'รอยัล เซรามิคส์' ธุรกิจไซส์เล็กแต่แจ๋ว ด้วยเทคโนโลยีทันสมัย กับ Business Model ที่แข็งแกร่ง
‘บริษัท รอยัล เซรามิคส์ จำกัด’ ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากเซรามิคส์ที่ใช้บนโต๊ะอาหาร ที่มี Business Model ผลิตสินค้าตามใบสั่งซื้อ (PO) ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย จนทำให้มีรายได้เติบโตถึง 100 ล้านบาท
คุณอรัญญา เชาว์กิตติโสภณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท รอยัล เซรามิคส์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากเซรามิคส์ที่ใช้บนโต๊ะอาหาร กล่าวถึงเส้นทางแห่งความสำเร็จว่า ก่อนหน้านี้ตนและสามี คือ คุณนิยม เชาว์กิตติโสภณ ทำงานในธุรกิจครอบครัว (Family Business) ของฝั่งสามี ซึ่งเป็นตระกูลผู้ผลิตเซรามิคส์รายใหญ่ของจังหวัดลำปางและมีชื่อเสียงมายาวนานกว่า 50 ปี

จนในปี 2559 ได้แยกออกมาก่อตั้งธุรกิจ SME ขนาดเล็กภายใต้ชื่อ ‘บริษัท รอยัล เซรามิคส์ จำกัด’ เพื่อจับกลุ่มตลาดใหม่ โดยคาดหวังเป็นธุรกิจ SME 4.0 คือโรงงานขนาดเล็ก แต่ใช้เครื่องจักรทันสมัย และมีรูปแบบการทำธุรกิจ เป็นนแบบผลิตสินค้าตามใบสั่งซื้อ Purchase Order (PO) หรือผลิตสินค้าตามดีมานด์ของลูกค้า
พร้อมทั้ง การรับผลิต OEM ให้กับแบรนด์ลูกค้า โดยใช้แม่พิมพ์และดีไซน์การผลิตจากการออกแบบโดยทีมพัฒนาของบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญนำไปเสนอให้ลูกค้าเลือก ทำให้ลูกค้าสามารถลดขั้นตอนในการออกแบบและมีความสะดวกยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันบริษัทยังมีความคล่องตัวในการผลิตสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย
‘เรามีวิสัยทัศน์ว่าอยากผลิตสินค้าที่สามารถแข่งขันได้ และผู้ผลิตรายอื่นต้องเลียนแบบเราได้ยาก ดังนั้น เราจึงต้องใช้รูปแบบธุรกิจนี้โดยอาศัยองค์ความรู้ด้านการผลิตเซรามิคส์ประกอบกับเราอยู่ในวงการนี้มาอย่างยาวนาน จึงมีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านการตลาดและการส่งออก ซึ่งในช่วงเริ่มจัดตั้งบริษัทเราได้เดินทางไปหาลูกค้าในต่างประเทศเพื่อนำเสนอสินค้าและเจรจาทางธุรกิจไว้ก่อน พอหลังจากที่มีคำสั่งซื้อแล้วเราจึงมีการผลิตสินค้า ทำให้เราสามารถแข่งขันได้ และ บริษัทฯมีจุดมุ่งหมายคือ สินค้าในสต๊อกคือสินค้าทีมีใบสั่งซื้อรองรับ เพราะไม่ต้องการทำสต๊อกสินค้าเพื่อรอการขาย’

อรัญญา เชาว์กิตติโสภณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท รอยัล เซรามิคส์ จำกัด
โรงงานเซรามิคส์แห่งแรกในลำปางที่มีการผลิตแบบ 4.0
คุณอรัญญา เล่าต่อว่าสิ่งสำคัญอีกอย่างที่ทำให้บริษัทขนาดเล็กและก่อตั้งใหม่เติบโตและประสบความสำเร็จได้อย่างรวดเร็ว คือ คุณนิยมและทีมงาน ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญในการการใช้งานเทคโนโลยีเครื่องจักรที่ทันสมัย จึงมีการนำระบบเครื่องจักรออโตเมชั่นและหุ่นยนต์ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีจากประเทศเยอรมนีเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิต การขึ้นรูปสินค้าและหยิบจับชิ้นงาน
ซึ่งส่งผลให้บริษัทสามารถยกระดับการผลิตได้เป็นอย่างดี เพราะช่วยลดการใช้แรงงานคน และช่วยให้การผลิตเกิดความผิดพลาดน้อย อีกทั้งยังสามารถเพิ่มความยืดหยุ่นและก้าวข้ามขีดจำกัดของการผลิตชิ้นงานแบบเดิมในรูปทรงต่างๆ ให้ลูกค้าได้เลือกอย่างหลากหลาย
ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ทรงเหลี่ยม ทรงกลม และทรงวงรี หรือจานชามรูปทรงพิเศษที่มีลักษณะจำเพาะ โดยการขึ้นรูปสินค้าด้วยเทคโนโลยีเครื่องจักรนี้ สามารถผลิตได้มากถึง 20,000 ชิ้น/วัน

