Remote Working สิ่งที่ผู้ประกอบการควรปรับใช้ สู่ Mindset ใหม่ การทำงานระยะไกลความจำเป็นยุคดิจิทัล
SME Series ในตอนที่แล้ว เป็นการทำเสนอ Mega Trend คนทำงานซึ่งก็คือ ‘Work Life Balance’ เพื่อช่วยหาบาลานซ์จุดกึ่งกลางระหว่างผู้ประกอบการและ SME กับพนักงาน ตอบโจทย์การทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น SME Series ตอนนี้ขอเจาะลึก ‘Work Life Balance’ เพิ่มเติม ในส่วนของ Remote Working หรือการทำงานระยะไกล เพื่อให้ภาคธุรกิจ SME เห็นข้อดี สร้าง Mindset ใหม่ Business Transformation องค์กร หันมาทำงานที่ไหนก็ได้มากขึ้น ปรับตัวก้าวทันเทคโนโลยียุคดิจิทัล

ทำไม? Remote Working เป็นสิ่งที่ควรปรับใช้ในการทำงาน
Remote Working คือรูปแบบการทำงานที่มาพร้อมคอนเซปต์การทำงานที่ไหนก็ได้ ด้วยการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานจากภายในสำนักงาน สู่การทำงานนอกสถานที่ ไม่จำกัดว่าจะต้องทำที่สำนักงานหรือต้องทำงานที่บ้านเท่านั้น ขอเพียงให้ได้ปริมาณงาน (Quantity) และได้ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพ (Quality) เทียบเท่ากับการทำงานที่สำนักงานก็เพียงพอแล้ว
โดยแนวคิดแบบ Remote Working ถือเป็นสิ่งใหม่ที่ท้าทาย เพราะไม่เพียงแค่เปลี่ยนรูปแบบในเชิงกายภาพเท่านั้น แต่เป็นการปรับวิธีคิดให้กับองค์กรด้วย เปลี่ยนจากการนับชั่วโมงตอกบัตรทำงาน สู่การวัดผลในเชิงประสิทธิภาพต่อชิ้นงาน

ข้อมูลวิจัย "The Next Great Disruption Is Hybrid Work - Are We Ready?" ซึ่งจัดทำโดยไมโครซอฟท์ ได้เปิดเผยข้อมูลว่า ปัจจุบันกำลังอยู่ในช่วงจุดเปลี่ยนสำคัญเรื่องของสถานที่ทำงาน ผลสำรวจในเรื่อง Remote Working มีดังนี้
- 73% ของคนทำงาน ต้องการให้การทำงานแบบ Remote Working ยังคงดำเนินต่อไป
- การประกาศรับสมัครงานที่สามารถทำจากที่ไหนก็ได้บน LinkedIn นั้นเพิ่มขึ้นมากกว่า 5 เท่าในช่วงที่มีการแพร่ระบาด
- แรงงานทั่วโลกกว่า 40% กำลังพิจารณาที่จะย้ายออกจากนายจ้างเดิม และ 46% กำลังวางแผนที่จะย้ายงานที่สามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้
ส่วน Remote Working Report 2022 จัดทำโดย Buffer แพลตฟอร์มบริหารจัดการ Social Media โดยทำการสำรวจความคิดเห็นจาก Remote Workers หรือพนักงานที่ทำงานแบบรีโมทตัวจริงเสียงจริง จำนวน 2,118 คนทั่วโลก พบสถิติที่น่าสนใจ ดังนี้
พนักงานแนะนำการทำงานระยะไกลอย่างท่วมท้นถึง 97%

ข้อมูลจาก : https://buffer.com/state-of-remote-work/2022

ข้อมูลจาก : https://buffer.com/state-of-remote-work/2022
องค์กรจำนวนมากกำลังวางแผนอนาคตสำหรับการทำงานระยะไกล
โดย 72 เปอร์เซ็นต์กล่าวว่าองค์กรของพวกเขากำลังวางแผนสำหรับรูปแบบการทำงานทางไกลถาวรบางรูปแบบต่อไป โดยตัวเลขนี้เพิ่มขึ้น 46 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับคำถามเดียวกันในปี 2021

ข้อมูลจาก : https://buffer.com/state-of-remote-work/2022
ขณะที่ข้อมูล Global Talent Survey (GTS) ยังพบอีกว่า การที่ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากโควิด 19 ทำให้คนไทยมีการใช้งานเครื่องมือดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น มีรูปแบบการทำงานเป็นทีม มีความยืดหยุ่นของเวลาการทำงานรวมถึงสถานที่ในการทำงานเพิ่มขึ้น

เหตุผลที่ผู้ประกอบการและธุรกิจ SME ควรสนับสนุน Remote Working
ลดความเครียดจากการทำงาน
สภาพแวดล้อมจากสถานที่ทำงาน หัวหน้างาน และเพื่อนร่วมงาน สามารถสร้างความกดดัน และความเครียดในการทำงานได้อย่างไม่น่าเชื่อ แต่รูปแบบของการทำงานทางไกล ช่วยลดความเครียดนี้ลงได้ เพราะพนักงานมีความยืดหยุ่นในการทำงานมากขึ้น ลดการเผชิญหน้า ลดการต้องพบกับความเข้มงวดและกฎระเบียบในที่ทำงานลงได้ นอกจากลดความเครียดลงแล้ว ยังทำให้สุขภาพและความเป็นอยู่ของพนักงานดีขึ้นด้วย เพราะเครียดน้อยลงจากการเดินทาง มีเวลาในการออกกำลังกายและดูแลสุขภาพตัวเองเพิ่มขึ้น
เพิ่มความยืดหยุ่น (Flexible) ในการทำงาน
ทั้งการปรับเวลาเข้างาน และวิถีชีวิตที่ต้องไม่เร่งรีบตื่นเช้าเดินทางมาทำงาน แต่สามารถทำงานที่บ้านได้เลย ทำให้พนักงานรู้สึกผ่อนคลายมากยิ่งขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน (Productivity)
ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์
สำหรับด้านนี้เป็นผลพลอยได้จากความยืดหยุ่นในการทำงาน เมื่อพนักงานไม่ถูกกำหนดในกรอบหรือในสภาวะแวดล้อมเดิม ๆ การปรับเปลี่ยนสถานที่ทำงาน พบกับสภาพแวดล้อมใหม่ ๆ จะช่วยกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ให้กับพนักงานได้
ได้ปริมาณงานเพิ่มขึ้น
เมื่อภาวะความเครียดจากการทำงานลดน้อยลง ก็จะส่งผลดีให้พนักงานโฟกัสกับงานได้อย่างเต็มที่ ทำให้ผลิตชิ้นงานได้ปริมาณมากขึ้น และยังได้งานที่มีประสิทธิภาพกว่าแต่ก่อนด้วย เพราะพนักงานมีโอกาสได้โฟกัสกับงานของตัวเอง ในพื้นที่ทำงานที่ให้ความรู้สึกสบายใจ ไม่มีความกดดันรอบข้าง
ประหยัดต้นทุนทั้งองค์กรและพนักงาน
ในส่วนขององค์กร รายจ่ายที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัดที่สุดคือ ค่าเช่าพื้นที่สำนักงาน ค่าไฟฟ้า ค่าสาธารณูปโภคต่าง ๆ ซึ่งบริษัทมักจะคิดต้นทุนพนักงานเป็นรายบุคคลหรือต่อหัว เมื่อลดจำนวนวันในการเข้าสำนักงาน หรือทำงานทางไกล 100% ก็ตัดรายจ่ายไปได้ทันที ขณะที่พนักงานก็ประหยัดค่าใช้จ่ายลง ในส่วนของค่าเดินทางไปทำงาน ค่าอาหาร ค่าครองชีพในแต่ละวันลง แต่อาจต้องไปชดเชยเพิ่มที่ค่าไฟบ้าน ค่าอินเทอร์เน็ต หรือค่าเสื่อมของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เป็นต้น
รองรับการขยายตัวของสำนักงาน
เนื่องจาก Remote Working คือการทำงานที่ไหนก็ได้ ทำให้องค์กรสามารถรับคนเข้ามาได้มากขึ้น เนื่องจากจำนวนของพนักงานไม่ถูกจำกัดขนาดของสำนักงาน องค์กรจึงเติบโตได้แม้สำนักงานจะมีขนาดเท่าเดิม

