หนุนภาคเกษตรไทยสู่สากล มอบรางวัลใหญ่เชิดชูเกียรติเกษตรกรยุคใหม่ ใช้นวัตกรรม สร้าง Smart Farming งาน “วันเกษตรก้าวหน้า ประจำปี 2566”

SME Update
29/12/2023
รับชมแล้วทั้งหมด 885 คน
หนุนภาคเกษตรไทยสู่สากล มอบรางวัลใหญ่เชิดชูเกียรติเกษตรกรยุคใหม่ ใช้นวัตกรรม สร้าง Smart Farming งาน “วันเกษตรก้าวหน้า ประจำปี 2566”
banner

กลับมาอีกครั้ง กับงานใหญ่ช่วงปลายปี งาน “วันเกษตรก้าวหน้า ประจำปี 2566” โดย ธนาคารกรุงเทพ ซึ่งประกอบด้วยกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย อาทิ การจำหน่ายสินค้าเกษตรส่งท้ายปี คัดสรรสินค้าเกษตรไทยคุณภาพส่งออก ส่งตรงถึงมือผู้บริโภค จาก 56 ร้านค้า ทั้งสินค้าเกษตรนวัตกรรม สินค้าชุมชน และสินค้าเกษตรปลอดภัยต่อสุขภาพ ให้เลือกช้อป พร้อมเดินหน้าให้ความรู้เกษตรกรไทย เพื่อสร้างความแข็งแกร่ง ยกระดับสู่ Smart Farming



ทั้งนี้ ธนาคารกรุงเทพ ได้ดำเนินโครงการเกษตรก้าวหน้า ตั้งแต่ปี 2542 ในสมัย อดีตท่านประธานกรรมการบริหาร คุณโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ โดยมุ่งมั่นเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาและยกระดับภาคการเกษตรของไทย ปัจจุบัน ธนาคารยังคงมุ่งมั่น ผลักดันให้เกษตรกรไทย ก้าวสู่การเป็น Smart Farming หรือ การทำเกษตรแนวใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย เพื่อเพิ่มคุณภาพ ปริมาณของผลิตผลทางการเกษตร และลดต้นทุนในระยะยาว ขณะเดียวกันยังเป็นการเสริมศักยภาพการแข่งขันของสินค้าเกษตรไทยสู่ตลาดโลกอีกด้วย


นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ กรรมการ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธนาคารกรุงเทพ ได้จัดงานมหกรรมจำหน่ายสินค้าเกษตร “วันเกษตรก้าวหน้า ประจำปี 2566” ภายใต้แนวคิด “เทคโนโลยีนำสมัย การจัดการเหมาะสม สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ซึ่งปีนี้มีเกษตรกรและผู้ผลิตเข้าร่วมออกบูธจำหน่ายสินค้าเพิ่มขึ้นจากปีก่อน เป็น 56 ร้านค้า


ประเทศไทยเป็นประเทศกสิกรรม มีเกษตรกรกว่า 7.7 ล้านครัวเรือน เป็นพื้นฐานรายได้ที่สำคัญของไทย ดังนั้นภาคเกษตรไทยจำเป็นต้องเข้มแข็งและมีความยั่งยืน โดยตลอด 24 ปีที่ผ่านมาธนาคารกรุงเทพได้เล็งเห็นความสำคัญของภาคการเกษตร ไม่เพียงแต่บริการทางการเงิน แต่เรายังต้องการสนับสนุนให้ภาคเกษตรมีการปรับตัว และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น


ธนาคารกรุงเทพ ยังคงเดินหน้าสร้างความเข้มแข็งให้ภาคการเกษตรอย่างต่อเนื่อง และต้องอาศัยความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อร่วมยกระดับเกษตรกรไทยให้เป็น Smart Farming ก็ดี Precision Farming ก็ดี ตลอดจนถึงเรื่องของการใช้ผลผลิตทางการเกษตรอย่างครบวงจร (Zero Waste) ที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นต้น” นายพิเชฐ กล่าว


‘3 เกษตรกรดีเด่น’ เจ้าของรางวัล “เกษตรก้าวหน้า พ.ศ. 2566”


