“ประกันภัยทุเรียน” ครั้งแรกของไทย! ด้วยนวัตกรรม จับความเร็วลม ลดความเสี่ยง เพิ่มความมั่นใจให้เกษตรกร

SME Update
07/11/2023
รับชมแล้วทั้งหมด 14752 คน
“ประกันภัยทุเรียน” ครั้งแรกของไทย! ด้วยนวัตกรรม จับความเร็วลม ลดความเสี่ยง เพิ่มความมั่นใจให้เกษตรกร
banner

‘ทุเรียน’ ถือเป็นผลไม้เศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูง สร้างรายได้จากการส่งออกให้แก่ประเทศไทยอย่างมหาศาล แต่ความรุนแรงจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรสวนทุเรียน สร้างความเสียหายต่อผลผลิต รายได้ และความเป็นอยู่ของเกษตรกรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


ล่าสุด ประกันภัยภาคเกษตร ยกระดับไปอีกขั้นด้วยความร่วมมือจาก 4 หน่วยงาน พัฒนา ‘ระบบประกันภัยทุเรียน’ โดยนำ ‘ความเร็วลม’ มาประเมินความเสียหายและจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับเกษตรกรเป็นครั้งแรกของประเทศไทย เพื่อเป็นเครื่องมือบริหารจัดการความเสี่ยง และยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น รวมถึงการประกันอุบัติเหตุ จากการประกอบอาชีพเกษตรกรรม


สำหรับการประกันภัยทุเรียนด้วยการวัด ‘ความเร็วลม’ ทำงานอย่างไร และช่วยชาวสวนทุเรียนได้จริงหรือไม่ หาคำตอบได้ในบทความนี้



ทุเรียนราชาผลไม้เศรษฐกิจมูลค่าสูงของไทย


ในปี 2566 (มกราคม – กรกฎาคม) ประเทศไทยส่งออกทุเรียนสด คิดเป็นมูลค่ากว่า 117,400 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 5 เท่า ในช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา และถือครองส่วนแบ่งตลาดโลกถึงกว่าร้อยละ 80 ถือเป็นผลไม้เศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้ประเทศไทยจากการส่งออกปีละจำนวนมหาศาล โดยเดือนกุมภาพันธ์ – มิถุนายน ของทุกปี เป็นช่วงออกผล คาบเกี่ยวกับช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตทุเรียนของภาคตะวันออก เนื่องจากเป็นความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อรายได้มากที่สุด อีกทั้งยังเป็นภัยธรรมชาติที่ป้องกันและควบคุมความเสียหายได้ยาก


การนำประกันภัยทุเรียน ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศ มาพัฒนาการสำรวจภัยของผลิตภัณฑ์ภาคการเกษตร จึงเป็นการนำร่องในการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มาเป็นเครื่องมือ ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ IoT และระบบภูมิสารสนเทศ GIS เทคโนโลยีที่สามารถวัดความเร็วลม โดยจะมีการนำ ‘ความเร็วลม’ มาประเมินความเสียหายและจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับเกษตรกร ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของประเทศไทย

โดยการประสานความร่วมมือระหว่าง 4 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA, สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.), สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย, (สำนักงาน คปภ.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ


นับเป็นก้าวสำคัญที่ทุกฝ่ายจะได้ร่วมกันพัฒนาระบบประกันภัยภาคการเกษตรให้ครอบคลุมความเสี่ยงแบบก้าวหน้า ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่แม่นยำจากการใช้วิทยาศาสตร์และระบบสารสนเทศด้านการเกษตรที่สมบูรณ์ รองรับและตอบโจทย์ความต้องการของเกษตรกร ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่จะส่งเสริมการให้ความคุ้มครองและดูแลเกษตรกรไทย ซึ่งหลังจากนี้จะผลักดันขยายผลไปยังสินค้าเกษตรชนิดอื่น ๆ ต่อไป



Cr. ภาพ IoT WiMarC Farm


‘ประกันภัยทุเรียน’ โดยวัดจาก ‘แรงลม’ ครั้งแรกของไทย


ในอดีตที่ผ่านมา มีการใช้ ปริมาณน้ำฝน เป็นดัชนีภูมิอากาศในกรมธรรม์ประกันภัยข้าว ลำไย อ้อย และมันสำปะหลัง เพียงอย่างเดียว ล่าสุดได้พัฒนา ประกันภัยทุเรียน โดยใช้ ‘ความเร็วลม’เป็นดัชนีภูมิอากาศ (Weather Index Insurance) โดยนวัตกรรมนี้มีชื่อว่า ‘WiMaRC: ไวมาก’ เป็นการนำ ‘ความเร็วลม’ มาใช้ในระบบประกันภัยภาคการเกษตร แต่เนื่องจากเป็นแนวคิดใหม่ที่ยังไม่มีงานวิจัยช่วยชี้วัดระดับความรุนแรงของลม ที่ส่งผลให้ผลทุเรียนหลุดร่วงในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว จึงจำเป็นต้องจัดทำสนามทดลอง (Sandbox) เพื่อติดตั้งเซนเซอร์วัดความเร็วของลม รวมถึงหาจุดติดตั้งที่เหมาะสมกับลักษณะของพื้นที่และร่องลม พร้อมพัฒนาระบบภูมิสารสนเทศมารองรับการคำนวณหาค่าความเร็วลมที่จะนำไปใช้เป็นค่าวิกฤต เพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการพัฒนารูปแบบของประกันภัยทุเรียนและกำหนดค่าเบี้ยประกันต่อไป



Cr. ภาพ เนคเทค สวทช.


