อาหารที่ผลิตต้องคนไทยชอบ และส่งออกตลาดโลกได้
คุณเจริญ แห่ง ส.ขอนแก่น เริ่มต้นเล่าเรื่องราวของการลงทุนในต่างแดนว่า “ส.ขอนแก่น ได้เข้าไปลงทุนในหลายประเทศ อาทิ ฮ่องกง จีน เวียดนาม ยุโรป กัมพูชา และลาว โดยภายในปี 2559 นี้ ได้วางแผนการเข้าไปลงทุนในสหรัฐอเมริกา“
การทำธุรกิจอาหารนั้นตั้งอยู่บนความเชื่อที่ว่า “อาหารไทยเป็นที่ต้องการของตลาดโลก” จากการที่เคยทำหน้าที่เป็นกรรมาธิการท่องเที่ยวและได้มีโอกาสศึกษาความต้องการในต่างประเทศ ซึ่งก่อนหน้าที่จะเริ่มต้นทำธุรกิจนั้น แต่เดิม คุณเจริญ เคยทำงานเป็นผู้จัดการใหญ่ดูแลตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศให้กับ บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพี เป็นระยะเวลาร่วม 10 ปี โดยเป็นที่รู้กันอย่างดีว่าซีพีนั้นเป็นบริษัทชั้นนำด้านวงการอาหารของโลก
จากประสบการณ์ทำงานในบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างโชกโชน และมีความรู้เรื่องการตลาดเป็นอย่างดี ทำให้คุณเจริญเริ่มอยากทำธุรกิจเป็นของตัวเองขึ้น และการเริ่มต้นของ ส.ขอนแก่น นั้นคือ ทำสิ่งที่คนไทยชอบกิน และต้องขายในตลาดโลกได้ แค่เริ่มต้นธุรกิจก็มองการณ์ไกลนอกจากขายในประเทศได้แล้วยังเป็นที่นิยมในต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดประเทศจีนที่มีขนาดของตลาดนับพันล้านคน ถ้าสามารถเข้าตลาดจีนได้ จะสร้างกำไรอีกหลายเท่าตัว
สินค้าตัวแรกที่เริ่มผลิตคือ หมูหยอง คุณเจริญกล่าวว่า ในฐานะเป็นผู้ผลิตที่ต้องใช้วัตถุดิบมาผลิตหมูหยอง รวมถึงนำหมูมาแปรรูปสินค้าอีกหลายตัว ทั้งหมูยอ หมูแผ่น แคบหมู เป็นต้น เมื่อมีการผลิตมากขึ้น ทำให้หมูที่เป็นวัตถุดิบหลักไม่สามารถตอบสนองความต้องการผลิตได้ทัน หลังจากทำธุรกิจผ่านไป 10–15 ปี จึงเริ่มต้นผลิตวัตถุดิบเอง ทำให้เป็นการผลิตแบบครบวงจร ทั้งต้นน้ำ (ผลิตวัตถุดิบ) กลางน้ำ (ผลิตสินค้า) และปลายน้ำ (จัดจำหน่าย) ทั้งการทำอาหารคน อาหารสัตว์ และเพาะพันธุ์สัตว์
เข้าใจโครงสร้างอาเซียน ก่อนรุกตลาดอย่างจริงจัง
กลยุทธ์ทางธุรกิจ โครงสร้าง และการแข่งขัน (Firm Strategy, Structure & Rivalry) ในอาเซียน แทบทุกประเทศยังคงมีปัญหาเรื่องการควบคุมตลาดโดยรัฐ กฎระเบียบต่าง ๆ ยังไม่มีความเป็นเสรีอย่างแท้จริง เช่น การควบคุมราคาสินค้า การกำหนดมาตรฐานต่าง ๆ ที่ส่งผลทำให้เกิดการกีดกันทางการค้าการลงทุน แต่แนวโน้มสถานการณ์ต่าง ๆ เริ่มดีขึ้นเรื่อย ๆ ในหลายประเทศของอาเซียนจึงจำเป็นต้องปรับตัวให้เข้ากับพันธกรณีของ องค์การการค้าโลก (World Trade Organization : WTO) ในการเข้าสู่สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of South East Asian Nations : ASEAN) หรือประชาคมอาเซียน รวมทั้งเขตการค้าเสรี (Free Trade Area : FTA) กับประเทศคู่ค้าของไทยด้วย
สิ่งหนึ่งที่ทำให้การค้าไทยได้เปรียบในเวทีอาเซียนคือ อุตสาหกรรมไทยมีศักยภาพอยู่ในอันดับต้น ๆ ของอาเซียน เนื่องจากความเข้มแข็งในด้านปัจจัยการผลิตภายในประเทศที่มีศักยภาพและมีความหลากหลาย ทักษะฝีมือแรงงานเหมาะสมกับต้นทุนค่าจ้าง และยังมีตลาดในประเทศที่มีศักยภาพรองรับความต้องการในอนาคต ขณะที่แง่ของตลาดส่งออกพบว่า อาหารไทยยังเป็นที่ต้องการของตลาดโลก เพราะสินค้าไทยมีคุณภาพมาตรฐาน ถ้าหากว่ารัฐบาลสามารถยกระดับขีดจำกัดความสามารถการแข่งขันของอุตสาหกรรม จะช่วยสร้างโอกาสและความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมอาหารของไทยในระดับอาเซียน รวมถึงระดับโลกได้ไม่ยาก
