เหตุผลที่ SME กว่าครึ่งไปต่อไม่ได้ และเทคนิคเพื่อการอยู่รอด ?

SME in Focus
27/12/2018
รับชมแล้วทั้งหมด 1468 คน
เหตุผลที่ SME กว่าครึ่งไปต่อไม่ได้ และเทคนิคเพื่อการอยู่รอด ?
banner
“เพราะเหตุใดอัตราการอยู่รอดของ SME ไทยจึงมีเพียง 50% เท่านั้น?” คำถามนี้รู้สึกว่าจะได้ยินมานานพอสมควร ตั้งแต่ช่วง 5 ปี ที่ผ่านมาที่มีรายงานออกมาว่า มี SME เกิดใหม่กว่า 70,000 ราย แต่มีเพียง 50% เท่านั้นที่ก้าวผ่านปีแรกไปได้ ที่เหลือก็ค่อยๆ ล้มหายตายจากกันไปเรื่อยๆ นั่นเพราะในสนามธุรกิจที่มีการแข่งขันอันดุเดือด การมีแค่แรงบันดาลใจในการทำธุรกิจมันไม่พอ SME ต้องมีเงินทุน มีความรู้ที่จะนำพาธุรกิจฝ่าแข่งขันรอบด้านไปให้ได้

ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก หรือ SME ของไทย คิดเป็นมูลค่ากว่า 40% ของ GDP มีทั้งอุตสาหกรรมการผลิต (Manufacturing) ธุรกิจค้าส่งและปลีก (Wholesale and Retail) และงานบริการ (Service) ที่ช่วยสร้างความเข้มแข็งแก่ระบบเศรษฐกิจของประเทศ เพราะเป็นแหล่งจ้างงาน สร้างรายได้ที่มีปริมาณมากพอตัว แต่อย่างที่ได้บอกไปว่าธุรกิจเล็กๆ สายป่านจะไม่ยาวพอเหมือนพวก Corporate รายใหญ่ๆ คิดจะลุยจะสู้อะไรก็มีแต่ตัวเองคนเดียว อีกทั้งยังต้องเผชิญกับความท้าทายในหลายมิติ แถมมักจะมีแต่เรื่องมาให้เซอร์ไพรส์ตลอด ทั้งปัจจัยภายในอย่างการบริหารจัดการต้นทุน หรือปัจจัยภายนอกทั้งความผันผวนของเศรษฐกิจ ค่าจ้างแรงงานที่ปรับขึ้นต่อเนื่อง หรือการถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีในยุคดิจิตอล

SME ต้องเผชิญความท้าทายในหลายมิติ

อย่างไรก็ตาม เรื่องของการขาดแคลนเงินทุน และไม่สามารถเข้าถึงแหล่งให้บริการทางการเงินตามระบบได้ ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ของกลุ่มผู้ประกอบการ SME ไทยมาเป็นระยะเวลานานดังเดิม ธุรกิจขนาดกลางและเล็กของไทยส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นมาได้ก็มักจะทุบกระปุกเงินเก็บที่ตัวเองสะสมเอาไว้มาลงทุน บางรายดีหน่อยก็อาจจะมีคนรู้จักให้พอหยิบยืมได้ ทุกคนต่างก็ต้องหาเงินสารพัดรูปแบบเพื่อเป็นทุนในการเริ่มต้นทำธุรกิจสักอย่างหนึ่ง

ขณะที่มีผู้ประกอบการบางส่วนที่แม้ว่าจะสามารถเข้าถึงแหล่งทุนตามระบบของธนาคารพาณิชย์ได้ แต่ก็ยังเกิดปัญหา NPL ที่ไม่สามารถสร้างให้ธุรกิจเติบโตได้ตามที่วาดฝันเอาไว้ได้ ซึ่งมีจำนวนเฉลี่ยถึงปีละ 5% ทำให้เมื่อมองภาพรวมที่ผ่านมาเท่ากับว่าจะมีธุรกิจ SME ถึง 50% หรือประมาณครึ่งหนึ่งที่ต้องเลิกธุรกิจไปกลางคัน

ดังนั้น ไม่ว่าจะยุคไหน สมัยไหน ธุรกิจ SME ก็ยังคงความเฉพาะตัว นั่นคือ เกิดได้ยาก ตายง่าย และมีโอกาสในการเติบโตและอยู่รอดน้อย แม้ว่าจะได้รับการอัดฉีดยาโด้ปที่เป็นเสมือนสำคัญอย่างเงินทุนไปบ้างแล้ว ก็ไม่ได้เป็นหลักประกันว่าธุรกิจจะเติบโต แข็งแรง และอยู่รอดได้เสมอไป