นอกจากการจำหน่ายสินค้าจากผู้ผลิตส่งตรงถึงมือผู้บริโภค งานสัมมนาที่เพียบพร้อมด้วยองค์ความรู้จากผู้ทรงคุณวุฒิ วิทยากรและบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ให้ความรู้ เกี่ยวกับการเกษตรโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุน อีกหนึ่งไฮไลท์สำคัญภายในงาน ได้แก่ พิธีมอบรางวัล “เกษตรก้าวหน้า พ.ศ. 2566” เพื่อเชิดชูเกียรติ และส่งเสริมให้เกษตรกรไทยปรับตัวและเกิดการพัฒนาโดยการนำเทคโนโลยีมาใช้ เพื่อเพิ่มคุณภาพการผลิตมากขึ้น แบ่งเป็น 3 ประเภทรางวัล ประกอบด้วย




เกษตรกรผู้ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลดีเด่น ได้แก่



นายสุวิทย์ ไตรโชค

บริษัท นาวิต้าฟู้ดส์ จำกัด อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา


เจ้าของฟาร์มเมล่อน เกษตรกรเจ้าแรก ๆ ที่คิดค้นพัฒนาเทคนิควิธีการปลูกเมล่อนสายพันธุ์ญี่ปุ่น ระดับสินค้าพรีเมียม ด้วยการปรับใช้นวัตกรรมเทคโนโลยี IOT ควบคุมการผลิต จนสามารถส่งขายทั้งในและต่างประเทศตลอดปีแบบไร้โรงเรือน


ด้วยแนวคิดธุรกิจเกษตรก้าวหน้าที่เริ่มต้นตั้งแต่เมื่อ 30 กว่าปีก่อน บริษัท นาวิต้าฟาร์ม จำกัด เจ้าของฟาร์มเมล่อน ที่เริ่มต้นจากธุรกิจครอบครัวตระกูล ‘ไตรโชค’ เมื่อปี 2529 ตั้งใจจะพัฒนาอาชีพเกษตรกรให้เป็นอาชีพที่มีรายได้มั่นคง เลี้ยงดูตนเองและครอบครัวได้อย่างยั่งยืน ด้วยการเป็นนักพัฒนาที่อยู่ในสายเลือด ทำให้คุณสุวิทย์ สามารถพัฒนา ‘นาวิต้าฟาร์ม’ จนกลายเป็นแบรนด์ที่ขึ้นชื่อเรื่องเมล่อนสายพันธุ์ญี่ปุ่นเกรดพรีเมียม และยังแตกกิ่งก้านสาขาต่อยอดธุรกิจ ‘ฟาร์มคอนเน็คเอเชีย’ เพื่อยกระดับเกษตรกรรมของไทยด้วยระบบ IoT ที่พัฒนาโดยฝีมือคนไทยอีกด้วย


จุดเริ่มต้นธุรกิจ


คุณสุวิทย์ ไตรโชค อายุ 54 ปี จบปริญญาตรีวิศวกรรมไฟฟ้า จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (บางมด) หลังสำเร็จการศึกษาได้เข้าทำงานบริษัทเอกชน เป็นพนักงานของการบินไทยในตำแหน่งวิศวกรเครื่องยนต์ โดยระหว่างการทำงานได้เล็งเห็นโอกาสทางธุรกิจด้านอาหารของสายการบินโดยเฉพาะผักผลไม้ ด้วยเติบโตมาจากครอบครัวที่ทำการเกษตร (อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา) ทำให้มีประสบการณ์ด้านการเกษตรประกอบกับพื้นฐานความรู้ด้านวิศวกรรม จึงได้เกิดความสนใจเห็นว่าแคนตาลูปและเมลอน เป็นผลไม้ที่ชาวต่างชาติให้ความนิยมบริโภคเป็นอย่างมาก และมีราคาสูง จึงเริ่มค้นคว้าและทดลองนำเมล็ดพันธุ์มาทดลองปลูกลักษณะลองผิดลองถูก ได้ทำการศึกษาค้นคว้าจนได้เมล็ดพันธุ์/ปุ๋ย และประยุกต์ประดิษฐ์ระบบการให้น้ำและปุ๋ย ระบบหยดน้ำ Stream line จนผลผลิตได้คุณภาพทั้งน้ำหนักและการควบคุมความหวาน รวมทั้งเป็นการปลูกแบบปลอดสารพิษ โดยใช้มาตรฐาน GAP (Good Agricultural practice) จากกรมวิชาการเกษตร


