แชร์มุมคิด ‘บริษัท แม่ทา พี.ดี. จำกัด’ ธุรกิจฟาร์มสุกรครบวงจร สร้าง Mindset เติบโตอย่างมั่นคง ด้วยแนวคิด ‘Sustainability’

SME in Focus
09/11/2022
รับชมแล้วทั้งหมด 3084 คน
แชร์มุมคิด ‘บริษัท แม่ทา พี.ดี. จำกัด’ ธุรกิจฟาร์มสุกรครบวงจร สร้าง Mindset เติบโตอย่างมั่นคง ด้วยแนวคิด ‘Sustainability’
banner
‘บริษัท แม่ทา พี.ดี. จำกัด’ ฟาร์มสุกรครบวงจรรายใหญ่ของจังหวัดเชียงใหม่ ที่ไม่เพียงแต่ผลิตเนื้อหมูคุณภาพ แต่ยังใส่ใจสุขอนามัยผู้บริโภคและดูแลสิ่งแวดล้อมไปพร้อม ๆ กันด้วยแนวคิดความยั่งยืน (Sustainability) ในการดำเนินธุรกิจจนมั่นคงสร้างชื่อเสียงมาอย่างยาวนาน

คุณธนวัต กัลยาณจารี กรรมการผู้จัดการ บริษัท แม่ทา พี.ดี. จำกัด เปิดเผยถึงเส้นทางธุรกิจให้ฟังว่า ครอบครัวทำฟาร์มหมูมาตั้งแต่รุ่นคุณพ่อ ที่เริ่มจากฟาร์มเล็ก ๆ และพัฒนาจนเติบโตขึ้นมาอย่างต่อเนื่องด้วยการเลี้ยงแบบทั่วไปโดยขายหมูเป็นตัว และส่งขายตามท้องตลาด ปัจจุบันฟาร์ม แม่ทา พี.ดี. หรือ ผาแดงฟาร์ม ขายหมูเป็นตัวเป็นหลัก



หลังจากเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการผลิตเนื้อสุกรคุณภาพป้อนตลาดมานาน โดยเน้นจำหน่ายเป็นตัวในจำนวนมาก มาวันนี้หนุ่มไฟแรงทายาทธุรกิจครอบครัวรุ่น 2 อย่าง คุณธนวัต มองว่า เมื่อมีสินค้าดีมีคุณภาพอยู่ในมือน่าจะสร้างแบรนด์ผลิตภัณฑ์ของตนเอง ดังนั้นเขาจึงเปิดร้านค้าปลีกชื่อว่า ‘ร้านหมูสวัสดี’ โดยมีพี่สาวเข้ามาบริหารจัดการในส่วนของร้านหมูสวัสดี ที่มีอยู่ทั้งหมด 9 สาขา ทั้งใน จ.เชียงใหม่ และ จ.ลำพูน ซึ่งเป็นร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์เนื้อสุกรแปรรูป ไม่ว่าจะเป็น ไส้กรอก หมูยอ ลูกชิ้นหมู แหนม หมูหยอง ขาหมูพะโล้ และจำหน่ายเนื้อสุกรชำแหละแล้ว ที่ส่งตรงความสดใหม่ถึงผู้บริโภคโดยตรง





‘ธุรกิจฟาร์มหมู’  ใครป้องกันโรคได้ดีกว่า ถือว่าเป็นโอกาสทางการแข่งขัน

คุณธนวัต สะท้อนปัญหาในการทำธุรกิจว่า อุปสรรคสำคัญในช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมาของธุรกิจฟาร์มหมูคือ ‘โรคระบาดของหมู’ ถือเป็นจุดเปลี่ยนผ่านของธุรกิจนี้ ว่าใครจะไปต่อได้แค่ไหน ก่อนหน้านี้จะเหมือนเป็นการขยายตัวในแต่ละภูมิภาคแต่ละฟาร์มที่ขยายตัวเรื่อยมา ซึ่งผู้ประกอบการแต่ละคนจะมีความสามารถที่แตกต่างกันออกไป แต่ที่ผ่านมาเหมือนเป็นการวัดประสิทธิภาพทางการแข่งขันทางด้านการผลิต การบริหารจัดการที่ก้าวสู่อีกยุคหนึ่งซึ่งใครป้องกันโรคได้เก่งก็จะมีโอกาสสูงกว่าจึงมองว่าเป็นการปรับตัวครั้งใหญ่ของธุรกิจฟาร์มหมู



