ธนาคารกรุงเทพ หนุน SME ไทย เปิดห้องให้ความรู้การค้าการลงทุนในกัมพูชา
ธนาคาร กรุงเทพ จำกัด (มหาชน) จัดงาน AEC Investment Clinic : Cambodia ซึ่งเป็นการจัดครั้งที่ 3 โดยก่อนหน้านั้นเป็นเรื่องราวของประเทศเวียดนาม ลาว และอินโดนีเซีย วัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้ด้านการลงทุนสำหรับผู้ประกอบการ ที่มีความสนใจทำการค้าการลงทุนในกัมพูชา ผ่านประสบการณ์ความรู้ความเชี่ยวชาญภายในประเทศ เมืองแห่งนครวัด กับผู้จัดการธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาประจำประเทศกัมพูชา คือ คุณเยี่ยมศรี อุบลพงษ์ หญิงสาวเก่งที่มากไปด้วยความรู้และประสบการณ์
กัมพูชา เป็นประเทศที่ต้องการพัฒนาและขยายการลงทุน กลุ่มประเทศที่เข้าไปลงทุนในกัมพูชาอันดับ 1 คือ เวียดนาม ตามด้วยประเทศมหาอำนาจเอเชียอย่าง จีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น จากความที่กัมพูชาให้สิทธิพิเศษทางการค้าและภาษี รวมถึง GDP ในประเทศที่โตกว่า 7% มาตลอด 10 ปีที่ผ่านมา จึงทำให้กลายเป็นประเทศที่น่าลงทุนอย่างมาก
การค้าการลงทุนที่ขยายตัวอย่างน่าสนใจ ประกอบไปด้วย ภาคบริการ ร้านอาหาร และการโรงแรม ส่วนอุตสาหกรรมที่โตมากในกัมพูชา คือ เสื้อผ้าและสิ่งทอ รวมถึงโรงสีข้าวอีกด้วย นอกจากนี้กัมพูชายังได้รับรางวัลเกี่ยวกับข้าว แม้ว่าเกษตรกรรมแรงงานไม่ขาดแคลน แต่ก็ถือว่ายังอยู่ในระดับด้อยฝีมือ ต้องได้รับการเทรนนิ่ง ซึ่งไม่เป็นปัญหามากนัก เพราะอุปนิสัยของชาวกัมพูชาถือว่าเป็นคนขยัน และรักในการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา
ด้านวัฒนธรรมของชาวกัมพูชานั้นใกล้เคียงกับคนไทยอย่างมาก จากความที่เป็นประเทศที่ใกล้กัน รวมถึงมีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมมาตั้งแต่โบราณ ประชากรในประเทศมีประมาณ 5–16 ล้านคน พื้นที่ทั้งหมดในประเทศขนาดประมาณ 1 ใน 3 ของไทย มีท่าเรือที่สำคัญคือ ติดกับอ่าวไทย ที่เป็นภูมิศาสตร์สำคัญจะเป็นพื้นที่ราบลุ่ม เมืองเศรษฐกิจที่สำคัญประกอบด้วย พนมเปญ เสียมเรียบ และสีหะนุวิลล์
กัมพูชา ปกครองโดยระบอบเดียวกันกับไทย คือเป็นประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รัฐบาลเป็นรัฐบาลชุดเดียวและกำลังจะมีการเลือกตั้งใหม่ในปี พ.ศ.2561 ซึ่งกัมพูชาเองก็มีฐานเสียงเป็น 2 เสียงเช่นกัน จากการสนับสนุนรัฐบาลชุดเก่า และพรรคใหม่ที่กำเนิดขึ้น โดยที่ผ่านมารัฐบาลชุดปัจจุบันได้มีการโยกย้ายรัฐมนตรีเกิดขึ้นเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเลือกตั้งในอีก 2 ปี ข้างหน้า
ธุรกิจไทยที่น่ามีโอกาสลงทุนในกัมพูชา ประกอบด้วย
1. ธุรกิจการท่องเที่ยว (Tourism)
2. ธุรกิจภาคเกษตร (Agro-Business)
3. ธุรกิจก่อสร้างและวัสดุก่อสร้าง (Constructions / Construction Material)
4. ธุรกิจของกินของใช้ (Consumer Product)
5. อุตสาหกรรมการตัดเย็บเสื้อผ้าและการผลิต (Garment and Manufacturing)
นอกจากนี้ กัมพูชาวางเป้าหมายที่จะส่งออกข้าวให้ได้ 1 ล้านตันต่อปี ซึ่งข้าวจากทางกัมพูชามีเอกลักษณ์ของตัวเอง โดยมีชื่อสายพันธุ์ว่า Phka Malis หรือ ข้าวผกามะลิ และ Phka Romdul หรือ ข้าวผกาลำดวน รวมถึงสินค้าเกษตรประเภทแปรรูปที่ยังขาดทักษะพัฒนาให้มีความหลากหลาย และถนอมให้วัตถุดิบการผลิตมีอายุการใช้งานนานขึ้น จึงเป็นโอกาสดีสำหรับผู้ประกอบการไทย ที่มีความชำนาญด้านการแปรรูปสินค้าเกษตร เพื่อจะได้เข้าไปลงทุนที่กัมพูชาในอนาคต