ขณะเดียวกัน ยังวางแผนงานด้านกระบวนการผลิตอื่น ๆ ให้สอดรับกับเทคโนโลยีเครื่องจักรและหุ่นยนต์ที่ทันสมัย ทั้งการจัดแผนผังโรงงานหรือเลย์เอาท์สำหรับวางเครื่องจักรให้สอดรับกับการทำงานแบบอัตโนมัติ ตลอดจนมีการใช้ระบบดินแห้ง
โดยมีเครื่องจักรที่ช่วยในการจัดเตรียมและผสมดินซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตให้เกิดความคล่องตัวพร้อมย่นระยะเวลาเข้าสู่ไลน์การผลิตได้ภายใน 6 ชั่วโมง ซึ่งแตกต่างจากเดิมที่พึ่งพาแรงงานคนและจะต้องใช้เวลาการเตรียมดิน, อบบิสกิต เป็นระยะเวลานาน 1-2 วัน
ทำให้บริษัทฯ มีการเพิ่มกำลังการผลิตได้สูงขึ้นได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว และช่วยในการบริหารต้นทุนให้เกิดประสิทธิภาพได้เป็นอย่างดี และที่สำคัญคือขั้นตอนการผลิตสินค้าเซรามิคส์ให้ได้คุณภาพสอดรับกับมาตรฐานการส่งออก
ซึ่งถือว่าตนเป็นผู้ประกอบการ SME ขนาดเล็กที่ใช้เทคโนโลยีและเครื่องจักรการผลิตที่ทันสมัยที่สุด จนเรียกได้ว่าเป็นโรงงานผลิตภัณฑ์เซรามิคส์แบบ 4.0 แห่งแรกในจังหวัดลำปาง

ออกแบบให้ลูกค้าได้เลือกอย่างหลากหลายก่อนนำเข้าไลน์การผลิต
ด้านรูปแบบการผลิต เนื่องจากทีมงานของบริษัทมีความเชี่ยวชาญในการทำงานเซรามิคส์ พร้อมกับมีความเข้าใจในบริบทของการทำงานร่วมกับเครื่องจักรและเทคโนโลยีที่ทันสมัย จึงทำให้เกิดขั้นตอนการทำงานที่ราบรื่นตั้งแต่กระบวนการออกแบบ ขึ้นรูป และตกแต่ง
ซึ่งในส่วนของการออกแบบและขึ้นรูปทรงนั้นบริษัทจะออกแบบและพัฒนาเพื่อนำเสนอลูกค้าได้หลากหลายรูปแบบอย่างรวดเร็ว เพื่อเป็นทางเลือก ให้ลูกค้าสามารถเลือกผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ ได้
เมื่อลูกค้าตัดสินใจเลือกแล้วบริษัทจะมาสู่กระบวนการผลิตแบบ Mass Production พร้อมกับตกแต่งหรือติดแบรนด์ที่เป็นเครื่องหมายทางการค้าของลูกค้า ซึ่ง Business Model นี้ทำให้ทั้งทางลูกค้าและบริษัทมีความคล่องตัวในการดำเนินงาน สามารถควบคุมต้นทุนด้านการผลิตได้เพราะไม่ต้องเปลี่ยนแม่แบบบ่อย นำไปสู่การบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพได้

กระจายความเสี่ยงหาตลาดใหม่ในต่างประเทศ
คุณอรัญญา กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า เมื่อบริษัทมีกำลังการผลิตที่มากเพียงพอและสามารถตอบสนองต่อคำสั่งซื้อจำนวนมากได้ จึงมุ่งเจาะตลาดต่างประเทศด้วยเพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงในการทำธุรกิจในกรณีที่เศรษฐกิจในประเทศเกิดความผันผวน โดยมีการแบ่งเป็นสัดส่วนการขายในประเทศ 50% และต่างประเทศ 50% เท่ากัน
โดยตลาดส่งออกหลักๆ ของบริษัท คือ สหรัฐอเมริกา, บราซิล, เม็กซิโก, โปแลนด์, ฝรั่งเศส, เบลเยียม, สเปน และเกาหลี มีทั้งที่ติดต่อโดยตรงและผ่านดีลเลอร์หรือตัวแทนที่เข้าสินค้าไปจำหน่ายของแต่ละประเทศ
โดยในส่วนของกลยุทธ์ Marketing ที่ผ่านมาบริษัทได้ใช้แนวทางการหาตลาดใหม่โดยการออกบูธและร่วมงานแสดงสินค้าในประเทศต่าง ๆ เช่น ประเทศเยอรมนี, ฝรั่งเศส, ฮ่องกง และ จีน นอกจากนี้ ยังมีการออกแบบสินค้าใหม่ๆ และอัพเดท นำเสนอสินค้าใหม่โดยใช้เทคโนโลยีผ่านระบบออนไลน์อย่าง Zoom ให้กับลูกค้าได้รับทราบอย่างต่อเนื่องอีกด้วย