ชูระบบ Biosecurity ป้องกันหมูปลอดโรค ผู้บริโภคปลอดภัย

คุณธนวัต ขยายความว่า เพราะโรคระบาดสายพันธุ์หมูอย่าง โรคอหิวาต์แอฟริกาหมู หรือ AFS (African Swine Fever) ไม่ใช่การระบาดแค่ 2 - 3 เดือนแต่ระบาดอยู่เรื่อย ๆ ไม่จบสิ้นง่าย ๆ จึงเป็นการต่อสู้แบบมาราธอน ดังนั้นการสร้างความเข้าใจและความร่วมมือของทีมงานและบุคลากรในองค์กร ถือเป็นเรื่องที่เราให้ความสำคัญมากกว่าเครื่องไม้เครื่องมือที่ใช้ในการป้องกันโรค 

“ความน่ากลัวของโรค AFS ไม่ใช่การลามเร็วแต่เป็นการรู้ช้าไป เพราะว่าการติดเชื้อขั้นต่ำ 3-7 วันถึงจะแสดงอาการ เปรียบได้กับการติดเชื้อโควิด 19 คือติดไปแล้วแต่ยังไม่แสดงอาการเนื่องจากมีระยะในการฟักเชื้อ ต่างกันที่วันนี้โควิด 19 มีผู้เสียชีวิตลดลง เนื่องจากวัคซีนมีประสิทธิภาพมากขึ้น ในขณะที่ โรค AFS วัคซีนยังไม่มีประสิทธิภาพมากเพียงพอ จึงยังมีการระบาดอยู่เรื่อยๆ”

ดังนั้นการการค้นหาสาเหตุและปิดช่องโหว่โดยเพิ่มระบบป้องกันทางชีวภาพ หรือ ระบบ Biosecurity มาช่วยกำหนดกฎเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติสำหรับฟาร์ม เพื่อป้องกันโรคระบาดของเชื้อโรคที่จะเข้ามาไม่ว่าจะเป็นจากภายนอกหรือภายเป็นฟาร์ม เป็นการสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยทั้งสุกรและคนเลี้ยง ที่สำคัญผู้บริโภคสามารถบริโภคหมูได้อย่างสบายใจ

สิ่งนี้ถือเป็น Key สำคัญในการป้องกันการระบาดซ้ำของโรค โดยทีมงานต้องใส่ใจในเรื่องการทำความสะอาดอย่างละเอียด สิ่งนี้ถือเป็นสิ่งสำคัญมากกว่าการพักเล้าเพื่อให้ปลอดโรค เนื่องจากจะไม่เกิดประโยชน์อันใดเลยหากเราไม่ใส่ใจในรายละเอียดของการทำความสะอาด เมื่อกลับมาเลี้ยงใหม่ก็จะประสบกับปัญหาเดิมไม่จบสิ้นเพราะเราไม่ได้แก้ปัญหาและปิดช่องทางการระบาดของโรคจากครั้งที่แล้วนั่นเอง

ขณะเดียวกันการจัดสรรเงินลงทุนที่เหมาะสม เข้าใจความสำคัญอะไรควรทำก่อนหลัง เช่น ห้องแล็บในการวิจัยโรคถือเป็นส่วนสำคัญที่ต้องมี แต่การป้องกันขั้นพื้นฐานที่สำคัญอย่าง ห้องอาบน้ำก่อนเข้าฟาร์ม หรือรั้วป้องกันสัตว์เข้ามาแพร่เชื้อ ถือว่าเป็นเครื่องมือสำคัญขั้นพื้นฐานที่เราลงทุนเป็นอันดับต้น ๆ เพราะเป็นการป้องกันตั้งแต่ต้นทางก่อนจะไปวิจัยโรคในห้องแล็บ ที่อาจเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ 

