รุ่นบุกเบิก บ่มเพาะ ‘ทายาท’ อย่างไร? ให้การสืบทอดธุรกิจครอบครัวราบรื่น จบทุกข้อขัดแย้ง
ธุรกิจครอบครัว ที่ก่อร่างสร้างธุรกิจ จากรุ่นบุกเบิกกิจการมาสักระยะ จนได้เวลาที่ต้องส่งต่อให้ทายาทรุ่นต่อไปเข้ามาบริหารงาน แต่ละครอบครัวมักจะมีวิธีการ หรือกลยุทธ์การส่งมอบการบริหารที่แตกต่างกันไป ซึ่งรุ่นพ่อ-แม่ จะวางแนวทางอย่างไร ให้รุ่นลูก พร้อมสำหรับการดูแลธุรกิจ สามารถรับไม้ต่อการบริหารงานได้อย่างราบรื่น บทความนี้ มีคำตอบ

รศ.ทองทิพภา วิริยะพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ให้ความรู้สำหรับประเด็นดังกล่าวว่า ธุรกิจครอบครัว ต้องบริหารให้เป็น ทั้งด้าน ‘ธุรกิจ’ และ ‘ครอบครัว’ กล่าวคือ ต้องเริ่มการวางแผนบ่มเพาะ ปลูกฝังการทำธุรกิจให้ลูกตั้งแต่วัยเด็ก เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ ซึมซับเห็นถึงบรรยากาศการทำงานของพ่อ-แม่
ยุคสมัยที่เปลี่ยนไป พ่อ-แม่ มักจะปล่อยอิสระให้ลูกสนใจเฉพาะการเรียนเพียงอย่างเดียว ทำให้เด็กไม่เกิดความผูกพัน ซึ่งในยุคก่อน บางธุรกิจครอบครัว พ่อ-แม่ ที่อยู่ในช่วง Baby Boomer จะทำงานควบคู่ไปกับลูก โดยให้ลูกช่วยงานเล็ก ๆ น้อย ๆ ซึ่งจุดประสงค์ที่แท้จริงคือการถ่ายทอดความรู้ให้เกิดความคุ้นเคยกับธุรกิจของตนเอง เมื่อถึงเวลาอันสมควร ลูกจะรู้ด้วยตัวเองว่านี่คือสิ่งที่ต้องทำเมื่อโตขึ้น

รศ.ทองทิพภา ยกตัวอย่างเพิ่มเติม เพื่อให้เห็นภาพของการถ่ายทอดโมเดลธุรกิจ ของตระกูล ‘จิราธิวัฒน์’ ซึ่งเป็นเจ้าของกลุ่มเซ็นทรัล และมีสมาชิกในครอบครัวใหญ่กว่า 200 คนว่า สิ่งที่ผู้บริหารกลุ่มเซ็นทรัล ใช้เป็นกฎในครอบครัว คือ สมาชิก หรือ ทายาท จะต้อง Proud to be ‘จิราธิวัฒน์’ นั่นคือ เมื่อเริ่มโตในวัยที่เดินได้แล้ว จะต้องไปกับพ่อ-เม่ ในหน่วยงาน หรือ ส่วนการบริหารที่พ่อ-แม่ รับผิดชอบอยู่ เพื่อซึมซับ และ เรียนรู้ และคุ้นชินกับการทำงาน รวมถึงปลูกฝังให้ลูกหลานใช้ชีวิตตามปกติทั่วไป หรือ ติดดิน
เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป เทรนด์และไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ เจนเนอเรชัน Y-Z มักจะมีอิสระทางความคิดเพิ่มขึ้น ครอบครัว ‘จิราธิวัฒน์’ จึงเริ่มให้ทายาทออกไปเรียนรู้และเลือกวิถีชีวิตของตัวเอง เช่นเปิดโอกาสให้ทายาท ลงทุน ทำธุรกิจ การซื้อแฟรนไชส์ จากต่างประเทศ เป็นศิลปิน ตามความต้องการ และในขณะเดียวกัน การทำหน้าที่อื่น ๆ ของทายาทกับทำในสิ่งที่ชอบ ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่สร้างการเติบโตให้กับธุรกิจของครอบครัว เช่น การสร้างคอนเนคชันใหม่ๆ เป็นต้น

