หมอมี' ต้นตำรับแบรนด์ยาเก่าแก่ ฝ่ากระแส Disruption ด้วยการปรับตัว

SME in Focus
15/11/2022
รับชมแล้วทั้งหมด 2915 คน
หมอมี' ต้นตำรับแบรนด์ยาเก่าแก่ ฝ่ากระแส Disruption ด้วยการปรับตัว
banner
...หากใครคุ้นหูคุ้นตากับแบรนด์เก่าแก่อายุนับร้อยปี ที่ชื่อ ‘หมอมี’ ที่มีภาพจำบางส่วนจากโฆษณาเรื่อง ‘ช่างใหญ่’ ให้เห็นทางทีวี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 โดยภาพจำคือการทะลุออกมาจากกล่องยานัตถุ์ ของ ‘หมอมี’ ตัวเป็นๆ มาช่วยแก้ปัญหาของช่าง 2 คนที่ถกเถียงกันเพราะหายใจและพูดไม่สะดวก....

บอกได้เลยว่า “คุณไม่เด็กแล้วนะ”


ชมคลิปฉบับเต็ม : ยานัตถุ์หมอมี: ช่างใหญ่ 
ขอบคุณที่มาจาก : ThaiTVC โฆษณาไทย


ซึ่ง TVC (TV Commercial เป็นรูปแบบการโฆษณาทางโทรทัศน์เชิงพาณิชย์) เรื่องดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งในหลาย ๆ เรื่องที่ประสบความสำเร็จและทำให้ชื่อของ ‘หมอมี’ เป็นที่พูดถึงอย่างมากในยุคนั้น บทความนี้ จึงขอนำเรื่องราวที่น่าสนใจของทายาทธุรกิจ รุ่นที่ 3 คุณเศกสุข เกษมสุวรรณ CEO บริษัท หมอมี จำกัด กับการบอกเล่าความเป็นมาของเส้นทางการดำเนิน ธุรกิจครอบครัว (Family Business) จากรุ่นสู่รุ่น ให้ประสบความสำเร็จอย่างยาวนานนับร้อยปี และเป็นที่จดจำของผู้บริโภคได้ทุกยุคทุกสมัย 



‘หมอมี’ สร้างตำนานยาสูตรโบราณนับศตวรรษ

จุดเริ่มต้นของ ‘หมอมี’ เริ่มต้นจากรุ่นบุกเบิกอย่างคุณบุญมี เกษมสุวรรณ หรือ ที่รู้จักกันในนาม หมอมี เป็นผู้ก่อตั้ง ห้างขายยา บุญมีดิสเปนซารี ทำหน้าที่เป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายยาแผนโบราณที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในประเทศไทย โดยเริ่มต้นในปี พ.ศ. 2451 จนมาถึง บริษัท หมอมี จำกัด ในปัจจุบัน 

หมอมี คือ บริษัทสัญชาติไทยที่บริหารในรูปแบบของธุรกิจครอบครัว ปัจจุบันมีอายุ 114 ปี เริ่มจากรุ่นคุณปู่ นำเข้ายาจากต่างประเทศ จากนั้นเริ่มพัฒนาสูตรยาสมุนไพรของตัวเอง ชื่อแบรนด์หมอมี ช่วงแรก ๆ มีโปรดักส์ประมาณ 3-4 ตัว จากนั้นค่อย ๆ พัฒนา จนมีสินค้าสูงสุดอยู่ที่ 8-9 ตัว และค่อย ๆ ทยอยลดการผลิตลงไปในปัจจุบัน มีสูตรยาต้นตำรับที่อายุ 100 ปี ขึ้นไป 5 แบรนด์ ประกอบด้วยสินค้าต่าง ๆ  10 SKU (Stock Keeping Unit) ประกอบด้วย ยานัตถุ์หมอมี, ยาอุทัยหมอมี, ยาตรีนิสิงเห, เฟมินี่ และ ยาปัถวี 