สะท้อนให้เห็นถึงการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ 1.การสื่อสารกับคนในองค์กรเป็นเรื่องที่สำคัญมาก 2. การจัดลำดับความสำคัญ 3. การใช้เงินทุนจัดสรรทรัพยากรที่เหมาะสม (Trade-off)



ลดต้นทุนพลังงานและดูแลสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกันด้วยพลังงานทดแทน

เป็นที่ทราบกันดีว่าการเลี้ยงสุกรส่วนใหญ่หากดูแลสภาพแวดล้อมไม่ดีจะส่งผลกระทบต่อชุมชนรอบข้างได้  ฟาร์มสุกรแห่งนี้จึงนำมูลสุกรมาใช้สร้างพลังงานทดแทน ด้วยการพัฒนาสู่ ไบโอแก๊ส (Biogas) เพื่อผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าจากก๊าซมีเทนในมูลสุกร สามารถลดค่าใช้จ่ายและการใช้พลังงานลงได้ ส่วนกากที่เหลือจากการผลิตไบโอก๊าซนำมาผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์ คุณภาพดีได้อีกด้วย และที่สำคัญแก้ปัญหาเรื่องมลพิษในอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพ



คุณธนวัต ยังสะท้อนภาพอีกว่า การทำ ไบโอก๊าซและติดตั้งโซล่าเซลล์ ยังช่วยลดปัญหาชุมชนและดูแลสิ่งแวดล้อมไปพร้อม ๆ กันด้วย และทำให้เราใช้พลังงานที่ก่อมลพิษน้อยลง เพราะมองว่าฟาร์มสุกร ถ้าไม่ดูแลชุมชนและสิ่งแวดล้อม จะอยู่ในธุรกิจนี้ได้ยาก ดังนั้นต้องดำเนินธุรกิจให้อยู่ร่วมกันกับชุมชนให้ได้อย่างยั่งยืน (Sustainability) โดยไม่สร้างปัญหาให้กับชุมชน ในขณะเดียวกันก็ไม่เบียดเบียนสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย



หัวใจของการบริหารธุรกิจฟาร์มหมู 

คุณธนวัต สะท้อนมุมมองว่า หัวใจของการบริหารธุรกิจฟาร์มหมูจะมีส่วนสำคัญอยู่ 2 เรื่องคือ 1. Mindset ของผู้ประกอบการฟาร์ม 2. คือศักยภาพของทีมงานและบุคลากรในฟาร์ม หากไม่พัฒนาสองเรื่องนี้ โอกาสในการดำเนินธุรกิจนี้จะค่อนข้างยากลำบาก

โดยเราต้องสื่อสารให้ทีมงานและบุคลากรเข้าใจว่าถ้าฟาร์มเรารอด ทุกคนตระหนักและเข้าใจปัญหาและเป้าหมายร่วมมือกันป้องกันได้อย่างมีประสิทธิภาพทุกคนจะได้อะไร แน่นอนว่าบริษัทมีผลกำไรมากขึ้นเนื่องจากจำหน่ายสุกรได้ราคาสูงขึ้น ในขณะที่ทีมงานและบุคลากรทุกคนรับรู้ว่า สิ่งที่เขาทำจะได้อะไร คุณภาพชีวิตจะดีขึ้นหรือไม่ สุดท้ายเขาจะมีแรงจูงใจที่จะทำเพื่อองค์กร ถือเป็นการสร้างความมีส่วนร่วมให้กับทีมงานและบุคลากรให้สามารถเติบโตเคียงคู่ไปกับองค์กรได้อย่างยั่งยืน

“อย่าทำให้ทีมงานหรือลูกน้องรู้สึกว่าเราให้ความสำคัญกับหมูมากกว่าเขา ต้องทำให้เขารู้สึกได้ว่าเรารักและเอาใจใส่คุณภาพชีวิตของเขาเช่นกัน ถ้าทุกคนเข้าใจ การเทิร์นโอเวอร์ของพนักงานก็จะน้อยลง และจะเกิดความร่วมมือในการทำงานมากขึ้นอย่างเข้าใจและเต็มใจ เพราะสิ่งที่ได้กลับมาคือคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคนในองค์กรนั่นเอง”