จากนั้นจึงได้เริ่มก่อตั้ง บ.นาวิต้า / ไทยเฟรช ขึ้นมา และได้ลาออกจากงานประจำมาเป็นเกษตรกรเต็มตัวเมื่อปี 2549 ปัจจุบัน ‘นาวิต้าฟาร์ม’ ผลิตเมล่อนสายพันธุ์ญี่ปุ่นเป็นหลัก โดยมี 4 สายพันธุ์ซิกเนเจอร์ ได้แก่ Green Pearl Melon เนื้อสีเขียว เนื้อนุ่ม หวานหอมสดชื่น, Orange Pearl Melon เนื้อสีส้ม หวาน หอมละมุน Orange Rocky Melon เนื้อสีส้ม หวานปานกลาง เนื้อแน่น โดดเด่นที่กลิ่นหอมฟุ้ง และ Green Rocky Melon เนื้อสีเขียว เนื้อกรอบ หวานหอมสดชื่น ยิ่งเคี้ยวยิ่งหวาน




เทคโนโลยีทางการเกษตรขยายผลสู่เกษตรกร


ในอดีตเนื่องจากก่อนหน้านี้ยังไม่มีระบบ IoT Controller and Sensors ที่ทันสมัย ทำให้เกษตรกรที่ทำฟาร์มต้องอาศัยความชำนาญเฉพาะตัวในการวัดอุณหภูมิ ความชื้น แสงแดด ความสมบูรณ์ของต้นพืช เพื่อคำนวณปริมาณการให้น้ำและปุ๋ยในแต่ละช่วงอายุของพืช แต่ช่วงสภาพอากาศแปรปรวน หากไม่มีพารามิเตอร์จากระบบ IoT Controller and Sensors จะส่งผลให้ไม่สามารถปรับการดูแลพืชตามสภาพอากาศที่แปรปรวนได้ทันท่วงที ทำให้เกิดความเสียหายต่อผลผลิตในบางครั้ง


ดังนั้น การใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยทำให้ลดความเสียหายลงได้ และยังสามารถปรับตัวได้เร็วขึ้นจากข้อมูลแบบเรียลไทม์ของ Sensors ซึ่งหากสำเร็จ จะสามารถออกแบบระบบควบคุมแบบเรียลไทม์ (Real-time Controller) กระบวนการอัตโนมัติทั้งหมด การใช้งานเพียงกดปุ่ม Start ปุ่มเดียว ซึ่งเคล็ดลับการปลูก 'เมล่อน' คุณภาพดี เกรดพรีเมียม ทำราคาดีที่สุดตลอด 30 ปี


คุณสุวิทย์ ไตรโชค เลือกทำการเกษตรแบบสินค้าระดับพรีเมียม โดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีในการทำฟาร์มเมล่อน ซึ่งได้ต่อยอดสู่อีกหนึ่งธุรกิจ คือ บริษัทฟาร์มคอนเน็ค เอเชีย จำกัด เพื่อผลิตและจำหน่าย IoT Controller and Sensors และจัดทำระบบบริหารจัดการน้ำสำหรับแปลงเกษตรผ่าน ‘ฟาร์มคอนเน็ค เอเชีย’ โดยใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ เป็น ‘ตู้คอนโทรลอัจฉริยะ’ ระบบ Smart IoT Controller และ Sensors สามารถเก็บข้อมูลสภาพอากาศ ดิน น้ำ ฝนได้ทั้งหมดเพื่อนำมาทำ Data Analiytics และสร้าง Crop Profiles สำหรับแต่ละพืช


ผลของการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้


ช่วยให้เกษตรกรเป็นมืออาชีพมากขึ้น ลดการสูญเสียทั้งวัตถุดิบและเวลา ทำให้มีกำไรเพิ่มขึ้นได้ถึง 20% ด้วยการควบคุมระบบให้น้ำ ที่ทำงานได้อย่างแม่นยำ สามารถช่วยให้กำหนดปริมาณน้ำ และปุ๋ยได้ตรงตามความต้องการของพืช ช่วยเพิ่มผลผลิต ลดแรงงาน และยังช่วยลดเวลาการทำงานลง


รางวัล ผู้บริหารห่วงโซ่การผลิตทางการเกษตรดีเด่น ได้แก่



นายสุนทร ศรีทวี

บริษัท บลู ริเวอร์ โปรดักส์ จำกัด อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี


ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผักและผลไม้สด เพื่อการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ วางโครงสร้างการจัดการห่วงโซ่การผลิตทางการเกษตร (Supply Chain) ไว้เป็นระบบอย่างเข้มแข็ง สามารถพัฒนาควบคุมคุณภาพได้ตั้งแต่ต้นทางการปลูกไปจนถึงส่งออก เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตของเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ


จุดเริ่มต้นธุรกิจ


คุณสุนทร ศรีทวี กรรมการผู้จัดการ บริษัท บลู ริเวอร์ โปรดักส์ จำกัด อายุ 53 ปี จบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์การอาหาร (Food Science) และปริญญาโท จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะบริหารธุรกิจ ได้ดำเนินการประกอบธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายผลไม้และผักสดมายาวนานกว่า 20 ปี โดยมีความเชี่ยวชาญตลอดกระบวนการและห่วงโซ่การผลิตทางการเกษตร ทั้งในฐานะผู้ปลูก ผู้บรรจุหีบห่อ และผู้ส่งออกไปจำหน่ายในหลายประเทศทั่วโลก


สร้างเครือข่ายห่วงโซ่การผลิตทางการเกษตร


นอกจากบริษัทจะมีแปลงเกษตรเป็นของตัวเองกว่า 20 ไร่แล้ว ยังมีการทำงานร่วมกับเครือข่ายเกษตรกร ทำเกษตรพันธสัญญาเกือบ 500 ครัวเรือน โดยมีทีมนักวิชาการที่เชี่ยวชาญเข้าไปส่งเสริมให้เกษตรกรมีความรู้ ปรับปรุงและพัฒนากระบวนการปลูกพืชให้มีคุณภาพ และสอดคล้องกับข้อกำหนดมาตรฐานด้านออร์แกนิคของกลุ่มลูกค้า รวมทั้งเงื่อนไขทางการค้าในแต่ละประเทศ เช่น Global GAP, GRASP, Fairtrade, F2F, SMETA, Organic EU / CANADA และ IFOAM




วางโครงสร้างซัพพลายเชนอย่างเป็นระบบ


อย่างไรก็ตาม เนื่องด้วยพืชผลทางการเกษตรบางชนิด เป็นสินค้าที่ให้ผลผลิตตามฤดูกาล ดังนั้น บริษัทฯ จึงมีการวางแผนเพื่อกระจายความเสี่ยงและป้องกันปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบอย่างรอบด้าน เช่น หากเป็นผลไม้ตามฤดูกาลอย่างลิ้นจี่ ก็จะมีการกระจายความเสี่ยงด้วยการรับซื้อจากหลายพื้นที่ไม่ว่าจะเป็น อัมพวา ไทรโยค และเชียงใหม่ เนื่องจากสินค้ากลุ่มนี้สามารถให้ผลผลิตตามสภาพภูมิอากาศของแต่ละพื้นที่ต่าง ๆ ได้ ทั้งนี้ เนื่องจากเครือข่ายเกษตรกรของบริษัทกระจายอยู่ในหลายพื้นที่และมีลักษณะภูมิประเทศของพื้นที่เพาะปลูกแตกต่างกัน ดังนั้น จึงต้องมีการวางแผนการผลิตให้กับเกษตรกรแตกต่างกัน


โดยบริษัทจะเข้าไปให้การส่งเสริม วิเคราะห์ด้านการบริหารต้นทุนและราคาจำหน่าย ด้วยความเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด เพื่อให้เกษตรกรได้รับการแบ่งปันผลกำไรสินค้าเกษตรที่เป็นธรรมและคุ้มค่า ภายใต้การประกันราคาสินค้าที่มีมาตรฐานและให้ผลตอบแทนที่ดี


ขณะเดียวกัน ยังมุ่งสื่อสารไปยังเกษตรกรให้มีความเข้าใจ ถึงกลไกของตลาดสินค้าเกษตร ว่าราคาผลผลิตแต่ละอย่างย่อมมีปัจจัยทำให้ราคารับซื้อแตกต่างกัน เช่น ราคาสินค้าเกษตรปลอดภัยอาจมีราคารับซื้อต่ำกว่าราคาสินค้าออร์แกนิก เป็นต้น ทำให้เกษตรกรเห็นถึงความจริงใจ และธรรมาภิบาลในการทำธุรกิจของบริษัท เกิดความสัมพันธ์ที่ดีจนมีการทำงานร่วมกันมาอย่างยาวนาน


