emission แห่งแรกของไทย ความท้าทายอยู่ที่จังหวัดสระบุรีเป็นฐานการผลิตของอุตสาหกรรมหนักและมีปัญหาสิ่งแวดล้อมสะสม หากจะเปลี่ยนให้เป็นเมืองคาร์บอนต่ำหรือ Net Zero ได้สำเร็จ ต้องใช้นวัตกรรมและรูปแบบการทำงานข้ามภาคส่วนจากการทำงาน ซึ่งจะเป็นรูปแบบและบทเรียนให้จังหวัดอื่น ๆ ทำได้เช่นกัน การจะทำให้ภาคอุตสาหกรรม เปลี่ยนเป็นอุตสาหกรรมสีเขียว ต้องผลักดันให้เกิดการพัฒนา ส่งเสริมการใช้งานและส่งออกสินค้ากรีน เช่น




- กำหนดให้ใช้ปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำ (Low Carbon Hydraulic Cement) ในทุกงานก่อสร้างในจังหวัดสระบุรีตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป ทำให้การผลิตปล่อยคาร์บอนน้อยลง สูงสุดถึง 40%




ส่วนภาคการเกษตร เปลี่ยนเป็นเกษตรยั่งยืน เช่น

- การปลูกพืชพลังงาน หญ้าเนเปียร์ และนำของเหลือจากการเกษตรไปแปรรูปเป็นพลังงานทดแทน สร้างรายได้ให้ชุมชน




- ปลูกป่าชุมชน 38 แห่งทั่วจังหวัด เพื่อช่วยดูดซับก๊าซเรือนกระจก และนำไปสู่การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ สร้างรายได้แก่ชุมชน

-การทำนาเปียกสลับแห้ง เพื่อช่วยลดการใช้น้ำ และปริมาณก๊าซมีเทนได้ถึง 48%




หากประสบความสำเร็จ จังหวัดนี้จะเป็นต้นแบบนำไปปรับใช้กับจังหวัดอื่น ๆ ต่อไป เพื่อเปลี่ยนให้ไทยกลายเป็น ‘ประเทศคาร์บอนต่ำ’ ได้ในที่สุด



Roadmap เศรษฐกิจหมุนเวียน เปลี่ยนสู่พลังงานสะอาดที่ยั่งยืน


ปัจจุบัน ก๊าซเรือนกระจก 70 % ในประเทศไทย มาจากภาคพลังงาน จึงต้องเปลี่ยนจากพลังงานฟอสซิลซึ่งปล่อยคาร์บอนสูงมาสู่พลังงานสะอาด โดยเปิดเสรี ซื้อ-ขายไฟฟ้าพลังงานสะอาดด้วยระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Grid Modernization) ทั้งภาครัฐ เอกชน ใช้เครือข่ายไฟฟ้าร่วมกัน เพื่อให้เข้าถึงและใช้ได้สะดวกยิ่งขึ้น ส่งเสริมการลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานสะอาดให้มีประสิทธิภาพสูง ราคาเหมาะสม ส่งเสริมการผลิตให้เป็น New S-Curve ตลอดจนสนับสนุนการใช้พื้นที่ว่างเปล่าเพื่อกักเก็บพลังงานในรูปแบบต่าง ๆ เช่น พลังงานน้ำ พลังงานความร้อน อีกทั้ง พัฒนาพลังงานทดแทนใหม่ ๆ ให้อยู่ในแผนพลังงานชาติ เช่น พลังงานไฮโดรเจน พืชพลังงาน ขยะชุมชน ของเสียจากโรงงาน ตลอดจนปรับปรุงนโยบายและสิทธิประโยชน์ที่จูงใจในการใช้พลังงานสะอาด โดยตั้งเป้าใช้พลังงานไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน เพิ่มจาก 13 % เป็น 50 % ในปี 2050