อีกหนึ่งตัวอย่าง ของการบ่มเพาะให้ทายาทได้เรียนรู้การทำงานในรูปแบบธุรกิจของครอบครัว คือ ทายาทเจนเนอเรชันที่ 3 อย่าง คุณณัชพล สว่างเดชารักษ์ ผู้จัดการโรงเลื่อยจักรท่าเสา ผู้บริหารรุ่นใหม่ ที่ได้สานต่อทั้งในแง่การบริหารกิจการและ Vision ที่มาจากคุณตาและคุณพ่อ ตั้งแต่วัยเด็ก ทำให้ตอบโจทย์การทำธุรกิจในทุกมิติ และได้รับการตอบรับอย่างดีจากลูกค้าอย่างต่อเนื่อง
โดยการก้าวสู่ความสำเร็จ มาจากโอกาส และการจับจังหวะที่ใช่ ในเวลาและสถานที่ที่ถูกต้องเหมาะสม ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้การบริหารธุรกิจราบรื่น เพราะแบบอย่างที่ดีรับการถ่ายทอด โดยเฉพาะเมื่อเป็นรูปแบบของธุรกิจครอบครัว (Family Business) ที่สมาชิกมีความพร้อมที่จะสืบทอดกิจการ สานต่อและพัฒนาให้ธุรกิจเติบโตตามแนวทางที่รุ่นบุกเบิกปูทางไว้
เมื่อวิสัยทัศน์ที่รุ่นหนึ่งส่งต่อสู่ทายาทรุ่นถัดมา นำมาสู่การขยายไปพร้อมปรับใช้นวัตกรรมใหม่ ๆ ให้ครบโซลูชั่นการค้าและบริการ และไม่ลืมที่จะคำนึงถึงการทำธุรกิจที่มุ่งสู่ความยั่งยืน (Sustainability) ควบคู่ไปด้วย ทำให้ตอบโจทย์การทำธุรกิจในทุกมิติและได้รับการตอบรับอย่างดีจากลูกค้าอย่างต่อเนื่อง

‘ทายาท’ ควรเข้าไปตำแหน่งไหน? ใน ธุรกิจครอบครัว
รศ.ทองทิพภา อธิบายในประเด็นนี้ว่า การส่งมอบในช่วงเริ่มต้นนั้น การเรียนรู้งานและเรียนรู้คน ต้องทำควบคู่กันไป กล่าวคือ “การจะเป็นนายคน ต้องรู้ในทุกระบบ” หากจะบริหารงาน และคน ให้ลดความขัดแย้งและเกิดความราบรื่นมากที่สุด ทายาท ควรเริ่มทำตั้งแต่ระดับงานที่อยู่ล่างสุด และค่อยๆ ขยับตำแหน่งเมื่อผ่านการยอมรับในหน้าที่ความรับผิดชอบนั้นๆ เช่น หากธุรกิจครอบครัว เป็นธุรกิจโรงแรม หรือ ที่พัก รุ่นลูก ควรจะเข้าไปเริ่มงานในแผนกแม่บ้าน เรียนรู้เรื่องความสะอาด ตั้งแต่ฐานรากของธุรกิจ เช่นการปูที่นอน เทคนิคการปูผ้าให้ตึง
ซึ่งเป็นเคล็ดลับเฉพาะที่เจ้าของโรงแรมต้องทำความเข้าใจ เมื่อสอบผ่านจากการประเมินของผู้ที่รับหน้าที่ดูแล จึงขยับไปรับตำแหน่งอื่น ๆ ต่อไป เช่น แผนกครัว, ร้านอาหาร, การตลาด, การเงิน, บัญชี, จัดซื้อ ฯลฯ แล้วจึงเลื่อนขึ้นเป็นระดับบริหารงาน (Management)

ซึ่งการเรียนรู้ทุกขั้นตอน และระบบงาน ยังช่วยลดอุปสรรคใหญ่ ที่ ‘ทายาท’ ต้องเตรียมใจรับมือ นั่นคือเหล่ามืออาชีพ ‘ไม่เชื่อฝีมือ’ เพราะการทำธุรกิจครอบครัว สำหรับในบางกิจการ จะมีการจ้างมืออาชีพเข้ามาดูแล รับผิดชอบในส่วนต่างๆ อาจจะมีทั้งมืออาชีพที่เป็นพนักงานเก่าแก่ซึ่งช่วยงานรุ่นคุณปู่ , มืออาชีพของรุ่นพ่อ-แม่ ซึ่งหากทายาทที่ทั้งอายุและประสบการณ์น้อยกว่า
หากได้รับการมอบหมายงานให้ทำในระดับสูง จะเกิดปัญหาเรื่องความไม่เชื่อมั่นจากมืออาชีพ ซึ่งเป็นอุปสรรคทั้งในแง่ของ มืออาชีพ ที่ครอบครัวจ้างมา และอาจจะเป็นปัญหาให้กับการทำงานของทายาทที่ต้องพิสูจน์ตัวเองอย่างมาก ทำให้ไม่อยากเข้ามารับช่วงต่อกิจการในที่สุด
อย่างไรก็ตาม การจะทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของสมาชิกในครอบครัว และมี Connection ในพื้นที่ของฐานครอบครัว ซึ่งจะส่งผลดีต่อการทำธุรกิจ การเลือกสมาชิกที่จะเข้ามาทำงาน โดยการทำธุรกิจครอบครัว มักมีความเสี่ยงที่สูงกว่าการทำธุรกิจประเภท ธุรกิจครอบครัวที่ประสบความสำเร็จ จึงควรเตรียมความพร้อมตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อลดความขัดแย้งในส่งต่อการทำธุรกิจในรุ่นถัดไป
ข้อมูลโดย : รศ.ทองทิพภา วิริยะพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย