Road to Success ‘โรม่าอุตสาหกรรม’ ผู้ผลิตกระเป๋าครบวงจร Top 3 เมืองไทย ทำอย่างไร? ให้สะกดใจผู้ใช้ยาวนานกว่า 41 ปี
กระเป๋าเดินทาง กระเป๋าแฟชั่น กระเป๋าชอปปิ้ง กระเป๋าเอกสาร กระเป๋าเป้ รวมถึงกระเป๋าประเภทอื่น ๆ ในเมืองไทยมีหลากหลายแบรนด์ให้ได้เลือกสรร ทำไม? ผู้ใช้จำนวนไม่น้อยรวมถึงดารา เซเลบ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ บริษัทเอกชน จึงเลือกใช้กระเป๋าแบรนด์ Romar POLO, Romar, Cba และกระเป๋าแบรนด์อื่นๆ ที่บริษัท โรม่าอุตสาหกรรม จำกัด เป็นผู้ผลิต สู่การประสบความสำเร็จเป็นผู้ผลิตกระเป๋า Top 3 เมืองไทย ที่สร้างความเชื่อมั่นไว้วางใจให้กับผู้บริโภคในเรื่องคุณภาพกระเป๋ายาวนานกว่า 41 ปี
นอกจากนี้ยังเป็นผู้ผลิตกระเป๋าแบบ OEM ให้กับแบรนด์ระดับอินเตอร์หลายแบรนด์ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่ธุรกิจจะก้าวมาถึงจุดนี้ได้ สู่ Case Study ที่ Bangkok Bank SME เต็มใจนำเสนอ แนวคิดการบริหารกิจการให้เติบโตต่อไปและรอดแม้เผชิญวิกฤต รวมถึงแนวทางการสานต่อธุรกิจครอบครัว (Family Business) ของทายาทธุรกิจรุ่น 2 เพื่อเป็นไอเดียให้ผู้ประกอบการและ SME นำไปปรับใช้ Business Transformation ช่วยให้องค์กรอยู่รอดแม้ต้องเจอกับความยากลำบากในการทำธุรกิจยุคปัจจุบัน

ธุรกิจครอบครัว..จากรุ่นพ่อสู่ทายาทธุรกิจรุ่นลูก
คุณฐานิดา รัถยาพิมล Managing Director (MD) บริษัท โรม่าอุตสาหกรรม จำกัด ย้อนรอยเส้นทางธุรกิจให้ฟังว่า บริษัทได้ดำเนินธุรกิจผลิตกระเป๋ามาตั้งแต่ปี 2524 เริ่มแรกทำธุรกิจโดยการซื้อกระเป๋าแบรนด์ต่าง ๆ มาจำหน่าย ก่อนที่บริษัทจะเปลี่ยนชื่อมาเป็น ‘โรม่าอุตสาหกรรม’ ในปี 2528 ผลิตกระเป๋าประเภทต่าง ๆ เอง โดยคุณพ่อเป็นคนก่อร่างสร้างธุรกิจขึ้นมาก่อนที่ตนเองจะมารับช่วงต่อเมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้ว ขยายกิจการมีพนักงานร่วม 700 คนในปัจจุบัน (คนไทย 100%) โดยโรงงานตั้งอยู่ที่พระราม 2
“ปัจจุบันบริษัทผลิตกระเป๋าทุกประเภท โดยใช้คอนเซปต์ก็คือผู้บริโภคต้องเข้าถึงได้ง่าย นอกจากนี้ยังมีการรับจ้างผลิตแบบ OEM โดยเป็นสัดส่วนธุรกิจ 60% และอีก 40% เป็นการผลิตแบรนด์ต่าง ๆ ของบริษัทเองเพื่อขายส่งและขายปลีก โดย ‘โรม่าอุตสาหกรรม’ จะจำหน่ายสินค้าในทุกช่องทางตลาดและธุรกิจทั้งแบบ B2B, B2C, C2C เป็นต้น”

คุณฐานิดา รัถยาพิมล Managing Director (MD) บริษัท โรม่าอุตสาหกรรม จำกัด
สำหรับกระเป๋าที่บริษัทผลิตเองจะมีค่อนข้างหลากหลายแบรนด์ อาทิเช่น Romar POLO, Romar ส่วนแบรนด์ลูกที่เกิดใหม่ซึ่งเป็นจำหน่ายในออนไลน์จะชื่อว่า Cba ซึ่งมีการ Marketing ตามสื่อช่องทางต่าง ๆ รวมถึงมีดารา - เซเลบใช้สินค้าหลายท่าน และนอกจากนี้ Cba ยังเป็นพาร์ทเนอร์กับกองประกวดมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์อีกด้วย
ขณะที่การรับผลิตกระเป๋าแบบ OEM บริษัทจะผลิตให้กับ รัฐวิสาหกิจ ธนาคาร บริษัทเอกชน แบรนด์กีฬาต่าง ๆ รวมถึงกระเป๋าแบรนด์เนมด้วย

‘กระเป๋า’ ธุรกิจที่ต้องผลิตเป็น Seasonal ตอบโจทย์ความต้องการลูกค้า
MD บริษัท โรม่าอุตสาหกรรม จำกัด เผยว่า สำหรับกระเป๋าที่บริษัทผลิตและการรับผลิตแบบ OEM จะเป็นไปในลักษณะกระเป๋าเย็บแบบต่าง ๆ ตามที่ลูกค้าต้องการ ซึ่งจะมีทั้งกระเป๋าเดินทาง กระเป๋าชอปปิ้ง กระเป๋าเอกสาร กระเป๋าแฟชั่น กระเป๋าเป้ เป็นต้น โดยบริษัทจะแบ่งการผลิตเป็น Seasonal เช่น เดือนตุลาคมปีที่แล้วถึงเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ จะเป็นการผลิตกระเป๋าสำหรับของขวัญปีใหม่, เดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน จะเป็นกระเป๋าเดินทาง, เดือนมีนาคมถึงมิถุนายนจะเป็นช่วงกระเป๋าเป้ - กระเป๋านักเรียน ส่วนช่วงหน้าฝนจะเป็น Low season ก็จะรับผลิตกระเป๋าแบบ OEM รวมถึงแบรนด์กระเป๋าของบริษัทเอง ซึ่งจะมีสินค้าใหม่ ๆ ออกมาทุกปี เนื่องจากเราใช้ช่วงนี้ในการผลิต ซึ่งจะช่วยให้พนักงานมีรายได้อย่างต่อเนื่อง
สำหรับผ้าซึ่งเป็นวัตถุดิบที่นำมาใช้เย็บกระเป๋านั้น คุณฐานิดา ให้ข้อมูลว่าผ้าที่นำมาเย็บจะสั่งในไทยเป็นหลักและจะสั่งจากต่างประเทศเมื่อผู้ผลิตในไทยไม่มีผ้าที่ต้องการเท่านั้น โดยเป็นนโยบายของคุณพ่อที่สืบทอดในการทำธุรกิจ หากมีผ้าที่สามารถสั่งในไทยได้บริษัทจะสั่งในไทยก่อนถึงแม้ราคาจะสูงกว่าก็ตาม เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการและ SME ในบ้านเราให้เติบโตไปร่วมกัน

ถึงแม้สินค้าจากต่างประเทศจะรุกเมืองไทย ทำไม? ‘โรม่าอุตสาหกรรม’ ยังยืนหยัดได้ในตลาด
คุณฐานิดา กล่าวว่า จุดแข็งสายการผลิตของบริษัทก็คือเรื่องของ ‘ระยะเวลา’ หากลูกค้าสั่งทำกระเป๋าจากต่างประเทศ ระยะการผลิตจะอยู่ที่ประมาณ 2 เดือนถึง 2 เดือนครึ่ง หรือมากกว่านั้น แต่บริษัทระยะเวลาการผลิตจะอยู่ที่ 30 วัน ซึ่งใช้เวลาน้อยกว่า ตรงนี้เป็นจุดเด่นเป็นจุดขายให้ลูกค้าสั่งทำกระเป๋ากับทาง ‘โรม่าอุตสาหกรรม’ ส่วนเรื่องของแบบกระเป๋าก็จะพูดคุยกันได้ง่ายกว่า เนื่องจากบริษัทเป็น One Stop Service ด้านผลิตกระเป๋า ดูแลทั้งการออกแบบ จัดหาวัตถุดิบ รวมไปถึงด้านโลจิสติกส์ เราสามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้อย่างครบจบในที่เดียว
โดยลูกค้าที่สนใจทำกระเป๋าสามารถติดต่อเข้ามาได้เลย บริษัทมีฝ่ายขายที่พร้อมช่วยออกแบบ หรืออย่างแบรนด์ที่ไม่มีนักออกแบบแต่มีไอเดีย ก็เข้ามาคุยกันได้ต้องการได้แบบไหนเราก็สามารถทำได้ ซึ่งที่ผ่านมาทำสำเร็จไปแล้วหลายแบรนด์ด้วยกัน