ใช้ Business Transformation จนอยู่คู่คนไทยกว่า 100 ปี 

สิ่งสำคัญในการรักษาคุณค่า และ มาตรฐานเพื่อสร้างความไว้วางใจให้ผู้บริโภคได้ในระยะยาว ต้องอาศัยทั้งส่วนของการบริหารธุรกิจที่แข็งแรง มีสินค้าที่เป็น Core Product พร้อมสร้าง Branding และ Corporate Image  ให้จับใจลูกค้า แต่หากมีช่วงที่เป็นขาลง ต้องเร่งหากลยุทธ์เพื่อรับมือ

คุณเศกสุข ทายาทรุ่น 3 แห่งแบรนด์หมอมี  อธิบายว่า Life cycle ของโปรดักส์ที่ผลิตและจำหน่ายในปัจจุบัน อาจจะเรียกว่าเลยช่วงอิ่มตัว (Maturity Stage) มาแล้ว คือเป็นขาลง แต่วิธีคิดคือ จะทำยังไงให้สินค้าเป็นขาลง “อย่างค่อยเป็นค่อยไป”

“... วิธี ก็คือหาสินค้าตัวอื่นขึ้นมาทดแทนตัวที่คนไม่นิยม เพื่อ Maintain รักษายอดขายไว้ ยาหลายตัว เป็นสูตรโบราณ กลุ่มลูกค้าเป็นคนสูงวัยใช้ คนรุ่นใหม่ไม่นิยม แม้เราจะทำโฆษณาให้คนรุ่นใหม่หันกลับมาใช้ยานัตถุ์ (ยาผงที่ใช้สำหรับเป่าเข้าทางจมูก) ก็คงไม่ใช่ทางออก แต่ที่ทำได้คือ รักษาฐานลูกค้าสูงวัยที่เรามีอยู่ ขณะเดียวกัน ยาอุทัย ที่วัยรุ่นชอบใช้ ทางบริษัทพยายามผลักดันไปที่กลุ่มเจนเนอเรชันใหม่ ๆ”



ให้น้ำหนักทั้งการพัฒนา Product และ Packaging 

เสน่ห์ของแบรนด์ที่เป็นระดับตำนาน มักจะมีการสร้างกิมมิค (Gimmick) หรือใส่ลูกเล่นใหม่ ๆ เพื่อสร้างการจดจำให้ลูกค้าเพื่อไม่ให้ถูกลืม ซึ่งหมอมี ก็เลือกใช้พื้นที่สร้างแบรนด์และปรับภาพลักษณ์สินค้าให้สื่อสารกับผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง ทั้งการออกแบบบรรจุภัณฑ์ (Packaging) ที่ปรับตามไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ โดยไม่ลืมที่จะรักษาคุณค่าซึ่งได้แก่ ยาสูตรดั้งเดิม เพิ่ม Value ให้เหมาะกับการใช้งานของแต่ละกลุ่มเป้าหมายได้อย่างลงตัว เพราะGEN ใหม่ เป็นอีกหนึ่งเป้าหมายที่ “หมอมี” ให้ความสำคัญ 



“...เราพยายามเข้าถึงลูกค้ากลุ่มคนรุ่นใหม่ ทั้งการออกแบบ Packaging ปรับให้เข้ากับเทรนด์ในยุคนี้ รวมถึงการทำแอปพลิเคชันเกี่ยวกับการใช้ยา ยกตัวอย่าง ยาอุทัยหมอมี จากเดิมจะใช้ผสมน้ำดื่มให้ทานแล้วชื่นใจ แต่อย่างที่จะเห็นกันว่าวัยรุ่นนิยมนำไปใช้เป็นเชิงคอสเมติก โดยใช้เป็นรองพื้น ทาแก้มแทนการใช้บรัชออน ซึ่งส่วนประกอบมาจากสมุนไพร เป็นสารจากธรรมชาติ ไม่เป็นอันตราย ใช้กับผิวหน้าได้”