เทคโนโลยียกระดับซัพพลายเชนสินค้าทางการเกษตร


เพื่อยกระดับสินค้าพืชผักและผลไม้เพื่อการส่งออก เพิ่มศักยภาพการผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่ม ใช้กระบวนการผลิตผ่านนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่สามารถยืดอายุการเก็บรักษาสินค้าให้มีอยู่ได้นาน ทำให้สะดวกต่อการขนส่งทางเรือไปยังต่างประเทศได้ ขณะเดียวกัน ยังมีเทคโนโลยีเครื่องสแกนมะพร้าว ด้วยระบบ NIR ที่มีความรวดเร็ว แม่นยำ สามารถวิเคราะห์จำนวนชั้นเนื้อของมะพร้าวอ่อน และช่วยลดความเสี่ยงในการส่งออกมะพร้าวที่มีชั้นเนื้อไม่ได้ตามเกณฑ์ไปยังผู้บริโภค และช่วยลดความสูญเสียจากการแตกของมะพร้าวในระหว่างการขนส่ง ซึ่งเกิดจากการส่งออกมะพร้าวที่อ่อนเกินไปได้อีกด้วย


นอกจากนี้ ยังมีระบบจัดเก็บข้อมูล เพื่อให้สามารถตรวจสอบเกี่ยวกับกระบวนการปลูกหรือการใช้ยาได้อย่างสะดวก ซึ่งข้อมูลเหล่านี้เกษตรกรจะส่งตรงมายังโรงงาน ทำให้บริษัทลดการทำงานที่ซ้ำซ้อนลงได้เป็นอย่างมาก และมีการควบคุมมาตรฐานได้ดียิ่งขึ้น


รางวัล เกษตรกรรุ่นใหม่ดีเด่น ได้แก่


นายฐิติพงษ์ จงหมายลักษณ์

บริษัท เชียงใหม่เฟรช โปรดักส์ จำกัด อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่


จุดเริ่มต้นธุรกิจและแนวคิดการต่อยอดธุรกิจครอบครัว


คุณฐิติพงษ์ จงหมายลักษณ์ อายุ 37 ปี จบปริญญาโทจาก Aston University, Birmingham UK โดยเป็นทายาทธุรกิจรุ่น 2 ของสวนส้มจงลักษณ์ ได้เข้ามาช่วยบริหารงานธุรกิจเกษตรตั้งแต่ ปี 2559 โดยเรียนรู้งานในธุรกิจสวนส้มสายน้ำผึ้ง และเป็นผู้บริหารหลักในธุรกิจร่วมกับคุณวิเทพ จงหมายลักษณ์ (บิดา)


โดยบริษัท เชียงใหม่เฟรช โปรดักส์ จำกัด ก่อตั้งธุรกิจในปี 2537 จากเดิมรุ่นบิดาจะเน้นการพัฒนาคุณภาพผลผลิต ลดต้นทุนการจัดการในแปลงและพัฒนาช่องทางตลาดเชิงรุก โดยใช้กลยุทธ์การกระจายสินค้าสู่พื้นที่หัวเมืองใหญ่ โดยไม่ต้องผ่านตลาดกลางสินค้าเกษตร ซึ่งคุณฐิติพงษ์ ได้เข้ามารับหน้าที่ต่อยอดธุรกิจครอบครัวโดยทำการตลาดช่องทางสมัยใหม่ อาทิ โมเดิร์นเทรด ห้างสรรพสินค้าชั้นนำ ตลาดออนไลน์ทั้งลูกค้ากลุ่ม B2B และ B2C รวมถึงการจัดส่งผลิตภัณฑ์แปรรูปจากส้มให้แก่ร้านอาหารชื่อดังหลายร้าน เป็นการขยายช่องทางตลาดจากเดิมสู่ช่องทางใหม่ ๆ และรองรับกลุ่มลูกค้าที่หลากหลายมากขึ้น