ปัญหาของผู้ประกอบการไทยในการเข้าสู่เวทีอาเซียน
เรื่องหลัก ๆ ที่ภาครัฐพยายามอย่างมากในการช่วยผู้ประกอบการไทยมาโดยตลอดคือ ผู้ประกอบการไทยยังมีความรู้ความเข้าใจในตลาดอาเซียนระดับที่น้อย ทำให้ขาดแรงจูงใจในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์อาหารที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดอย่างแท้จริง ยังรวมถึงเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาระบบขนส่ง ความเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาค ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ทำให้ในหลายประเทศของอาเซียนพบกับปัญหาในการกระจายสินค้า อีกทั้งปัญหาด้านภาษีศุลกากรด้วย แม้ว่าจะลดบทบาทลงไปมาก แต่ในหลายประเทศของอาเซียนกลับยังพบอุปสรรค มาตรการ อุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษี (NTBs) ที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก
“ปัจจุบันยังหาจุดร่วมในการลด NTBs อย่างเป็นรูปธรรมไม่ได้ ซึ่งหมายถึงมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่มาตรการทางภาษีนำเข้ารูปแบบต่าง ๆ ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีการกำหนดอย่างเป็นทางการว่า มาตรการใดเป็น NTBs อย่างชัดเจน”
3 กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร ที่พร้อมสำหรับเวทีอาเซียน
กลุ่มแรก เป็นกลุ่มสินค้าที่ผู้ประกอบการไทยสามารถแข่งขันและส่งออกมากขึ้น คือ กลุ่มประเภทอาหารแปรรูปต่าง ๆ ทั้งผลไม้ ผัก เนื้อสัตว์ เครื่องปรุงรส และแป้ง เพราะประเทศไทยมีความน่าเชื่อถือด้านการผลิตนี้เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว รวมถึงความพร้อมด้านเทคโนโลยีและวัตถุดิบด้วย
กลุ่มที่สอง เป็นกลุ่มสินค้าที่ผู้ประกอบการไทยสามารถแข่งขันได้อย่างเท่าเทียม คือ กลุ่มเครื่องดื่ม ข้าว ธัญพืช เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบระดับคุณภาพดี แต่มีราคาสูง ทำให้การแข่งขันอยู่ในระดับปานกลาง
กลุ่มที่สาม เป็นกลุ่มสินค้าที่การแข่งขันยังเสียเปรียบ คือ กลุ่มอาหารประเภท นม อาหารสัตว์ สัตว์น้ำ น้ำมันพืช โกโก้ ช็อกโกแลต เครื่องเทศ ชา กาแฟ จากการที่วัตถุดิบไม่เพียงพอ และต้นทุนสูง รวมถึงสินค้าไม่ตรงตามต้องการของตลาด
นอกจากนี้ ภาพรวมของ AEC จะเป็นโอกาสของไทยแล้ว แต่สิ่งที่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารไทยไม่ควรประมาทหรือชะล่าใจก็คือ การแข่งขันกับประเทศนอกภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะประเทศกลุ่มพัฒนาแล้วอย่าง สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ที่มีความได้เปรียบด้านทุน เทคโนโลยี และนวัตกรรม จะใช้ช่องทาง AEC เข้ามาขยายการค้าการลงทุนในอาเซียน และทำให้ตลาดอาเซียนมีการแข่งขันรุนแรงมากขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการไทยรายใหญ่ยังไม่มีความน่าเป็นห่วงมากเท่ากับผู้ประกอบการรายย่อย (SME) ที่ต้องเร่งพัฒนาศักยภาพรอบด้านของธุรกิจให้มีความพร้อม เพื่อรับมือกับตลาดที่จะมีการแข่งขันที่ดุเดือดมากขึ้นในอนาคต
ธนาคารกรุงเทพ ใส่ใจให้บริการนักลงทุนในย่านอาเซียนด้วยบริการเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน เรามีสาขาของธนาคารอยู่ในย่านอาเซียน 9 สาขาใน 10 ประเทศเพื่อให้บริการท่าน สนใจติดต่อได้ที่ศูนย์ AEC Connect ชั้น 2 สำนักธุรกิจ ธนาคารกรุงเทพ สำนักงานใหญ่ อีเมล: AECconnect@bbl.co.th สายด่วน 1333