แนวโน้ม Remote Working ในอนาคต
ไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่า เทรนด์นี้มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเปอร์เซ็นต์ของการทำงานทางไกลเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในช่วง 2-3 เดือนของต้นปี 2020 นับตั้งแต่ช่วงการระบาดของโควิด 19 หลังจากนั้นเป็นต้นมาอัตราการเติบโตของ เทรนด์ก็เพิ่มขึ้นอีก 3 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดโควิด 19 และยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อย่างมีนัยสำคัญ
โดยเทรนด์นี้นั้นได้เติบโตและกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนทำงานอย่างพนักงานประจำหรือฟรีแลนซ์ โดยจากการสำรวจพนักงานที่ทำงานผ่านทางไกลโดยจากการวิจัยของ GitLab พบว่า 1 ใน 3 ของผู้ตอบแบบสอบถามนั้นเลือกที่จะลาออกจากงานหากไม่มีการทำงานผ่านทางไกลอีกแล้ว และ 52% จะพิจารณาลาออกจากบริษัทหากไม่มีการทำงานผ่านทางไกล อีก 80% กล่าวว่าพวกเขาจะแนะนำการทำงานระยะไกลให้กับเพื่อน รวมถึงมองว่าสิ่งนี้คือหนทางการทำงานแห่งอนาคต

ผู้ประกอบการและธุรกิจ SME ปรับตัวอย่างไร? ให้รองรับ Remote Working
สำหรับการปรับตัว ซึ่งอาจส่งผลไปถึงการ Business Transformation ขององค์กรนั้น สิ่งแรกที่ต้องปรับคือแนวคิดการบริหาร ดังที่กล่าวไปข้างต้นว่า Remote Working ให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพ ดังนั้นแนวทางการวางวิสัยทัศน์ขององค์กร จึงต้องเน้นไปที่ประสิทธิภาพของผลงาน มากกว่าการจัดระเบียบการทำงานของพนักงาน ลดระเบียบยิบย่อยอย่างการเข้างานให้ตรงเวลา ปรับมาเป็นการวัดคุณค่าที่ผลงานแทน
นอกจากนี้การปรับตัวที่สำคัญคือ การวางระบบเพื่อบริหารพนักงานให้เป็นไปในทิศทางที่ต้องการ ทั้งการวางระเบียบการส่งงานที่ชัดเจน หรือการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการติดตามประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน

ทริคนำ Remote Working มาใช้ในองค์กร
1. วางแผนการจัดการทีมให้เป็นระบบ
การจัดการทีมและรูปแบบการทำงานเป็นสิ่งสำคัญ เพราะกฎทำให้การติดตามงานง่ายมากยิ่งขึ้น จริงอยู่ที่ Remote Working คือการให้อิสระในการทำงาน ทั้งเวลาและสถานที่ทำงาน แต่อย่างไรก็ตามการทำงานควรจะต้องมีระบบเพื่อให้ง่ายต่อการจัดการ
โดยระบบที่เข้ามาช่วยให้การวางแผนและจัดการเป็นได้สะดวก คือการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ เช่น การใช้ Dashboard เพื่อติดตามภาระงานหรือจำนวนเวลาที่ใช้ต่อหนึ่งงาน เป็นต้น
2. การปรับปรุงรูปแบบการสื่อสารภายในองค์กร
การสื่อสารเป็นอีกหนึ่งอุปสรรคที่ท้าทายในการทำงานแบบ Remote Working เพราะการทำงานในสำนักงานเมื่อมีปัญหาในการทำงาน พนักงานจะสามารถสื่อสารและช่วยกันแก้ไขปัญหาได้ทันที แต่ในการทำงานแบบ Remote Working การสื่อสารอาจจะล่าช้ากว่าปกติ และอาจนำไปสู่ปัญหาตามมาภายหลังได้
สำหรับการแก้ไขปัญหาดังกล่าวสามารถทำได้หลายรูปแบบ เช่น การจัดประชุมระยะสั้นในช่วงเช้า (10 นาที) เพื่อติดตามสถานะการทำงานของแต่ละคน หรือการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้เพื่อความรวดเร็วในการสื่อสารและส่งต่อข้อมูลตัวอย่าง เป็นต้น
3. ปรับปรุงสำนักงานรองรับการทำงานในอนาคต
จริงอยู่ที่ Remote Working ไม่จำเป็นต้องใช้สำนักงาน แต่อย่างไรก็ตามสำนักงานยังเป็นพื้นที่สำคัญในการดำเนินงาน โดยในอนาคตหากนำ Remote Working มาปรับใช้ สำนักงานจะกลายเป็นพื้นที่ในการพบปะหรือดำเนินงานในเรื่องสำคัญอย่าง การนัดประชุมกับลูกค้าแบบเป็นทางการ เป็นต้น
ดังนั้นการปรับปรุงสำนักงาน จึงให้ความสำคัญกับฟังก์ชันการใช้งานเป็นหลัก เช่น การปรับปรุงห้องประชุม หรือการปรับพื้นที่ส่วนกลางเพิ่มมากขึ้น ไม่ยึดติดกับการนั่งทำงานที่โต๊ะ แต่ปรับให้สำนักงานเป็นเหมือนพื้นที่ผ่อนคลายสำหรับพนักงาน เป็นต้น
โดยหนึ่งในแนวทางการปรับปรุงที่ตอบสนองการทำงานแห่งอนาคตคือ การปรับปรุงห้องให้รองรับกับการประชุมทางไกล (Conference Room) ทั้งการปรับลดขนาดห้องประชุม เพิ่มเทคโนโลยีในการประชุม หรือการปรับมาใช้ Phone Booth สร้างพื้นที่ขนาดเล็ก ไว้สำหรับการติดต่องานกับลูกค้าผ่านการโทรศัพท์หรือ Video Call เพื่อลดปัญหาที่ประชุมไม่เพียงพอสำหรับการใช้งาน

ตัวอย่างธุรกิจที่นำ Remote Working มาปรับใช้กับองค์กร
Apple
ให้พนักงานเข้าออฟฟิศ 3 วันต่อสัปดาห์ และทำงานจากที่ไหนก็ได้ 2 สัปดาห์ต่อปี โดย Apple ให้เหตุผลว่าเพื่อให้พนักงานได้มีเวลาอยู่กับครอบครัว หรือคนที่คุณรักมากขึ้น และเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศการทำงาน หรือเหตุผลอื่น ๆ ของแต่ละบุคคล ซึ่งการใช้สิทธิ์นี้พนักงานต้องขออนุมัติจากผู้จัดการก่อน

Google
เตรียมให้พนักงานกลับมาทำงาน พร้อมทั้งปรับให้เป็น Hybrid Working โดยพนักงาน 60% ทำงานที่ออฟฟิศ 2 - 3 วันต่อสัปดาห์ ขณะที่ 20% สามารถย้ายไปทำงานสำนักงานสาขาของ Google ได้ และอีก 20% ของพนักงานสามารถทำงานที่บ้านได้ถาวร

Shopify
แพลตฟอร์มสำหรับใช้ในการสร้างร้านค้าออนไลน์หรือเว็บไซต์ e-Commerce แบบสำเร็จรูป มีแผนที่จะส่งเสริมให้มีการ Work From Home มากที่สุดหลังจากปี 2021 เป็นต้นไป เพื่อให้สอดรับกับนโยบายก่อนหน้าที่ประกาศไว้ว่าจะเดินหน้าสู่การเป็นบริษัท Digital-by-Default

Upwork
เว็บไซต์ฟรีแลนซ์ออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ได้มีการสนับสนุนให้พนักงานทำงานจากที่บ้านอย่างต่อเนื่อง สานต่อรูปแบบการทำงานในลักษณะ Remote Working ที่ทำมาตลอด 20 ปี
แหล่งอ้างอิง : bangkokbiznews, creativethailand
https://www.bot.or.th/Thai/BOTMagazine/Pages/256402CoverStory.aspx
https://www.mckinsey.com/featured-insights/future-of-work/the-future-of-work-after-covid-19
https://www.microsoft.com/en-us/worklab/work-trend-index/hybrid-work
https://buffer.com/state-of-remote-work/2022
https://www.microsoft.com/en-us/worklab/work-trend-index/hybrid-work-is-just-work
https://about.gitlab.com/company/culture/all-remote/remote-work-report/
https://on10life.com/best-remote-jobs-for-2022/
https://www.creativethailand.org/view/article-read?article_id=33048