สำหรับยาที่เราทำออกมาสำหรับผู้หญิง คือ “ยาตรีนิสิงเห” เป็นยาสตรีหลังคลอดบุตร ส่วนสินค้าใหม่ คือ “เฟมินี่”  (Feminie)  เป็นยาสตรีเพื่อเจาะตลาดผู้หญิงยุคใหม่ เกิดจากความคิดว่า ต้องการเปลี่ยนมุมมองของผู้บริโภคที่มีต่อยาสตรีแผนโบราณ ที่มักจะคิดว่ายาสตรีเหมาะสำหรับคนสูงอายุ หรือสตรีหลังคลอดบุตร ประโยชน์คือช่วยบำรุงเลือด ให้สุขภาพดีจากภายใน จากต้นตำรับ “หมอมี” ซึ่งมีการดีไซน์ Packaging ให้สีสันสดใส เข้ากับไลฟ์สไตล์ผู้บริโภค 

ในอนาคตมีแนวคิดจะพัฒนาเป็นการรับประทานแบบ One Shot เป็นซองแบบพกพาง่าย นอกจากนี้ ยังมีการปรับปรุงส่วนของ มีการนำเครื่องจักรเข้ามาช่วยในการผลิตและบรรจุผลิตภัณฑ์ เพื่อรักษาคุณภาพที่ดี ใส่ใจความสะอาดปลอดภัยในทุกขั้นตอนการผลิต และใส่ใจผู้บริโภคไม่ต่างจาก 100 กว่าปีที่ผ่านมา ส่วนยารุ่นเก่า ยานัตถุ์หมอมี เราอาจจะเน้นให้สินค้าขายเรื่องกลิ่นหอม มีสารหอมระเหย ส่วนอื่น ๆ เราเลือกจะปล่อยไปตาม Product Life Cycle ซึ่งก็คงไม่ทำอะไรที่สวนกระแส  แต่จะเป็นการรักษาคุณภาพ 



ถ่ายทอดแบรนด์ผ่านเอกลักษณ์ สร้างคุณค่าสู่ลูกค้า 

สิ่งหนึ่งที่ไม่มีบอกในตำราไหน ๆ คือสุดยอดเคล็ดลับที่ทำให้ หมอมี ฝ่ากระแสดิสรัปชัน จนกลายเป็นแบรนด์เก่าแก่ และคงความเป็นตัวตน ไม่ถูกกลืนหายไปกับยุคสมัยและการเปลี่ยนแปลง เคล็ดลับมาจากการปรับตัวให้เป็นไปตามความต้องการของลูกค้า การที่แบรนด์หมอมี ผ่านระยะเวลายาวนานทำให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลง ปรับไปตามความนิยมของยุคสมัย แต่สิ่งที่เปลี่ยนไม่ได้ คือเรื่องของคุณภาพ ความพิถีพิถัน การสร้างคุณค่าของยา ให้ลูกค้าได้ ‘คุณค่า’ ความเป็นเอกลักษณ์ของสินค้าและแบรนด์หมอมี  หาไม่ได้จากที่ไหนในตลาด การสืบทอดธุรกิจ ต้องส่งผ่านความเป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์ด้วย 



100 ปี มีอะไรเปลี่ยนไป

ที่เห็นชัด ๆ คือเรื่องของ Packaging จากขวดแก้วมาเป็น PDC การบรรจุ วิธีการผลิต จากเดิมเรานำสมุนไพรไปตากแดด ปัจจุบันก็พัฒนามาเป็นการอบด้วยแสง ผลิตด้วยระบบปิด เพื่อให้ได้มาตรฐานของ อย. เครื่องจักรต่าง ๆ  เป็นระบบปิดหมดแล้ว แบบเดิมเราผลิตยาจะมีฝุ่นที่ฟุ้งอยู่ ต้องมีการพัฒนาและปรับปรุงเพื่อให้ได้คุณภาพ และมาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด วิธีการเปลี่ยน แต่คุณภาพของสินค้าเราจะไม่เปลี่ยน 