นวัตกรรมวัด ‘ความเร็วลม’ ทำงานอย่างไร


‘WiMaRC’ หรือ ‘ไวมาก’ คือ เทคโนโลยีไร้สายเพื่อติดตามสภาพแวดล้อมที่ส่งผลต่อการทำการเกษตรในพื้นที่เพาะปลูกแบบเรียลไทม์ เพื่อให้เกษตรกรสามารถตรวจสอบข้อมูล วางแผนการเพาะปลูก และสั่งการทำงานอุปกรณ์ IoT ในพื้นที่ ให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมได้ง่าย ๆ จากทุกที่ ทุกเวลา ผ่านเว็บแอปพลิเคชัน



Cr. ภาพ IoT WiMarC Farm


สำหรับเทคโนโลยีดังกล่าว มีจุดเด่นในเรื่องความสะดวกในการใช้งาน ผู้ใช้งานสามารถตรวจสอบสภาพแวดล้อมของพื้นที่เพาะปลูกได้ทุกที่ ทุกเวลา ควบคุมและสั่งการอุปกรณ์ IoT ได้จากทางไกล สามารถนำฐานข้อมูลมาพัฒนาและวางแผนการทำเกษตรแม่นยำ และประยุกต์ใช้งานได้กับหลายพื้นที่ ปัจจุบันทีมวิจัยพร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ผู้ที่สนใจที่ วิจัยและพัฒนาโดย เนคเทค สวทช.


สามารถค้นหารายละเอียดเพิ่มเติม https://www.bcg.in.th/bcg-delight-wimarc/




ทั้งนี้ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ระบุว่า ความร่วมมือครั้งนี้ เนคเทค สวทช. ในฐานะหน่วยงานวิจัยพัฒนาที่มีภารกิจสำคัญในการทำหน้าที่เชิงออกแบบและวิศวกรรม เสมือนเป็น เครื่องจักรสำคัญเพื่อสร้างฐานรากทางเทคโนโลยีขั้นสูงให้กับประเทศ จะนำผลงานวิจัยนวัตกรรมเพื่อการเกษตรยุคใหม่ที่มีชื่อว่า ‘WiMaRC: ไวมาก’ ซึ่งเป็นระบบตรวจวัดด้วยเซนเซอร์แบบเครือข่ายไร้สาย เพื่อการจัดการและควบคุมอัตโนมัติ ทํางานภายใต้ Platform IoT และแสดงผลแบบเรียลไทม์ ใช้ในการติดตามสภาพแวดล้อมที่ส่งผลต่อการทำการเกษตรในพื้นที่เพาะปลูกแบบทันที เกษตรกรสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างสะดวกผ่านโทรศัพท์มือถือ


โดยในระยะแรกจะเริ่มจากความเร็วลม ทิศทางลม ความเข้มแสง ความชื้นอากาศ เป็นหลัก และในระยะถัดไป จะเพิ่มเติมการใช้เซนเซอร์ความชื้นดิน ร่วมกับการตรวจวัดปริมาณน้ำฝน และเทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยในการวิเคราะห์ คาดการณ์ เพื่อแจ้งเตือนเกษตรกรได้อย่างทันท่วงที โดยข้อมูลที่ได้จากระบบไวมาก จะทำงานแปลผลร่วมกับข้อมูลของ GISTDA และสำนักงาน คปภ. ซึ่งจะนำผลลัพธ์ที่ได้ไปจัดทำเป็นเครื่องมือในการให้บริการรับประกันภัยผลผลิตทางด้านการเกษตร ให้แก่เกษตรกรได้อย่างเหมาะสมต่อไป



Cr.ภาพ https://www.agrinewsthai.com/


ยกตัวอย่าง การติดตามสถานการณ์การผลิตทุเรียน ที่ สวนสุวรรณจินดา ในพื้นที่ อ.วังจันทร์ จ.ระยอง สวนที่มีการทำฟาร์มอัจฉริยะ ติดตั้งเครื่องวัดความเร็วลม สนับสนุนโดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งน้ำท่วมและภัยแล้ง เป็นภัยธรรมชาติสำคัญ ที่สร้างความเสียหาย แก่สวนทุเรียนมากที่สุด