ปรับตัวอย่างไร? ขณะที่ต้นทุนพุ่งสูง
แนวคิดในการบริหารต้นทุนของ ‘โรม่าอุตสาหกรรม’ ก็คือการมองย้อนกลับไปว่าเมื่อต้นทุนสูงขึ้น บริษัทจะแก้ไข - ปรับตัวอย่างไรให้ไปรอดด้วยกันทั้งองค์กรและพนักงาน อย่างเช่นที่โรงงาน วัตถุดิบที่นำมาผลิตจะทำให้เป็น Zero Waste แทบ 100% (นำผ้าเหลือทิ้งจากการตัดเย็บจำหน่ายให้กับพาร์ทเนอร์เพื่อนำไปผลิตเป็นผ้าอีกครั้ง) ดังนั้นเรื่องสูญเสียจึงเกิดขึ้นน้อยมาก ส่งผลให้เกิดความคุ้มค่าในการใช้วัตถุดิบช่วยให้ประหยัดมากขึ้น
“ด้วยความที่การแข่งขันของธุรกิจผลิตกระเป๋าค่อนข้างสูงมาก เป็น Fast Trend และ Fast Fashion ดังนั้นโรงงานผลิตต้องปรับตัวให้ทันเพราะมาเร็วไปเร็ว ราคาก็แข่งขันยาก จึงต้องมีการบริหารต้นทุนให้ต่ำลง เพื่อให้ธุรกิจสามารถแข่งขันและไปรอดได้”
ส่วนสิ่งที่ ‘โรม่าอุตสาหกรรม’ จำเป็นต้องลงทุนสูง คุณฐานิดา เผยว่าเนื่องจากบริษัทเป็นโรงงานที่เป็นระบบได้มาตรฐานสากล ทำให้มีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เพิ่มมากขึ้น บริษัทจึงต้องพิจารณาการลดค่าใช้จ่าย ได้ รวมถึงมีการพูดคุยกับพนักงาน แม้สถานการณ์เป็นแบบนี้แต่บริษัทก็จะขึ้นค่าแรงให้ แต่ขอความร่วมมือในการทำงานให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น
นอกจากนี้ยังมีการนำเทคโนโลยีการผลิตกระเป๋าและการพัฒนาทักษะของพนักงานเพื่อให้เกิด Mix & Match ระหว่างเทคโนโลยีเครื่องจักรกับทักษะของคน ให้สามารถนำมาปรับใช้ในฟังก์ชันที่เกี่ยวข้องกับการผลิตกระเป๋าของบริษัท เช่น กระเป๋าต้องเย็บด้วยมือก็จะนำเทคโนโลยีมาช่วยให้พนักงานเย็บง่ายขึ้นคุณภาพนิ่งขึ้น เป็นต้น

คู่แข่งมีมากมาย ทำอย่างไร? ให้ชนะใจลูกค้า
เรื่องนี้ คุณฐานิดา อธิบายว่า สำหรับ Marketing ของบริษัทมีหลากหลายรูปแบบเช่น จะมีพนักงานฝ่ายขายดูแล - ติดตาม ส่งอีเมลไปสอบถามเกี่ยวกับสินค้าในส่วนของลูกค้าเก่า ขณะที่ลูกค้าใหม่มีการทำการตลาดออนไลน์ให้ผู้บริโภคได้รู้จักสินค้าของบริษัท อัพเดตคอนเทนต์ - แคมเปญ โปรโมชันต่าง ๆ ออกมาอยู่เสมอทั้งในเว็บไซต์ แฟนเพจเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ไลน์ออฟฟิเชียล รวมถึงแพลตฟอร์มต่าง ๆ เช่น ช้อปปี้ ลาซาด้า
“สำหรับการรับประกันสินค้าของบริษัทจะเป็นแบบ Lifetime Warranty สามารถส่งมาซ่อมได้ตลอด เช่น ใช้ไปหลายปีแล้วซิปอาจจะเสีย บริษัทจะมีแผนกซ่อมสำหรับดูแลลูกค้าโดยเฉพาะ”