ทั้งนี้ ความต้องการของตลาดส้มในแต่ละช่องทางมีรายละเอียดแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับการนำไปใช้งาน เช่น ตลาดค้าส่งจะใช้ผลผลิตคุณภาพสูง แต่ในห้างโมเดิร์นเทรดจะเป็นผลผลิตที่ไม่เพียงคุณภาพสูง แต่ยังต้องมีรายละเอียดมากกว่าเรื่องรสชาติ หรือขนาดส้ม ผิว สี แต่ยังใส่ใจเรื่องปัญหาขยะพลาสติก และสิ่งแวดล้อมด้วย หากเป็นลูกค้าในกลุ่มที่ต้องการนำไปแปรรูป เช่น ทำน้ำส้มคั้น หรือทำขนม อาจไม่ได้ใส่ใจเรื่องผิวส้มหรือขนาดมากนัก สะท้อนให้เห็นว่าช่องทางจำหน่ายและความต้องการที่ต่างกัน สินค้าที่ผลิตจึงต้องพิจารณาตลาดเป้าหมายที่มีความละเอียดซับซ้อนมากขึ้น ดังนั้น จุดแข็งของสวนส้มจงลักษณ์ คือเป็นเกษตรแปลงใหญ่ ทำให้มีความสามารถในการจัดการคัดแยกผลผลิตจำนวนมากเพื่อลูกค้ากลุ่มต่าง ๆ อย่างเหมาะสม สม่ำเสมอ และเพียงพอ




เทคโนโลยีทางการเกษตรลดความเสี่ยงการผลิต


คุณฐิติพงษ์ นำเทคโนโลยีมาลดความเสี่ยงด้านการผลิต ทั้งปัจจัยด้านที่ควบคุมไม่ได้ เช่น ความแปรปรวนของสภาพอากาศ รวมถึงสิ่งที่ควบคุมได้ เช่น โรคพืชและแมลงให้น้อยลง ขณะที่ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการผลิต สำหรับค่าไฟฟ้าในการจัดการน้ำในสวนส้มเป็นต้นทุนที่สูงมาก สวนส้มจงลักษณ์ จึงพิจารณาลงทุนในด้านเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Cell) เพื่อใช้สำหรับระบบน้ำในแปลงส้ม

การลงทุนในส่วนของเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ ส่วนหนึ่งเพื่อประโยชน์ในการลดต้นทุนพลังงานในสวนส้มแต่ผลลัพธ์ที่มากกว่าลดต้นทุนค่าไฟฟ้า คือ การเก็บข้อมูล โดยพื้นฐานในการทำเกษตรแปลงใหญ่ ปัจจัยทางธรรมชาติที่เป็นองค์ประกอบสำคัญ คือ แสงอาทิตย์ และฝน ขณะที่ระบบของเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ จะมีฟังก์ชันหนึ่งที่มีการเก็บข้อมูลแสงอาทิตย์ อุณหภูมิ และสภาพอากาศในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์มาก


เพิ่มผลผลิต ‘เมล่อน’ ต่อยอดแบรนด์ ‘Harvester’


นอกจากผลผลิตส้มพันธุ์สายน้ำผึ้ง สวนส้มจงลักษณ์ ยังแตกไลน์กลุ่มสินค้าเกษตร โดยสร้างโรงเรือนปลูกเเมล่อนที่มีระบบควบคุมและบริหารจัดการปลูกด้วยเทคโนโลยี ผลิตและจำหน่ายเมล่อนสายพันธุ์ต่างประเทศเกรดคุณภาพ ปัจจุบันมีจำนวน 30 โรงเรือน จำหน่ายผลผลิตเมล่อนภายใต้แบรนด์ ‘Harvester’ รองรับตลาดในกลุ่มโมเดิร์นเทรด และร้านอาหาร ซึ่งตลาดตอบรับดีมาก โดยมีแนวคิด คือ พัฒนา การผลิตให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ภายใต้การจัดการด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่เท่าที่จำเป็นต่อสภาพอากาศและปัจจัยการผลิตของแต่ละพื้นที่


ปรับปรุงผลิตภัณฑ์สู่ความยั่งยืน


จากปัญหาขยะพลาสติกที่เป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับบรรจุส้มที่ขายปลีกในช่องทางโมเดิร์นเทรด นับเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ตลาดโดยเฉพาะช่องทางค้าปลีกต้องการให้ผู้ผลิตปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อสอดรับกับกระแสความยั่งยืน โดยที่ผ่านมาสวนส้มจงลักษณ์ได้มีการปรับปรุงและพัฒนาบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกในแบบต่าง ๆ ทั้งรูปแบบกล่องกระดาษรีไซเคิลที่ออกแบบโดดเด่นสะดุดตา หรือ ‘ถุงตาข่ายผ้าฝ้ายทำมือ’ ซึ่งเป็นผลผลิตจากฝ้ายในท้องถิ่น และงานหัตถกรรมของชาวบ้านในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน


เป้าหมายทางธุรกิจเกษตรในอนาคต


จะขยายไลน์สินค้าไปในกลุ่มใหม่ ๆ ขณะเดียวกันในแง่ของการพัฒนาสวนส้มจงลักษณ์ซึ่งเป็นธุรกิจครอบครัว จะพยายามพัฒนาศักยภาพของธุรกิจให้มีความมั่นคงจากฐานเดิมที่มี และปรับปรุงทั้งในแง่ของการผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ สม่ำเสมอ เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ตลอดจนการพัฒนาช่องทางการตลาดต่าง ๆ ให้ครอบคลุมและสอดรับกับความต้องการเทรนด์ตลาดและพฤติกรรมผู้บริโภค


ด้วยแนวคิดและวิธีการดำเนินงาน โครงการเกษตรก้าวหน้า ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เห็นสมควรมอบรางวัลเกษตรก้าวหน้า ประจำปี 2566 ให้กับเกษตรกรทั้ง 3 ราย เพื่อยกย่องและเชิดชูเกียรติแก่เกษตรกรผู้ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ผู้บริหารห่วงโซ่การผลิตทางการเกษตร และเกษตรกรรุ่นใหม่ ที่มีผลงานดีเด่นซึ่งเป็นแบบอย่าง การสร้างขวัญและกำลังใจให้กับผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ให้มีพลังใจในการสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นประโยชน์ต่ออาชีพการเกษตร และมุ่งมั่นให้เกิดการพัฒนาและตัวอย่างเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จอันเป็นตัวอย่างอันดีให้เกษตรกร ผู้ประกอบการเกษตร บุคคลทางการเกษตรรายอื่นสามารถนำแนวคิดและวิธีการไปประยุกต์ใช้ปฏิบัติได้


รับชมรายละเอียดฉบับเต็ม ในสูจิบัตร เนื่องในพิธีมอบรางวัล “เกษตรก้าวหน้า พ.ศ. 2566” ได้ที่

https://bangkokbanksme.com/ebook/01/



Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

‘TikTok For All’ Update เทรนด์ใหม่ปี 2024 พร้อมกลยุทธ์เพิ่มโอกาส SME ไทยสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน

‘TikTok For All’ Update เทรนด์ใหม่ปี 2024 พร้อมกลยุทธ์เพิ่มโอกาส SME ไทยสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน

TikTok ตอกย้ำการเป็นแพลตฟอร์มเอนเตอร์เทนเมนต์ที่น่าเชื่อถือสำหรับทุกคน ทั้งครีเอเตอร์ คอมมูนิตี้ผู้ใช้งาน และธุรกิจทุกขนาดในไทย ด้วยการเปิดตัว…
pin
1368 | 14/02/2024
ทอดไม่ทิ้ง! เปลี่ยน ‘น้ำมันเหลือทิ้ง’ เป็น ‘น้ำมันเครื่องบิน’ โอกาสใหม่ SME ไทย เติบโตอย่างยั่งยืน

ทอดไม่ทิ้ง! เปลี่ยน ‘น้ำมันเหลือทิ้ง’ เป็น ‘น้ำมันเครื่องบิน’ โอกาสใหม่ SME ไทย เติบโตอย่างยั่งยืน

ขณะที่ยานพาหนะต่าง ๆ ทั้ง รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รถไฟ และเรือ ต่างมุ่งสู่การใช้เชื้อเพลิงพลังงานทดแทน ที่เป็นพลังงานสะอาดกันแล้ว แต่สำหรับการเดินทางโดยอากาศยาน…
pin
1753 | 26/01/2024
หนุนภาคเกษตรไทยสู่สากล มอบรางวัลใหญ่เชิดชูเกียรติเกษตรกรยุคใหม่ ใช้นวัตกรรม สร้าง Smart Farming งาน “วันเกษตรก้าวหน้า ประจำปี 2566”