ทั้งนี้ การติดตั้งเครื่องวัดความเร็วลม เพื่อลดความสูญเสียของทุเรียนจากวาตภัย ค่าความเร็วลมที่วัดได้ เป็นรูปแบบเรียลไทม์ มีการศึกษาระดับความเร็วลม ช่วงระยะเวลาที่เกิดภัยและผลกระทบ ทำให้สามารถบริหารจัดการได้ทันเวลา เช่น การใช้ไม้ค้ำการโยงผลทุเรียนด้วยเชือก


จากการลงพื้นที่ จะเป็นข้อมูลสำหรับใช้ในการให้ข้อเสนอแนะ พัฒนาระบบประกันภัยของประเทศไทยต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การศึกษาสถานการณ์การผลิตทุเรียนด้วยการติดตั้งเครื่องวัดความเร็วลม




เทคโนโลยีเกษตรยุคใหม่ สร้างความมั่นใจให้เกษตรกร


ที่ผ่านมา รัฐบาลต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก ในการชดเชยให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบ สศก. จึงได้มีการพัฒนา "ระบบประกันภัยการเกษตร" โดยร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ คปภ. พัฒนา "ระบบประกันภัยการเกษตร" อย่างยั่งยืน เพื่อเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการความเสี่ยง และยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น รวมถึงการประกันอุบัติเหตุ จากการประกอบอาชีพเกษตรกรรมด้วย



ปัจจุบันมีกรมธรรม์ประกันภัยสวนทุเรียน ที่ให้ความคุ้มครองความเสียหายจากอุบัติเหตุและภัยธรรมชาติ ถือเป็นการยกระดับระบบประกันภัยภาคเกษตรไปอีกขั้น โดยการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการบริหารจัดการความเสี่ยง ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ที่แน่นอน ลดความเสี่ยงจากผลกระทบของภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ ตอบสนองความต้องการของเกษตรกร และตอบโจทย์ความท้าทายในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยรูปแบบใหม่ พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น



อ้างอิง


สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

https://www.oae.go.th/view/1/%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%AD%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%94%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A7/%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A7%20%E0%B8%AA%E0%B8%A8%E0%B8%81./42678/TH-TH


สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

https://www.bcg.in.th/data-center/media-information/bcg-delight-wimarc/


GISTDA สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)

https://www.facebook.com/gistda/posts/702977718535434/?paipv=0&eav=AfYlt7blhRmgzXZ9ErOQJaS2oX5ei9-unUrolyhKXxS2iE68YTnOaJYhHI6QG5GRTk4&_rdr


IoT WiMarC Farm

https://www.facebook.com/groups/1917457581829558




Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

‘TikTok For All’ Update เทรนด์ใหม่ปี 2024 พร้อมกลยุทธ์เพิ่มโอกาส SME ไทยสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน

‘TikTok For All’ Update เทรนด์ใหม่ปี 2024 พร้อมกลยุทธ์เพิ่มโอกาส SME ไทยสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน

TikTok ตอกย้ำการเป็นแพลตฟอร์มเอนเตอร์เทนเมนต์ที่น่าเชื่อถือสำหรับทุกคน ทั้งครีเอเตอร์ คอมมูนิตี้ผู้ใช้งาน และธุรกิจทุกขนาดในไทย ด้วยการเปิดตัว…
pin
1367 | 14/02/2024
ทอดไม่ทิ้ง! เปลี่ยน ‘น้ำมันเหลือทิ้ง’ เป็น ‘น้ำมันเครื่องบิน’ โอกาสใหม่ SME ไทย เติบโตอย่างยั่งยืน

ทอดไม่ทิ้ง! เปลี่ยน ‘น้ำมันเหลือทิ้ง’ เป็น ‘น้ำมันเครื่องบิน’ โอกาสใหม่ SME ไทย เติบโตอย่างยั่งยืน

ขณะที่ยานพาหนะต่าง ๆ ทั้ง รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รถไฟ และเรือ ต่างมุ่งสู่การใช้เชื้อเพลิงพลังงานทดแทน ที่เป็นพลังงานสะอาดกันแล้ว แต่สำหรับการเดินทางโดยอากาศยาน…
pin
1750 | 26/01/2024
จับกระแส 'เทรนด์ธุรกิจ' ปี 2024 ใครได้ไปต่อ ใครมาแรง SME ไทยต้องรู้

จับกระแส 'เทรนด์ธุรกิจ' ปี 2024 ใครได้ไปต่อ ใครมาแรง SME ไทยต้องรู้

ปี 2024 นี้ ธุรกิจไหนมาแรง ธุรกิจไหนน่าจับตา เทรนด์ธุรกิจใดกำลังมาแรง Bangkok Bank SME สรุปมาไว้ในบทความนี้ เพื่อเป็นแนวทางแก่ SME และผู้ที่กำลังคิดจะเริ่มต้นทำธุรกิจทุกท่าน…
pin
1963 | 25/01/2024
“ประกันภัยทุเรียน” ครั้งแรกของไทย! ด้วยนวัตกรรม จับความเร็วลม ลดความเสี่ยง เพิ่มความมั่นใจให้เกษตรกร