เพื่อให้รักษามาตรฐานไว้ได้ วัตถุดิบ เราให้ความสำคัญกับ Source ของวัตถุดิบ ยาสูบจากไร่ที่เราใช้ ดินจากแหล่งไหน ให้รสชาติแบบไหน และแหล่งผลิตที่ใช้ผลิต ซึ่งสำคัญมาก อีกส่วนหนึ่งคือเราควบคุมการผลิตเองโดยมีแผนกตรวจสอบคุณภาพของสินค้า ว่าเป็นไปตาม Spec หรือไม่ มีขั้นตอนในการเช็คคุณภาพในทุก ๆ ขั้นตอน นอกจากนี้เรายังมีธรรมาภิบาล ต่อคู่ค้า กลุ่มเกษตรกรบางเจ้าที่เราสั่งซื้อสมุนไพรจากเมืองจีน ก็ซื้อจากร้านค้าในเยาวราช ปัจจุบันก็ยังซื้ออยู่ ร้านจีนที่เห็นว่าเก่า ๆ ก็ยังเป็นซัพพลายเชนให้เราอยู่   

ในแง่ของ Bioeconomy (เศรษฐกิจชีวภาพ) หมอมี มีการนำเทคโนโลยี มาใช้ร่วมกับการพัฒนาสมุนไพรไทยด้วยเช่นกัน เพราะเมื่อมีการผลิตมากขึ้น ภาครัฐสนับสนุน มีการทำวิจัยและให้ความรู้กับผู้บริโภค เช่น กระชายขาว, ขมิ้น, หรือฟ้าทลายโจร เมื่อมีการยอมรับ ทำให้เทรนด์การใช้ยาสมุนไพรได้รับความเชื่อมั่น แต่ในส่วนของยาอุทัยหมอมี หรือยานัตถุ์หมอมี เรามีการใช้สมุนไพรไทยที่ได้รับการยืนยันเหล่านั้นมาใช้เป็นส่วนประกอบ 



‘หมอมี’ ของที่ (ทุกบ้าน) ต้องมี และ แผนธุรกิจในอนาคต

สมัยก่อน โฆษณายุคนั้นก็จะมีเพลง เป็นภาพยนตร์ที่ได้ผลดีในยุคสมัยนั้น ใช้เพลงสื่อความหมาย แต่งสำหรับ Product ตัวนั้น  ๆ ฟังแล้วติดหู ติดปาก เป็น Word of Mouth ไปเรื่อย ๆ เราไม่ได้ทำตลาดนอกประเทศเลย แต่จะมีการจำหน่ายใน Border Trade (การค้าชายแดน) ที่เราส่งสินค้าไปขายไปยังจังหวัดต่าง ๆ เช่น อุดรธานี, นครพนม, สระแก้ว ปราจีนบุรี, ที่อำเภอแม่สอด, ท่าขี้เหล็ก จังหวัดตาก 

แม้จะไม่มีการทำ Marketing หรือ โฆษณาเราถึงตรงนั้น แต่การรับรู้เกิดจากการเข้าถึงจากการที่เราซื้อโฆษณาตาม TV Channel ต่าง ๆ ซึ่งช่องทางเหล่านี้เข้าถึงประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว, กัมพูชา, เมียนมา ทำให้เกิดการซึบซับและรู้จักสินค้าของเรา ซึ่งกลุ่มนี้เราก็จับตามองอยู่ ในอนาคตอยากจะต่อยอดไปยังกลุ่ม CLMV เป็นการเปิดตลาดใหม่ หรือ ส่งต่อ DNA ของเราอยู่ที่สมุนไพร เรามีวิชั่น คือจะเป็น Leader ของยาทางด้านสมุนไพร เพราะภาครัฐฯ ยังให้การสนับสนุนอยู่