จะเห็นได้ว่า หัวใจสำคัญในการบริหารฟาร์มของเราคือการสร้างความเข้าใจกับทีมงานและบุคลากรในองค์กรให้ตระหนักถึงเป้าหมายที่จะพัฒนาองค์กรร่วมกัน สิ่งนี้ถือเป็นจุดแข็งของธุรกิจเรา เมื่อเทียบกับฟาร์มขนาดใหญ่



วางแผนพัฒนาธุรกิจฟาร์มสุกรต่อไปอย่างไรในอนาคต

คุณธนวัต เผยวิสัยทัศน์การนำพาธุรกิจต่อไปในอนาคตว่า เราทำร้านหมูสวัสดี เพื่อขายผลิตภัณฑ์สุกรแปรรูปเป็นช่องทางกระจายสินค้าของเรา ในอนาคตจะขยายสาขาเพื่อเพิ่มช่องทางการเข้าถึงผู้บริโภคให้มากขึ้น ในขณะเดียวกันก็ต้องรักษาฐานลูกค้าและคู่ค้าเดิมที่ขายหมูแบบเป็นตัวไว้ให้ได้ด้วย เราต้องพัฒนาทั้ง 2 ด้านควบคู่กันไป คือด้านหนึ่งขายหมูสดและหมูแปรรูปในร้าน ในขณะที่อีกด้านหนึ่งคือการขายหมูเป็นตัวที่เป็นคู่ค้าเรามาตลอด จะทำอย่างไรให้คู่ค้าอยู่กับเราตลออดไป

ปัจจุบันสัดส่วนการขายหมูหลัก ๆ คือขายหมูเป็นตัว 60% ส่วนของผลิตภัณฑ์หมูแปรรูปและเนื้อหมูชำแหละขายเป็นชิ้น 40% แต่ถ้าตลาดเปลี่ยนแปลงไปในอนาคตก็อาจต้องปรับตัวไปตามสถานการณ์ต่อไป 

สำหรับการพัฒนาโปรดักส์ เราจะรับผลิตแบบ OEM มากขึ้น เนื่องจากเรามั่นใจในเรื่องคุณภาพและรสชาติในผลิตภัณฑ์ของเรา ที่มุ่งมั่นพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มช่องทางขายให้มีความหลากหลายมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 9 ร้านด้วยกัน ส่วนใหญ่จะอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่และลำพูนเป็นหลัก โดยตั้งเป้าขยายเพิ่มอีก 20 – 30 สาขา เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่ภาพเหนือมากขึ้น


ธนวัต กัลยาณจารี กรรมการผู้จัดการ บริษัท แม่ทา พี.ดี. จำกัด

ฝากแง่คิด ผู้ประกอบการ SME ฟาร์มสุกร

ก่อนจบการสนทนา คุณธนวัต ผู้บริหารหนุ่ม ได้ฝากแง่คิดถึง ผู้ประกอบการ SME ในการบริหารธุรกิจฟาร์มสุกร โดยมองว่าวันนี้ธุรกิจฟาร์มหมูทำยากขึ้น ทั้งในเรื่องการบริหารจัดการ การป้องกันโรค รวมไปถึงต้นทุนที่สูงขึ้น แต่ก็ถือว่าเป็นความท้าทายของผู้ประกอบการ SME ที่มีศักยภาพในการทำธุรกิจให้มีช่องทางแข่งขันได้ เพราะเป็นเรื่องของการปรับตัวของธุรกิจฟาร์มสุกรในอนาคต

“ในอดีตใครผลิตได้เยอะ มีเงินทุนหนาอาจเป็นปัจจัยหลักที่สำคัญในการทำธุรกิจฟาร์มสุกร แต่ปัจจุบันเป็นเรื่องของขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งบางคนอาจจะไม่มีเงินทุนมากมายแต่มี Mindset ที่ดีในการทำธุรกิจก็สามารถแข่งขันได้ เพราะการวางแผนการใช้เงิน ถ้าเราปรึกษาการทางการเงินกับธนาคารอย่างสม่ำเสมอก็จะสามารถวางแผนเรื่องการใช้เงินทุนได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากขึ้น”