เพราะเหตุใด อัตราการอยู่รอดของ SME จึงมีเพียง 50% เท่านั้น

จากข้อมูลที่กระทรวงการคลังระบุออกมาว่า ธุรกิจ SMEs มากกว่า 1.5 ล้านราย ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินตามระบบได้ เพราะมีรายได้ไม่ถึง 10 ล้านบาท หรือมีทุนจดทะเบียนต่ำกว่า 5 ล้านบาท ตรงนี้เป็นปัญหาอันดับแรกๆ ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการ SME ส่วนใหญ่ยังมีข้อจำกัดในเรื่องของความรู้ ความสามารถ ด้านการบริหาร การจัดการทางการเงิน ทำให้เกิดปัญหาขาดสภาพคล่องในธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการตั้งราคาขายที่เหมาะสม เพื่อให้มีกำไรหลังหักต้นทุนและค่าบริหารจัดการต่างๆ แล้วอย่างน้อย 25-60% จึงจะมีเงินเหลือมากพอที่จะสะสมเป็น Cash Flow เพื่อทำให้ธุรกิจไม่สะดุด หรือแม้แต่พื้นฐานสำคัญอื่นๆ เช่น ความสามารถในการคำนวณดอกเบี้ยที่ธุรกิจต้องแบกรับ เพราะมีผลต่อการบริหารจัดการอื่นๆ ตามมา โดยมี SME จำนวนมากถึง 50% ที่ไม่มีทักษะทางการเงินเบื้องต้นเหล่านี้เลย ซึ่งนี่แหละคือคำตอบของคำถามที่ว่าเพราะเหตุใดอัตราการอยู่รอดของ มี SME ไทยจึงมีเพียง 50% เท่านั้น !

อะไรคือทางรอดของธุรกิจ SME

เพื่อให้ SME อยู่รอดโดยเฉพาะในยุค 4.0 ที่สภาพแวดล้อมในการทำธุรกิจแตกต่างและเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ภาครัฐต้องเข้ามาสนับสนุนกลุ่มผู้ประกอบการที่ไม่สามารถเข้ามาในระบบธนาคารพาณิชย์ได้ ด้วยการให้สินเชื่อต่างๆ เพื่อนำไปใช้ทำธุรกิจ ทั้งยังต้องเพิ่มมิติในเรื่องของการส่งเสริมและซ่อมแซมให้ธุรกิจต่างๆ เติบโตจากการเป็น Startup ไปสู่ภาค Micro หรือ SME และขยับสู่ Smart SME กลายเป็นธุรกิจที่เติบโต และแข็งแรงได้จนสามารถทำรายได้ถึงเกณฑ์ที่จะเข้าไปรับบริการของธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ได้

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการเองก็ต้องปรับตัวตามพฤติกรรมของผู้บริโภคให้ทัน เพราะยุคนี้เป็นยุคที่ผู้บริโภคเป็นคนเลือกเอง และจะเลือกไปหาสินค้าหรือแบรนด์ที่ตัวเองพอใจและต้องการ โดยไม่ต้องรอให้ผู้ประกอบการวิ่งเข้ามาหาก่อน ขณะเดียวกันทักษะพื้นฐานในการทำธุรกิจ ทั้งด้านการจัดการ การตลาด หรือการผลิต ก็จะเป็นเหมือนไม้ค้ำยันที่จะเข้ามาช่วยพยุง และเสริมความแข็งแรงให้กับธุรกิจได้มากยิ่งขึ้นด้วย ยิ่งในอีก 5 ปี ข้างหน้าที่อะไรๆ จะเปลี่ยนไปมากมายมหาศาล ผู้ประกอบการ SME ยิ่งต้องพัฒนาให้ทัน

เทคนิค 3 ประการที่ต้องทำความเข้าใจ และลงมือทำ

สิ่งแรกที่ผู้ประกอบการต้องทำ คือ การทำความเข้าใจกับกระบวนการ Formless หรือการไม่ยึดติดกับรูปแบบเดิมหรือกระบวนการเดิม ผู้ประกอบการที่เห็นผลกระทบต่อธุรกิจที่ผ่านมาต้องทำความเข้าใจและปรับตัวตามให้ทัน จึงจะสามารถตอบสนองต่อผู้บริโภคได้เร็วขึ้น เข้าถึงช่องทางใหม่ได้มากขึ้น แต่ถ้าผู้ประกอบการไม่เข้าใจหรือปรับตัวไม่ทัน สิ่งที่จะเกิดตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในเบื้องต้น คือ ความไม่สะดวกของลูกค้า หลังจากนั้นพวกเขาจะเปลี่ยนไปใช้บริการรายอื่นที่สะดวกกว่าก็เท่านั้นเอง