นอกจากนี้ ยังควรปรับปรุงนโยบายและให้สิทธิประโยชน์ที่เอื้อต่อการใช้พลังงานสะอาด โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่ยังไม่สามารถปรับตัวได้ เช่น SME แรงงาน เกษตรกร และชุมชน โดยแบ่งกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบและจัดสรรความช่วยเหลืออย่างเหมาะสม เพื่อให้ตระหนักรู้ เข้าถึงเทคโนโลยีลดคาร์บอนและแหล่งเงินทุนสิ่งแวดล้อมทั่วโลก ซึ่งมีอยู่มากถึง 52 ล้านล้านบาท และขอเสนอให้ไทยควรร่วมเร่งเข้าถึงกองทุนดังกล่าว เพื่อขับเคลื่อนสังคมคาร์บอนต่ำให้เกิดขึ้นจริงอย่างเป็นรูปธรรม เช่น กองทุนนวัตกรรมจัดการน้ำให้กลุ่มเกษตรกรรับมือสภาพภูมิอากาศแปรปรวน กองทุนฟื้นฟูและเพิ่มพื้นที่ป่าพร้อมสร้างรายได้จากคาร์บอนเครดิต นอกจากนี้ ยังควรพัฒนาทักษะแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่านให้มีความพร้อมปรับตัวทันท่วงทีและพึ่งพาตัวเองได้




เทคโนโลยีเพื่อเมืองสีเขียว


ทั้งนี้ ภาครัฐและเอกชน มีการผลักดันนำแนวคิดความยั่งยืน (Sustainability) อย่างต่อเนื่อง ทั้งเร่งพัฒนากระบวนการผลิตสีเขียว ควบคู่กับนวัตกรรมสีเขียว เช่น ปูนคาร์บอนต่ำ พลาสติกรักษ์โลก บรรจุภัณฑ์ย่อยสลายได้ อีกทั้งผสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วนแก้วิกฤติโลกร้อน จาก 80 ซีอีโอหลายอุตสาหกรรม เช่น ภาคพลังงาน การผลิต อสังหาริมทรัพย์ ยานยนต์ สุขภาพ บริการ มาร่วมระดมสมอง เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยเติบโต แบบคาร์บอนต่ำได้จริง ยกตัวอย่างเช่น




เปลี่ยนน้ำมันพืชใช้แล้ว เปลี่ยนเป็นน้ำมันเครื่องบิน


อุตสาหกรรมการบิน ปล่อยคาร์บอนค่อนข้างมาก เพื่อตอบโจทย์โลกที่มุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำในปี 2025 เครื่องที่จะบินเข้ายุโรป ต้องมีสัดส่วนของน้ำมันพืชใช้แล้ว ประมาณการณ์ว่า ตัวเลขการผลิต 1 ล้านลิตรต่อวัน SAF สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 80,000 ตันต่อปี สำหรับผู้ที่สนใจสามารถนำน้ำมันพืชใช้แล้วไปขายได้ที่สถานีเติมน้ำมัน บางจาก เป็นการสร้างมูลค่าของเสียให้นำกลับมาใช้ประโยชน์ได้อย่างมหาศาล




เปลี่ยน อวน ขยะทะเล เป็นผลิตภัณฑ์รักษ์โลก


อุปกรณ์การประมง เช่น อวน เป็นหนึ่งในปัญหาขยะทางทะเลที่สร้างผลกระทบต่อสัตว์ทะเลอย่างมาก จึงเกิดแนวคิดนำ อวน กลับมารีไซเคิล โดยตัวอวนที่ได้เมื่อผ่านกระบวนการผลิตแล้ว จะกลายเป็นเม็ดพลาสติก PCR ที่นำมาผลิตเป็นเสื้อจากพลาสติก รีไซเคิล 100%




เปลี่ยนเศษคอนกรีตเหลือทิ้ง เป็น คอนกรีตคาร์บอนต่ำ


ก่อนจะมาเป็น อาคาร บ้านเรือน สิ่งก่อสร้างเหล่านี้มีเส้นทางการปล่อยคาร์บอนไม่น้อยเลย ตั้งแต่การนำหินมาบดย่อย จนถึงการขนส่งมาสร้างเป็นคอนกรีต แต่วันนี้ มีการตั้งธนาคารนำเศษหิน เศษคอนกรีตที่เหลือทิ้งจากการก่อสร้างมาหมุนเวียนใช้ให้เกิดประโยชน์อีกครั้ง