การสืบทอดธุรกิจครอบครัวอย่างไร? ให้ไร้รอยต่อ

นอกจาก บริษัท หมอมี จำกัด ที่ผลิตและจัดจำหน่ายยาแผน โบราณ (สมุนไพร) ยังมีบริษัทในกลุ่มเดียวกันอีก 2 บริษัท คือ บริษัท หมอมีพัฒนา จำกัด และ บริษัท หมอมีเอสเตท จำกัด ซึ่ง Real estate  รวมถึง Property เคยทำเป็นร้านอาหาร แต่ปิดตัวไปช่วงโควิด และธุรกิจ ให้เช่าที่จอดรถ ที่วงเวียน 22 กรกฎาคม แต่การบริหารจะแยกจากกัน เป็นคนละส่วน คนละบริษัท 
ซึ่งในการดำเนินธุรกิจจะใช้กรรมการจากเจน 2 เช่น เรามี 6 ครอบครัว ก็จะมีกรรมการ หรือ บอร์ดบริหาร 6 ท่าน หากครอบครัวไหนจะส่งทายาทเข้ามาในส่วนไหน ก็มาทำความตกลงกัน ซึ่งใช้จำนวนหุ้นในการออกเสียง  เช่น 1 หุ้น ต่อ 1 การโหวต แบบนี้ เป็นต้น 

เรามีกฎของบริษัทที่กำหนดไว้อย่างชัดเจน เป็นเหมือนธรรมนูญครอบครัว ที่สมาชิกทุกคนยอมรับ โดยเรามีการใช้ทีมทนายช่วยดู จนออกมาเป็นกฎสากลที่ทุกคนใช้ร่วมกัน ในการแต่งตั้งผู้ที่เข้ามาบริหาร เราจะมีการประชุมสามัญประจำปี ผู้ถือหุ้นเข้าประชุมร่วมกันหมด ทุกคนมีสิทธิโหวตตามจำนวนหุ้นที่ถือ บอร์ดบริหารที่เป็นกรรมการ 6 ท่านก็จะมีสิทธิเลือก CEO ขึ้นมาบริหาร 

ผมเป็นผู้บริหารเจนเนอเรชันที่ 3 ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการส่งต่อให้รุ่นที่ 4 ธุรกิจทุกอย่าง จะถูกแบ่งตามจำนวนลูก ๆ แต่ละบ้านที่มีลูกหลานก็จะแบ่งสันปันส่วนไป แต่ละเจนเนอเรชันก็อาจจะไม่ใช่ 1 ใน 6 เพราะมีการแตกสายไปเรื่อยๆ




ธุรกิจครอบครัวที่มีการสืบทอดมานับร้อยปี ในมุมมองของคุณเศกสุข ให้ความเห็นว่า การให้ธุรกิจอยู่ได้ยาวนานต้องมี Product ที่จะทำทั้งศักยภาพและคุณภาพ เพื่อจะสร้างยอดขาย (Top Line) และผลกำไร (Bottom Line) ไว้ใช้ในการพัฒนาและปรับปรุงสำหรับอนาคต  ถ้าไม่มีก็จบ ก่อนหน้านี้  ธุรกิจที่ให้บริการถ่ายเอกสาร หรือ ซีร็อกซ์ (Xerox) โด่งดังมาก แต่วันหนึ่งที่ Product มันไปไม่ถึง ก็จบ “สินค้าคือ Core ที่สำคัญ”  เมื่อ Branding และ Corporate Image ยังดี ก็ควรรีบออกสินค้าที่เป็น Umbrella Branding ของหมอมีออกมาให้เร็วที่สุด

 