ส่วนมุมมองเรื่อง Generation หลายคนตั้งคำถามว่า ทำไมเด็กยุคใหม่ไม่ค่อยมีความอดทน ไม่ขยัน เบื่องานง่าย อยากให้มองว่าเราให้ความรู้และเข้าใจโลกธุรกิจยุคใหม่มากพอหรือยัง เช่น ทำไมเขาต้องตื่นตี 5 เพื่อมาให้อาหารหมูเหมือนในอดีต แต่ควรมองหาเทคโนโลยีมาช่วยให้การทำงาน สะดวกสบาย ง่ายขึ้น เพราะการทำงานต้องสร้างความสมดุลในการใช้ชีวิต ได้มีเวลากับครอบครัวมากขึ้น 

“เราจะชนะโลกธุรกิจยุคใหม่ได้ ก็ต้องชนะใจคนรุ่นใหม่ให้ได้ด้วย โดยเราสามารถใช้ความรับผิดชอบเป็นตัวตั้งในการทำงาน มากกว่าการบังคับหรือเข้มงวดเรื่องชั่วโมงการทำงาน ทุกองค์กรควรมีความเห็นอกเห็นใจ (Sympathize) ในการทำงานร่วมกันจะทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จได้อย่างยั่งยืน (Sustainability)”

เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งผู้ประกอบการ SME ที่มีแนวคิดและมุมมองในการเตรียมความพร้อมในทุกสถานการณ์ได้อย่างรอบด้าน ครบทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม คุณภาพ ผลิตภัณฑ์ และแนวทางด้านการตลาด ทำให้สามารถปรับตัวให้สอดรับกับการแข่งขันและการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วขึ้นของโลกการค้าในปัจจุบันได้อย่างมีศักยภาพ

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

‘วรุณา’ นำเทคโนโลยี AI ยกระดับภาคการเกษตรไทย พร้อมดันประเทศสู่สังคม Net Zero

‘วรุณา’ นำเทคโนโลยี AI ยกระดับภาคการเกษตรไทย พร้อมดันประเทศสู่สังคม Net Zero

ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกมีความตื่นตัวและหันมาให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อช่วยดูแลและช่วยแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนที่ปัจจุบันทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อย…
pin
307 | 10/04/2024
‘เอเชี่ยนแอสฟัลท์’ ผู้เชี่ยวชาญด้านยางมะตอย ขยายไลน์สู่ผู้นำนวัตกรรมวัสดุก่อสร้าง เจาะตลาด Home Use ครบวงจรด้วยเทคโนโลยี

‘เอเชี่ยนแอสฟัลท์’ ผู้เชี่ยวชาญด้านยางมะตอย ขยายไลน์สู่ผู้นำนวัตกรรมวัสดุก่อสร้าง เจาะตลาด Home Use ครบวงจรด้วยเทคโนโลยี

ถนนลาดยาง คืออะไร?ยางมะตอย By-Product จากกระบวนการกลั่นน้ำมันดิบ ลักษณะสีดำ ข้น หนืด ด้วยคุณสมบัติที่ทนทานต่อสภาพอากาศ ทนน้ำ ยึดเกาะกับวัสดุหินได้ดี…
pin
1148 | 01/04/2024
ยนต์ผลดี จากโรงงานผลิตเครื่องสีข้าว สู่ ‘โรงเรียนโรงสี’ และเป้าหมายการยกระดับอุตสาหกรรมข้าวให้เข้มแข็ง

ยนต์ผลดี จากโรงงานผลิตเครื่องสีข้าว สู่ ‘โรงเรียนโรงสี’ และเป้าหมายการยกระดับอุตสาหกรรมข้าวให้เข้มแข็ง

โรงเรียน ‘โรงสีข้าว’ แห่งแรกของไทย โรงเรียน ‘โรงสีข้าว’ หรือ ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวข้าว จัดตั้งโดย บริษัท ยนต์ผลดี จำกัด…
pin
1528 | 25/03/2024
แชร์มุมคิด ‘บริษัท แม่ทา พี.ดี. จำกัด’ ธุรกิจฟาร์มสุกรครบวงจร สร้าง Mindset เติบโตอย่างมั่นคง ด้วยแนวคิด ‘Sustainability’