ต่อมา คือ การทำความเข้าใจกระบวนการ Borderless หรือ เข้าใจเส้นแบ่งหลายด้านที่กำลังหายไป ทั้งเวลา, สถานที่, ชั่วโมงการจับจ่ายใช้สอย, ชั่วโมงการทำงาน , เขตแดนการค้า รวมถึงลักษณะของบุคคล เป็นต้น ซึ่งการเห็นความเป็นไปของเส้นแบ่งทั้งหลาย จะสร้างโอกาสทางการแข่งขันขึ้นมา ซึ่งโอกาสนี้เกิดขึ้นแล้วในต่างประเทศ และในประเทศไทยก็กำลังเริ่มต้นเช่นกัน

สุดท้ายที่สำคัญที่สุด คือการทำความเข้าใจ และลงมือทำ Business Transformation ซึ่งเป็นความท้าทายอย่างยิ่งสำหรับผู้ประกอบการทุกองค์กร ซึ่งที่จริงแล้วผู้ประกอบการไทยนั้นเก่ง แต่อาจจะยังขาดความรู้และเครื่องมือในบางด้าน หรือแม้กระทั่งอาจจะยังขาด Network ธุรกิจต้องการ Network เพิ่มขึ้น ต้องการเครือข่ายเพิ่มขึ้นพยายามทำเครื่องมือเหล่านี้ เพื่อสนับสนุนให้เกิดผู้ประกอบการใหม่ขึ้นมา และสนับสนุนผู้ประกอบการที่อาจจะเป็น Family business ที่กำลังพยายามสร้างธุรกิจขึ้นมาให้ทันกับโลกยุคใหม่นั่นเอง

อนึ่ง ปฏิเสธไม่ได้ว่าข้อมูลดังกล่าวสะท้อนถึงความท้าทายของผู้ประกอบการ SME ไทยที่ต้องเผชิญกับการแข่งขันและความกดดันรอบด้าน นาทีนี้ต้องกล้าที่จะแตกต่างจึงโต รวมถึงต้องมีความคิดสร้างสรรค์ สามารถพัฒนานวัตกรรม อีกทั้งมีความสามารถในการวางแผนและจัดการเป็นเยี่ยม แน่นอนว่าขีดความสามารถและศักยภาพดังกล่าวไม่ได้มีมาตั้งแต่เริ่มธุรกิจ หากแต่ต้องเกิดจากการรู้จักขวนขวายเติมเต็มความรู้ และหมั่นติดอาวุธทางปัญญาอย่างสม่ำเสมอ

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

ยนต์ผลดี จากโรงงานผลิตเครื่องสีข้าว สู่ ‘โรงเรียนโรงสี’ และเป้าหมายการยกระดับอุตสาหกรรมข้าวให้เข้มแข็ง

ยนต์ผลดี จากโรงงานผลิตเครื่องสีข้าว สู่ ‘โรงเรียนโรงสี’ และเป้าหมายการยกระดับอุตสาหกรรมข้าวให้เข้มแข็ง

โรงเรียน ‘โรงสีข้าว’ แห่งแรกของไทย โรงเรียน ‘โรงสีข้าว’ หรือ ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวข้าว จัดตั้งโดย บริษัท ยนต์ผลดี จำกัด…
pin
167 | 25/03/2024
3 ผู้บริหารหญิงยุคใหม่ กับแนวคิดใช้นวัตกรรมขับเคลื่อนธุรกิจรับเทรนด์อาหารเพื่อสุขภาพ

3 ผู้บริหารหญิงยุคใหม่ กับแนวคิดใช้นวัตกรรมขับเคลื่อนธุรกิจรับเทรนด์อาหารเพื่อสุขภาพ

ไขเคล็ดลับและแนวคิดที่ผลักดันให้ผู้นำหญิงในโลกธุรกิจขึ้นมายืนแถวหน้า นักธุรกิจหญิงแกร่งที่ทรงพลังต่อการขับเคลื่อนธุรกิจ จนทำให้พวกเธอสามารถขึ้นมายืนแถวหน้าอย่างภาคภูมิ…
pin
355 | 22/03/2024
พลังหญิง เปลี่ยนโลก 3 บทบาทของผู้บริหารหญิงในการขับเคลื่อนธุรกิจสีเขียวที่สร้างแรงบันดาลใจด้านสิ่งแวดล้อม

พลังหญิง เปลี่ยนโลก 3 บทบาทของผู้บริหารหญิงในการขับเคลื่อนธุรกิจสีเขียวที่สร้างแรงบันดาลใจด้านสิ่งแวดล้อม

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลต่อธุรกิจ เมื่อหลายประเทศทั่วโลกเริ่มออกกฎหมายและข้อบังคับเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดขึ้น…
pin
278 | 20/03/2024
เหตุผลที่ SME กว่าครึ่งไปต่อไม่ได้ และเทคนิคเพื่อการอยู่รอด ?