เน้นผลิตสินค้าล็อตใหญ่ให้สามารถแข่งขันได้
สำหรับรูปแบบการทำตลาด เนื่องจากปัจจุบันส่วนใหญ่แล้วบริษัทจะมีการผลิตสินค้าตามใบสั่งซื้อ Purchase Order (PO) หรือผลิตตามออเดอร์เป็นจำนวนมาก ดังนั้น จึงไม่ได้มุ่งเน้นไปที่การสร้างแบรนด์หรือการเจาะตลาดขายปลีก เพราะมองว่าเมื่อลูกค้าเอาสินค้าของบริษัทไปจำหน่ายภายใต้รูปแบบการผลิตแบบ OEM
แต่บริษัทยังสามารถโปรโมทสินค้าผ่านการโฆษณาทางเว็บไซต์ได้ ซึ่งแนวทางการทำตลาดแบบนี้ทำให้บริษัทมีความคล่องตัวในการผลิตและมีการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ธุรกิจมีความแข็งแกร่งและเติบโตด้านยอดขายแตะ 100 ล้านได้ในปัจจุบัน

มุ่งดำเนินงานให้สอดรับกับมาตรการทางการค้า
ด้านนโยบายการดำเนินงาน เนื่องด้วยบริษัทได้รับการคัดเลือกให้นำผลิตภัณฑ์ไปวางจำหน่ายที่ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่อย่าง Walmart ซึ่งเป็นบริษัทค้าปลีกขนาดใหญ่ในสหรัฐอเมริกาและหลายประเทศทั่วโลก ดังนั้น จึงได้ให้ความสำคัญกับมาตรการทางการค้าที่มีการตรวจสอบอย่างเข้มงวด ไม่ว่าจะเป็นการใช้วัสดุบรรจุหีบห่อที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงแนวทางปฏิบัติด้านแรงงานและการเคารพสิทธิมนุษยชน

รับมืออย่างไรกับสถานการณ์ในปัจจุบัน?
คุณอรัญญา กล่าวปิดท้ายว่า ในช่วงที่ผ่านมาแม้จะได้รับผลกระทบจากวิกฤติโรคโควิด19 แต่บริษัทยังสามารถผ่านพ้นมาได้ และยังถือเป็นโรงงานเดียวในจังหวัดลำปางที่ไม่มีการหยุดเดินไลน์การผลิตสินค้า แม้ขณะนั้นอยู่ในช่วงวิกฤติโควิด19 เนื่องจากบริษัทฯ มีการทำการตลาดรองรับไว้ และในขณะที่สงครามรัสเซีย-ยูเครน เป็นปัจจัยที่ทำให้ราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก
ส่งผลเป็นแรงกดดันต่อค่าเงินบาทให้อ่อนค่าลงตามไปด้วย แต่ด้วยบริษัทมีสัดส่วนการจำหน่ายในต่างประเทศอีกครึ่งหนึ่งจึงมีกลยุทธ์โดยปรับราคาต้นทุนเพิ่มขึ้นให้สอดรับกับค่าสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ จึงทำให้บริษัทฯยังสามารถแข่งขันได้
จาก Business Model การผลิตสินค้าตามใบสั่งซื้อ (PO) หรือผลิตสินค้าตามดีมานด์ ประกอบกับการใช้องค์ความรู้เรื่องการผลิตเซรามิคส์ผนวกเข้ากับการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ช่วยให้ ‘คุณอรัญญา เชาว์กิตติโสภณ’ สามารถนำพา ‘รอยัล เซรามิคส์’ เติบโตและประสบความสำเร็จได้ภายในระยะเวลาไม่นาน เรื่องนี้ก็ถือเป็นอีกหนึ่ง Case study ที่ผู้ประกอบการน้องใหม่สามารถนำไปใช้เป็นแรงบันดาลใจในการพัฒนาธุรกิจได้
รู้จัก ‘รอยัล เซรามิคส์’ เพิ่มเติมได้ที่
http://www.royalceramicsthailand.com/web/