Cr. ภาพจาก Facebook SCG


โดยการจัดการคอนกรีตเหลือทิ้ง 4 แนวทางหลัก คือ


1. การบริจาคคอนกรีตเหลือทิ้งที่มีคุณสมบัติเดิม เพื่อสาธารณะประโยชน์ แก่ วัด โรงเรียน และชุมชน ผ่านกิจกรรมชุมชนสัมพันธ์ เช่น โครงการซีแพคลานเพลิน ซึ่งเป็นการนำแผ่นพื้นปูเป็นลานอเนกประสงค์ เป็นต้น

2. การสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยนำคอนกรีตเหลือทิ้งมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์คอนกรีต เช่น แผ่นพื้นคอนกรีต กระถางปลูกต้นไม้ แผงกันชน และเสารั้วคอนกรีต เป็นต้น

3. การแปรรูปเศษตะกอน หิน ทรายจากบ่อคายคอนกรีต เป็นวัสดุทดแทนในงานก่อสร้าง

4. การสร้างมูลค่าเพิ่มโดยนำคอนกรีตเหลือทิ้ง มาผ่านกระบวนการรีไซเคิลเป็นผลิตภัณฑ์ทางเลือกหรือวัสดุทดแทนในงานก่อสร้าง เช่น วัสดุถมคันทาง วัสดุรองพื้นทาง และวัสดุพื้นทางคลุกหิน เป็นต้น



Cr. ภาพจาก Facebook SCG


ถนนพลาสติก - คอนกรีตรีไซเคิล แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนแบบ 100%

ทุกครั้งที่มีการก่อสร้าง จะมีคอนกรีตเหลือใช้ที่ไม่สามารถนำมาใช้ต่อได้ ซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายในการกำจัดทิ้ง แต่ถ้าเราสามารถคืนชีวิตให้กับคอนกรีตเหลือใช้เหล่านี้ได้ จะเป็นการดำเนินงานภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนได้ 100%


SCG จึงคิดค้น นวัตกรรม “ถนนพลาสติกรีไซเคิล” (Recycled Plastic Road) จากความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจอย่าง กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย นำพลาสติกใช้แล้วมาบดย่อยให้มีขนาดเล็ก ผสมกับยางมะตอยเพื่อใช้ทำถนน นอกจากจะเพิ่มคุณค่าให้แก่ขยะพลาสติก แล้วยังเพิ่มประสิทธิภาพให้กับถนนยางมะตอย มีความแข็งแรงเพิ่มขึ้น 15 – 33% เป็นสร้างมูลค่าให้ขยะพลาสติกได้ไม่น้อย



Cr. ภาพจาก Facebook SCG


SCG จึงคิดค้น นวัตกรรม “ถนนพลาสติกรีไซเคิล” (Recycled Plastic Road) จากความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจอย่าง กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย นำพลาสติกใช้แล้วมาบดย่อยให้มีขนาดเล็ก ผสมกับยางมะตอยเพื่อใช้ทำถนน นอกจากจะเพิ่มคุณค่าให้แก่ขยะพลาสติก แล้วยังเพิ่มประสิทธิภาพให้กับถนนยางมะตอย มีความแข็งแรงเพิ่มขึ้น 15 – 33% เป็นสร้างมูลค่าให้ขยะพลาสติกได้ไม่น้อย



ส่วนการบริหารจัดการขยะจากเศษคอนกรีต SCG ร่วมกับ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) ในโครงการ “ถนนคอนกรีตรีไซเคิล” (Recycled Concrete Aggregates For Road) นำเศษคอนกรีตรีไซเคิล 100% เช่น ก้อนปูน แผ่นพื้น หัวเสาเข็ม มาใช้ทดแทนวัสดุธรรมชาติ เพื่อเทเป็นถนนคอนกรีตในโครงการ สามารถสร้างมูลค่าให้กับขยะในแต่ละโครงการถึง 7 ล้านบาท ลดการใช้หิน ทราย ได้ถึง 100 ตัน สำหรับพื้นที่ 150 ตารางเมตร และลดการทิ้งวัสดุ อันเป็นสาเหตุการเกิดมลภาวะตามมาอีกมากมาย