ในอนาคต เราอยู่ในขั้นดำเนินการพัฒนาซึ่งมีหลายรูปแบบ ทั้งสินค้าที่ผลิตและพัฒนาเอง, รับจ้างผลิต (OEM) และจ้างบริษัทอื่นผลิตให้ ก็มี ตอนนี้เริ่มมองสินค้านำเข้าด้วย เพื่อให้ยอดขายไปได้  ยกตัวอย่างยาที่เราผลิตเองจะเป็นกลุ่มสมุนไพรที่เป็นยาสูตรโบราณ ที่รับจ้างผลิตจะเป็นยารุ่นใหม่ ๆ ส่วนที่นำเข้ามาก็จะยิ่งเป็นยาที่เจนใหม่มากขึ้นไปอีก แต่ Business Area ยังคงเป็นกลุ่มธุรกิจยาที่เรามีความเชี่ยวชาญ 

คุณค่า และการรักษาไว้ให้คงอยู่ได้อย่างยาวนาน คือกลยุทธ์ที่เป็นสูตรสำเร็จ เช่นเดียวกับ ธุรกิจต้นแบบอย่าง หมอมี ที่สร้างเอกลักษณ์ของสมุนไพรไทย กลายเป็น DNA ของแบรนด์ที่เลียนแบบได้ยาก แม้ยุคสมัยเปลี่ยน ผู้บริโภคเปลี่ยน แต่ความยั่งยืนที่ถูกส่งต่อกันด้วยความสม่ำเสมอ เคยใส่คุณภาพและพิถีพิถันอย่างไร ก็คงไว้แบบนั้น ทำให้แบรนด์ในตำนานที่สร้างคุณค่า จะยัง “มี” สิ่งนั้นต่อไปแบบไม่รู้จบ 

รู้จัก “บริษัท หมอมี จำกัด” เพิ่มเติมได้ที่ 
https://www.mohmee.co.th

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

ยนต์ผลดี จากโรงงานผลิตเครื่องสีข้าว สู่ ‘โรงเรียนโรงสี’ และเป้าหมายการยกระดับอุตสาหกรรมข้าวให้เข้มแข็ง

ยนต์ผลดี จากโรงงานผลิตเครื่องสีข้าว สู่ ‘โรงเรียนโรงสี’ และเป้าหมายการยกระดับอุตสาหกรรมข้าวให้เข้มแข็ง

โรงเรียน ‘โรงสีข้าว’ แห่งแรกของไทย โรงเรียน ‘โรงสีข้าว’ หรือ ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวข้าว จัดตั้งโดย บริษัท ยนต์ผลดี จำกัด…
pin
231 | 25/03/2024
3 ผู้บริหารหญิงยุคใหม่ กับแนวคิดใช้นวัตกรรมขับเคลื่อนธุรกิจรับเทรนด์อาหารเพื่อสุขภาพ

3 ผู้บริหารหญิงยุคใหม่ กับแนวคิดใช้นวัตกรรมขับเคลื่อนธุรกิจรับเทรนด์อาหารเพื่อสุขภาพ

ไขเคล็ดลับและแนวคิดที่ผลักดันให้ผู้นำหญิงในโลกธุรกิจขึ้นมายืนแถวหน้า นักธุรกิจหญิงแกร่งที่ทรงพลังต่อการขับเคลื่อนธุรกิจ จนทำให้พวกเธอสามารถขึ้นมายืนแถวหน้าอย่างภาคภูมิ…
pin
401 | 22/03/2024
พลังหญิง เปลี่ยนโลก 3 บทบาทของผู้บริหารหญิงในการขับเคลื่อนธุรกิจสีเขียวที่สร้างแรงบันดาลใจด้านสิ่งแวดล้อม

พลังหญิง เปลี่ยนโลก 3 บทบาทของผู้บริหารหญิงในการขับเคลื่อนธุรกิจสีเขียวที่สร้างแรงบันดาลใจด้านสิ่งแวดล้อม

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลต่อธุรกิจ เมื่อหลายประเทศทั่วโลกเริ่มออกกฎหมายและข้อบังคับเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดขึ้น…
pin
318 | 20/03/2024
หมอมี' ต้นตำรับแบรนด์ยาเก่าแก่ ฝ่ากระแส Disruption ด้วยการปรับตัว