Family Business ต้องสร้างความเข้าใจทั้งผู้ส่งต่อและผู้รับมอบธุรกิจเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน
ด้วยความที่บริษัทในเมืองไทยกว่า 80% เป็นธุรกิจครอบครัว หรือ Family Business ส่งท้ายบทสัมภาษณ์คุณฐานิดาจึงขอนำความรู้ที่มีมาถ่ายทอดให้ฟังว่า ด้วยช่องว่างของ Gen 1 กับ Gen 2 มาทำงานด้วยกัน ตอนเริ่มทำงานเป็นเด็กจบใหม่ช่วยคุณพ่อเมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้ว เป็นเด็กไฟแรงที่อยากทำอะไรต่าง ๆ มากมาย เราต้องลองถอยในจุดนี้ออกมาหนึ่งก้าว เปิดใจเพื่อศึกษาดูว่าผู้ใหญ่ทำงานอย่างไร มีปัญหาอะไรบ้างที่เกิดขึ้นสำหรับการส่งต่อกิจการให้กับทายาทธุรกิจ
ตามที่ตนเองได้พูดคุยกับเพื่อน ๆ ว่าแต่ละครอบครัวเกิดปัญหาอะไรกันบ้าง เช่น บางคนใช้ระบบถ่ายน้ำเก่าเป็นน้ำใหม่ไปเลย ซึ่งจะทำได้ก็ต่อเมื่อเป็น Auto Machine แต่ ‘โรม่าอุตสาหกรรม’ ธุรกิจจะเป็นในลักษณะการใช้แรงงานคน ซึ่งการทำงานกับคนจะมีความยากและละเอียดอ่อน แล้วการที่เป็นทายาทธุรกิจของตนเองจะต้องได้รับการยอมรับอย่างถูกต้องด้วย ไม่ใช่ว่าได้รับการยอมรับเพราะว่าเป็นลูกเจ้าของกิจการ จึงทำให้สิ่งที่เราทำกลายเป็นผลงานให้ทุกคนยอมรับ เช่น ตนเองจบ Marketing ก็จะมาขายของให้พนักงานดูว่าเราทำได้นะ รวมถึงการจัดการปัญหาต่าง ๆ ระหว่างการเปลี่ยนถ่ายธุรกิจ หรือแม้กระทั่งวิกฤตโควิด 19 ก็ช่วยแก้ปัญหาได้ค่อนข้างเยอะ เนื่องจากเราทำให้ทุกคนเห็นถึงความสามารถในการแก้ปัญหาและนำพาบริษัทผ่านพ้นวิกฤตไปได้

“ตอนมารับช่วงต่อธุรกิจจากคุณพ่อเพิ่งเรียนจบปริญญาตรี ด้วยความที่วัยวุฒิมีน้อยจึงต้องเสริมด้วยคุณวุฒิโดยการเรียนต่อระดับปริญญาโท นอกจากนี้ในการรับมือกับปัญหาต่าง ๆ ตนเองจะนำอุปสรรคที่เกิดขึ้นไปปรึกษากับคุณพ่อ เพื่อขอคำแนะนำ - ทราบถึงแนวทางการแก้ปัญหาแล้วนำไปปรับใช้ให้เหมาะสม ที่สำคัญคือสงสัยให้ถามเพื่อให้เกิดความเข้าใจกันระหว่างรุ่น 1 และรุ่น 2”
รู้จัก ‘บริษัท โรม่าอุตสาหกรรม จำกัด’ เพิ่มเติมได้ที่
www.romar.co.th
www.facebook.com/romarbagfac
กระเป๋าแบรนด์ cba
www.cbabag.co.th
www.facebook.com/cbabag