สะท้อนให้เห็นว่า เมื่อโลกเข้าสู่ภาวะวิกฤติ สภาพภูมิอากาศสุดขั้ว การเปลี่ยนผ่านประเทศไทยสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องหาแนวทางร่วมกัน จึงเกิดนวัตกรรมและเทคโนโลยีสีเขียวต่าง ๆ ที่ช่วยลดความรุนแรงของผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ นำวัตถุดิบรีไซเคิลมาใช้ และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ช่วยส่งเสริมสุขอนามัยที่ดี ตอกย้ำกลยุทธ์เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน ด้วยมาตรฐานระดับโลก ตามแนวทาง ESG ผ่านการพัฒนาสินค้าและกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หมุนเวียนวัสดุเหลือใช้ในโรงงานเป็นวัตถุดิบ และเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนเพื่อไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำได้อย่างยั่งยืนในที่สุด



อ้างอิง

https://techsauce.co/news/esg-symposium-2023

https://urbancreature.co/esg-symposium-2023/

https://thestandard.co/esg-symposium-2023/

https://www.bcg.in.th/news/private-sector-scg-low-carbon-society/



Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

‘TikTok For All’ Update เทรนด์ใหม่ปี 2024 พร้อมกลยุทธ์เพิ่มโอกาส SME ไทยสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน

‘TikTok For All’ Update เทรนด์ใหม่ปี 2024 พร้อมกลยุทธ์เพิ่มโอกาส SME ไทยสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน

TikTok ตอกย้ำการเป็นแพลตฟอร์มเอนเตอร์เทนเมนต์ที่น่าเชื่อถือสำหรับทุกคน ทั้งครีเอเตอร์ คอมมูนิตี้ผู้ใช้งาน และธุรกิจทุกขนาดในไทย ด้วยการเปิดตัว…
pin
1367 | 14/02/2024
ทอดไม่ทิ้ง! เปลี่ยน ‘น้ำมันเหลือทิ้ง’ เป็น ‘น้ำมันเครื่องบิน’ โอกาสใหม่ SME ไทย เติบโตอย่างยั่งยืน

ทอดไม่ทิ้ง! เปลี่ยน ‘น้ำมันเหลือทิ้ง’ เป็น ‘น้ำมันเครื่องบิน’ โอกาสใหม่ SME ไทย เติบโตอย่างยั่งยืน

ขณะที่ยานพาหนะต่าง ๆ ทั้ง รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รถไฟ และเรือ ต่างมุ่งสู่การใช้เชื้อเพลิงพลังงานทดแทน ที่เป็นพลังงานสะอาดกันแล้ว แต่สำหรับการเดินทางโดยอากาศยาน…
pin
1750 | 26/01/2024
จับกระแส 'เทรนด์ธุรกิจ' ปี 2024 ใครได้ไปต่อ ใครมาแรง SME ไทยต้องรู้

จับกระแส 'เทรนด์ธุรกิจ' ปี 2024 ใครได้ไปต่อ ใครมาแรง SME ไทยต้องรู้

ปี 2024 นี้ ธุรกิจไหนมาแรง ธุรกิจไหนน่าจับตา เทรนด์ธุรกิจใดกำลังมาแรง Bangkok Bank SME สรุปมาไว้ในบทความนี้ เพื่อเป็นแนวทางแก่ SME และผู้ที่กำลังคิดจะเริ่มต้นทำธุรกิจทุกท่าน…
pin
1963 | 25/01/2024
ชมความล้ำ!! ‘นวัตกรรม Low Carbon’ เปลี่ยนประเทศไทย สู่สังคมคาร์บอนต่ำ ได้อย่างไร?